beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

แนวทางกู้วิกฤตของสังคมไทย (เริ่มจากตัวเอง) ของท่านอาจารย์หมอประเวศ


วิกฤติทั้ง 5 ข้อนี้ ถ้าจะแก้ไขให้ได้ ก็ต้องลงลึกเข้าไปในระดับจิตใจของผู้คนที่มี "หัวใจของความเป็นมนุษย์" ทั่วประเทศ

          ได้อ่าน สก๊ปหน้า ๑ : หกมีดหมอประเวศสะบั้นกรอบ กู้วิกฤติ [2 ก.พ. 51 - 17:59] ของไทยรัฐ แล้วตรงใจผมมากทีเดียว...ในเรื่องจุดยืนของการนำ KM ไปใช้เพื่อพัฒนาตน คน งาน จึงขอนำมาเล่าที่นี่อีกครั้งหนึ่งครับ.....(คำว่า "ผม" ในบันทึก คือ beeman ครับ)

          ท่านอาจารย์หมอประเวศ ชี้ให้เห็นวิกฤติของประเทศไทย 5 อย่างคือ

  • วิกฤติทางเศรษฐกิจ
  • วิกฤติทางการเมือง
  • วิกฤติสิ่งแวดล้อม
  • วิกฤติทางสังคม
  • วิกฤติความล้มเหลวในกลไกของรัฐ

           วิกฤติทั้ง 5 ข้อนี้ ถ้าจะแก้ไขให้ได้ ก็ต้องลงลึกเข้าไปในระดับจิตใจของผู้คนที่มี "หัวใจของความเป็นมนุษย์" ทั่วประเทศ

            พลังของมนุษย์แท้จริงมีมากมาย เพราะเหตุใด มนุษย์จึงไม่เผยพลังออกมา ? นั่นคือโจทย์ที่ตั้งให้คิด

           นั่นเป็นเพราะมี "กำแพงที่มองไม่เห็น" อยู่รอบตัวเรามากมาย เช่น โครงสร้างทางอำนาจด้านการเมือง ระบบราชการ การศึกษา ธุรกิจ และศาสนา เป็นต้น เหล่านี้เป็นตัวสกัดกั้น "พลังของมนุษย์

          ผมมีความเชื่อว่า...เราจะต้องสร้างเครือข่ายประชาชนเข้มแข็ง โยงใยไปทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดและขยายแนวคิด หาทางออกให้กับปัญหา "วิกฤตของชาติ" ร่วมกัน....เริ่มต้นจาก "ตัวเรา" รวมกลุ่มพบปะพูดคุยกัน จากกลุ่มเล็กๆ.... สร้างหัวใจของความเป็นมนุษย์ให้เต็มพื้นที่ทั่วประเทศ

           ต่อไปนี้เป็น วิธีการ (Process) ทำลายกำแพงตัวสกัดกั้นพลังมนุษย์ ๖ ประการ กู้วิกฤติของชาติ ที่ต้องเริ่มต้นจากตัวเราและลามไปสู่คนข้างเคียง  

  1. ประการแรกคือ ต้องเปลี่ยนวิธีคิด (Paradigm shift)....

    "โลกเราต้องการวิธีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง ถ้าคิดแบบเดิมมนุษยชาติจะไม่รอด" (โรเบิร์ต ไอสไตน์).... ปัจจุบันมนุษย์เรามักมีแนวคิดและมุมมอง "แบบแยกส่วน" เรื่องเศรษฐกิจก็คิดเอาเงินเป็นตัวตั้ง เรื่องสุขภาพ ก็เอาโรคมาเป็นตัวตั้ง เรื่องการศึกษา ก็เอาวิชาการมาเป็นตัวตั้ง แล้วยังแยกเอาวิชาการออกจากชีวิตอีกด้วย

    การคิดแบบแยกส่วน ทำให้ก้าวไปสู่ทางตัน ทำให้โลกวิกฤติ เพราะเมื่อมองอะไรแบบแยกส่วน ก็จะเห็นเป็นส่วนๆ ไม่เห็นภาพรวม ตัวอย่างใกล้ตัวผม เห็นได้จากระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่แยกเป็นคณะ ภาควิชา แยกเป็นส่วนๆไป ด้วยเหตุนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยทำนโยบายสาธารณะไม่เป็น (ให้กำลังใจครับ..เป็นส่วนใหญ่แต่ไม่ใช่ทั้งหมด)

    "การแยกส่วนทำให้ไม่มีชีวิต เหมือนเราชำแหละวัวออกเป็นชิ้นๆ ทำให้วัวตาย" ดังนั้น การพัฒนาจะต้องเชื่อมโยงกัน เรียกว่า "บูรณาการความคิด"  เชื่อมต่อให้มีชีวิต ทำให้คิดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และปรับใช้ตามสถานการณ์ ไม่ใช่เรื่องตายตัวแน่นอนในทุกๆ เรื่อง
  2. ประการที่ 2 การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ (Respect for people) 

    สังคมไทย เป็นสังคมที่ไม่ให้เกียรติคนยากจน ทั้งที่แท้จริงเรื่องนี้เป็นศีลธรรมขั้นพื้นฐานเลยทีเดียว....ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่เจ้านายชั้นสูงใน "ศากยวงศ์" ออกผนวช...มีการตกลงกันให้ ช่างแต่งผมคือ "พระอุบาลี" บวชก่อน และเจ้านาย "ศากยวงศ์" ค่อยบวชตาม ทั้งนี้เพื่อทำลายตัว "ทิฏฐิ" เนื่องจากมีพุทธบัญญัติไว้ว่า "ภิกขุผู้บวชทีหลัง พึงทำความเคารพ ภิกขุผู้บวชก่อน" หรืออย่างครั้งที่ "ราธะพราหมณ์" จะบวช แต่ไม่มีใครบวชให้ ท่านพระสารีบุตร ระลึกถึง "ข้าวหนึ่งทัพพี" จึงได้รับอาสาพระพุทธเจ้า บวชให้ราธะพราหมณ์ นี่ก็เป็นตัวอย่างครั้งพุทธกาล..
     
     เรามักนับถือกันที่ยศถาบรรดาศักดิ์ การมีเงินทอง มากกว่า เรื่องของความดีและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ตัวอย่างในระบบสุขภาพ "แพทย์ก็คิดว่าตนเองมีศักดิ์ศรีสูงกว่าคนไข้ จึงไม่ฟังคนไข้ ไม่อธิบายคนไข้ ทั้งที่แท้จริงแล้ว การสื่อสารมันไม่ใช่เรื่องเทคนิค แต่มันเป็นเรื่อง ของศีลธรรม" “คนไข้ถ้าเจอสายตาเป็นมิตรของหมอ ก็จะได้กำลังใจ หายไข้ได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าโดนตวาด การรักษาก็จะยากขึ้น
  3. ประการที่ 3 การเคารพความรู้ในตัวตนมากกว่าความรู้ตามตำรา (เน้น Tacit Knowledge มากกว่า Explicit Knowledge)

    เรามักเคารพแต่ความรู้ในตำรา" (ใกล้ตัวผมที่เห็นเด่นชัดคือ พวกที่เรียกตัวเองว่า "นักวิชาการ" นั่นแหละครับที่ยึดมั่นในแนวคิดแบบนี้) 
    จริงๆความรู้ในตัวตนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะความรู้จากตำราเป็นเรื่องที่มีฐานมาจากวิทยาศาสตร์ แต่ความรู้ในตัวตนมาจากความชำนาญของแต่ละคน ดังนั้น การใช้ความรู้ ที่มาจากฐานทางวิทยาศาสตร์ จะต้องเอาความรู้ในตัวตนไปประกอบด้วย จะทำให้เกิดคุณค่ามากขึ้น
  4. ประการที่ 4 การสร้างเจดีย์จากรากฐาน (การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน)

    การทำงานใดๆ ถ้าเราพัฒนาจากฐานที่มั่นคง การงานของเราก็จะเจริญก้าวหน้าไปได้ แต่เรามักจะทำกันที่ยอด ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ เรามักทิ้งรากฐาน ทอดทิ้งท้องถิ่นไป เท่ากับเราทำลายรากฐาน แล้วยังเอาเงินของฐานไปให้กับคนส่วนน้อยอีก บ้านเมืองจึงวุ่นวายไปหมด

    ยกตัวอย่างคือ “มหาวิทยาลัยต่างๆมีไหมที่มองชุมชนท้องถิ่น ถ้ามหาวิทยาลัยสนใจชุมชนจริงๆ ชุมชนก็จะเข้มแข็ง บ้านเมืองก็จะไม่เกิดปัญหา”

    ผมแทรกอีกตัวอย่างหนึ่ง เวลาคนของหน่วยราชการ จะสร้างผลงาน มักเอาผลงานของชุมชนไปต่อยอดเพื่อสร้างเป็นผลงานของตัวเอง จนเดี๋ยวนี้ ชุมชนบางแห่งเขาก็เข็ดขยาดคนของหน่วยราชการ...แต่ความจริงคนในราชการที่ดีดี ทำเพื่อชุมชนก็ยังพอหาได้อยู่บ้างนะครับ
  5. ประการที่ 5 การใช้ใจนำ ความรู้ตาม (จิตอาสาและใจสั่งมา)

    "คนเรามักให้ความรู้นำ แล้วเอาใจตาม เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดทั้งโลก เพราะความรู้จะต้องซอย ต้องแยกว่า รู้อะไร สาขาอะไร แยกย่อยไปหมด ความรู้รวมกันไม่ได้ แต่ถ้าเราเอาใจนำ เราจะร่วมกันได้ เพราะเรามีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์อยู่แล้ว"

    ถ้าเราเอาใจนำได้ เราก็จะสามารถดึงเอาความรู้มาช่วยเพื่อนมนุษย์ เราจะกระตือรือร้น ขวนขวายหาความรู้ ทำให้เราพัฒนาศักยภาพของตนขึ้นมาได้"

    ถ้าแต่ละคนทำงานด้วยใจ "ใช้ใจนำ ความรู้ตาม" พอมารวมทีมกัน จะเกิดพลังของความแตกต่าง ใช้ความรู้ที่มีอยู่ ช่วยกันทำงานจนประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้...ไม่ใช่ทำงานตามหน้าที่ ทำงานแล้วไม่มีความสุข
  6. ประการที่ 6  ความไม่เป็นทางการนั้นยิ่งใหญ่กว่าความเป็นทางการ

    "เรามักใช้ความเป็นทางการมากำหนดการทำงาน แล้วเราก็ไม่สามารถจัดการได้อย่างเป็นธรรม"

    "จริงๆแล้วความไม่เป็นทางการ ใหญ่กว่าความเป็นทางการ แต่เราก็คิดว่ามันไม่ถูกต้อง อย่างการพูดคุยก็ต้องเป็นทางการ (คือต้องมีการเรียกประชุม)"

    “เอาเข้าจริง เราพูดกันเวลากินข้าว เวลาเข้าห้องน้ำ เราก็ได้อะไรที่มีคุณค่ามากมาย เพราะมันเป็นวิถีธรรมชาติของมนุษย์”

    “ถ้าเรารู้เท่าทันตัวเรา เราก็จะรู้ว่าความไม่เป็นทางการนั้นมีคุณค่า และมาก่อนความเป็นทางการ อย่างเราจะทำความดี เราไม่จำเป็นต้องไปขออนุมัติจากใคร ทีคนทำความชั่วยังไม่เห็นจะต้องขออนุมัติจากใครเลย”

          ถ้าคนเรา "ทำลายกำแพง" หรือหลุดจากกรอบเหล่านี้ได้ เราก็จะค้นพบศักยภาพในตัวเรามากมาย เพื่อนำมาสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามต่อไป.

          ขอได้รับคำขอบคุณ จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ครับ...
     
 

beeman by Apinya

มนุษย์ผึ้งมหัศจรรย์  
神奇的蜂爷
  
(shen2  qi2  de1  feng1  ye2)


 
 
 

หมายเลขบันทึก: 163242เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2008 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรื่องเหล่านี้ทุกคนอยากทำ แต่ทำไมถึงทำไม่ได้

ถ้าทำได้ ประเทศไทยคงเจริญนะคะ

  • ขอบคุณ คุณอุบลครับ
  • ตอนนี้ผมพบใคร ถ้ามีโอกาส ผมจะพูดสิ่งเหล่านี้ให้ฟัง
  • นอกจากพูดให้ฟังแล้ว ผมยังรับ 6 ข้อ ปฏิบัติให้อยู่ในวิถีชีวิตด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท