คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คิดอย่างไรกับสิทธิในหลักประกันสุขภาพ"คนไร้รัฐ"


หลังจากที่นำเสนองานเขียนเกี่ยวกับสิทธิในหลักประกันสุขภาพโดยผ่านทางมุมมองของนักกฎหมายมหาชนมาแล้ว ปรากฎว่าเรตติ้งใช้ได้ จึงพิจารณาแล้วเห็นว่าคงจะไม่เป็นการยุติธรรมเท่าใดนักหากจะกล่าวถึงมุมมองของนักกฎหมายแต่ฝ่ายเดียว โดยปราศจากมุมมองจากคนวงในโดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรตั้งขึ้นโดยผลของมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ โดยมีอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด(ในมาตรา ๑๘ - ๒๒ ของกฎหมายฉบับเดียวกัน) อาทิ กำหนดมาตฐานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ ให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติการตาม พรบ.นี้  กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารกองทุน เป็นต้น

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทราบถึงปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติต้องประสบหรือไม่?  หากทราบแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ประเด็นนี้ท้ายทายให้ผู้เขียนต้องไปหางานเขียนและเอกสารมาสนับสนุนว่าทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเองก็ตระหนักและมิได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาดังกล่าว ดังประมวลได้จาก

ประการแรก  จากมติที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๘[1]เป็นที่ปรากฎแน่ชัดว่าทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เองก็ตระหนักว่าประเทศไทยยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยซึ่งประสบปัญหาสถานะบุคคล และทาง สป.สช.ก็มิได้เพิกเฉยต่อความจริงนี้ ดังจะเห็นได้จากมติที่ประชุมเห็นควรมีหน่วยงานเฉพาะเพื่อรับผิดชอบ และจะนำเสนอประเด็นปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาหาแนวทางในการดำเนินการ หาก ครม.เห็นชอบและมอบหมายให้ สปสช.รับผิดชอบบุคคลกลุ่มดังกล่าว พร้อมสนับสนุนงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ทางสปสช.ก็จะได้ดำเนินการตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๘(๑๔)

ประการที่สอง จากมติที่ประชุมครั้งต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๖/๒๕๔๙ ได้ยืนยันตามมติที่ประชุม ครั้งที่ ๑/๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๘ โดยเห็นชอบให้ขยายสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยป็นเวลานานหรือเกิดในประเทศไทยและอยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สิทธิและสถานะบุคคล[2] โดยขณะนี้ทาง สปสช.กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้หลักประกันสุขภาพแก่บุคคลกลุ่มดังกล่าว และเตรียมเสนอต่อ ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๘(๑๔)[3]

จากมติที่ประชุมของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมาทั้งสองครั้งช่วยยืนยันให้สังคมไทยได้โล่งใจว่า ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่างก็รับรู้ในความมีตัวตนอยู่จริงของคนไร้รัฐ และต่อแต่นี้ไป "คนไร้รัฐ"  จะมีใช่ผู้พิการทางโอกาสในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพอีกต่อไป เย้.......



[1] สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. คู่มือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๘ ,หน้า ๔๓
[2] สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. คู่มือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐, หน้า ๓๔
[3] มาตรา ๑๘ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้   (๑๔)  ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย  
หมายเลขบันทึก: 165586เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2008 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ 

 

มาตรา ๑๘ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

 

(๑)  กำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ และเครือข่ายหน่วยบริการ และกำหนดมาตรการในการดำเนินงานเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ

 

(๒)  ให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

 

(๓)  กำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต และอัตราค่าบริการสาธารณสุขตามมาตรา ๕

 

(๔)  กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน

 

(๕)  กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการถอดถอนเลขาธิการตามมาตรา ๓๑ และกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของเลขาธิการตามมาตรา ๓๒

 

(๖)  ออกระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการรักษาเงินกองทุน รวมทั้งการจัดหาผลประโยชน์ตามมาตรา ๔๐

 

(๗)  กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลโดยหาผู้กระทำผิดมิได้ หรือหาผู้กระทำผิดได้แต่ผู้รับบริการไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควรตามมาตรา ๔๑

 

(๘)  สนับสนุนและประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้ตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการ เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้แก่บุคคลในพื้นที่ตามมาตรา ๔๗

 

(๙)  สนับสนุนและกำหนดหลักเกณฑ์ให้องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร ดำเนินงานและบริการจัดการเงินทุนในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการ โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้แก่บุคคลในพื้นที่ตามมาตรา ๔๗

 

(๑๐)  กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข

 

(๑๑)  กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงโทษปรับทางปกครองและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียน

 

(๑๒)  จัดทำรายงานเกี่ยวกับผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมทั้งบัญชีและการเงินทุกประเภทของคณะกรรมการ แล้วรายงานต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเป็นประจำทุกปีภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ

 

(๑๓)  จัดประชุมเพื่อให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นประจำทุกปี

 

(๑๔)  ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท