ทำการบ้าน "แบบสอบถามเพื่อสำรวจปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย"


เล่าถึงกรอบงานวิจัย

 งานวิจัยนี้เป็นภาพต่อหนึ่งของชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐในประเทศไทย โดยมีภาพต่ออื่นๆ

http://gotoknow.org/blog/archanwell-notes-on-health4stateless

http://gotoknow.org/blog/health4stateless-a1/toc

http://gotoknow.org/blog/health4stateless-a2/toc

http://gotoknow.org/blog/health4stateless-kitiwaraya/toc

http://gotoknow.org/blog/bongkot-health4stateless/toc

http://gotoknow.org/blog/uk-health4stateless/toc

http://gotoknow.org/blog/health4stateless/toc

ก่อนอื่นขอเล่ากรอบงานวิจัยสักเล็กน้อยของ  "โครงการวิจัยเพื่อสำรวจสภาพปัญหาการเข้าถึงและการใช้บริการสิทธิในสุขภาพของคนไร้รัฐ: กรณีศึกษา "  นี้ค่ะ  โดยจะเป็นการศึกษาวิจัยผ่าน “บุคคล” หรือ “กรณีศึกษา” หรือจะเรียกว่าเป็นตัวละครซึ่งเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติที่มีอยู่จริงในสังคมไทยในพื้นที่ต่างๆซึ่งประสบกับอุปสรรค ปัญหาในการเข้าถึง และการใช้บริการสาธารณสุข เพื่อเป็นตัวอย่างหรือภาพสะท้อนของสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว

และเนื่องจากสาเหตุหนึ่งของอุปสรรคและปัญหาที่คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติต้องเผชิญในการเข้าถึงและการใช้บริการด้านสาธารณสุขนั้นเกิดจากการตีความของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับงานบริการด้านสาธารณสุข โดยมีการกำหนดความหมายให้ บุคคลผู้มีสิทธิ คือ บุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ทำให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติไม่ได้รับการคุ้มครองตามหลักประกันสุขภาพ ดังนั้นงานศึกษาวิจัยจึงจะใช้ประเด็นการมีชื่อในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของรัฐไทยเป็นกรอบในการศึกษา กล่าวคือ จะศึกษาถึงคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติทั้งที่มีชื่อและไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร เพื่อเปรียบเทียบถึงสภาพปัญหา และคุณภาพของสิทธิในการเข้าถึงและการใช้บริการด้านสาธารณสุข โดยจะทำการศึกษากรณีปัญหาที่หลากหลายและแตกต่าง  ความหลากหลายและแตกต่างคงไม่ใช่เรื่องพื้นที่ของกรณีศึกษาค่ะ เราอาจจะเห็นกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยหลายชิ้นที่เลือกตัวแทนจากพื้นที่ เช่น จังหวัด ภาค เพราะเมื่อพูดถึงคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เราจะใช้เงื่อนไขการมีชื่อและไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร ค่ะ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่อาจจะสะท้อนให้เห็นรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างกัน เช่น ทัศนคติ วิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ก็เป็นสิ่งที่เราจะไม่ละเลยค่ะ(รายละเอียดตัวอย่างกรณีศึกษาจะชวนคุยในคราวหน้าค่ะ)

เล่าเรื่องเครื่องมือ/ แบบสอบถาม

เมื่อเริ่มต้นงานวิจัยในการศึกษากรณีศึกษา เครื่องมือ คือสิ่งสำคัญที่จะนำเราไปสู่คำตอบที่เราต้องการ และเครื่องมือก็คือที่รวมของนานาคำถาม? ที่เราต้องพยายามนำนานาคำตอบ เอามาเรียงร้อยจนเป็นภาพใหญ่ที่ชัดเจน สำหรับการรวบรวมเรื่องราวของกรณีศึกษานี้ เราได้ออกแบบเครื่องมือคือ "แบบสอบถามเพื่อสำรวจปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย"

แบบสอบถาม สำคัญไฉน?

จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานเป็นผู้ประสานงานโครงการด้านสถานะบุคคล ภายใต้อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาในการที่ได้ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้และมีความเข้าใจในเรื่องสถานะบุคคลเพิ่มพูนขึ้น ซึ่งก็ยังต้องใช้เวลาค่อยๆเรียนรู้ต่อไป

เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ประสานงานในการเก็บข้อมูลผู้ที่มีปัญหาเรื่องสถานะบุคคล โดยใช้แบบสอบถามชุดหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อนำมาบันทึกลงฐานข้อมูล ซึ่งคาดหวังว่าการทำให้ข้อมูลเป็นอิเลคทรอนิคจะช่วยในการมองเห็นภาพรวมของปัญหา ไปจนถึงการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ(อาจจะเป็นประเด็นพูดคุยกันต่อเรื่องDatabase ค่ะ) จากความที่ยังอ่อนด้อยในความรู้ความเข้าใจเรื่องสถานะบุคคล เรื่องสัญชาติ ทำให้เมื่อข้าพเจ้ามอง "แบบสอบถาม/แบบสำรวจ" ข้าพเจ้าไม่เห็นภาพที่จะเกิดขึ้นตามมา

สิ่งที่ตามมาคือ เมื่อแบบสอบถามที่มีคำตอบ กลับมาที่ข้าพเจ้า และระยะเวลาล่วงผ่านมาอีก 2 ปี จนแบบสอบถามกว่าพันชุดมากองอยู่ตรงหน้า และต้องผ่านตาข้าพเจ้าทุกชุด ข้าพเจ้าจึงได้ข้อสรุปหนึ่งว่า เครื่องมือที่ดี ย่อมเกิดจากความเข้าใจอันลึกซึ้ง อันจะนำมาซึ่งคำตอบที่ดีและสมบูรณ์ ความบกพร่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าต้องยอมรับนอกจากความอ่อนด้อยด้านความรู้แล้วคือข้าพเจ้าไม่ได้ตระหนักรู้ในสิ่งนี้ด้วย

เพราะการที่มีแบบสอบถามที่ดี แต่ผู้ใช้ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็ใช่ว่าจะนำมาซึ่งคำตอบที่ต้องการ ใช่หรือไม่?

เห็นอะไรในแบบสอบถาม

เมื่อต้องออกแบบ "เครื่องมือ" สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ คือ "แบบสอบถามเพื่อสำรวจปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย"  ข้าพเจ้าจึงคิดว่าจุดเริ่มต้นที่สำคัญคือ ข้าพเจ้าต้องตอบให้ได้ว่าแล้วข้าพเจ้ามองเห็นอะไรบ้าง?

หนึ่ง ข้าพเจ้ามองเห็น "ตัวตน" ของเจ้าของแบบสอบถาม ผ่านข้อมูลเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประวัติส่วนตัว  ข้อมูลนับตั้งแต่ชื่อ วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด หลักฐานการเกิด พยานที่รู้เห็น ข้อมูลเรื่องบัตร หรือเลขประจำตัว  ข้อมูลพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย ข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นมูลเหตุในการนิยามว่าเขาคือ "ใคร" และควรจะเป็น "ใคร" ในประเทศไทย

ในการทำแบบสอบถามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามองเห็นความไม่เข้าใจต่อข้อมูลดังกล่าว ทำให้ผู้เก็บข้อมูลไม่เห็นความสำคัญที่จะสังเกตรายละเอียดเล็กน้อย ต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น ชื่อ-นามสกุล เนื่องจากคนที่ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ทำให้การพูดจาสื่อสารอาจจะเกิดความผิดพลาด เราจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับการออกเสียง การเขียนชื่อให้ชัดเจนถูกต้อง / ชื่อสถานที่เกิด / หลักฐานการเกิดที่จะต้องมีความเข้าใจว่าแต่ละอย่างมีความหมายแตกต่างกัน

พูดง่ายๆคือ คนเก็บข้อมูล ควรจะเข้าใจว่าข้อมูลที่หายไป เว้นไว้ ไม่สนใจ ไม่พยายามที่จะแสวงหาคำตอบ ทำให้ตัวตนของเจ้าของปัญหาไม่ชัดเจนไปด้วย

สอง ข้าพเจ้ามองเห็น "เงื่อนไข /ปัจจัย" ที่ทำให้ตัวตนของเขาบิดเบี้ยว หรือกลายเป็นคนไม่มีตัวตน กลายเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ จากข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการด้านสถานะบุคคล  ซึ่งเป็นจิกซอร์ที่เราต้องพยายามดึงภาพต่อที่บิดเบี้ยวเหล่านั้นออกมาแสดง เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุด

เมื่อไม่เข้าใจว่าปัจจัยเหล่านี้จะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาอย่างไร เราก็จะพบว่า เจ้าของปัญหาไม่รู้ว่าเมื่อไปยื่นคำร้องก้ต้องได้หลักฐานจากอำเภอที่รับคำร้อง ต้องเก็บหลักฐานเอกสารไว้ เมื่อระบุว่ามีเอกสาร มีหลักฐานอะไรก็ต้องแสดง ผู้สำรวจก็ต้องเก็บรวบรวมสำเนามากับแบบสอบถามด้วย

สาม ข้าพเจ้ามองเห็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่ถูกเพิกเฉย ถูกปฏิเสธ ละเลยในการที่จะมีชีวิตมีสุขภาพที่ดี รวมถึงถูกกระทำอย่างไร้มนุษยธรรม  จากข้อมูลในเรื่องการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นภาพชีวิตอันยากลำบากยิ่งกว่า

ใครไม่เจ็บ ไม่ป่วย คงไม่รู้ เมื่อข้าพเจ้าเริ่มมีอาการปวดหลังเรื้อรังมาเมื่อราวสองปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เข้าใจถึงประโยคที่ว่า "ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ" เพราะข้าพเจ้าไม่เคยมีปัญหาเรื่องสถานะบุคคล  ไม่ได้ขัดสนเรื่องเงินทองนัก ไม่ได้ยากลำบากในการแสวงหาที่รักษา  แต่ความเจ็บป่วยก็ทำให้ข้าพเจ้ามีชีวิตที่ยุ่งยากพอสมควร

แต่ทั้งหมดทั้งมวลของบรรดาคำตอบนั้น จะเกิดขึ้นได้จริง การส่งต่อความเข้าใจสู่ผู้เก็บข้อมูลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะละเลยไม่ได้  ไม่ใช่ใครก็เก็บได้ ทำไมต้องเขียนให้ชัดเจน(บางครั้งข้อมูลมาบิดเบือนจากผู้บันทึก) ทำไมแบบสอบถามยืดยาว  ทำไมต้องแสวงหาคำตอบ

และเมื่อนำภาพทั้งหมดมาเรียงร้อยกันอีกครั้ง ข้าพเจ้าหวังว่าหากคำตอบในภาพย่อยๆเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง ท่านก็จะได้เห็นเรื่องราวชีวิตอันยากลำบากที่เกิดขึ้นจากการไร้หลักประกันสุขภาพ การเข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีความรู้สึก มีความเห็นอกเห็นใจต่อความทุกข์ยากแล้ว การสร้างหลักประกันที่จะทำให้มนุษย์คนหนึ่งมีสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่เป็นสุขนั้นเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นไปได้...ใช่หรือไม่?

คำสำคัญ (Tags): #แบบสอบถาม
หมายเลขบันทึก: 161428เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2008 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในประสบการณ์ของ อ.แหวว อ.แหววขอตั้งข้อสังเกตด้วยค่ะว่า

แบบสอบถามนี้น่าจะสะท้อนเรื่องราว ๓ ชุดนะคะ

ชุดแรก ก็คือ เรื่องราวของความไร้สัญชาติไทยของมนุษย์ในสังคมไทย จนถูกปฏิเสธสิทธิในหลักประกันสุขภาพโดย สปสช. ซึ่งอยากให้งานวิจัยชุด A1 ช่วยสะท้อนให้ สปสช. เห็นคนที่มีสัญชาติไทย แต่โชคร้ายถูกกระทำโดยระบบทะเบียนราษฎร และถูกซ้ำเติมโดย สปสช. กรณีป้าเจรียง กรณีน้องออย คงแสดงให้เห็นมายาคติของสัญชาติไทยได้ดี ความเป็นจริงที่ สปสช.ควรรู้ และปรับเปลี่ยนระบบประกันสุขภาพมิให้ซ้ำเติมคนสัญชาติไทยที่โชคร้ายทางทะเบียนราษฎรเหล่านี้

ชุดที่สอง ก็คือ เรื่องราวของความเจ็บป่วยที่จู่โจมคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ ซึ่งจะเห็นว่า มักจะร้ายแรง ทั้งที่มิใช่โรคที่ร้ายแรง ความไร้รัฐความไร้สัญชาติอาจทำให้เข้าไม่ถึงระบบการป้องกันโรคหรือเปล่าหนอ

ชุดที่สาม ก็ตือ เรื่องราวของมนุษย์นิยมในวงการสาธารณสุขไทย แม้นโยบายของ สปสช.จะมีลักษณะอมนุษย์นิยม  แต่เรื่องนี้ดูไม่ร้ายแรง เพราะความพยายามที่จะรักษาโรคให้แก่คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติปรากฏขึ้นมากมาย กรณีของกองทุนโรงพยาบาลในหลายโรงพยาบาลแสดงถึงความไม่ยอมแพ้ของคนทำงานด้านสาธารณสุขต่อกฎหมายที่เป็นใบ้และนโยบายที่ไร้ใจ หรือกรณีของการสงเคราะห์น้องวิน หรือน้องวิษณุ หรือลุงติ๊ ก็เป็นอะไรที่สวยงาม เราตระหนักในความน่าเทิดทูนของคนที่ทำงานด้านสาธารณสุข

กรณีศึกษาหรือที่เราดัดจริตเรียกว่า Case Study จึงจะเป็น "บทเรียน" ให้เราดึงให้ผลการวิจัยของเรา realiste มากที่สุด

อ.แหวว อยากเห็น ทีมวิจัยทุกคนมุ่งมาใช้กรณีศึกษาของเราเป็นตัวทดสอบบทวิจัยของเรา

อยากถามเอกว่า ที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น เขาจะทิ้งให้คนอย่างป้าเจรียงตายจากไปแบบนี้ไหม ?

อยากถามสุว่า ที่ประเทศอังกฤษ เขาจะปล่อยให้น้องออยต้องเกิดขึ้นมา โดยมิได้ทำในสิ่งที่ควรทำหรือไร ?

อยากถามเตือนว่า ประชาคมระหว่างประเทศคาดหวังที่จะให้ประเทศไทยทำอย่างไรต่อน้องออยหรือป้าเจรียง ?

อยากถามไหมว่า จริงหรือที่น้องออยและป้าเจรียงมิใช่ "บุคคล" ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพ หรือกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ ?

อยากถามจ๊อบว่า จะต้องทำอย่างไรที่จะทำให้กองทุนในโรงพยาบาลมีความสามารถที่จะช่วยคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ?

และอยากถามด๋าวว่า ทำอย่างไรหลักประกันสุขภาพเป็นของมนุษย์ทุกคนในสังคมไทยอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ?

กลับมาถามแก้วและชลว่า จะใช้เวลาอีกนานไหมที่จะเล่าเรื่องของทุกกรณีศึกษาออกมาให้สังคมไทยได้เรียนรู้และถอดประสบการณ์

ขอบใจที่ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อทำงานวิจัยชุดนี้ รักทุกคนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท