สิ้นแล้ว รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร


โดยเฉพาะอาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร นอกจากผมจะได้ความรู้ทางศิลปกรรมแล้ว ผมยังได้ซึมรับเอาความรู้ทางวรรณกรรมของท่านอย่างเอร็ดอร่อยอ่านไม่รู้จักเบื่อ การนำเสนอบันทึกอีสานผ่านเลนส์ จึงเป็นงานที่วิเศษอย่างยิ่งที่คนวรรณกรรมอย่างผมพออกพอใจ สมแล้วที่ท่านเป็นปราชญ์แห่งแผ่นดินอีสาน

 

สิ้นแล้ว  รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร

   วันที่ 2 กุมภาพันธ์  2551 เราได้สูญเสียผู้รู้ ครู นักปราชญ์ ปูชนียบุคคลที่สำคัญของวงการ การค้นคว้าด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรม สองฝั่งโขงคนสำคัญอีกท่านหนึ่ง จากไปอย่างไม่มีวันกลับ นับเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของวงการการศึกษาด้านนี้ของชุมชนวิชาการอีสาน ท่านผู้นั้นคือ รองศาสตราจารย์วิโรฒ ศรีสุโร  อาจารย์ผู้มีผลงานการค้นคว้าทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม  วรรณกรรม ในสายวัฒนธรรมสองฝั่งของมาจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งในวาระโอกาสนี้ผมขอคารวะและรำลึกถึงด้วยจิตนิยมบูชาในฐานะปราชญ์ของอีสานและอาจารย์ผู้ให้แนวคิดที่นอกกรอบหลายประการในวงวิชาการแก่ พวกกระผมผมมีความผูกพันกับท่านอาจารย์อยู่หลายสถานภาพทั้งทางวิชาการส่วนตัวและในฐานะศิษย์ซึ่งขอกล่าวถึงความผูกพันเพื่อจารึกไว้ให้ผู้ผ่านทางทั้งหลายได้รับทราบและรู้อีกมุมหนึ่งของท่าน

อุโบสถวัดศาลาลอย คือผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยอีสานล้านช้าง ยุกแรกๆ

1. ในฐานะของลูกศิษย์ อาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร มีคุณูปการกับศิษย์ไทยคดีศึกษา ในยุคเริ่มต้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะสาขามนุษยศาสตร์ เพราะในช่วงนั้นการเปิดการสอนบัณฑิตศึกษา สาขาไทยคดีศึกษาของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม เป็นโครงการร่วมมือของหน่วยงานสามหน่วยงาน กล่าวคือ บัณฑิตวิทยาลัยดูแลในด้านคุณภาพทางวิชาการและประสานขั้นตอนทางธุรการที่จะนำไปสู่การผลิตศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขา ไทยคดีศึกษา ทั้งเน้นมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สอง คณะมนุษยศาสตร์ และ คณะสังคมศาสตร์ คือ ผู้หาบุคลากรสายวิชาที่เชี่ยวชาญทางด้านอีสานศึกษามาสนับสนุนการเรียนการสอนให้เกิดคุณภาพ และสาม สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน เป็นผู้ดูแลภารกิจการจัดที่เรียนที่สอนและมอบบุคลากรทางอีสานศึกษาได้มาช่วยปรับฐานความเข้าใจด้านอีสานศึกษาให้นิสิตได้อย่างรอบด้าน

อุโบสถและพิพิธภัณฑ์วัดหนองป่าพง คือ ผลงานอีกส่วนหนึ่ง

เพราะในช่วงนั้น ไทยคดีศึกษา เป็น หลักสูตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้สร้างคือ มศว.สงขลา และเปิดขึ้นเพื่อ เน้นทักษิณศึกษา ในส่วนของมหาสารคามก็เน้นในส่วนอีสานศึกษา โดยแบ่งเป็น เน้นมนุษย์ศาสตร์และเน้นสังคมศาสตร์ ส่วน มศว.พิษณุโลก เน้น ล้านนาศึกษา  พวกเราจึงมีโอกาสได้เรียนกับ อาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร จากคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เกี่ยวข้องกับ สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอีสาน   เรารู้จัก สิมอีสาน ทั้งสิมบกสิมน้ำ เรารู้จักว่าศาลาการเปรียญกับหอแจก หอฉัน ต่างกันอย่างไร เรารู้จัก สถาปัตยกรรมอีสาน ล้านช้างและล้านนา ต่างจาก สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ อย่างไร เราร่วมคัดค้านไม่ให้ทำลาย สิมวัดโพธิ์ชัย ที่เป็นสิมอีสาน ที่เมืองฟ้าแดดสงยาง ที่กำลังจะสร้างอุโบสถแบบภาคกลางแทนแต่ก็ไม่ทัน อาจารย์พาเราไปทุกหนทุกแห่งในภาคอีสานเพื่อไปดูสิม อุโบสถ ธาตุ  บ้านแบบอีสาน เถียงนา ปราสาทหิน  พระไม้ พระปูน พระดินเผา พระหินทราย เราจึงไปกับอาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร โดยมีสหายคู่ใจซึ่งเป็นเจ้าของวิชาดังกล่าว คือ อาจารย์อาคม วรจินดา และกัลยาณมิตรทางวิชาการของท่านอีกคน คือ อาจารย์ไพโรจน์ สโมสร เป็น สามพระอาจารย์ที่พาพวกเราไปในที่ต่าง ๆ ในอีสาน อันเกี่ยวของกับศิลปกรรม สถาปัตยกรรมและความเชื่อ จนเรียกว่า พวกเราเข้าใจทั้งเรื่องราวและความเป็นมาตลอดจนแนวคิดอย่างมากมายมหาศาลของผู้เฒ่าทั้งสาม แต่ไม่เคยแก่และเหน็ดเหนื่อยทางวิชาการเลย

หอพระประธานกันทรวิชัยอภิสมัยธรรมนายก และ อาคารสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไอเดียรวมระหว่างปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอีสาน วิโรฒ ศรีสุโร และ อาคม วรจินดา  (บอน เอื้อเฟื้อภาพ  ขอบคุณยิ่ง)

2. ในฐานะผู้สืบต่อการด้านวัฒนธรรม ผมมีโอกาสได้ร่วมรับใช้ในด้านกิจกรรมทางวัฒนธรรมอีสานอีกหลายกิจกรรม สิ่งที่เป็นบุญคุณและเนื้อนาบุญให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามที่อาจารย์ทิ้งให้ไว้คือ อาคารสถาบันศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน และหอพระประธานกันทรวิชัยอภิสมัยธรรมนายก ในช่วงนั้นหลังจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีดำริที่จะสร้างอาคารสถาบันวิจัยศิลปวัฒนธรรมอีสาน ท่านอาจารย์อาคม วรจินดา ได้เชิญอาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร มาที่มหาสารคามเพื่อเล่าถึงสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นสำหรับหน่วยงานที่ชื่อว่า สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ว่า ต้องการให้เป็นหน่วยงานที่ศึกษาค้นคว้าทำนุบำรุงด้านศิลปะและวัฒนธรรมของภาคอีสานและหกชาติลุ่มแม่น้ำโขง ให้เป็นยุ้งฉางแห่งภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

อาคารหอศิลป์และศูนย์ประชุมกาญจนาภิเษก คือ ผลงานแนวคิด จาก กล่องข้าว และกูปเกวียนเดินทาง

            นอกจากจะมีอาคารหลักเพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์และพัฒนาการของสังคมอีสาน และนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอีสานแล้วยังต้องมองเห็นและพยากรณ์สังคมอีสานในอนาคตว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอย่างยั่งยืนที่สุด  ยังต้องมีอาคารประกอบอีกสองหลังเพื่อเป็นที่พำนักของนักวิจัยจากต่างแดนมาแลกเปลี่ยนการศึกษาค้นคว้าและอาคารปฏิบัติการวิจัยที่ให้การบริการเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการค้นคว้าวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรมและด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมอีสานและหกชาติอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมทั้งการมีหอพระที่แสดงถึงความโดดเด่นของประติมากรรมที่ปรากฏในอาณาบริเวณนี้ และลานวัฒนธรรมเพื่อแสดงถึงการสืบทอดคิดค้นการแสดงการสืบสานวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ของคนรุ่นปัจจุบัน  โดยอาจารย์อาคม วรจินดา บอกท่านอาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร ว่า ค่าค้นคิดยังไม่มีและยังหาให้ไม่ได้จนกว่าทางมหาวิทยาลัยจะอนุมัติให้ดำเนินการได้  และให้ถือเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินอีสาน แม้จะไม่ใช่แผ่นดินเกิดของท่าน แต่ก็เป็นแผ่นดินเกิดของภรรยา และเป็นแหล่งสำคัญในการแสวงหาความรู้จนทุกวันนี้คือปราชญ์คนสำคัญของดินแดนอีสาน  ซึ่งในวันนี้จากการค้นคิดปรึกษาในวันนั้นไม่น้อยกว่า ยี่สิบปี อาคารรูปทรงเล้าข้าว ที่ถือกำเนิดด้วยไอเดียทางความคิด ของ อาคม วรจินดา  รจนาด้วยไอเดียทางสถาปัตยกรรม ของวิโรฒ ศรีสุโร จึงอุบัติขึ้น กลายเป็นอาคารสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคามพร้อมกับหอพระประธานกันทรวิชัยอภิสมัยธรรมนายก แม้จะไม่ได้อาคารครบตามจำนวนที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่พันธกิจของอาจารยวิโรฒ ศรีสุโร จึงก่อกำเนิด เป็น ย้งฉางแห่งภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน   หรือ อาคารเล้าข้าว หรือ อาคารโบสถ์ ที่คนที่มหาสารคามรู้จักกันดี เล่ากันว่า อาคารหลังนี้ก่อเกิดจากการสร้างด้วยกุศลกรรมที่ดี  สถานที่ดี พิธีกรรมก่อสร้างดี แต่มีผู้ไม่ประสงค์ดีหลายคนหลายท่านต่างกรรมต่างวาระมาตำหนิต่อว่า ว่าจะเปลี่ยนเป็นหน่วยงานอื่นบ้าง เป็นสถานที่อย่างโน้นอย่างนี้บ้าง  มีผู้บริหารระดับสูงหลายคนหลายท่านก็มีอันที่ไม่ควรจะเป็นในวัยวุฒิ คุณวุฒิ อันสมควรที่จะเป็นและจะไป ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้น  เนื่องจากมีเจตนาที่ไม่ดีไม่เป็นไปตามเจตนาที่ประชาคมต้องการให้บรรลุนั้นคือ ยุ้งฉางแห่งภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน 3. ผมได้เรียนรู้ในฐานะผู้ติดตามอยู่หลายครั้ง เมื่อ 4 ปราชญ์แห่งอีสานได้มาแสดงวิวาทะทางวิชาการทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมในที่ต่าง ๆ ในมหาสารคามและจังหวัดอื่น ๆ  โดยมีผม อาจารย์ไพโรจน์ เพชรสังหาร อาจารย์จันทน์แดง คำลือหาญ และอาจารย์จำนง กิตติสกล ได้ติดสร้อยห้อยตาม อย่างจะเรียกท่านทั้ง  4 ว่าเป็นปราชญ์แห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานก็ว่าได้ วิโรฒ ศรีสุโร ปราชญ์ด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมอีสาน ผู้มีชีวิตเพื่องานด้านนี้จนถึงวาระสุดท้าย อาจารย์อาคม วรจินดา ผู้สืบทอดทฤษฎีขดน้ำวน จากศาสตราจารย์ประกิต บัวบุศย์ ราชบัณฑิต ผู้สถาปนาสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ยุ้งฉางแห่งภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนอาจารย์ไพโรจน์ สโมสร ปราชญ์ผู้เชียวชาญด้านศิลปกรรมจิตรกรรมแห่งอีสานผู้ทุ่มเทชีวิตนี้ให้ดินแดนที่ราบสูงแห่งมอดินแดงอย่างรู้ซึ้งถึงคุณค่าของแผ่นดิน ในขณะนี้ก็กำลังนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย ลำดวน ปราชญ์ผู้นำจิตวิญญาณของนิสิตสาขาไทยคดีศึกษา(เน้นมนุษยศาสตร์)ให้ตระหนักถึงภารกิจต่อการสร้างสรรค์งานเพื่อพัฒนาสังคมอีสาน

พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต คือ หนึ่งในผลงาน 

เมื่อปราชญ์ทั้งสี่ท่านปะทะวิวาทะกันทางความคิด การแสดงออกถึงแนวคิดที่แตกต่างกันและมองคนละมุมคนละด้าน ช่างเป็นเหมือนองค์ความรู้ที่หอมหวานปานนมแมวที่ผู้ด้อยทางวิชาการเช่นผมและเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ต่างเสพเอาจนไม่รู้จักอิ่มช่างเป็นวาสนาของพวกผมโดยแท้ที่ได้มาเป็นลูกศิษย์ของท่าน โดยเฉพาะอาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร นอกจากผมจะได้ความรู้ทางศิลปกรรมแล้ว ผมยังได้ซึมรับเอาความรู้ทางวรรณกรรมของท่านอย่างเอร็ดอร่อยอ่านไม่รู้จักเบื่อ การนำเสนอบันทึกอีสานผ่านเลนส์ จึงเป็นงานที่วิเศษอย่างยิ่งที่คนวรรณกรรมอย่างผมพออกพอใจ สมแล้วที่ท่านเป็นปราชญ์แห่งแผ่นดินอีสาน                ผมมีอะไรที่จะเขียนอีกมากมายในฐานะผู้ผ่านทางและได้สัมผัสอาจารย์อยากจะเขียนอีกหลากหลายอย่างแต่ความจำกัดบางประการก็คงทำให้บทความสาระของเนื้อหาได้เพียงแค่นี้ วันเสาร์ที่ 2 ผมมีชั่วโมงสอนนิสิตปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมศาสตร์กับ ท่านอาจารย์ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย ลำดวน กัลยาณมิตรของท่านอาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร ท่านบอกผมว่า วันนะสัก เดียวเช้านี้อาจารย์รับผิดชอบ  ภาคบ่ายอาจารย์ให้นายดูแลเด็ก ๆ อาจารย์จะไปเยี่ยมสองโรจน์ ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์หน่อยได้ข่าวว่า ไม่สบายมาก ผมถามว่า สองโรจน์ ไหนครับ อ้าว ก็ รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร  และผศ.ไพโรจน์ สโมสร สหายรักนายอาคม ครูบาเราไง  ผมอึ้งเรียนอาจารย์ว่า อาจารย์ไปเถอะครับ เผื่อจะได้ให้กำลังใจท่านอาจารย์ทั้งสอง หลังจากนั้นผมก็สอนนิสิตต่อจนช่วงภาคบ่ายเสร็จประมาณห้าโมงเย็น ท่านผศ.สมชาย ลำดวน โทรมาหาผม บอกว่า  วันนะสัก  ไปแล้วหนึ่งโรฒ อีกหนึ่งโรจน์ยังนอนโรงพยาบาลอยู่ อ้าวโรฒไหนไป โรจน์ไหนอยู่ครับ  อาจารย์ตอบกลับว่า  รองศาสตราจารย์วิโรฒ ศรีสุโร เสียแล้วตั้งแต่เช้านำศพไปโคราชแล้ว ครูก็มาไม่ทัน ส่วนผศ.ไพโรจน์ สโมสร ยังอยู่อยู่ บอกข่าวพวกเราด้วยนะ                ผมรับทราบข่าวและรับรู้ด้วยจิตวิญญาณของลูกศิษย์ สู่สุคติเถิดครับท่านอาจารย์ ไม่ช้าก็เร็วพวกผมก็คงได้ไปเรียนรู้ทางวิชาการกับท่านอาจารย์อีกอย่างแน่นอน ตั้งสำนักวิชาให้ทันสมัย นะครับ  จะเชิญอาจารย์ท่านใดไปสอนก็รีบเชิญนะครับ  เพราะหลายคนก็น่าสนใจอยู่  ขอให้อาจารย์รับรู้ครับว่าศิษย์ทุกคนยังรำลึกถึงอยู่อย่างไม่เสื่อมคลายตลอดไป ขอคารวะครับ หมั่นยืนเด้อ อาจารย์ สบายดี 

วิโรฒ  ศรีสุโร คือปราชญ์กล้า         คงค่าตลอดกาล

โคลงกระทู้ 

                                                      วิ           ชาเชี่ยวชาญล้น         ศิลปกรรม พ่อเอย

                                                     โรฒ       เรืองรุ่งน้อมนำ          สิ่งรู้ 

                                                     ศรี        สง่าให้ตอกย้ำ              อีสานฮู้  ค่าแผ่นดินแฮ 

                                                    สุโร       เลิศล้ำควรคู่                  ปราชญ์กล้า ดินอีสาน 

กลอนลาว 

                                                     ละสังขารแล้วปราชญ์ใหญ่         ดินอีสาน  ชายเอย

                                                     คือตำนานผู้คนซอกหา                 ควมฮู้

                                                    วิโรฒ ศรีสุโรดับแสงลับลง          แม่ของ

                                                   คงแต่คุณค่าไว้สืบสร้าง                  อยู่เกษม

                                                  เหลือแต่คุณควมดีมอบไว้ประสงค์สร้าง   พ่อเอย

                                                  เป็นคือเทียนนำทางส่องสว่าง         มะโนเนื้อ

                                                  ให้ผู้มักเฮียนฮู้รับเอา                          เป็นแนว         น้อลุง

                                                   หวังให้ซุ่มซาวเซื้อ                             ปกป้องบ่ให้สูญ 

กลอนแปด 

                                        คือตำนานการสรรค์สร้างศิลป์อีสาน     สืบต่อปราชญ์ชาวบ้านได้ค้นหา

                               บ้านด่านเกวียนที่พำนักถิ่นภรรยา                   ปรารถนาสร้างค่าให้รุ่งเรือง

                               คือผู้บุกเบิกตลอดกาลค่อนชีวิต                        ได้ลิขิตสิ่งพบเห็นจนฟุ้งเฟื่อง

                              สองฝั่งโขงแพร่หลายมลังเมลือง                       ลือเลื่องบันทึกอีสานได้ผ่านเลนส์

                               คือครูผู้ปราดเปรื่องสอนลูกศิษย์                        ตอกย้ำคิดแนวทางหลากหลายเส้น

                               อย่าเชื่อครูอย่าเชื่อตามถามให้เป็น                    เที่ยวเทียวเห็นคุณค่าพาเข้าใจ

                              จึงมากศิษย์หลากหลายทั่วทุกทิศ                       โคราชแหล่งสถิตคิดสดใส

                              ขอนแก่นมหาสารคามสมฤทัย                            ครูวิโรฒสั่งสอนให้ได้ความจริง

                               แล้วผันตนสู่แหล่งอีสานใต้                               เมืองนักปราชญ์พำนักได้ในสรรพสิ่ง

                               อุบลราชธานีถิ่นนี้ไม่ประวิ่ง                              สืบวิชาหลากหลายยิ่งสิ่งที่มี

                               จึงเป็นครูศิลปะถิ่นอีสาน                                   เป็นตำนานสรรค์สร้างในดิถี

                               สถาปัตยกรรมล้วนมากมี                                    วิโรฒ ศรีสุโร คือความดีอีสานงาม

                               แม้วันนี้ลาลับลงดับแสง                                      กระจ่างแจ้งการค้นหาพาสอบถาม

                               คือวิธีวิทยาในนิยาม                                             ระบือนามคุณค่าวิชาการ

                                          สูญสิ้นแล้วปราชญ์กล้า                             ถิ่นอีสาน    พ่อเอย             

                              คือตำนานตลอดกาล                                               ทั่วหล้า                          

                              สืบสานต่อตำนาน                                                  ฝากให้     แผ่นดิน                                

                               วิโรฒ( ศรีสุโร )คือปราชญ์กล้า                           คงค่าตลอดกาล

เพลงโคราช             

               วันนี้ขอรำลึกถึงความดีของครูวิโรฒ ศรีสุโร ให้ท่านทั้งหลายได้รับรู้ ว่าครูทำสิ่งใดมากหลายเชิงประจักษ์ย้อนให้เห็นเป็นอุทาหรณ์เพื่อให้ท่านทั้งหลายรำลึกถึงเป็นแนวทางสร้างความดี ก่อนชีวีจะวางวาย  เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนให้ รำลึกไว้ให้จดจำตลอดไปย้อนความดีของท่านมีมา ด้วยสติปัญญาดอกนาครูวิโรฒเอย.....

                สติปัญญาของครูมีมาก พากันสร้างงานค้นคว้าหลาย พัฒนาสถาปัตยกรรมไทยขจรไปไกล ประจักษ์พยานทั้งหลายก็มีให้เห็น โบสถ์วัดศาลาลอยที่ท่านไปชมเล่นก็เป็นผลงานอาจารย์วิโรฒเอย  อาคารเล้าข้าวหลังใหญ่สถาบันวิจัยศิลปะ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ระบือนาม ก็เป็นผลงานการออกแบบ ที่สรรค์สร้างของอาจารย์วิโรฒ เอย.........

               หอศิลป มข และหอประชุมกาญจนาภิเษก ช่างอเนกอนันต์งดงามยิ่งแอบอิงจากกล่องข้าวและเกวียนงาม ช่างลือนาม ผลงานอาจารย์วิโรฒ ช่างมากมายท่านทั้งหลายคงรู้ดี ........

                ครูวิโรฒพาสร้างบ้านด่านเกวียนไม่ร้างชื่อเสียงขจรไกล  ใครก็รู้ใครก็ทราบจนตราบทุกวันนี้ คุณความดีมากหลายบ้านด่านเกวียนจึงสบายขายสินค้าได้เลือกชม   ถึงวันนี้ลูกศิษย์จึงขอกราบบูชาได้ระลึกถึง แม้ครูจะลาลับดับไปยังคนึง นึกถึงความดีที่มีมา ตลอดไป  เด้อครูวิโรฒ ศรีสุโร เอย ...........

                จะขอเป็นแนวทางแห่งความคิด จะดำเนินตามลิลิตที่อ่านเขียน สืบต่อเป็นแบบอย่างด้วยพากเพียร  ให้วิถีอีสานสืบสานยิ่งใหญ่สืบไปให้วัฒนา น้อ ครูเอย ...........

อิศรา ประชาไท

บันทึกไว้ด้วยความรำลึกถึงด้วยจิตคารวะ

หากมีข้อมูลผิดพลาดบ้างขอน้อมรับผิดชอบแต่ผู้เดียว โดย

โดย ภาษาท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง  ใช้ตอบรับด้วยจิตคารวะ ผู้น้อยมักจะใช้กับผู้ใหญ่ เหมือนกับ คำว่า ครับ ค่ะ  พะยะค่ะ  ในภาษาไทย   ถ้าใช้กับผู้สูงศักดิ์ พระเถรานุเถระ มักต่อท้ายด้วย โดย ข้าน้อย  คนเท่ากันมักใช้ว่า เจ้า  ต่อท้าย เช่นเดียวกับล้านนา

 

หมายเลขบันทึก: 163963เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2008 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • สวัสดีครับท่านวรรณศักดิ์พิจิตร  ครับ
  • ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวท่านอาจารย์วิโรฒ  ศรีสุโร อย่างมากครับ
  • ผมรู้จักท่านจากงานบทกวี  และภาพถ่ายวิถีชีวิตอีสาน  ตามวารสารต่าง ๆ โดยเฉพาะจาก "บันทึกอีสานผ่านเลนส์" เคยมีโอกาสวิสาสะกับท่านครั้งหนึ่งเมื่อใกล้วัย 60 ของท่านที่ริมบึงหนองโคตร บ้านคำไฮ ใกล้ ม. ขอนแก่น 
  • ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 วันที่เราเสียท่าน  เป็นวันเดียวกันที่ผมบันทึก ผญาม่วน 8... หาบบ่หนัก ตักบ่เต็ม เค็มบ่จืด มืดบ่แจ้ง (1) แม่ผู้หาบบ่หนัก ตักบ่เต็ม
  • ไม่ทราบมีอะไรมาดลใจให้ผมนำผลงานของท่านมาเป็นภาพประกอบในบันทึกนี้ 2 ภาพนี้ครับ

     

    หญิงชาวนาอีสานหาบครุน้ำ  หาบสัมภาระ (ภาพจาก  บันทึกอีสานผ่านเลนส์  โดย  วิโรฒ  ศรีสุโร 2547  น. 18,24)หญิงชาวนาอีสานหาบครุน้ำ  หาบสัมภาระ (ภาพจาก  บันทึกอีสานผ่านเลนส์  โดย  วิโรฒ  ศรีสุโร 2547  น. 18,24)

                             ขอให้อาจารย์เนาสรวงสุขกะเสิม

ในสัมปรายภพเดิม  ทิพยสถานเมืองแมน...

นับต่อแต่นี้  เหลือความดีและผลงานที่งามแสน 

ภาพชาวอีสานทั้งดินแดน  และภาพโบสถ์สิมใบแผ่นศิลา 

ทั้งภาพฝาผนัง   วิถีลาว/อีสานมานานช้า 

คือผลงานอันทรงค่า  งามตางามโพด 

ถึงนับต่อแต่นี้  แม้นไม่มีอาจารย์วิโรฒ 

แต่ผลงานอันอนรรฆค่าประโยชน์  จักเรืองโรจน์ชั่วกาลนาน...

 

สวัสดีคะอาจารย์ ขอแสดงความเสียใจในการจากไปของท่านอาจารย์วิโรฒ ศรีสุโรด้วยนะค่ะ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ ครูชา เปิงบ้าน และอาจารย์หมู แทนครอบครัวท่านอาจารย์ และลูกศิษย์ลูกหาของ รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร แทนด้วยครับ พวกเราก็คงเป็นผู้ผ่านทางที่เห็นการทำงานของ ครูบาอาจารย์รุ่นบุกเบิก เส้นทางสายอีสาน สายนี้  ในแง่มุมต่าง ๆ  ก็หวังว่า วิถีการทำงาน วิถีแห่งการบุกเบิก ของ ครูวิโรฒ ศรีสุโร คงจะเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจให้พวกเรามีแรงฮึด มานะ ไม่ท้อถอย จิตอาสา จิตเมตตา ต่อแผ่นดินแม่ตลอดไป น้อ ครับ  ขอให้สุขภาพ หมั่นยืน และมีแฮงเฮ็ดเวียกตลอดไป เด้อทุกท่าน โดย ฮักแพงหลาย

อิศรา ประชาไท

ขอร่วมแสดงความเสียใจกับการจากไปของท่าน รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโรด้วยนะคะ

และจาก blog นี้ของท่านผู้ช่วยฯวรรณศักดิ์พิจิตร ทำให้หนิงได้รู้อะไรหลายอย่างที่หนิงเพิ่งรู้นะคะเนี่ย...ขอบพระคุณค่ะ

 

ขอร่วมแสดงความเสียใจ และขอคาราวะอาลัย ต่อการจากไปของ  รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร ผู้บุกเบิกงานศิลปวัฒนธรรมอีสานผ่านผลงานและมุมมองของท่าน ซึ่งนับว่ามีคุณค่ายิ่ง สำหรับผู้มาทีหลังและเดินตามเส้นทางนี้

 

ขอบคุณมากครับ น้องหนิง และคุณสนอง เพราะ พวกเราก็คือ คนรุ่นต่อไปที่รับภารกิจดูแลแผ่นดินแม่ต่อ ด้วยภารกิจแต่ละด้านของพวกเราครับ อาจารย์วิโรฒ ท่านก็สืบสานงานศิลปะ สถาปัตยกรรม ความเชื่อ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเรื่องราวอันหลากหลาย

ส่วนน้องหนิงก็สานภารกิจการดูแลเยาวชนต่อไปครับ คุณสนองก็เช่นกันก็คงมีภารกิจอันสำคัญในการสร้างสรรค์สังคมให้รุ่งเรือง ขอเป็นกำลังใจให้กันและกันครับ                 

สวัสดีค่ะ

P อาจารย์วรรณศักดิ์พิจิตร 

มาร่วมแสดงความเสียใจ ด้วยค่ะอาจารย์  ที่ได้สูญเสียครู นักปราชญ์ ปูชนียบุคคล    ที่สำคัญของวงการ การค้นคว้าด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรม สองฝั่งโขง  ที่ท่าน จากไปอย่างไม่มีวันกลับ  คือ  รองศาสตราจารย์วิโรฒ    ศรีสุโร 

ขอขอบคุณ อาจารย์อนงค์ มากครับ ก็คือครูทางความคิดอ่านของหนึ่งที่สร้างคุณูปการทางด้านสถาปัตยกรรมอีสาน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสานไม่น้อยกว่าสามทศวรรษ ครับ  ซึ่งคงเป็นแบบอย่างให้แก่พวกเราได้อย่างรอบด้านครับ ในฐานะค้นทำงาน ดีใจนะครับที่แวะเข้ามา ผมยังต้องเรียนรู้วัฒนธรรม ใน gotoknow อีกหลาย กระบวนทัศน์ ครับ
ด.ญ.เข็มทิศ คำศรีจันทร์

เป็นหลานของลุงโรฒ ชอบวาดรูปเคยได้รับรางวัลจากสมเด็จพระเทพฯ ๒ ครั้ง ค่ะ

หนูได้ไปร่วมในงานศพด้วย หนูขอแสดงความเสียใจค่ะ

อภิรดี คำศรีจันทร์

พี่โรฒเป็นพี่ชายคนโตในจำนวนพี่น้อง ๗ คน อายุห่างจากน้องคนนี้ประมาณ ๒๐ ปี

เสมือนเป็นพ่อได้ การจากไปของพี่โรฒทำให้มีความรู้สึกเสียใจอย่างบอกไม่ถูก ตลอดเวลายังคิดว่าพี่โรฒยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็เป็นแค่ความฝัน ดูรูปถ่ายเก่าๆแล้วหวนนึกถึงเรื่องในอดีต

จากน้องสาวคนสุดท้อง

เมื่อคืนนี้ฝันถึงท่าน

อยู่ในภาพเดิมคือไว้ผมยาวเปลือยกายด้านบน

มีความงดงามในแววตาที่มีแต่ไมตรี ความรัก

ความอบอุ่น ความเมตตาปรานี

ท่านไม่ได้พูดด้วยแม้แต่คำเดียว

เลยได้ตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้ท่านไปดีสู่แดนสุขาวดี

ผมไม่ทราบว่าท่านไปอยู่ที่ใดนับแต่จากกันในวงราชการ

เป็นคนหนึ่งที่ท่านให้เป็นเลขาส่วนตัว

เพราะเข้าใจ ซึ้งใจ เมื่อได้ร่วมทำงานด้วยกัน

นิทรรศการ "บันทึกอีสานผ่านเลนส์" ได้เป็นส่วนหนึ่ง

จารึกภาพประวัติศาสตร์อีสาน 30 ปี ผ่านเลนส์

ผมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของผลงานชิ้นนี้ด้วยความภาคภูมิใจ

ด้วยความเคารพนับถือและอาลัยยิ่ง

นายณรงค์ชัย คำภูมี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท