เจตนารมณ์และแนวคิดเบื้องหลังในการตราพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา ๕


"บุคคลทุกคน"ตามกฎหมายนี้ หมายถึงใครบ้าง ???

ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.__ มาตรา ๕

               บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามฐานะการคลังของประเทศตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้

 

บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่คณะกรรมการกำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

 

ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

                  ผู้ซึ่งมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขตามกฎหมายใดอยู่แล้วให้คงมีสิทธิตามกฎหมายนั้นต่อไป เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

               ::::::ข้อสังเกต:::::::

บทบัญญัติในมาตรา ๕ วรรคแรก เป็นการรับรองสิทธิของบุคคลในการรับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องเป็นไปตามฐานะการคลังของประเทศ”แต่เพื่อให้มาตรฐานและประสิทธิภาพของการบริการสาธารณสุขเป็นไปอย่างมั่นคง ไม่แปรผันตามฐานะการคลังของประเทศจึงได้มีการเสนอให้ตัดถ้อยคำ “ตามฐานะการคลังของประเทศออก

::::v("-")v::::บุคคลทุกคน"ตามกฎหมายนี้ หมายถึงใครบ้าง ::::???

เดิมที่มีการตีความว่าถ้อยคำดังกล่าวเป็นการรับรองให้แก่บุคคลทุกคนไม่เฉพาะบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้นแต่ต่อมาเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่ารับรองสิทธินี้ให้เฉพาะบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น เพราะงบประมาณที่นำมาใช้ล้วนมาจากภาษีอากรของประชาชน อีกทั้งสิทธิการรับบริการสาธารณสุขน่าจะเป็นสิทธิพลเมือง มากกว่าสิทธิมนุษยชนประกอบกับสถานะทางการคลังหลังวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ดีนัก จึงเห็นสมควรให้รับรองเฉพาะบุคคลสัญชาติไทยโดยได้เสนอให้บัญญัติให้ชัดเจน.__[i]

::#::#:: ในประเด็นนี้ได้มีความเห็นของผู้เสนอร่างกฎหมายเป็น ๓ กลุ่ม ::#::#::

กลุ่มแรก  เห็นว่ามาตรา ๕ วรรคแรกรับรองสิทธิให้กับบุคคลทุกคน ไม่เฉพาะบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น (ร่าง พรบ.ฯที่เสนอโดย นายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล และคณะ)

กลุ่มสอง  เห็นว่ามาตรา ๕ วรรคแรกรับรองสิทธิให้กับ"บุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น" (ร่าง พรบ.ฯที่เสนอโดย นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐและคณะ, ร่างที่เสนอโดยนายอำนวย คลังผา และคณะ ,ร่างที่เสนอโดยนายสิทธิชัย กิตติธเนศวร และคณะ)

กลุ่มสาม  เห็นว่ามาตรา ๕วรรคแรกรับรองสิทธิให้กับ "บุคคลสัญชาติไทยซึ่งมีภูมิลำเนาในประเทศไทย" (ร่างที่เสนอโดยนายปรีชา มุสิกุลและคณะ )



[i] ปิยบุตร แสงกนกกุล,เอกสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ทางวิชาการเพื่อประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.--,กรุงเทพ,สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและสถาบันพระปกเกล้า,๒๕๔๕,หน้า (ค),และ ๑๘-๒๐.

หมายเลขบันทึก: 161053เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2008 07:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
 

พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕

มาตรา ๕ บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้

คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ

ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

 พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ และมาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
 

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
โดยที่มาตรา ๕๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้ชนชาวไทยย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ และการให้บริการสาธารณสุขของรัฐต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมเท่าที่จะกระทำได้ และมาตรา ๘๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ด้วยเหตุนี้ จึงต้องจัดระบบการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตให้มีการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน โดยมีองค์กรกำกับดูแลซึ่งจะดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อจัดการให้มีระบบการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพทั้งประเทศ และให้ประชาชนชาวไทยมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานด้วยกันทุกคน นอกจากนี้เนื่องจากในปัจจุบันระบบการให้ความช่วยเหลือในด้านการรักษาพยาบาลได้มีอยู่หลายระบบ ทำให้มีการเบิกจ่ายเงินซ้ำซ้อนกัน จึงสมควรนำระบบการช่วยเหลือดังกล่าวมาจัดการรวมกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมในด้านสาธารณสุขมิให้เกิดการซ้ำซ้อนกันดังกล่าว และจัดระบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ  ชอบจังเลย

อ๋อค่ะ

ขอบคุณค่ะ คุณอ๋อ

เรื่องหลักประกันสุขภาพเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่บางครั้งเราก็ละเลยที่จะให้ความสนใจ  หลายคนยังไม่รู้ถึงสิทธิของตัวเองเลย และฉันเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น

หลังจากที่ฉันได้รับมอบหมายให้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โลกทัศน์ของฉันก็เปิดกว้างมากขึ้น

แล้วจะทะยอยนำเกร็ดอื่นๆที่ค้นพบระหว่างทางของการศึกษามาเผยแพร่นะคะ 

กิติวรญา รัตนมณี

ไหม

มีรายละเอียด ตรงนี้บ้างมั้ย "เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด" เวลาเห็นข่าวหรือสารคดี ในทีวี รวมถึงเคสตัวเป็นๆที่เป็นคนไทย มีบัตรไทย แต่เจ็บป่วยแล้วหนักใจเวลาไปหาหมอ

อยากรู้รายละเอียดขั้นตอนในการรับรองสิทธิ์ตรงนี้ด้วยจ้า

คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ

ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

 

ในประเด็นข้างต้นตามที่คุณจันลองถามมานั้น มีปรากฎตามความในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องบุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ และมาตรา๕ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ (ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นต้นมา)

โดยประกาศฉบับดังกล่าวได้วางหลักให้ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล บุคคลที่เสียสละสร้างคุณความดีต่อประเทศชาติ เป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ให้แก่หน่วยบริการในการรับบริการสาธารณสุขแต่ละครั้ง ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ ได้แก่

๑.ผู้มีรายได้น้อยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล พ.ศ.๒๕๓๗

๒.ผู้นำชุมชน ได้แก่ กำนัน, สารวัตรกำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบล รวมถึงบุคคลในครอบครัว

๓.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร และบุคคลในครอบครัว

๔. ผู้ที่อายุเกินกว่า ๖๐ ปีบริบูรณ์

๕. เด็กอายุไม่เกิน ๑๒ ปีบริบูรณ์

๖. บุคคลผู้พิการตามกฎหายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ (ไม่ว่าจะมีบัตรประจำตัวผู้พิการหรือไม่ก็ตาม)

๗. ภิกษุ, สามเณร ในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีหนังสือสุทธิรับรอง แม่ชี นักบวช นักพรต และผู้นำศาสนาอิสลามที่มีหนังสือรับรอง ซึ่งหมายถึง กรรมการอิสลามประจำมัสยิด กรรมการอิสลามประจำจังหวัด กรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น และบุคคลในครอบครัวของผู้นำศาสนาอิสลาม

๘.ทหารผ่านศึกทุกระดับชั้น (ชั้น ๑-๔) ที่มีบัตรทหารผ่านศึก และบุคคลในครอบครัว รวมถึงผู้ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิและทายาท

๙. นักเรียนไม่เกินชั้นมัธยมต้น

๑๐. นักเรียนทหารและทหารเกณฑ์

๑๑. ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญงานพระราชสงครามในทวีปยุโรปและบุคคลในครอบครัว

๑๒. อาสาสมัครมาลาเรีย ตามโครงการของกระทรวงสาธารณสุข และบุคคลในครอบครัว

๑๓. ช่างสุขภัณฑ์หมู่บ้านตามโครงการของกรมอนามัยและบุคคลในครอบครัว

๑๔. ผู้บริหารโรงเรียน และครูของโรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนาอิสลาม และบุคคลในครอบครัว ในเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล สงขลา พัทลุง นครศรีรรมราช ระนอง กระบี่ พังงา และภูเก็ต

๑๕. ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญราชการชายแดน

๑๖.ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน

๑๗. สมาชิกผู้บริจาคโลหิตของสภากาชาดไทย ซึ่งมีหนังสือรับรองจากสภากาชาดไทยว่าได้บริจาคโลหิตตั้งแต่ ๑๘ ครั้งขึ้นไป

๑๘. หมออาสาหมู่บ้านตามโครงการของกระทรวงกลาโหม

๑๙. อาสาสมัครคุมประพฤติของกระทรวงยุติธรรม

 

ปล.บุคคลในครอบครัวในที่นี้หมายถึง (๑) บิดามารดา (๒) คู่สมรส(๓) บุครโดยชอบด้วยกฎหมายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้มีสิทธิ

 

 

                   ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องบุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ฉบับที่ ๒  ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ และมาตรา๕ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้เพิ่มเติมให้ อาสาสมัครทหารพรานในสังกัดกองทัพบก ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ให้แก่หน่วยบริการในการรับบริการสาธารณสุขแต่ละครั้งด้วย

                  และหลังจากนั้นอีกสองปี เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การยกเลิกค่าบริการทางการแพทย์ ให้ยกเลิกการเรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์ที่เคยเรียกเก็บในอัตรา ๓๐ บาท ต่อการรักษาในแต่ละครั้ง เพื่อให้บุคคลทุกคนสามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

                 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ เป็นต้นมา บุคคลผู้มีสิทธิตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงไม่ต้องจ่ายค่าบริการทางการแพทย์อีกต่อไป

   

ที่กล่าวมานี้ก็เป็นเรื่องราวความเป็นมาของ

 ที่กล่าวมานี้ก็เป็นเรื่องราวความเป็นมาของ ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ  ตาม มาตรา ๕ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕

หากสนใจประกาศที่กล่าวมาในตอนต้นสามารถเข้าไปดูได้ตามลิงค์นี้นะคะ

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องบุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องบุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ฉบับที่ ๒  

ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การยกเลิกค่าบริการทางการแพทย์

ไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท