บทนำทาง(แก้ไข 10 มีนาคม 2551)


 

-บทนำทาง-

ในขณะที่คนไทยได้รู้จักกับระบบ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นระบบที่ดูแลคนไทยส่วนใหญ่ให้ไม่ต้องกังวลกับความเจ็บป่วยและเงินทองนั้น ความจริงที่ยังปรากฎและได้ส่งผ่านมาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีเช่นกัน เช่น ข่าวช่วง วงเวียนชีวิต ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ที่มักจะนำเสนอชีวิตของคนไทยที่ทั้งจน และเจ็บ รวมไปถึงบางคนยังพิการและแก่ชรา อีกด้วยซ้ำ ซึ่งมีการนำเสนอและบอกเล่าความทุกข์ยากปรากฎตัวอยู่ทุกวัน เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีกำลังทรัพย์ได้ส่งผ่านความช่วยเหลือ ในขณะที่ช่องทางในการเข้าสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ควรจะหยิบยื่นความช่วยเหลือโดยตรงนั้นดูเหมือนจะไม่เคยมีการพูดถึง หรือได้มีการปรับปรุงให้คนไทยที่ทุกข์ยากเหล่านั้นได้คลี่คลายจากปัญหาที่เผชิญหรือลดจำนวนลงได้เลย

นอกจากนี้จาก กรณีของตัวอย่างของ คนไทย ที่ไม่ถูกนับว่าเป็นคนไทยเพราะไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เช่น กรณีป้าเจรียง เอี่ยมละออ ที่มีการนำเสนอในคอลัมน์ กวนตะกอน หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10347 ซึ่งลูกสาวของเธอพยายามขอความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลต่างๆ ให้ช่วยรักษาแม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยอนาถาหรืออะไรก็ตาม แต่กลับได้รับการปฏิเสธ โดยหมอให้เหตุผลว่ารัฐบาลได้นำเอากองทุนต่างๆ ที่อยู่ตามโรงพยาบาลไปรวมเข้าเป็นกองทุน 30 บาท และจะให้บริการเฉพาะสมาชิกของกองทุนเท่านั้น สุดท้ายป้าเจรียงต้องอำลาโลกไปด้วยโรคมะเร็งอย่างอนาถ ซึ่งคนไทยที่ไม่มีหลักฐานแสดงความเป็นไทยไปจนถึงคนที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์ความเป็นไทยนั้น ก็ได้เกิดคำถามที่ควรจะส่งผ่านไปยังรัฐไทยแล้วเช่นกัน

และเนื่องจากมีการตีความคำว่า บุคคล[1] ตามมาตรา 5 ของ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ว่ามีความหมายครอบคลุมเฉพาะ บุคคลที่เป็นประชาชนชาวไทยเท่านั้น[2]  ทำให้กลุ่มคนที่มีชื่อในทร.13 ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ได้แก่ คนกลุ่มที่ถือบัตรสี ถูกเรียกบัตรทองคืน และไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพใดๆมาเยียวยาในปัจจุบัน

          ในขณะที่กลุ่ม แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแรงงาน เป็นอีกกลุ่มที่มีระบบหลักประกันสุขภาพ โดยต้องจ่ายเงินปีละ 1,300 บาท เพื่อซื้อหลักประกันสุขภาพ โดยจะเสียค่าบริการเพียงครั้งละ 30 บาทเท่านั้นในการไปรักษาพยาบาลยังสถานพยาบาลที่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพดังกล่าว แต่ก็ดูเหมือนว่าข่าวคราวในการไม่สามารถเข้าถึงการใช้บริการที่มีการขอความช่วยเหลือมายังองค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กรนั้นก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง

          จากภาพของระบบหลักประกันสุขภาพของไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น จึงพอจะประมวลภาพเบื้องต้นได้ว่า ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพที่มีนั้น ยังมีเงื่อนไข ปัจจัย และข้อจำกัดที่ทำให้คนกลุ่มต่างๆไม่สามารถเข้าถึง และไม่ได้รับการคุ้มครองจากความเจ็บป่วยได้อย่างแท้จริง 

          ในขณะที่คนที่อยู่ระหว่างช่องว่างแห่งหลักประกันดังกล่าวก็มีอยู่จริง และได้ส่งคำถามสู่รัฐไทยด้วยเช่นกัน

 

 ผู้คน ในเรื่องราว

          เพื่อแสวงหาคำตอบข้างต้น เราได้เลือกที่จะบอกเล่าเรื่องราวของ ผู้คน ที่ล้วนมีชีวิตอยู่และปรากฎตัวอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งนอกจาก คนสัญชาติไทย แล้ว ยังมีคนที่ตกอยู่ในสถานะ คนไร้สัญชาติ(Nationality less Person)” เนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐใดว่าเป็นคนสัญชาติ  นอกจากนี้ยังมีคนที่ตกอยู่ในสถานะ คนไร้รัฐ(Stateless Person)” อีกด้วยเพราะไม่ได้รับการยอมรับในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลย

โดยเงื่อนไขของสถานะบุคคลดังกล่าว  แม้ว่ารัฐไทยจะไม่ยอมรับการมีอยู่ของพวกเขาก็ตาม แต่กฎหมายและนโยบายของรัฐไทยนั้นก็ได้ส่งผลถึงสิทธิในด้านต่างๆของพวกเขา ดังนั้นเราจึงเลือกมองผ่านคน ใน สถานะบุคคลต่างๆที่ปรากฎขึ้นจริงในรัฐไทย

          นอกจากในอีกมุมหนึ่งแล้ว เรายังมองเห็นการถูกเลือกปฏิบัติรวมไปถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ และการได้รับบริการจากรัฐ ไปจนถึงการบันทึกตัวตนโดยรัฐไทย เช่น มูลเหตุจากการอยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีความยากลำบากในการเดินทางและมีค่าใช้จ่ายสูง ความแตกต่างทางภาษาเนื่องจากไม่ได้มีภาษาไทยเป็นภาษาโดยกำเนิด  รวมถึงทัศนคติของรัฐและคนในสังคมไทยที่ยังไม่มีความเข้าใจและไม่ยอมรับในความแตกต่าง  ในนิยามของตัวตนการตกอยู่ภายใต้ ความด้อยโอกาส 10 กลุ่มคน[3]  ได้แก่ คนชาติพันธุ์  คนบนพื้นที่สูง  คนไทยพลัดถิ่น  ชาวเล(มอแกน มอเกล็น อุลักลาโว้ย)  คนไร้รากเหง้า  คนชายแดน  คนงานต่างด้าวไร้รัฐไร้สัญชาติ  คนหนีภัยความตาย  คนไร้รัฐไร้สัญชาติในสถาบันการศึกษาไทย  และคนไร้เอกสารพิสูจน์ตัวบุคคล

 

คนในเรื่องราวโดยมองผ่าน  สถานะบุคคล และ ความด้อยโอกาส 10 กลุ่มคน จึงประกอบด้วย

กลุ่มบุคคลที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎ หรือเป็นบุคคลที่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร (มีเลขประจำตัว 13 หลัก) หรือเป็นบุคคลที่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ซึ่งประกอบไปด้วยคน  3 กลุ่มคือ

หนึ่ง กรณีบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรผู้มีสัญชาติไทย (ท.ร.14)  ซึ่งต่อมาถูกเพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร ได้แก่กรณี ด.ญ.สุพัตรา ซอหริ่ง(น้องออย)และมารดา(คนบนพื้นที่สูง)

สอง กรณีกลุ่มบุคคลที่มีชื่อในทร.14 ใบต่างด้าว  ได้แก่  กรณี นายติ๊ ชายดี(คนบนพื้นที่สูง)

สาม กรณีที่บุคคลมีชื่อในทะเบียนราษฎรผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือทะเบียนราษฎรคนต่างด้าว (ท.ร.13) และกลุ่มบุคคลที่มีชื่ออยู่ในแบบพิมพ์ประวัติ คือ เป็นบุคคลได้รับการสำรวจและบันทึกตัวบุคคลจากทางราชการว่าอาศัยอยู่จริงในประเทศไทย ได้แก่  กรณีนายจะหริ่ง  มูหริ่ง(คนชาติพันธุ์)  นายหม่องละ(ไม่มีนามสกุล)(คนชาติพันธุ์ ,คนหนีภัยความตาย)   นายโกโม (ไม่มีนามสกุล)(คนงานต่างด้าวไร้รัฐไร้สัญชาติ)    นายอาลิ่ม ประมงกิจ(ชาวเล/มอแกน)  และ  นายสัพตู ขุนภักดี(คนไทยพลัดถิ่น)

  

          กลุ่มบุคคลที่ไม่มีชื่อหรืออาจเคยมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎรหรือเอกสารทางทะเบียนราษฎร แต่อาศัยอยู่จริงในประเทศไทย หรือ บุคคลที่ไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล (ไม่มีเลข 13 หลักของระบบการทะเบียนราษฎรไทย หรือ Undocumented Person) ได้แก่  กรณี ด.ช.สาละวิน(คนไร้รากเหง้า ,คนไร้เอกสารพิสูจน์ตัวบุคคล)  และ นางใบ๋ ลุงอ๋อง (คนไร้เอกสารพิสูจน์ตัวบุคคล, คนชายแดน )

 

          และกลุ่มบุคคลที่ถึงจะมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรหรือเอกสารทางทะเบียนราษฎร แต่เป็นกลุ่มบุคคลเสี่ยงต่อการถูกจำหน่ายออกจากทะเบียนราษฎร ได้แก่  กรณี มีซา  เบียงแล (คนไร้รัฐไร้สัญชาติในสถาบันการศึกษาไทย)

 



[1] ดู รายงานการสำรวจสถานการณ์ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับ"ผู้ทรงสิทธิ"ตามกฎหมายและนโยบายว่าด้วยสิทธิในหลักประกันสุขภาพ โดย กิติวรญา รัตนมณี http://gotoknow.org/blog/health4stateless-b

[2] สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. รายงานประจำปี การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2548. นนทบุรี : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ; 2549.

[3] อ้างถึง เอกสาร โครงการเวทีรับฟังข้อเสนอแนะของภาคประชาชนและภาควิชาการในการจัดการปัญหาความไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย วันที่ 10 กันยายน-12 พฤศจิกายน 2550 โดย คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

คำสำคัญ (Tags): #รายงานวิจัย
หมายเลขบันทึก: 165398เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2008 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
กะลังคิดๆว่าจะต้องใส่หลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมแต่ละกลุ่มด้วยหรือไม่ หรือควรจะเพิ่มเติมอะไรดี
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท