Srinon
นาย อนนท์ นนท์ ศรีพิพัฒน์

การจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น


ก่อนอื่น เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่อยู่ใกล้ตัวก่อน

     ช่วงระยะเวลาสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นช่วงการออกนิเทศโรงเรียน และเป็นระยะเวลาที่ได้พบปะสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครู  หลายท่านได้ขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการทำผลงานทางวิชาการ ผมจึงเสนอแนวคิด (ส่วนตัว) ว่า สมรรถนะสุดๆ ของครูด้านการจัดการเรียนการสอน คือการพัฒนาหลักสูตรสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น และปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพเด็กควบคู่ไปกับการพัฒนาเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง เมื่อให้ข้อแนะนำไปแล้วจึงเก็บร่องรอยความคิดเห็นและข้อแนะนำนั้นมานำเสนอไว้ในที่นี้บ้าง เผื่อจะได้ช่วยกันเติมเต็ม       1. กรอบแนวคิดการพัฒนาผลงาน

        1.1 พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น (เพิ่มเติม) เรื่อง วัดเกษมสุริยัมนาจ

        1.2 ทดลองใช้หลักสูตร เพื่อหาประสิทธิภาพของหลักสูตร

        1.3 รายงานการวิจัยผลการทดลองใช้หลักสูตร หรือผลการหาประสิทธิภาพของหลักสูตร (รายงานผลการพัฒนาและหาประสิทธิภาพหลักสูตรสถานศึกษา สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น เรื่อง .................................. โดยใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่....  โรงเรียน....................... สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 2 )

        1.4 ต่อยอด โดยพัฒนาสื่อหลักและสื่อเสริมต่างๆ เช่น สื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์  (อาจพัฒนาในระบบผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือระบบเครื่องเดี่ยวตามลำพัง) บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ชุดฝึกทักษะด้านต่างๆ (ด้านใดด้านหนึ่ง) โดยใช้เนื้อหาวัดเกษมฯ เป็นประเด็นหลัก  เอกสารเสริมความรู้ บทความ เรื่องสั้น ฯลฯ

        1.5 ขอความเห็นชอบ/อนุมัติ จากคณะกรรมการสถานศึกษา แล้วแจ้ง สพท.นฐ.2 เพื่อทราบและประชาสัมพันธ์ หากต้องการผลักดันให้เป็นหลักสูตรท้องถิ่นระดับเขตพื้นที่การศึกษานครปฐมเขต 2 ให้ทำเรื่องขออนุมัติจาก สพท.นฐ.2

 

     2. ประเด็นหลักได้แก่ โครงสร้างหลักของเนื้อหา หากพัฒนาทั้งระบบทุกช่วงชั้น เมื่อแบ่งตามช่วงชั้นควรสัมพันธ์สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้และพัฒนาการทางการเรียนรู้ เช่น

         ช่วงชั้นที่ 1  เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอง เน้นการใช้แหล่งเรียนรู้ใกล้ตัวที่สุด

         ช่วงชั้นที่ 2  เป็นการใช้แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นที่อยู่ใน สพท.นฐ.2 (และ/หรือภายในจังหวัด)

         ช่วงชั้นที่ 3  ใช้แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นจังหวัดใกล้เคียง (และหรือ/ภายในภาค)

         ช่วงชั้นที่ 4  ใช้แหล่งเรียนรู้สากล เน้นการสืบค้นอย่างเป็นระบบ และใช้กระบวนการทาง ICT 

       ประเด็นรองได้แก่กิจกรรมบูรณาการตามสาระการเรียนรู้ต่างๆ (ตาม Concept Mapping)

 

     3. กรอบแนวคิดการพัฒนาสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น และขั้นตอนการพัฒนา

         3.1 เสนอแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น (ประกอบด้วยคณะครู และผู้รู้ด้านต่างๆ )

         3.2 ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน

               - ศึกษาและวิเคราะห์นโยบายรัฐ (ทุกระดับ)

               - รวบรวมสารสนเทศท้องถิ่นจากแหล่งความรู้/ผู้รู้

               - สำรวจสภาพปัจจุบัน และปัญหาความต้องการของผู้เรียน รวมถึงท้องถิ่น ให้ทราบถึงปัญหาและสิ่งที่ควรพัฒนา                - จุดเน้นของสถานศึกษา (วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน

        3.3 ศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรแกนกลาง)  วิเคราะห์มาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้ ที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานช่วงชั้น

        3.4 กำหนดมาตรฐานสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น เรื่องที่จะพัฒนา และข้อมูลพื้นฐานที่ได้ศึกษาจากข้อ 3.2 และข้อ 3.3 (ช่วงชั้นที่ 1 แล้วคลี่มาตรฐานช่วงชั้นที่ 1 เป็นมาตรฐานรายปี ป.1- ป.2- ป.3)

        3.5 กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ซึ่งวิเคราะห์มาจากมาตรฐาน

        3.6 กำหนดคำอธิบายรายวิชา (แบ่งตามช่วงชั้น)  กำหนดเวลาเรียน/จำนวนหน่วยการเรียน (40 ช.ม. : 1 หน่วยกิต)

        3.7 ออกแบบการเรียนรู้  กำหนดโครงสร้างเนื้อหา  หน่วยการเรียนรู้ เนื้อหาสาระและกิจกรรมการเรียนรู้ (Content Mapping)

        3.8 พิจารณาเลือกรูปแบบการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ เพื่อการออกแบบการเรียนรู้

        3.8 กำหนดวิธี/เกณฑ์ การวัดและประเมินผลอิงมาตรฐาน 

        3.9 เขียนแผนการจัดการเรียนรู้ (ตามแบบฟอร์มที่เลือก) 

              - จัดทำเครื่องมือ/แบบฟอร์มต่างๆ

              - ผลิตสื่อที่ใช้ประกอบในบทเรียน ตามแผนการจัดการเรียนรู้ เช่น ใบงาน ใบความรู้ แบบสรุปความรู้ แบบบันทึกคะแนน แบบฝึกหัด ชุดฝึก ชุดกิจกรรม สื่อกิจกรรมศูนย์การเรียนรู้

รวมถึงเอกสารหลักสูตรอื่นๆ เช่น คู่มือครู หนังสืออ่านเพิ่มเติม สื่อเอกสาร ฯลฯ

        3.10 จัดทำข้อสอบ ก่อนและหลังเรียน พร้อมทั้งหาคุณภาพข้อสอบ

               

     4. (ต่อยอด เพิ่มเติมครับ) ควรหาประสิทธิภาพสื่อหลัก ที่ใช้ในแต่ละบทเรียน และเขียนรายงานผลการหาประสิทธิภาพ ก็จะได้งานวิจัยเพิ่มขึ้นอีกหลายชิ้นครับ

                 

                สวัสดีครับ   จาก ศน.อนนท์  ศรีพิพัฒน์
หมายเลขบันทึก: 161489เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2008 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท