ประเพณีกำฟ้าของชาวไทยพวน สุโขทัย


ประเพณี
 ประเพณีกำฟ้า

         “ กำเกียง กำบ่ดี ฟ้าผ่า กำฟ้า กำบ่ดี เสือขบ ”

        เป็นคำบอกเล่าของชาวไทยพวนที่สืบทอดกันมา บ่งบอกถึงความเคร่งครัด ในการยึดถือปฏิบัติ ประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ที่เรียกว่า “ กำฟ้า ” “ กำเกียง

         กำ หมายถึง ยึด หรือ ถือ ไม่ทำสิ่งที่ห้าม

         ฟ้า หมายถึง ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษไทยพวนในอดีตชาติ

         “ กำฟ้า ” หมายถึง การหยุดพักไม่ทำการใดๆ เนื่องจากในอดีต ชาวนาเกรงกลัวฟ้ามาก หากผีฟ้าพิโรธ อาจทำให้เกิด ความแห้งแล้ง อดอยากหรือฟ้าอา จ จะผ่าคนตาย จึงเกิดประเพณีกำฟ้าขึ้น งดเว้นจากการงาน ที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ทั้งหมด ถึงวันนี้ ตามประเพณีจะทำสำรับ คาวหวาน ถวายพระ เช้า-เพล ตอนสายๆและกลางวัน เด็กๆจะเล่นไม้ หม่าอื๊ อ ( ไม้งัด ) ส่วนตอนกลางคืน เด็กเล็ก และหนุ่มสาว จะเล่นกันอย่างสนุกสนาน เช่นผีนางกวัก โดยปรกติปีหนึ่งจะกำ 3 ครั้งหรือสามวัน ในปัจจุบัน จะมีการกำ ดังนี้

        กำ ครั้งที่ 1 ขึ้น 2 ค่ำเดือน 3 ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินถึงพระอาทิตย์ตกดินของวันรุ่งขึ้น

        กำ ครั้งที่ 2 ขึ้น 9 ค่ำเดือน 3 ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินถึงเวลาคืนเพล ( เป็นภาษา ถิ่น ไทยพวน คือ เวลาฉันอาหารกลางวันของพระสงฆ์ )

        กำ ครั้งที่ 3 ขึ้น 14 ค่ำเดือน 3 ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินถึงเวลาจังหัน ( เวลาฉันอาหารเช้าของพระสงฆ์ )

        ก่อนเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ พ่อแม่ปู่ย่าตายาย จะบอกให้ลูกหลาน เตรียมข้าวปลาอาหาร น้ำกินน้ำใช้ ให้ครบบริบูรณ์ ฟืนไฟในครัว ข้าวสารอาหารแห้ง ต้องมีให้พร้อม เพราะเมื่อถึงเวลา กำฟ้า ชาวบ้านจะหยุดทำงานทุกอย่าง ไม่ตำข้าว ไม่ผ่าฟืน ไม่ซักผ้า วัวควายไม่ต้องปล่อยออกไปเลี้ยง กลางทุ่งนา แม้กระทั่งผัวเมีย ก็บ่แตะบ่ต้อง เหล็กหรือฆ้องบ่ตี นับเป็นเวลา 3 ถึง 5 วัน ผู้ใหญ่ในบ้าน ก็จะนำอาหารคาวหวาน ไปทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์ที่วัด ครั้นตกค่ำ จะมีการละเล่นรื่นเริง ของหนุ่มสาว “ ...... ช่อมะลิป่า สัญญากันว่าไม่ลืม หัวใจปลาบปลื้ม ไม่ลืมอะไรทั้งนั้น เธอกระซิบเบาเบา เธอกระซิบเบาเบา ใจฉันเฝ้าผูกพัน เมื่อได้ชมแสงจันทร์ รักกันให้มั่นอย่าลืม รักกันให้มั่นอย่าลืม ..... ”

        ในบริเวณลานบ้าน ยามค่ำคืนของขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 หนุ่มสาวชาวพวน จะร้องเพลงเกี้ยวสาว มีการละเล่นจนดึกดื่น แม้อากาศจะหนาว สายสัมพันธ์ไมตรี สามารถทำให้เกิดความอบอุ่น ได้อย่างน่าประหลาดใจ ประเพณีอันทรงคุณค่านี้ ยังแฝงการเสี่ยงทาย ดวงชะตาราศี ประจำปีของหมู่บ้าน บรรพบุรุษของชาวไทยพวนสอนไว้ว่า ในระหว่างวัน “ กำฟ้า ” ให้ถือเคล็ด ฟังเสียงฟ้าร้อง และการได้ยินนั้น ท่านให้ถามจากคนหูตึงในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนมาก มักจะถามผู้สูงอายุ ที่หูตาไม่ค่อยดี และเป็นผู้ที่เรา ให้ความเคารพนับถือ ในหมู่บ้าน

        หากปีใดเสียงฟ้าร้องดังมาจากทิศใต้ ท่านว่าไว้ว่าชาวบ้านจะ “ อดเกลือ ”

        หากเสียงดังมาจากทิศเหนือจะ “ อดข้าว ”

        หากดังมาจากทิศตะวันตก ชาวบ้านจะ “ เอาจามาทำหอก ” หมายถึง ปีนั้นจะเกิดศึกสงคราม มีศัตรูมาเบียดเบียน ( “ จา ” หมายถึง จอบขุดดินขนาดเล็ก )

        หากดังมาจากทิศตะวันออก ชาวบ้านจะ “ เอาหอกมาทำจา ” หมายความว่า ปีนั้นบ้านเมืองจะร่มเย็นเป็นสุข ข้าวปลา อุดมสมบูรณ์ ไม่มีโรคภัย มาเบียดเบียนผู้คนและสัตว์เลี้ยง

        นอกจากนี้ จะถือเคล็ดการดูดวงอาทิตย์ตอนรุ่งเช้าของวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ยังเป็น เครื่องบอกเหตุลาง ถึงสภาพความเป็นไป ของฤดูกาลในปีนั้นๆ อีกด้วย กล่าวคือ

        หากดวงอาทิตย์ โผล่พ้นขอบฟ้าทางเบื้องทิศตะวันออกแล้ว มีก้อนเมฆบดบังมาก ท่านทำนายว่า ฝนจะดี ข้าวปลาอาหาร อุดมสมบูรณ์ เรือกสวนไร่นา ได้ผลผลิต เต็มเม็ดเต็มหน่วย หากมีก้อนเมฆ ( ภาษาพวนเรียกว่า “ ขี้เฟื้อ ” ) บดบังดวงอาทิตย์ เพียงเล็กน้อย ท่านทำนายว่า ฝนฟ้าจะไม่ตกต้อง ตามฤดูกาล น้ำจะน้อย ต้องคอยทำเหมือง ทำฝาย ไว้กั้นน้ำล่วงหน้า มิฉะนั้น จะไม่มีน้ำทำไร่ทำนา หากดวงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าโดยปราศจากก้อนเมฆบดบัง ท่านทำนายว่า ฝนจะมาล่า หลงฤดู ต้นปีน้ำน้อย ปลายปีน้ำมาก ข้าวในนาต้นปีจะไม่ทันน้ำ ปลายปีน้ำจะท่วมใหญ่ ข้าวในนาจะเสียหาย หากดวงอาทิตย์ มีเมฆมาบดบัง จนหนาทึบ ทำนายว่า น้ำต้นปีจะดีมาก แต่ปลายปีจะขาดแคลน ให้เร่งกักเก็บน้ำไว้ เพื่อให้ข้าวทันน้ำ

         “ พิธีเสียแล้ง ” เป็นพิธีกรรมตอนสุดท้าย ในตอนเย็นของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ของประเพณีกำฟ้า บรรพบุรุษสั่งสอน สืบทอดกันมาว่า หากปีใด ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เป็นไปในทางที่ไม่เป็นมงคล ก็ให้ปู่ย่าตายาย ที่เคารพนับถือ เอาดุ้นฟืนในเตาไฟที่ไหม้เหลือ จากการหุงหาอาหาร ตอนเย็นของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ให้ถือไปที่ริมฝั่ง แม่น้ำลำคลอง แล้วอธิษฐาน ให้วิญญาณบรรพบุรุษ ดลบันดาลให้บ้านเมือง อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ให้ฝนตกต้อง ตามฤดูกาล แล้วโยนดุ้นฟืน ลงไปในกระแสน้ำ เป็นอันเสร็จพิธี และถือว่าเป็นการสิ้นสุด ประเพณีกำฟ้าในปีนั้น

        สรุปประเพณีกำฟ้า หมายถึงประเพณีที่ถือปฏิบัติกันต่อๆกันมา เพื่อระลึกถึงคุณงามความดี ของดวงวิญญาณ ของบรรพบุรุษ

ที่มาข้อมูลสารสนเทศชุมชนจังหวัดสุโขทัย

หมายเลขบันทึก: 164325เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2008 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ พี่อดิศักดิ์

บันทึกแบบนี้มีคุณค่าในเชิงประวัตฺศาสตร์มากครับ มีสีสันและอ่านสนุก ได้เรียนรู้วิถีคนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณมากๆครับ

ตามอ่านต่อไปครับ

ชอบบันทึกเรื่องราวที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างบันทึกนี้มากครับ

ได้ยินได้รู้เกี่ยวกับ ประเพณีของชาวพวน เป็นครั้งแรกครับ

ผมไปที่ชนบทลาว พี่น้องก็แทนคำสรรพนามบุรุษที่สามว่า

ไทบ้านนั้น ไทบ้านนี้ ครับ

แสดงว่าเราพี่น้องไทลาวแยกกันไม่ออกครับ ไทพวน ลาวพวนก็น่าจะเหมือนกันครับ

สวัสดีครับ

P และ P  อัตลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ และสืบสานต่อ....เพราะหาดู หาชมได้ยากยิ่งในสมัยนี้

ขอบคุณครับที่แวะชม

 

สวัสดีค่ะ น้องนิ่มค่ะ เป็นคนพวนเหมือนกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท