kong
นาย ก้องเกียรติ เติมเกษมศานต์

ทันตกรรมในเด็ก : การรักษาทันตกรรมในเด็กที่เป็นโรคสมองพิการ (Cerebral palsy)


โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางประสาทกล้ามเนื้อ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการได้รับอันตรายต่อสมองในขณะที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ การรักษาทางทันตกรรมสามารถทำได้ในเด็กพิการทางสมอง ถ้าทันตแพทย์ใช้เวลาให้เพียงพอ

        เมื่อวานนี้ ได้พบน้องกันที่ห้องทันตกรรม  น้องกันอายุ 12 ปี เป็นโรคพิการทางสมองตั้งแต่เกิด ส่งมาจากจังหวัดใกล้เคียงมาให้อุดฟันให้ครับ

        น้องกันเป็นเด็กร่าเริง  พูดพอรู้เรื่อง เข้าเรียนที่โรงเรียนพิเศษ คุณพ่อและคุณแม่ของน้องกัน มีฐานะพอควร ให้การดูแลและรักษาน้องกันอย่างเต็มความสามารถ  น้องกันมีอาการเกร็งทั้งตัว เดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น  พูดกันพอรู้เรื่อง ร่าเริงแจ่มใส เจอกันครั้งแรกก็ทักหมอว่าไม่เห็นหมอยิ้มให้เลย ตอนที่หมอเดินออกไปหน้าห้องทันตกรรม  หมอเลยต้องบอกว่าหมอไม่ทันสังเกตครับ 

      ตรวจดูในช่องปากน้องกัน พบว่าคุณแม่น้องกันดูแลสุขภาพช่องปากดีมาก  เป็นฟันแท้ทั้งหมด เรียงตัวดีไม่เก แต่น้องกันมีฟันผุประมาณ 10 กว่าซี่ ทันตแพทย์ที่จังหวัดน้องกันส่งตัวมาให้อุดฟัน เนื่องจากน้องกันเกร็งมากเวลาทำฟัน รายน้องกันเลยต้องวางแผนการรักษาโดยการวางยาสลบครับ

       โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางประสาทกล้ามเนื้อ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการได้รับอันตรายต่อสมองในขณะที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่  (อาจเกิดตอนก่อนคลอด ขณะคลอด หรือหลังคลอดก็ได้) เช่นการกระทบกระเทือน คลอดก่อนกำหนด ขาดออกซิเจน เลือดออกในสมอง ครรภ์เป็นพิษ ติดเชื้อ ขาดอาหาร หรือไม่ทราบสาเหตุ โรคนี้นอกจากมีผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายแล้ว อาจมีอาการพูดผิดปกติ  ปัญญาอ่อน ชัก สายตาผิดปกติ หรือหูหนวกร่วมด้วย

      โรคสมองพิการมีผลต่อความผิดปกติในช่องปากอยู่บ้าง อันเนื่องมาจากการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อในช่องปาก และอันเนื่องมาจากการมีภาวะปัญญาอ่อนทำให้ผู้ปกครองละเลยการดูแลช่องปากให้เด็ก  ดังนั้นการป้องกันโรคจึงเป็นเรื่องสำคัญ 

      การรักษาทางทันตกรรมสามารถทำได้ในเด็กพิการทางสมอง ถ้าทันตแพทย์ใช้เวลาให้เพียงพอ ในการสื่อสารกับเด็ก บางครั้งเด็กอยากให้ความร่วมมือแต่เขาควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อไม่ได้ ทันตแพทย์อาจต้องใช้การโอบกอด หรือใช้ผ้าห่อตัวเด็กช่วย บางครั้งอาจต้องใช้ยาลดกังวล  แต่หากเด็กอายุมากแล้ว และตัวใหญ่ ทันตแพทย์อาจมีปัญหาในการประคองตัวเด็ก และใช้ยาลดความกังวลในปริมาณสูง ซึ่งมีอันตราย วิธีการดมยาสลบจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่า

         อุปสรรสำคัญอีกอย่างก็คือการสื่อสารกับเด็ก อย่างไรก็ตามการสื่อสารโดยวิธีพูด หรือทำท่าทางก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและสามารถทำได้ เพราะเด็กแต่ละคนมีบุคลิกที่แตกต่างกัน การเข้าใจลักษณะเฉพาะของแต่ละคนจะทำให้การสื่อสารติดต่อกับเด็กทำได้ง่ายขึ้น (นอกเหนือไปจากการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง)

        ดังนั้น เมื่อเจอเด็กที่เป็นโรคพิการทางสมอง กรุณาแนะนำและให้ความรักความเข้าใจ และที่สำคัญอย่าลืมแนะนำไปพบทันตแพทย์ด้วยนะครับ  ............ สวัสดีครับ 

หมายเลขบันทึก: 165694เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2008 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท