ส่งสุข...ป้าเจรียง เอี่ยมละออ คนไทยไร้ตัวตน...การเดินทางของเรื่องเล่า-5(8 มิถุนายน 51)


จะเห็นได้ว่าโดยหลักการทั่วไปของโรงพยาบาลนั้นเมื่อมีผู้ป่วยเดินทางมาที่โรงพยาบาลย่อมไม่ควรปฏิเสธการรักษาพยาบาล การปฏิเสธการรักษาป้าเจรียงซึ่งเจ็บป่วยอย่างหนักเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนไทยและยากไร้จึงถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุขอย่างร้ายแรง

ส่งสุข...ป้าเจรียง เอี่ยมละออ[1] คนไทยไร้ตัวตน

โดย ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว เมื่อมิถุนายน 2551

 

ชื่อของหญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง ซึ่งถูกบอกเล่าครั้งแรกผ่านหน้าหนังสือพิมพ์มติชนในชื่อ รัฐเลือดเย็น คอลัมน์ กวนตะกอน  วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10347 ซึ่งบอกเล่าถึงชีวิตรันทดของ ป้าเจรียง เอี่ยมละออ ที่ล้มป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกแต่ไม่ได้รับการเหลียวแลรักษา

ป้าเจรียงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2549  เรื่องราวชีวิตของป้าเจรียงจึงถูกหยิบยกไปพูดคุยกันในหลายพื้นที่ เพราะคนยากไร้ที่เจ็บป่วยที่ได้ชื่อว่าเป็นคนไทยหรือไม่มีสัญชาติไทยก็ตามที ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไม่ควรจะถูกทอดทิ้งให้เจ็บป่วยอย่างโดดเดี่ยวจนเสียชีวิต

ผู้เขียนจึงขอนำเรื่องราวของป้าเจรียงมาบอกเล่าอีกครั้ง เพื่อให้การจากไปของป้าเจรียงไม่สูญเปล่า

---------------------

คนไทยไร้ตัวตน

---------------------

เจรียง เอี่ยมละออ  เกิดแถวอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เมื่อแม่ตายและพ่อแต่งงานใหม่ใหม่  เธอจึงหนีออกจากบ้านตั้งแต่ยังเล็กและกลับมาปากเกร็ดอีกครั้งเมื่อายุ 15 ปี แต่เธอกลับไม่พบใครเลย ครอบครัวซึ่งมีพ่อและพี่สาวย้ายไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว  

โดยขณะนั้นเธอได้ไปขอทำบัตรประชาชนไว้แต่มีปัญหาติดขัดและเธอก็ไม่ได้ติดตามแต่อย่างใด  จนกระทั่งอายุ 27 ปี เจรียงได้แต่งงานมีครอบครัว ลูกของเธอทุกคนมีบัตรประชาชนเหมือนกับคนไทยทั่วไป เหลือเพียงเธอที่ยังคงไม่มีบัตรประชาชน

เจรียงในวันนี้ คือ ป้าเจรียง วัย 50 ปี ซึ่งมีฐานะยากจนมาก และต่อมาได้ล้มป่วยเป็น โรคมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 และกำลังลามไปที่ไต

จากข้อเท็จจริงที่ว่าป้าเจรียงน่าจะเป็นคนสัญชาติไทย แต่ในข้อเท็จจริงที่ปรากฎนั้น ป้าเจรียงเป็น คนไทยไร้ตัวตน เพราะป้าไม่มีหลักฐานแสดงตนใดๆ ไม่มีการบันทึกตัวตนของป้าในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ในวันนี้ป้าเจรียงจึงตกอยู่ในฐานะ คนไร้รัฐ- ไร้สัญชาติ

ดังนั้นป้าจึงไม่สามารถใช้ สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคได้เช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป รวมทั้งไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆเลย  

ลูกๆ ได้พยายามติดต่อขอทำบัตรประชาชนให้กับป้า โดยเจ้าหน้าที่บอกว่าต้องตามพี่น้องท้องเดียวกันมาพิสูจน์ แต่ปัญหาคือคนในครอบครัวของป้านั้นแยกย้ายกันไปโดยไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน

หลังจากที่มติชนได้นำเสนอข่าวป้าเจรียง ก็ได้รับแจ้งมาว่ามีผู้หวังดีพยายามเข้าตรวจสอบทะเบียนราษฎรเพื่อตามหาพี่น้องของป้าที่แยกย้ายกันไปตั้งแต่เด็ก เพื่อยืนยันความเป็นคนไทยของแก ซึ่งพบว่าทั้งพี่ชายและน้องสาวของป้านั้นยังมีชีวิตอยู่โดยอาศัยอยู่ต่างจังหวัด และยังมีพี่น้องต่างมารดาอีก 3 คน

ช่องทางที่จะทำให้ป้าเจรียงได้รับสิทธิ 30 บาทในฐานะคนไทยนั้นดูจะล่าช้าเลือนลางเต็มที  ดังนั้นลูกสาวของป้าจึงพยายามขอความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลต่างๆ ให้ช่วยรักษาแม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยอนาถาหรืออะไรก็ตาม แต่กลับได้รับการปฏิเสธ โดยหมอให้เหตุผลว่า รัฐบาลได้นำเอากองทุนต่างๆ ที่อยู่ตามโรงพยาบาลไปรวมเข้าเป็นกองทุน 30 บาท และจะให้บริการเฉพาะสมาชิกของกองทุนเท่านั้น

ในที่สุดเช้าวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2549 ป้าเจรียงก็สิ้นลม พ้นทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยโดยไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องและเหมาะสม

-------------------

ส่งสุขป้าเจรียง

-------------------

        แม้ว่าป้าเจรียงจะจากไปแล้ว แต่เพื่อไม่ให้การตายของป้านั้นสูญเปล่าและการกระทำของโรงพยาบาลที่เลือกจะปฏิเสธการรักษาพยาบาลเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ การย้อนทบทวนถึงสาเหตุของเรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงจำเป็นและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อไป

โดยกรณีของป้าเจรียงที่เป็นคนไทยแต่ต้องอยู่อย่างไร้ตัวตนมากว่า 50 ปีนั้น ต้นเหตุหนึ่งของปัญหาอาจจะมาจากการไม่ได้รับการแจ้งเกิด จึงทำให้ป้าไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรและความพยายามของป้าในการทำบัตรประชาชนตลอดมาจึงไม่สามารถทำได้  หรือพ่อแม่ของป้าอาจจะเคยแจ้งเกิดแต่ป้าจดจำชื่อ-นามสกุลของตนเองและครอบครัวผิดๆ  เมื่อป้าออกจากบ้านมาตั้งแต่วัยที่ไม่ได้ทำบัตรประจำตัวประชาชนจึงทำให้ค้นหาตัวคนในครอบครัวไม่เจอ

การจดทะเบียนการเกิด ซึ่งเป็นกระบวนการบันทึกตัวบุคคล ข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ รูปพรรณสันฐาน สถานที่เกิด พ่อแม่ โดยเป็นขั้นตอนแรกที่จะทำให้บุคคลมีตัวตนทางกฎหมายและได้รับเอกสารยืนยันถึงการรับรู้ตัวตน เช่น สูติบัตร ซึ่งจะทำให้เป็นที่มาของเอกสารอื่นๆที่จำเป็นและคุ้มครองคนคนนั้นให้ได้รับสิทธิต่างๆในอนาคตที่พึงได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่ถูกทอดทิ้งให้เจ็บป่วยทรมานจนตายดังเช่นป้าเจรียง

อย่างไรก็ตามอาจจะพูดได้ว่าการไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการจดทะเบียนการเกิดได้ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากได้ตกหล่นจากระบบทะเบียนราษฎร กลายเป็นคนที่ไร้ตัวตน และในระหว่างกระบวนการที่จะพิสูจน์สัญชาตินั้นก็ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ไปจนถึงเสียสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตน

ในส่วนของการรักษาพยาบาลนั้น คุณหมอชาญวิทย์ จากกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความเห็นจากการแลกเปลี่ยนถึงกรณีป้าเจรียง ในเวบบอร์ด www.archanwell.org ว่า

ผมให้ความเห็นเรื่องนี้โดยชี้ให้เห็นว่าจะเกิดปัญหานี้ตั้งแต่ปี 44-45 แล้วครับ ขณะนั้นผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไปที่รพ.เสนาอยู่ ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการเรื่อง Registration ซึ่งมีการเสนอให้ทำบัตรทอง 30 บาท ผมเป็นกรรมการที่คัดค้าน เนื่องจากไม่เชื่อว่าประชาชนไทยทุกคนมีบัตรประชาชน และไม่เชื่อว่าจะแจกบัตรได้ครบตรงตามความจริง ผมเสนอให้ใช้สิทธิได้โดยทั่วกันและใช้การจัดสรรเงินตามจำนวนคนที่ประมาณการ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาเรื่อง Access ของกลุ่ม Marginal ที่ไม่มีบัตรประชาชน เช่นเดียวกับที่เคยทำรายได้น้อย ไม่เคยมีปัญหาเรื่อง Access แต่อย่างใด แต่ขณะนั้นไม่มีใครฟัง

ขณะนี้มีประชาชนอีกประมาณ 2-5% ถูกทอดทิ้งจากระบบ 30 บาทเพียงเพราะไม่สามารถทำบัตรประชาชน ซึ่งขึ้นกับระเบียบปฏิบัติของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับหลักประกันสุขภาพ อันที่จริงโครงการนี้คือสร้างหลักประกันสุขภาพสำหรับคนมีบัตรประชาชนถ้วนหน้า มิใช่สำหรับคนไทยถ้วนหน้าแต่อย่างใดครับ วิธีคิดของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ก่อให้เกิด Barrier ขวางกั้น ประชาชนชายขอบที่ต้องการหลักประกันสุขภาพมากกว่าใครเพื่อนแต่ก็ขาดโอกาส อย่างไรก็ตามผมยืนยันว่าทุกโรงพยาบาล ไม่มีสิทธิปฏิเสธผู้ป่วย ไม่ว่าจะมีเงิน หรือกองทุนค่ารักษาพยาบาลหรือไม่ก็ตาม สามารถเข้ารักษาที่รพ.รัฐได้ทุกแห่งครับ แจ้งไปเลยว่าไม่มีเงิน ...[2]

 

จะเห็นได้ว่าโดยหลักการทั่วไปของโรงพยาบาลนั้นเมื่อมีผู้ป่วยเดินทางมาที่โรงพยาบาลย่อมไม่ควรปฏิเสธการรักษาพยาบาล การปฏิเสธการรักษาป้าเจรียงซึ่งเจ็บป่วยอย่างหนักเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนไทยและยากไร้จึงถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุขอย่างร้ายแรง

เราจึงหวังว่าเมื่อเรื่องราวของป้าเจรียงเผยแพร่ออกไป ตลอดจนมีคำถามที่ส่งผ่านไปถึงกระทรวงสาธารณสุข และอย่างน้อยมีคำตอบจากคนในแวดวงสาธารณสุขที่พยายามจะเยียวยาความทุกข์ร้อนดังกล่าว คงพอจะเป็นสัญญานที่หวังได้ว่าจะไม่เกิดชะตากรรมที่โหดร้ายเช่นนี้ขึ้นอีก

 



[1] เรียบเรียงจาก เจรียง เอี่ยมละออ....ไร้บัตรประชาชน....ไร้สิทธิในบริการสุขภาพ รัฐเลือดเย็น คอลัมน์ กวนตะกอน  มติชนรายวัน วันที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10347 , คอลัมน์ โลกนี้มีรากหญ้า,หน้า9 มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2549,  เวบบอร์ด  http://www.archanwell.org/newwebboard/main.php?board=000423&topboard=1 ,  จากป้าเจรียงถึงศุภกรณ์” ... “หนูจะต้องไม่เป็นอย่างป้า : ดูแลกันด้วยนะมนุษย์ในยุคเลข 13หลัก”  โดย ชลฤทัย แก้วรุ่งเรืองhttp://gotoknow.org/blog/chonruitai-legal-clinic/41814?class=yuimenuitemlabel

[2] อ้างแล้ว http://www.archanwell.org/newwebboard/main.php?board=000423&topboard=1

คำสำคัญ (Tags): #รายงานวิจัย
หมายเลขบันทึก: 166705เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2008 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จะหาเวลาว่างไปรับขวัญหลานเร็วๆ นี้จ๊ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท