มาฆบูชา


เรามีความเป็นอยู่คล้ายพระอรหันต์ให้มากที่สุด ทุกลมหายใจเข้าออกในวันนี้

วันมาฆบูชาปีนี้ มีหน้าที่มาอยู่เวรรักษาสถานที่ราชการ จึงได้แต่อนุโมทนาสาธุแก่สาธุชนที่ได้ไปทำบุญ ฟังพระธรรมเทศนาที่วัด  ได้อ่านมาฆบูชาเทศนาของท่านพุทธทาสภิกขุ   "โอวาทปาฏิโมกข ปฐมภาคกถา" สรุปโดยย่อ ดังนี้
        วันมาฆบูชา เป็นวันที่ระลึกถึงพระอรหันต์ทั้งหลาย บรรดามีในพระพุทธศาสนาประชุมกัน  มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และทรงแสดงโอสาทปาฏิโมกข์  คือบทอันเป็นประธานแห่งพระพุทธวจนะทั้งปวง  เป็นเหมือนกับการประกาศย้ำว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างไร อีกประการหนึ่งยังตรงกับสมัยที่ทรงปลงพระชนมายุสังขาร  เพื่อการเสด็จดับขันธปรินิพพาน  เพราะฉะนั้นจึงนับว่าเป็นเหตุการณ์พิเศษ ควรแก่การระลึกถึงด้วยความสักการะเคารพ  จะเป็นการให้ทานก็ดี  การรักษาศีลก็ดี   การฟังธรรมเทศนาก็ดี  เป็นการเจริญภาวนาในทางจิตใจให้มีความสะอาด  สว่าง  สงบก็ดี  ตลอดจนถึงความอดทนอดกลั้นอย่างอื่นตลอดวันวันนี้  ล้วนแต่ต้องทำเป็นพิเศษ เพื่อบูชาคุณของพระอรหันต์ทั้งหลาย

      การทำบูชาในเดือนมาฆะ เพื่อระลึกถึงพระอรหันต์ เพื่อบูชาพระอรหันต์ เพื่อทำตามอย่างพระอรหันต์  ให้เรามีความเป็นอยู่คล้ายพระอรหันต์ให้มากที่สุด ทุกลมหายใจเข้าออกในวันนี้  ทำอย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการทำมาฆบูชาที่แท้จริง ถูกต้องตามความหมาย ก็คือ ความสะอาด สว่าง สงบ นั่นเอง
     ที่ว่า สะอาด  หมายถึง บริสุทธิ์หมดจด  ไม่มีบาป  ไม่มีความชั่ว
     ที่ว่า  มีความสว่างไสว นั้น  หมายถึงความรู้แจ้ง ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างถูกต้องเต็มตามที่เป็นจริง  จนประพฤติปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวง  ไม่มีความทุกข์อันใดเกิดขึ้นมาได้เลย  นี้เรียกว่าความสว่างไสว คือ ความรู้แจ้งเห็นจริง
    ที่ว่า  ความสงบ นั้น  หมายถึง ความสงบเย็น  ปราศจากความทุกข์  ไม่มีความเร่าร้อน  ไม่มีความกระวนกระวาย ระส่ำระสาย

     ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ นี้  ก็คือ สุทธิคุณ  ปัญญาคุณ และสันติคุณ
     การที่มีความสะอาด สว่าง สงบ นี้ หมายความว่า ได้ถึงที่สุดของการประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา  ได้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนาถึงที่สุด  ได้ประสบความสะอาด สว่าง สงบ ถึงที่สุด  นั่นแหละคือบุคคลที่เรียกว่า พระอรหันต์

     ในที่สุดก็จะมีความสะอาด  สว่าง  สงบ  พบสิ่งที่เรียกว่า พระอรหันต์ทั้งหลายได้ ในจิตใจของตนเอง  อยู่กับพระอรหันต์ได้ตลอดวันตลอดคืนเพราะการกระทำของตนเอง  นับว่าเป็นวันที่ประเสริฐที่สุด พอที่จะอุทิศให้เป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย  มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธานได้จริงๆ ดังนี้  ด้วยการถือหลักว่า
                  สพฺพปาปสฺส  อกรณํ  - การไม่ทำบาปทั้งปวง
                  กุสลสฺสูปสมฺปทา      - การทำความดีให้ถึงพร้อม
                  สจิตฺตปริโยทปนํ       - การชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจด

      ทั้ง ๓ นี้ เป็นพระพุทธศาสนา ของพระบรมศาสดา ซึ่งทรงหวังว่า  สัตว์ทั้งหลายจะได้ถอนตนออกจากความทุกข์ ด้วยการเดินทางไปตามที่วางไว้ เป็นหลักมรรคทีองค์ ๘ ก็ดี  หลักสิกขา ๓ ประการก็ดี  หรือเป็นหลักโอวาทปาฏิโมกข์อย่างนี้ก็ดี  ล้วนแต่เป็นร่องรอยอันเดียวกัน  มีความโน้มเอียงไปสู่พระนิพพาน  เหมือนกับที่แม่น้ำทุกสายมีความโน้มเอียงสู่ทะเล  ฉันใดก็ฉันนั้น

 

 

หมายเลขบันทึก: 166579เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2008 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท