ฮีตสิบสอง : กรณีศึกษาชุมชนอีสาน ต.นิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อ.เมือง จ.กำแพงเพชร


"ภูมิปัญญา" การจัดการความรูระดับท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาชุมชน สร้างความเข้มแข็งงานพัฒนาที่มีวัฒนธรรมเป็นฐาน

       

%e0%b8%97%e0%b8%b8%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%99%e0%b8%b2

ภูมิปัญญา คำนี้ ฉันพอได้ยิน ได้ฟัง และได้อ่านมาบ้าง แต่ยังไม่มีโอกาส ได้ศึกษาเรียนรู้ทำความรู้จักให้มากกว่านี้  หลังจากมาศึกษาต่อที่มหาลัยวิทยาลัยนเรศวร  ฉันได้รับงานจากอาจารย์ผู้สอน ให้ทำวิจัย ภูมิปัญญาของภาคอีสาน 1 เรื่อง ฉันเลือก ภูมิปัญญาฮีตสิบสอง  และทราบมาว่า ต.นิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อ.เมือง จ.กำแพงเพชร เป็นชุมชนที่ก่อตั้งขึ้น จากชาวบ้าน ที่อพยพมาจากจังหวัดต่างๆ ของภาคอีสาน  พื้นที่นี้จึงเป็นเป้าหมาย ของการศึกษาทำวิจัย เรื่อง ภูมิปัญญาฮีตสิบสอง  .นิคมทุ่งโพธิ์ทะเล  .เมือง จ.กำแพงเพชร

งานวิจัยเสร็จสมบูรณ์ แล้ว ฉันภูมิใจในผลงานที่ทำ และขอนำบทคัดย่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการอนุรักษ์ ภูมิปัญญาดั้งเดิมให้สืบทอดต่อไป

           การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปฏิบัติตามประเพณีฮีตสิบสอง  และภูมิปัญญาจากฮีตสิบสองของชุมชนอีสาน ตำบลทุ่งโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ(Qualitative Research) โดยผู้ที่ให้ข้อมูลเป็นชาวบ้านที่อพยพมาจากภาคอีสานและลูกหลานที่เกิดจากพ่อแม่ที่อพยพมา จำนวนทั้งหมด 27 คน ทำการศึกษาโดยวิธีสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In Depth Interview) ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้

สภาพบริบทของชุมชน

ชุมชนอีสานตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อ.เมือง  จ.กำแพงเพชร  อพยพมาจากภาคอีสานตั้งแต่  ปี 2500 และชักชวนญาติพี่น้อง  เพื่อนบ้านอพยพตามมา ในปี 2509 กระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นนิคมสร้างตนเองทุ่งโพธิ์ทะเล  ปัจจุบันมี 16 หมู่บ้าน  มีชื่อเรียกว่าตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล  มี นางลมัย  ลาภาอุตร์  เป็นกำนันดูแลความสงบ  พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตร เช่น  ปลูกข้าว  อ้อย  ข้าวโพด  มีโรงเรียนระดับประถมศึกษา  มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา  มีโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง  สถานีตำรวจ  ที่ทำการไปรษณีย์และมีไฟฟ้าใช้ทุกหมู่บ้าน

การปฏิบัติตามประเพณีฮีตสิบสอง  ของชาวบ้านนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล  อ.เมือง  จ.กำแพงเพชร  สรุปผลดังนี้

ประเพณีฮีตสิบสอง

  • บุญเดือนอ้าย  บุญเข้ากรรม  เชื่อว่าทำแล้วได้บุญมาก  เป็นภูมิปัญญา ความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษ ความเชื่อเรื่องบุญ

  • บุญเดือนยี่  บุญคูณลาน  เชื่อว่าข้าวกล้าจะงอกงามดี  เป็นภูมิปัญญา  ความกตัญญูรู้คุณข้าว  ความเชื่อเรื่องบุญ  ความเชื่อเรื่องผี  ประเพณีการลงแขก

  • บุญเดือนสาม   บุญข้าวจี่   บุญข้าวจี่  1  ค่ำเดือน  3  เปิดยุ้งข้าวแล้วนำไปใส่บาตรก่อน  เป็นภูมิปัญญาความเชื่อเรื่องบุญ

  • บุญเดือนสี่  บุญพระเวส  เชื่อว่าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ  13  กัณฐ์ ใน  1  วันได้บุญมาก  เป็นภูมิปัญญา  ความเชื่อเรื่องบุญความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษ

  • บุญเดือนห้า  บุญสรงน้ำ   เชื่อว่าการทำบุญขึ้นปีใหม่  เปิดศักราชใหม่  เป็นภูมิปัญญา  ความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษ  ความเชื่อเรื่องบุญ  ความเชื่อเรื่องผี

  • บุญเดือนหก  บุญบั้งไฟ  เชื่อว่าทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์  เป็นภูมิปัญญา  ความเชื่อเรื่องบุญ  ความเชื่อเรื่องผี

  • บุญเดือนเจ็ด  บุญชำฮะ เชื่อว่าทำแล้วหมู่บ้านอยู่เป็นสุข  เป็นภูมิปัญญา  ความเชื่อเรื่องผี

  • บุญเดือนแปด  บุญเข้าพรรษา  เชื่อว่าปฏิบัติแล้วได้บุญมากเป็นมงคลกับตนเองและครอบครัว  เป็นภูมิปัญญาความเชื่อเรื่องบุญ

  • บุญเดือนเก้า  บุญข้าวประดับดิน  เชื่อว่าทำแล้วจะอยู่เย็นเป็นสุข  เป็นภูมิปัญญาความเชื่อเรื่องผี  ความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษ

  • บุญเดือนสิบ  บุญสารทลาว  เชื่อว่าบรรพบุรุษ  ญาติเจ้ากรรมนายเวรและผีนาจะได้กินอาหารไม่อดอยากมีความสุขสบาย  เป็นภูมิปัญญา  ความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษ  ความเชื่อเรื่องผี  ความเชื่อเรื่องบุญ

  • บุญเดือนสิบเอ็ด  บุญออกพรรษา  เชื่อว่าปฏิบัติแล้วจะได้บุญมากชาติหน้าไม่ลำบากมีความสุขสบาย  เป็นภูมิปัญญาความเชื่อเรื่องบุญ

  • บุญเดือนสิบสอง  บุญกฐิน  เชื่อว่าการทำบุญทอดกฐินเป็นบุญสูงสุด  เป็นภูมิปัญญา  ความเชื่อเรื่องบุญ

การปฏิบัติตามประเพณีทั้ง  12  เดือน  ในช่วงแรกของการอพยพมามีให้เห็นต่อเนื่อง  แต่ปัจจุบันการปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง  และบางประเพณีสูญหายไป  ผลเนื่องมาจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง  เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตมากขึ้นและการเปลี่ยนแปลงในชุมชน  ผู้นำชุมชนไม่ใช่คนอีสาน  ขาดการถ่ายทอดจากปู่ย่าตายาย  เยาวชนไปเรียนหนังสือและทำงานที่อื่น  เกิดความขัดแย้งด้านประเพณีการปฏิบัติ  และหมู่บ้านขยายตัวเพิ่มขึ้น

จากการปฏิบัติตามประเพณีฮีตสิบสองของชุมชนอีสาน  นิคมทุ่งโพธิ์ทะเลก่อให้เกิดภูมิปัญญาที่มีคุณค่า  ดัง

ภูมิปัญญาด้านความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษ  ปู่ย่า  ตายายและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว

ภูมิปัญญาด้านความกตัญญูรู้คุณข้าว

ภูมิปัญญาด้านความเชื่อเรื่องบุญ

ภูมิปัญญาด้านความเชื่อเรื่องผี

ภูมิปัญญาด้านประเพณีการลงแขก

ข้อเสนอแนะ

ประเพณีฮีตสิบสองเป็นประเพณีที่ชาวอีสานได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ  อนาคตข้างหน้าภูมิปัญญาดีงามนี้อาจสูญหายไปได้  

ผู้วิจัยจึงขอเสนอแนะสิ่งที่น่าเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ประเพณีฮีตสิบสองของชาวอีสาน  ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล  อ.เมือง  จ.กำแพงเพชร  ดังนี้

  1. สถานศึกษาที่อยู่ในชุมชน  ต้องจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น  ฮีตสิบสองเป็นหลักสูตรของโรงเรียน

  2. วัด  โรงเรียน  ชุมชน  ต้องประสานสัมพันธ์  ให้เกิดการปฏิบัติตามเพณีในรอบ  12  เดือน  ในทุกหมู่บ้านของตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล  อ.เมือง  จ.กำแพงเพชร

  3. ทำแหล่งเรียนรู้  ประเพณีฮีตสิบสองประจำตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล  เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคนในชุมชน

 

   

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 166748เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2008 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

สวัสดีคะ

ได้อ่านบันทึกนี้ได้รับความรู้ คุณค่าของชุมชนชาวอีสาน ที่มีคุณค่ามากคะ

ดิฉันขออนุญาตแนะนำการใส่คำสำคัญคะ

สำหรับการใส่คำสำคัญนั้น เหมือนเป็นการใส่ keyword คำที่ต้องการสื่อถึงเนื้อหาของบันทึกนี้คะ เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา เช่น ในบันทึกนี้ พูดถึงเรื่องชุมชาขาวอีสาน ก็น่าจะใส่คำสำคัญ คำว่า อีสาน ชุมชนอีสาน ภูมิปัญญาอีสาน เป็นต้นคะ

ประโยชน์ในการค้นหา เช่น http://gotoknow.org/post/tag/อีสาน ลองแก้ไขบันทึกและใส่คำสำคัญ อีสาน แล้วมาคลิก link นี้ก็จะเจอบันทึกของคุณหิ่งห้อย ปรากฏอยู่ด้วยคะ ระบบจะแสดงบันทึกที่ใส่คำสำคัญ ว่า อีสาน ออกมาทั้งหมดคะ

ลองดูนะค่ะ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

  • ครูอ้อย อ่านบันทึกของท่านอาจารย์แล้ว  นับว่า  เป็นบันทึกที่มีสาระประโยชน์มากมาย  ทั้งเนื้อหา และการวิจัย  พร้อมกับมีรูปภาพให้ดูด้วย  
  • ครูอ้อยคิดว่า บันทึกของอาจารย์ต้องเป็นบันทึกแห่งประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษา แน่นอนเลยค่ะ
  • เป็นคุณูปการแก่วงการศึกษาอย่างชัดเจนค่ะ
  • ครูอ้อยเคยทำวิจัยแบบสัมภาษณ์แบบเจาะลึก เมื่อปีแรกที่เรียนปริญญาเอกค่ะ   ได้รับความรู้มากจากบริบทในหมู่บ้าน  จนคิดว่า การจัดทำดุษฎีนิพนธ์  จะต้องนำวิจัยเชิงคุณภาพ  มาใช้ในการทำด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ผมว่า...ถ้าต้องการทำให้เป็นรูปธรรมนะครับ...

ภาครัฐคงต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับภาคประชาชนและต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังและเป็นระบบด้วยครับ...

เราต้องมีการปลูกจิตสำนึกของคนในหมู่บ้านให้เห็นความสำคัญของประเพณีเหล่านี้ อาจจะต้องมีแกนนำในการทำงานหรือให้คนในหมู่บ้านรวมตัวกันจัดตั้ง...

คนรุ่นปู่ย่าต้องถ่ายทอดภูมิปัญญาเหล่านี้ให้ลูกหลานครับ เพราะหน้าที่ในการสืบสานประเพณีที่ดีงาม เป็นหน้าที่ของคนรุ่นลูกรุ่นหลานครับ...

ขอบคุณมากครับ...

สวัสดีค่ะ

แวะเข้ามาเพราะหนุ่มเอก แห่งเมืองปาย ไปตามมาอ่าน

อ่านแล้วก็อดใจไม่ได้ที่จะร่วมวงในฐานะที่เป็นคนอีสานคนหนึ่ง เคยเห็นประเพณีต่างๆ ที่ศึกษาไว้ในบทความนี้ มาตลอด

เนื่องจากภูมิปัญญา คือ ความรู้ ที่สั่งสมมานาน และถ่ายทอดมาเรื่อยๆ กว่าจะได้ข้อสรุปเหมือนกับมีบางอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาก่อน จึงมีแนวคิดต่อข้อเสนอแนะในผลการศึกษาว่า ควรจะเสนอแนะไปในแนวนี้ค่ะ

  1. ควรเสนอแนะในแนวทางการอนุรักษ์ภูมิปํญญาที่ดีงามไว้ หรือแนวทางการปฎิบัติที่เหมาะสมและสามารถดำรงไว้ซึ่งภูมิปัญญานั้นในยุคการเปลี่ยนแปลงนี้
  2. แนวทางการฟื้นฟูภูมิปัญญา ไม่ให้หายไปให้เหมาะสมกับกลุ่มบุคคล หรือกลุ่มที่เหมาะสมจะเรียนรู้
  3. การปรับเปลี่ยนรูปแบบ หรือการประยุกต์วิธีการเข้ากับยุคสมัยใหม่ แต่เป็นแนวทางที่ดูดี และเหมาะสม (ตอนนี้หนูคิดไม่ออกค่ะ)
               
    1.         
ตอนนี้คิดออกแค่นี้ค่ะ

สวัสดีครับ...

ผมชื่นชมวิถีการศึกษา หรือวิจัยในเรื่องดังกล่าว  และเห็นด้วยกับประเด็นต่าง ๆ อันเป็นข้อเสนอแนะ  เป็นต้นว่า  การจัดให้ชุมชนมีสถานที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นกิจลักษณะ  โดยอาจจำแนกไปตามวิถีอันเป็นจุดเด่น, จุดแข็ง   และกำหนดให้สถานีต่าง ๆ เป็นสถานีการเรียนรู้ในมิติทางชุมชนของตนเอง เช่น  ให้ศาลาการเปรียญเป็นสถานีการเรียนรู้คติชนในทางศาสนาและพิธีกรรม   หรือแม้แต่การจัดทำฐานข้อมูลของปราชญ์ชาวบ้านไว้อย่างหลากหลาย   และกำหนดจุดรวมในชุมชนเป็นสถานที่แห่งการพบปะ  รวมกลุ่มกันอย่างต่อเนื่อง  และสถานที่ดังกล่าวนั้น  ก็อาจจะเป็นเสมือนศูนย์รวมของแหล่งความรู้ในรูปของสารสนเทศ   หรือพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ของชุมชนก็น่าจะดีไม่น้อย

ตอนนี้ผมก็ลงไปจัดโครงการห้องเรียนชุมชนคนรักษ์ท้องถิ่นที่บ้านเม็กดำ   ผมทำสื่อไปไว้ที่ศาลาวัด   โดยมีธรรมาสน์เสาเดียวเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน  สื่อที่ทำขึ้นก็มีทั้งประวัติหมู่บ้าน,  สิ่งของโบราณ,  สถานที่สำคัญของหมู่บ้าน  และธรรมาสน์เสาเดียวนั้นก็ถูกใช้เป็นธรรมาสน์พระเทศน์ในเดือน 4  ...

เกี่วกับประเพณีนี้ในแต่ละปี  ถ้าเป็นไปได้ก้อยากให่มีการจดบันทึกไว้ว่าปีนี้จัดขึ้นเมื่อไหร่... อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่า  ปีใดประเพณีใดหายไปบ้าง ...

เรื่องของหลักสูตรท้องถิ่น  เห็นด้วยอย่างยิ่ง  การนำปราชญ์ชาวบ้านมาเป็นครูสอนในโรงเรียนในเรื่องภูมิปัญญาเป็นเรื่องที่หลายที่ทำกันอยู่แล้ว .. และคิดว่าต้องทำอย่างจริงจัง  เพราะนั่นคือ  การช่วยให้เด็ก ๆ  รักบ้านเกิดด้วยเหมือนกัน

 

สวัสดีครับคุณหิ่งห้อย

             อ่านแล้วให้เกิดนึกภาพความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยก่อน...เขาถึงได้รักกันมาก

                                                           ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมของชาวอิสานที่น่าสนใจมากค่ะ ปัจจุบันเราให้ความสนใจหรือถือปฏิบัติกันน้อยลง ซึ่งอาจเนื่องมาจากสังคมเปลี่ยน วิถีชีวิตต่างๆเปลี่ยนไป ยิ่งคนที่อยู่ในเมืองประเพณีเหล่านี้แทบไม่มีอยู่ในวิถีชีวิตเลยค่ะ

จากการอ่านเรื่องนี้ อย่างหนึ่งที่สนใจและมองหา คือ เหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีกิจกรรมงานบุญขึ้นในแต่ละเดือน และในแต่ละเดือนงานบุญก็แตกต่างกัน และในเดือนนั้นๆ ทำมัยต้องทำงานบุญนั้น เช่น บุญพระเวส ไปทำเดือนอื่นได้มั้ย ทำไมต้องทำเดือนสี่  และบุญแต่ละอย่างทำไปเพื่ออะไร ทำทำไม เหล่านี้อยากทราบค่ะ เพราะเราเรียกว่า นี่คือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้น แสดงว่า การกำหนดกิจกรรมนั้นต้องมีเหตุมีผลที่ต้องทำ มีภูมิ มีปัญญา แทรกอยู่ในนั้น คิดว่าอย่างนั้นค่ะ

และตามที่สรุปว่างานบุญต่างๆ ได้ก่อให้เกิดภูมิปัญญาด้านต่างๆนั้น อยากรู้ว่า จริงๆแล้ว เป็นอุบาย หรือ เป็นการสอน การแก้ปัญหา อะไรรึปล่าว เช่น ภูมิปัญญาด้านการลงแขก ถือว่าเป็นการ แก้ปัญหาเรื่องแรงงาน หรือไม่ ทำนองนี้ค่ะ ถ้าหากวิเคราะห์เจาะลึกได้ น่าจะทำให้เราเข้าใจเรื่อง ฮีตสิบสอง ภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมประเพณีได้มากขึ้น รวมทั้งเป็นแนวทางที่จะนำมาใช้ หรือปรับใช้ และจะทำให้ไม่สูญสลายไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลก สังคม และสิ่งแวดล้อม มั้ยค่ะ?

ขออนุญาตขอความรู้แค่นี้นะค่ะ  ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ

ผมขอเพิ่มเติมงานวิจัย ในประเด็นต่อไปนี้ครับ

งานวิจัยที่เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่เป็น "ระบบความรู้ท้องถิ่น"  หากวิจัยออกมาได้แล้ว กระบวนการที่จะนำไปใช้ประโยชน์ (การใช้ประโยชน์จากงานวิจัย) เป็นเรื่องที่สำคัญ

ดังนั้นการคิดต่อเรื่องนี้ จึงต้องวางแผนตั้งแต่เริ่มงานวิจัย

  • การให้นักวิจัยชาวบ้านเข้ามาร่วมกระบวนการ เพื่อให้นักวิจัยชาวบ้านนำความรู้นั้นเผยแพร่ ลักษณะตัวบุคคล
  • การสร้างนักวิจัยน้อย หมายถึง นักเรียน เข้าไปเก็บข้อมูลโดยตรง การเก็บข้อมูลลักษณะนี้จะเป็นการเรียนรู้ ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่
  • การนำเข้าสู่ระบบ หลักสูตรท้องถิ่น หลักการ และวิธีการ ควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม รวมไปถึง การ re check ข้อมูลด้วยครับ

ความรูท้องถิ่น จึงเป็นเสมือน  "ทุน" ที่ให้ชาวบ้าน "รู้ตนเอง" และใช้ทุนที่เขามีอยู่ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาบนพื้นฐานของวัฒนธรรม

เมื่อไหร่ก็ตามเราสามารถ จัดการความรู้ท้องถิ่นได้สำเร็จ จะเกิดการยกระดับองค์ความรู้ และใช้ประโยชน์จากความรู้นั้น

สำหรับผลงานวิจัยนี้มีหลายๆประเด็นที่จะต้องเจาะลึกเพื่อ ค้นหาองค์ความรู้เหล่านั้นเพิ่มเติมครับ จาก

  • ภูมิปัญญาด้านความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษ  ปู่ย่า  ตายายและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว

  • ภูมิปัญญาด้านความกตัญญูรู้คุณข้าว

  • ภูมิปัญญาด้านความเชื่อเรื่องบุญ

  • ภูมิปัญญาด้านความเชื่อเรื่องผี

  • ภูมิปัญญาด้านประเพณีการลงแขก

    • อาจารย์คะ ได้รับการแนะนำจากน้องเอกให้เข้ามาอ่าน
    • แต่ตัวเองไม่มีประสบการณ์ทางด้านนี้เลย
    • ขอแวะมาให้กำลังใจอาจารย์นะคะ

    Pขอบคุณมากค่ะ เพิ่งได้ความรู้ชัดจากคุณมะปรางเปรี้ยววันนี้เอง  หิ่งห้อยก็ได้ความรู้จากการลงทำนี่ค่ะ แต่งานนี้ค่อนข้างรีบเร่ง มีข้อบกพร่องหลายประเด็นเหมือนกันค่ะ  ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

    P    สวัสดีค่ะ ครูอ้อย ขอบคุณมากค่ะมาให้กำลังใจ  งานชิ้นนี้รีบเร่งไปหน่อย มีข้อบกพร่องหลายอย่าง วิจัยคุณภาพเป็นเรื่องยาก ต้องอาศัยทักษะฝึกฝน ทำไปเรื่อยๆ ค่อยๆเรียนรู้ไป แต่ใจหิ่งห้อยชอบวิจัยเชิงคุณภาพ ค่ะ เหมือนมีชีวิต มีความรู้สึก มีความชัดเจนดี

    P  สวัสดีค่ะ Mr.Direct จากที่ได้ศึกษาด้านภูมิปัญญามากขึ้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า ภูมิปัญญาเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนา มนุษย์ ทั้งร่างกาย และจิตวิญญาณ แต่น่าเสียดายที่มีคนเห็นความสำคัญตรงนี้น้อยไปค่ะ ขอบคุณมาให้กำลังใจ ดูแลสุขภาพนะคะ

    P สวัสดีค่ะ คุณKawao ขอบคุณมากค่ะ ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หิ่งห้อยได้ศึกษา ภูมิปัญญาฮีตสิบสองจากการได้ทำวิจัยเรื่องนี้ และเห็นว่า ประเพณีสิบสองเดือน ที่สั่งสม ปฏิบัติและสืบทอดมา ดีงามมีคุณค่ามาก แต่จะดูแล รักษาอย่างไร ให้สืบทอด ต่อไป เป็นโจทย์สำคัญเลยค่ะ วิจัยนี้ มีเวลาค่อนข้างจำกัด มีข้อบกพร่องหลายประการค่ะ ขอบคุณที่ให้ข้อเสนอแนะมาค่ะ

    P   สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน ภูมิปัญญาฮีตสิบสอง มีคุณค่ามากค่ะ ประเพณีแต่ละเดือน มีคุณค่าต่อวิถีชีวิต และการอยู่ร่วมกันมากทำอย่างไรไม่ให้สูญหายไป บางประเพณีหายไป เพราะสื่อเทคโนโลยี่ เข้ามา เช่น บุญคูนลาน น่าเสียดาย ภูมิปัญญาที่สั่งสมถ่ายทอดมายาวนาน ดีค่ะที่อาจารย์พยายามช่วยอนุรักษ์  ช่วยกันหลายๆฝ่ายนะคะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

    P  สวัสดีค่ะ นายช่างใหญ่ สบายดีนะคะ เมื่อได้ศึกษา ด้านภูมิปัญญาแล้วจะเห็นได้เลยว่า ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษ สั่งสม สืบทอดมา งดงามมีคุณค่ามาก เราทิ้งของดีของเราไป แต่ตอนนี้หลายฝ่าย เริ่มเห็นความสำคัญแล้วนะคะ  ขอบคุณค่ะ

    P  สวัสดีค่ะ คุณPaew ขอบคุณมากค่ะ ที่ได้แลกเปลี่ยน แนวคิดที่ดีมาก งานวิจัยนี้ มีเวลาค่อนข้างจำกัด และผู้ให้ข้อมูลเป็นชุมชนที่อพยพมาจากภาคอีสาน ซึ่งผู้วิจัยต้องการที่จะศึกษาประเพณีฮีตสิบสองยังปฏิบัติอยู่หรือไม่ ก็ได้คำตอบว่าเริ่มสูญหายไปไปตาม สภาพบริบทที่เปลี่ยนแปลง ถ้ามีโอกาสได้เจาะลึกในพื้นที่จริง และตามประเด็นดังที่กล่าวมาจะได้ประโยชน์ ต่อการอนุรักษ์ สืบทอด หลายประเด็นที่คุณ Paew กล่าวมาน่าสนใจมากๆค่ะ  ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

    P   คุณเอก จ้ะ พี่อ๋อยขอบคุณมากๆๆ ที่ช่วยสร้างสีสรร ความสวยงามให้กับบล็อก ช่วยทำให้ข้อมูลน่าอ่าน พี่จะพยายามเรียนรู้ เทคโนโลยี่ทั้งหลายทั้งปวงจ้ะ และขอบคุณสำหรับคำแนะนำ   พี่ชอบงานวิจัยเชิงคุณภาพ แต่เป็นวิจัยที่ยากนะ ไม่ท้อหรอก พี่จะพยายามฝึกทำไปเรื่อยๆ ตอนนี้กำลังจะสรุปข้อมูล วิจัย พัฒนาศักยภาพครูปฐมวัย เป็น Action research ใช้เครื่องมือ และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ เรียนรู้จากการลงทำจ้ะ ขอบคุณเอกมากนะ ..

    P  สวัสดีค่ะ ไม่ได้เจอกันนาน สบายดีนะคะ งานยุ่งไหมจ้ะ ขอบคุณสำหรับกำลังใจค่ะ คงได้พบกันในไม่ช้านี้นะคะ

    • มาขอบคุณอาจารย์ครับ
    • เห็นอาจารย์หายๆๆไป
    • ท่าทางงานยุ่งเหมือนกันใช่ไหมครับ
    • ดีใจที่อาจารย์กลับมาแล้ว
    • ดีใจๆๆๆ
    • เรื่องนี้เหมือนโรงเรียนที่บ้านเก่าน้อยทำเลยครับ
    • ได้ทุน สกว แต่เป็นของอีสานครับผม

    สวัสดีค่ะพี่อ๋อย

       ความซับซ้อนในความเชื่อของมนุษย์เป็นอะไรที่น่าเรียนรู้  มันเป็นพลังในการดำเนินชีวิตจริงๆค่ะ

    เห็นงานวิจัยพี่อ๋อยแล้ว ทำให้สะท้อนความรู้สึกไปถึงที่บ้านนอกของตน (เป็นคนชั้นสูง..เพราะอยู่บนเขาค่ะ) ที่ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ก็มีวัฒนธรรม ความเชื่อต่างๆ ที่ควรมีการสืบทอด เช่น การทำขวัญข้าว การสรงน้ำพระและผู้เฒ่าในเทศกาลสงกรานต์ การทำบุญวันสารทที่จะกวนกระยาสารทไปทำบุญ  การแห่ชูชกในวันออกพรรษา เทศมหาชาติ การแห่ธงขึ้นเขาช้างล้วง ความเชื่อเกี่ยวกับผีสางก็ยังคงมี ฯลฯ นับวันวัฒนธรรมและความเชื่อที่มีคุณค่าเหล่านี้มีแต่จะสูญหายไปตามกาลเวลา  ถ้าเรามีการรวบรวมและจัดการความรู้ที่มีอยู่ให้เป็นระบบ การมีกระบวนการถ่ายทอดที่ดี มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ก็น่าจะช่วยให้สิ่งดีงามเหล่านี้คงอยู่ได้ตลอดกาลนาน ขอบคุณพี่อ๋อยนะค่ะที่สร้างสิ่งดีๆให้อยู่กับสังคมไทยของเราค่ะ...

    • สวัสดีค่ะ พี่อ๋อย
    • สิ่งที่เป็นความเชื่อดี ๆ ที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา  เห็นควรมีการสืบทอดให้อยู่คู่สังคมไทยตลอดไปค่ะ

     

    สวัสดีครับ..พี่อ๋อย

      ทำอย่างไรดีหนอ..จะให้เด็กๆ  ได้เรียนรู้กับสิ่งเหล่านี้ ให้เข้าใจเหมือนคนสมัยเก่า เพราะเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยสนในเรื่องประเพณีเท่าไรแล้ว การปฏิบัติตัวก็เริ่มเปลี่ยนไป

    แวะมาทักทายหิ่งห้อยค่ะ รู้สึกว่ามีแฟนคลับส่งความคิดเห็นและให้กำลังใจมากมายเลยค่ะ เป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่มอบให้นะคะ ถึงงานจะยุ่งแต่เราก็ยังยิ้มสู้ได้ค่ะ เป้นกำลังใจให้ตัวเองด้วย นิสิตปรด.สู้สู้

    สวัสดีค่ะ จานแดง พี่ขอโทษด้วยนะคะ ตอบช้ามาก ความซับซ้อนที่พิสูจน์ไม่ได้ยังมีให้พบเห็น พี่พบหลายอย่างถ้าอยากทราบวันหลังจะเล่าให้ฟัง ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่มีให้ตลอดเวลา ขอให้น้องและครอบครัวสุขภาพแข็งแรงทุกคนค่ะ

    สวัสดีจ้ะ คนติดดิน หิ่งห้อย ขอโทษด้วยจ้ะ ตอบช้ามาก ไม่อยากบอกเลย ที่หายไปน้าน นานมาก ไปไหน และทำอะไร ขอถอนหายใจ ห้าร้อยครั้งนะ ขอบคุณมากที่เป็นกำลังใจ และช่วยงานที่สถาบันวิจัย ฯอย่าทอดทิ้งกันนะจ้ะ

    สวัสดีค่ะ คุณการ์ตูน คุณอ้วน และคุณกบ หิ่งห้อย ก็ต้องขอกล่าวอีกว่าขอโทษมากๆๆ จ้ะ ตอบน้องช้ามากเลย เพิ่งตั้งสติ วางงานทุกอย่าง และเปิดโน๊ตบุ๊ค เปิดบล๊อก พูดคุยกับน้องๆ อย่างที่ชาว HACC บอกนะ สู้ สู้ และหิ่งห้อยต้องขอโทษ กบด้วยจ้ะ ยังไม่ได้เข้าไปเยี่ยมเลย ขอบคุณกำลังใจที่น้องๆ(น่ารัก)มีให้พี่ตลอดค่ะ

    อยากทราบข้อมูลความเป็นมาของชุนชนบ้านวังเพชร ต.นิคมทุ่งโพธิ์ทะเลคะว่าย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดไหนของภาคอีสาน ขอบคุณมากคะ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท