มูลิเน็กซ์ ของพี่แมว


อาหารที่เป็นมิตรกับสุขภาพ

          วันที่สองของชั้นเรียนโยคะมีผู้มาเรียน 4 คน เพราะหนูน้อยต้องอ่านหนังสือสอบ  อีกหนึ่งคนท้องเสีย  คนสุดท้ายไปธุระ  อย่างน้อยคนที่มาวันนี้ก็ตั้งใจ  ดูได้จากการมาก่อนเวลาเล็กน้อย  ผิดจากเมื่อวานที่มาสายไปครึ่งชั่วโมง  สอบถามถึงสุขภาวะทั่วไป  ป้าคนหนึ่งบอกว่าเมื่อวาน  ก่อนเรียนคอเคล็ดแต่ไม่กล้าบอก  เลยทำไปเรื่อยๆโดยไม่ได้กินยาแก้ปวดทั้งๆที่เพื่อนบอกให้ไปหาหมอ  หลังทำโยคะ  ป้าบอก"อาการดีขึ้นมาก  ไม่ต้องกินยาและนอนหลับสนิท"    ป้าคนที่สองบอกว่ากลับไปลองทำที่บ้านบางท่า  หลับสนิทและนานมาก  ย้ายมาอยู่บ้านนี้ 10 ปี  ไม่เคยนอนตื่นสายขนาดนี้มาก่อน   วันนี้เลยรีบมาก่อนเวลา  จะได้ฝึกนานๆโดยที่ยุงไม่กัด   สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้คือ  ผู้เรียนอาจไม่กล้าบอกอาการเจ็บป่วย  แต่มีความตั้งใจจะเรียนจริงๆ  เราในฐานะครูคงต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจในการที่จะได้มาซึ่งข้อมูล  และอีกสิ่งที่สำคัญคือ  โยคะที่ครูสอนเป็นโยคะที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแม้ร่างกายจะไม่พร้อม   เพราะเราจะทำด้วยความ  นิ่ง  สบาย  ใช้แรงน้อย  และมีสติ  ทำให้เราสามารถฝึกภายใต้ข้อจำกัดของร่างกาย

           พูดถึงฝูงยุงที่รุมเมื่อวาน   วันนี้ก่อนเริ่มทำอาสนะก็ได้พูดคุยกับผู้เรียนเรื่องยมะทั้ง 5 ผู้เรียนบอกว่าเขายังเคยชินกับการต้องตบยุง   เมื่อไรที่ยุงมากัดเราต้องตบหรือปัด  คงลำบากที่จะปฏิบัติในข้อนี้   ก็เลยต้องทบทวนเรื่อง "เป้าหมาย" ของการฝึกโยคะ  พร้อมถามผู้เรียนว่า 

ถาม:    "เราสามารถห้ามให้ยุงมาเกาะได้หรือไม่?" 

ตอบ:    "ไม่ได้"  

ถาม:    "แล้วเราจะทำอย่างไรให้ยุงไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาจิต?"  เรากำลังฝึกโยคะเพื่อไปสู่สมาธิ  "หากเรามัวแต่ไล่ยุงแล้วเราจะมีสมาธิอย่างไร?"

ตอบ:  "จริงด้วย"  เมื่อวานตอนที่พี่สมาธิดีๆ   พี่ไม่ต้องไล่ยุง   พอดีได้กลิ่นเหม็นเข้าจมูก  กำหนดสติไม่ทัน  ยุงก็เริ่มมาตอม  (พี่ที่ปฏิบัติธรรมเป็นประจำ  เป็นผู้ตอบ) 

           ในช่วงระหว่างเรียนหนึ่งชั่วโมงครึ่งมีผู้ไล่ยุงเพียงสองครั้งเท่านั้นเอง   ก็คงเป็นคำตอบให้ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี  

            การฝึกอาสนะวันนี้เริ่มด้วยการเกร็งและคลาย  ทบทวนท่าเมื่อวานท่าละ 2 รอบ  ทุกคนทำด้วยความนิ่ง  และสามารถรับรู้ถึงความผ่อนคลายที่มีมากกว่าเมื่อวาน  คิ้วไม่ขมวด  ทำช้าๆ  และต่อเนื่อง  จากนั้นเริ่มสาธิตท่างู  และการเปลี่ยนจากท่าจรเข้มาเป็นท่าวัชระ  การฝึกท่างูให้ทำสามรอบสลับกับท่าจรเข้  ผู้เรียนยังลืมเรื่องเท้าที่ต้องหันออกข้างนอกอยู่สองคน  เราก็คอยจัดท่าเป็นระยะ  ส่วนท่างูรอบแรกผู้เรียนเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างกัน  แต่ไม่มีใครฝืนที่จะพยายามยกให้สูงหรือใช้มือดัน  แต่การสังเกตยังไม่ค่อยละเอียด  เวลาเราบอกให้หนีบศอกเข้ากับลำตัว  บางคนไม่เข้าใจ  ต้องเดินไปจับให้รู้ว่านี่คือการหนีบศอก  ครั้งต่อๆมาก็ทำได้ถูกต้อง  ครั้งสุดท้ายเราบอกให้ผู้เรียนสังเกตบริเวณคอ  หลัง  หน้าท้อง  สะบัก  ทรวงอก  ขา  มือ ว่าเกิดอะไรขึ้น (ตามประสบการณ์ของตนเองที่ได้จากการฝึกสังเกตเวลาทำอาสนะ)   พี่คนหนึ่งบอกว่าสองครั้งแรกไม่มีอาการเจ็บบริเวณสะบัก  แต่ครั้งสุดท้ายลองพยายามยกให้สูงขึ้นกว่าเดิม  รู้สึกเลยว่าเจ็บ   เราก็เลยย้ำว่าถ้าทำถูกหลักต้องไม่เกิดการบาดเจ็บ   แสดงว่าพี่ฝืนร่างกายมากเกินไป 

             การฝึกท่านั่งวัชระ  พบว่าส่วนใหญ่ทำไม่ได้  เลยให้ทุกคนหยุด  แล้วฝึกทำทีละคน  คนอื่นๆให้ดูเพื่อนทำ  โดยเราค่อยแก้ไข จนผู้เรียนสามารถทำได้ง่าย  ต่อเนื่องกว่าเดิม  คนหนึ่งฝึกประมาณ 3 รอบ  เพราะถ้าไม่หัดทีละคน  ผู้เรียนจะทำแล้วดูเก้ๆกังๆ   สติจะหลุด  เงยศีรษะเร็วเกินไป  หน้าจะมืด  เลยต้องค่อยๆประคองศีรษะขึ้นมาจนอยู่ในแนวเดียวกับหลังแล้วค่อยๆยกทั้งหมดขึ้นช้าๆ  จนทุกคนทำได้  แต่ยังไม่ได้ให้กำหนดสติรับรู้ละเอียด  เอาท่าทางให้ได้ก่อน  จากการฝึกสอนมาสองวัน  พบว่า  เราต้องรู้จักผู้เรียน  อาจต้องให้ทำซ้ำ 2-3 รอบ (สลับกับการคลาย)  เพื่อให้แน่ใจว่าเขาทำอาสนะได้ถูกต้อง  ก่อนที่จะให้เขาเอาจิตไปรู้กับกายให้ละเอียดขึ้น  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการทำอาสนะ

             ก่อนจะจบการเรียน  ก็ได้แจกเอกสารให้การทำท่าอาสะที่ได้จากงาน Humanized health care  ที่มูลนิธิสดศรีจัด  ขนาด A4  องค์ประกอบของโยคะ  และการกินอาหารที่เป็นมิตร (มิตราหาระ = มิตร + อาหาร) ทั้งหมด 3 แผ่น  ได้มีโอกาสพูดถึงความสำคัญของยมะและนิยมะต่อการฝึกโยคะ  ส่วนนิยมะพูดเพียงข้อเดียวก่อน  เน้นเรื่องความอดทนและความเพียรที่จะฝึก  และแนะนำให้ไปฝึกต่อเองที่บ้านทุกวันจนกว่าจะพบกันใหม่สัปดาห์หน้า   การพูดคุยเรื่องการรับประทานอาหาร  พบว่า  ทุกคนเคี้ยวอาหารประมาณ  2-3 คำแล้วก็กลืน  หลายคนต้องกินขมิ้นชันเพื่อลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ  (รวมทั้งพี่ข้าพเจ้า 555)  ก็เลยอธิบายสรีรวิทยาของการย่อยอาหารประเภทต่างๆแบบง่ายๆ  แล้วโยนคำถามเรื่องการรับประทานอาหารที่มากจนล้น  โดยได้ตัวอย่างจากการบรรยายของพี่แมว  เนื่องจากทุกคนที่มาฝึกเป็นแม่บ้านต้องทำอาหาร  ต้องใช้เครื่องปั่นมูลิเน็กซ์ทั้งนั้น (แม่บ้านสมัยใหม่ก็อย่างนี้แหละ  ครกก็เลยเป็นม่าย) 

ถาม:  ใครเคยปั่นอาหารด้วยมูลิเน็กซ์บ้าง?  เวลาเราใส่ของที่จะปั่นลงไปเต็มโถปั่น  ประสบการณ์ของเราเป็นอย่างไร?

ตอบ: ปั่นยาก  ใช้เวลานาน  ปั่นได้เฉพาะด้านล่าง  ต้องถอดมาเขย่าแรงๆหลายครั้งให้ของข้างบนลงไปอยู่ข้างล่างจึงจะปั่นได้มากขึ้น

             เราก็เลยได้ทีอธิบายว่ากระเพาะของเราก็มีหน้าที่เหมือนมูลิเน็กซ์  คือทำให้อาหารชิ้นใหญ่คลุกเคล้ากับน้ำย่อยจนเล็กลง  ถ้าเราเคี้ยวอาหารเร็วๆ  รีบกลืนลงมา  อาหารที่มาถึงกระเพาะก็ยังมีชิ้นใหญ่อยู่  เช่นกันถ้าเรากินจนอิ่มแปร้  มันก็จะเหมือนมูลิเน็กซ์ที่ใส่ของลงไปจนเต็ม  อาหารก็ย่อยยาก  ย่อยช้า  ท้องก็แน่น  อืด  เฟ้อ  เรอเหม็นเปรี้ยว   เราควรกินของแข็ง 2 ส่วน  น้ำหนึ่งส่วน  และเหลือที่ว่างหนึ่งส่วน  เพื่อให้เหลือเนื้อที่ให้อาหารมีช่องว่างพบรักกับน้ำย่อยสะดวกขึ้น   นอกจากนี้การเคี้ยวอาหารอย่างละเอียดยังช่วยพัฒนาสมอง  ลดน้ำหนัก  ดีสำรับคนที่เป็นเบาหวานและไขมันสูงด้วย    ผู้เรียนก็พูดขึ้นมา  เรามัวแต่เสียดายกับข้าว  ของเหลือ  หรือของดีโดยเฉพาะเวลาไปกินโต๊ะจีน ก็เลยทำร้ายตัวเราเองซะนี่   ต่อไปนี้ต้องเคี้ยวให้ละเอียดขึ้น  กินให้น้อยลงซะแล้ว  ถึงตอนนี้ครูก็ไม่ต้องสรุปอะไรอีกแล้ว

           ก่อนจากกันก็ได้ให้ผู้เรียนผ่อนคลายอย่างลึกในท่าศพประมาณ 10 นาที  วันนี้ไม่มีใครปัดยุงเลย  สามารถอยู่ในท่าศพโดยไม่มีเสียงกรน  หัวคิ้วคลาย  หน้าตาก็เปื้อนรอยยิ้ม  แล้วสัญญาว่าจะมาพบกันวันเสาร์หน้าเวลา 16.30 น.

           กลับมาถึงบ้านก็ช่วยพี่สาวทำกับข้าว  เมนูวันนี้น้ำพริกมะม่วง  ปลาทูทอด  และปูม้าผัดพริกไทยดำ กับข้าวกล้อง  (น้ำลายสอเลยล่ะสิ)   เราก็ต้องสร้างความท้าทายให้พี่สาวเล็กน้อย  โดยการบอกว่า "ป้า(เรียกตามหลาน) วันนี้ลองเคี้ยวซักคำละสิบทีแล้วกัน  สามสิบทีจะลำบากเกินไปนะ  ค่อยๆเพิ่มวันหลังก็ได้"   "ทำไมจะไม่ได้  เนี่ยเคี้ยวได้ 20-30 ครั้งแล้ว  โธ่"  555 ผลปรากฏว่า  ป้ากินข้าวจานเดียวไม่ต้องเติม   ผักสดหมดไปครึ่งจาน  ปูม้าก็เลยตกเป็นของข้าพเจ้า  he he he  

หมายเลขบันทึก: 167151เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2008 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

 โห....หมอสุ มีแผน กินปูม้าคนเดียว

 ที่จริงหลังจบ เรียนโยคะ สิ่งหนึ่งที่ติดมาคือ เคี้ยวข้าวนานขึ้น ก็เป็นผลดี จริงๆ

 หมอสุเขียนได้น่าอ่านนะคะ อีกหน่อย แฟนตรึมแน่ๆเลย

 อย่าลืมสร้างแพลนเน็ต แล้นำบล็อกที่เราชื่นชอบ เก็บเข้าแพลนเน็ตนะคะ ดูในคู่มือค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท