เดินไปหาทางตัน ทั้งที่ทางไม่ตัน (ตอนที่ 3) เส้นทางของนักแสดงมืออาชีพ


นักเพลงรุ่นใหม่ทุกวง ควรที่จะมีการพัฒนาความสามารถ เพราะถ้าหากมัวหยุดนิ่ง มันคือทางตันที่ไม่อาจจะลอดผ่านไปได้

 

เดินไปหาทางตัน

ทั้งที่ทางไม่ตัน 

(ตอนที่ 3) เส้นทางของนักแสดงมืออาชีพ  

ชำเลือง มณีวงษ์  

ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน               

          ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2550  ผมได้ต้อนรับนักเรียนตัวน้อย ๆ จำนวน 7 คน (จำนวนอาจจะไม่ตรง ความจำของคนแก่) คุณครูและนักวิชาการรวม 2 ท่าน ซึ่งท่านโทร.มาบอกล่วงหน้าว่าจะมาขอพบผมและเด็ก ๆ ในวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ สักครั้งเพื่อที่จะได้เห็นวิธีการ ในการเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ และที่สำคัญ คือ การนำวงไปแสดงในงานต่าง ๆ ได้อย่างไร เวลาประมาณ 9.40 น. คณะของครูสายัณห์ โพธิ์ศรีทอง และ คุณศุภภัทร์ สาดา และเด็ก ๆ นักเพลงจำนวน 7 คน จากโรงเรียนเลาขวัญราษฎร์บำรุง อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรีก็มาถึงห้อง 512 โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 (เป็นการมาศึกษาดูงานอย่างไม่เป็นทางการ) คุณครูสายัณห์ต้องจัดการเองทั้งหมดทั้งค่าเดินทาง เลี้ยงดูเด็ก ๆ แต่ก็เป็นหน้าที่ ที่ผมเองก็ทำแบบนี้มานาน  นานกว่าครูสายัณห์เสียอีก

          ในบทสนทนาพอสรุปใจความสำคัญได้ ดังนี้ คุณครูเขาต้องการที่จะได้เห็นลักษณะที่โดดเด่นของการแสดงว่า ทำอย่างไรจึงมีงานเล่นตลอดมายาวนานและมีงานอย่างต่อเนื่อง ฝึกกันอย่างไร กระบวนการเรียนรู้ในเวลาเรียนจัดอย่างไร การฝึกหัดเพลงนอกเวลาเรียนใช้เวลาในช่วงไหน มีจำนวนคนในวงมีกี่คน การจัดกิจกรรมการแสดงอย่างมีระบบทำอย่างไรโดยภาพ รวมคือ คุณครูสายัณห์อยากเรียนรู้เรื่องของการแสดงที่เป็นมืออาชีพ ว่ามีเส้นทางเดินมาอย่างไรจากจุดเริ่มต้นจนมาถึง ณ วันนี้ ผมจะขอนำเอารายละเอียดในเรื่องนี้ยกไปเล่าในตอนที่ 3 ครับ

          %e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b8%a8%e0%b8%b4%e0%b8%a5%e0%b8%9b%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%92%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%a1 

          1. ทำอย่างไรจึงมีงานเล่นตลอดมายาวนานและมีงานอย่างต่อเนื่อง

             ในประเด็นนี้ ต้องยอมรับกันก่อนนะครับว่า การทำงานทุกอย่าง ไม่มีความราบรื่น ปัญหาและอุปสรรคที่ขวางทางเดินอยู่ข่างหน้ามีมากมาย จนบางครั้งท้อใจ อยากที่จะหยุดทำงานหรือเลิกราไปเลย แต่กำลังใจที่มาจากเด็ก ๆ ในวงช่วยยับยั้งเอาไว้ ทำให้ต้องเดินหน้าต่อไป ความมั่นคงถาวรในการทำวงเพลงมันยากเสียยิ่งกว่าการจัดให้นักเรียนเรียนรู้ตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังหลายสิบ หลายร้อยเท่า เพราะการจัดการเรียนรู้ เมื่อนักเรียนผ่านการประเมินแล้วก็ผ่านไปได้เลย แต่การที่จะทำให้เขายังคงปฏิบัติในกิจกรรนมที่เขามีความสามารถแล้วซ้ำซาก ทำอย่างต่อเนื่อง (จำเจ) ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนลึกๆ หลงใหล เพลิดเพลินไปกับงาน (ลืมตัว) สนุกอยู่กับงาน โดยมีตัวเราซึ่งเป็นครูอยู่เคียงข่างกับพวกเขาตลอดเวลา 

          2. กระบวนการเรียนรู้ในเวลาเรียนจัดอย่างไร

              ในเวลาเรียนก็จัดกิจกรรมตามปกติ ในชั่วโมงเรียนรายวิชาเพิ่มเติมและรายวิชากิจกรรม/ชุมนุม การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพลงพื้นบ้านที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1  ผมเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาจากคอมพิวเตอร์ โดยนำเอาบันทึกการแสดงสดมาให้ดู สอดแทรกความรู้แบบไม่เป็นทางการ ใครมีความสนใจก็ศึกษาเจาะลึกลงไปโดยใช้ชุดฝึก (นักวิชาการบอกว่าไม่จำเป็น) ที่ผมประสบความสำเร็จ ผมทำชุดฝึกและโปรแกรมฝึกหัดร้อง เล่นเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ นักเรียนชอบร้องก็ฝึกร้อง ชอบรำทำท่าทางก็ฝึกทำท่าทาง ชอบจังหวะก็ฝึกตีกลอง ตะโพน บองโก้ ฉิ่ง กรับ ฯลฯ กันไป ใครชอบพูดมีมุขตลกก็ฝึกพูดเจรจา ทำได้ตามความสนใจครับ แล้วประเมินความสามารถตามความถนัดของเขา 

          3. ทำอย่างไร กับการฝึกหัดเพลงนอกเวลาเรียน ใช้เวลาในช่วงไหน

              สำหรับนอกเวลาเรียน ผมให้โอกาสนักเรียนขึ้นมาฝึกหัดเพลงพื้นบ้านกับผมได้ทุกวันในช่วงเช้า 07.45 - 08.15 น. ในช่วงเย็นเวลา 16.15-17.30 น. และนัดหมายในวันหยุดเสาร์หรืออาทิตย์ (สัปดาห์ละ 1 วัน) เวลา 08.30-12.30 น. บางครั้งก็เลยเวลาไปจนถึงบ่าย 2 โมง และถ้าช่วงใดมีงานหาเข้ามาก็จะฝึกซ้อมกันมากหน่อย ทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์ แต่ในการนัดหมายจะต้องให้คนในวงมาฝึกซ้อมอย่างน้อยมาได้ครึ่งวง ถ้าคนไม่พร้อมก็จะไม่มีการนัดหมายในครั้งนั้น ๆ ปัญหาก็มีบ้าง เรื่องของการตรงต่อเวลา ในเมื่อคนมาก ย่อมที่จะมีคนมาเร็ว มาช้าและไม่มาก็ต้องคอยเตือนกัน ใช้ระบบตรวจสอบ (เช็คชื่อ) นักแสดงส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือดี 

          4. การจัดกิจกรรมการแสดงอย่างมีระบบ ทำอย่างไร

              เราแบ่งงานกันเป็นแผนก ๆ โดยมี รัตนา ผัดแสน กับหทัยกาญจน์ เมืองมูล เป็นพี่ใหญ่ให้การดูแลน้อง ๆ นัดหมายและควบคุมการฝึกซ้อม ท่องบท ไล่เลียงความจำ ส่วนหน้าที่ประจำในวงก็มีดังนี้

              - หน้าที่กำกับดูแลสมาชิกในวงเพลง  น.ส.รัตนา ผัดแสน 

              - หน้าที่ควบคุมการเต้น ทำท่าทางประกอบ น.ส.สุพรรณิการ์ ปิ่นเกตุ

              - หน้าที่ดูแลนักร้องนำหญิง  น.ส.หทัยกาญจน์ เมืองมูล

              - หน้าที่ดูแลนักร้องนำชาย   ด.ช.ธีระพงษ์ พูลเกิด

              - หน้าที่ดูกลุ่มผู้ให้แลจังหวะ น.ส.ขวัญธณา  นรการ

              - หน้าที่กำกับบทพูด การเจรจาโต้ตอบ  น.ส.ยุพาภรณ์ สุขเกษม

              - หน้าที่ดูแลเสื้อผ้า อุปกรณ์ สุพรรฺณิการ์,เมธี, ภาธิณี, ยุวดี

          ส่วนคุณครูคอยประสานงานกับผู้ที่เป็นแกนนำ เป็นผู้คอยกระตุ้น เตือนให้พวกเขาทำหน้าที่ตามระบบงานที่เราได้ร่วมกันวางเอาไว้  ที่ผ่านมาก็นับว่าเรียบร้อยดี เป็นที่พอใจ ครับ

          %e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%87%e0%b8%ad%e0%b8%b5%e0%b9%81%e0%b8%8b%e0%b8%a7%e0%b8%9a%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2 

          5. การแสดงที่เป็นมืออาชีพ มีเส้นทางเดินมาอย่างไร จากจุดเริ่มต้นจนมาถึง ณ วันนี้

              นักแสดงมืออาชีพ จะต้องเป็นนักแสดงที่มีผู้มาจ้างวานให้ไปแสดงโดยมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ในประเด็นนี้ผมขอเรียนว่า ในส่วนตัวผมเป็นนักแสดงมานานแล้ว ก่อนที่จะรับราชการเสียอีก ผมมีงานแสดงหลาย ๆ ด้าน เป็นต้นว่า รับงานเชียร์รำวง (ไปตามคำเชิญทุกสถานที่) รับงานร้องแหล่อวยพร (ด้นสด)  รับงานทำขวัญนาค  รับงานร้องเพลงลูกทุ่ง  รับงานแสดงเพลงพื้นบ้านหลายชนิด เมื่อผมมาทำวงเพลง ผมจึงมีลูกค้าเก่า ๆ ที่เคยติดตามผลงานของผมมาตลอด ก็ยังคงให้ความเมตตาผมอยู่อีกมาก นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่มีคนมาหางาน  และอีกส่วนหนึ่งก็คือ เราพยายามที่จะทำวงเพลงให้มีจุดขายที่ไม่เหมือนใคร จัดการแสดงให้ผู้ชม ดูแล้วได้สาระ สนุก มีคติสอนใจ กลับไปได้แง่คิด คือสิ่งสำคัญ          แต่กว่าที่จะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ก็ต้องใช้เวลายาวนาน 17 ปีแล้วที่อยู่กับงานเพลงพื้นบ้าน เมื่อเริ่มต้นใหม่ ๆ 1 ปี มีงานแสดงเพียง 2-3 งาน (ปี พ.ศ.2535) แต่ด้วยความที่เราเกาะติด เอาจริงเอาจัง ไม่มีเลิกรา ทำให้ชื่อเสียงค่อย ๆ ขจรกระจายออกไปสู่วงนอกจนเป็นที่รู้จักในวงการมากยิ่งขึ้น งานก็จะค่อย ๆ เข้ามาหาจนทำให้ ในวันนี้วงเพลงต้องมีการฝึกซ้อมกันทุกวัน และเตรียมชุดการแสดงในเพลงพื้นบ้านหลายรูปแบบ ได้แก่ เพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด เพลงแหล่ เพลงเต้นกำ เพลงเรือ เพลงขอทาน เพลงพวงมาลัย เสภา ลิเก ทำขวัญนาค

          วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็นต้องจัดหา นำเอามาใช้มากขึ้น ทั้งชุดการแสดง เครื่องแต่งหน้า เครื่องไฟขยายเสียง ไฟฟ้าประดับเวที  ฉากเวที เครื่องดนตรีที่จะใช้กับการแสดงแต่ละประเภทและอีกหลาย ๆ อย่างที่เราต้องจัดหามาให้พร้อม นั่นคือ การพัฒนาวงเพลงไปสู่ตลาดตามที่สังคมต้องการ เอาไว้ในโอกาสต่อ ๆ ไป ผมจะนำเอารายละเอียดเกี่ยวกับจุดยืนมาเล่าให้ท่านที่สนใจได้รับทราบ  และผมหวังว่านักเพลงรุ่นใหม่ ๆ ทุกวงควรที่จะมีการพัฒนาความสามารถ เพราะถ้าหากมัวหยุดนิ่ง มันคือทางตันที่ไม่อาจจะลอดผ่านไปได้ แต่ถ้าได้มีการปรับแก้ให้เกิดความถูกต้องตามแบบอย่างที่ดีก็จะนำไปสู่การแสดงที่มีคนมาว่าจ้างเราไปประดับงานอย่างมีคุณค่า สมเกียรติยศและศักดิ์ศรีต่อไป

          %e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%b1%e0%b8%93%e0%b8%ab%e0%b9%8c+%e0%b9%82%e0%b8%9e%e0%b8%98%e0%b8%b4%e0%b9%8c%e0%b8%a8%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%97%e0%b8%ad%e0%b8%87

          ดังเช่น ครูสายัณห์ โพธิ์ศรีทอง และคุณศุภภัทร์ สาดา รวมทั้งเด็ก ๆ นักเพลงชาย-หญิง จำนวน 7 คน จากโรงเรียนเลาขวัญราษฎร์บำรุง อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี นักแสดงที่มุ่งพัฒนาความสามารถให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้น ขอให้ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวัง นะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 161295เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2008 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 00:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท