Outcome ของการสอนเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเทอมนี้


ผมอยากเห็น นศ.เหล่านี้จบแล้วกลับไปทำงาน ยังกล้าคิด กล้านำ กล้าทำ และกล้าที่จะแปลงทฤษฏีเหล่านี้สู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง

     เทอมนี้ผมต้องสอนวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขทั้ง นศ.ภาคปกติ และ ภาคสมทบ ภาคปกติสอบ final ไปแล้ว ส่วนภาคสมทบยังสอนไม่ครบ และยังไม่สอบ final สองวันก่อนไปรับข้อสอบมาตรวจเป็นข้อสอบข้อเดียวอัตตนัย พออ่านรอบแรกซึ่งเป็นการอ่านที่ยังไม่ให้คะแนนครบทุกคน หัวใจผู้สอนมันพองโต มีความสุข และอยากอ่านรอบสองเพื่อพิจารณาให้คะแนนอย่างช้า ๆ ทีละคน ตอนนี้ให้คะแนนครบทุกคนแล้ว ไม่เคยคิดจะเขียนบันทึกแบบนี้แต่อดใจไม่ได้ จึงต้องมาเขียนบันทึกไว้เพื่อจดจำว่าครั้งหนึ่งเป็นความสุขมาก อาจจะเรียกว่ามากที่สุดตั้งแต่ต้องรับหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชานี้มาหลายปีติดต่อกันแล้ว

    วิชานี้มีจุดประสงค์การเรียนรู้คือ
          1. เพื่อให้นักศึกษาสามารถอธิบายแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขได้
          2. เพื่อให้นักศึกษาสามารถวิเคราะห์สถานการณ์การจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยงานได้โดยใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และการประเมินผลทางเศรษฐศาสตร์
          3. เพื่อให้นักศึกษาสามารถจัดทำรายงานสรุปผลการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยงาน พร้อมข้อเสนอเพื่อการตัดสินใจต่อผู้บริหารได้
     เพื่อตอบสนองต่อจุดประสงค์เหล่านี้เหมือนเพียง Output เท่านั้น ข้อแรกผมให้ นศ.แสดงออกมาหลังเรียนทุกครั้ง โดยเก็บคะแนนไปด้วย 20% เมื่อนำมารวมกันทุกครั้ง การไม่เข้าเรียนแทบจะไม่มีเลย และหากจำเป็น นศ.ไม่ได้เข้าเรียน ก็ไม่มีผลอะไร เพียงแต่หมดโอกาส อันนี้เป็นทางเลือกตามแนวคิดของวิชานี้อยู่แล้ว ข้อที่สองอันนี้สอบ final 20% และข้อที่สาม จากการนำเสนอรายงาน 30% และตัวรายงานของกลุ่ม 30% ทั้งหมด 3 เรื่อง 9 กลุ่ม คือ  1) สถานการณ์การจัดการทรัพยากร (ทุน) ของเครือข่ายหน่วยบริการ (CUP) 2) สถานการณ์การจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิของเครือข่ายหน่วยบริการ (CUP) และ 3) สถานการณ์ความสุขของประชาชนในเขตพื้นที่บริการของเครือข่ายหน่วยบริการ (CUP)

     และ Outcome ที่ว่าล๊ะคืออะไร อันแรกแน่นอนคือ นศ.เหล่านี้เป็นเครือข่ายร่วมกันที่จะสานงานช่วยเหลือกันต่อในอนาคต ประเด็นที่ตามมาคือ ผมอ่านจากการตอบข้อสอบ final จากประเด็นโจทย์ที่ให้นักศึกษาเขียนข้อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารเครือข่ายหน่วยบริการ (CUP) เพื่อการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของ CUP ตัวอย่าง ให้มีประสิทธิภาพ และมีความคุ้มค่า ขึ้นกว่าเดิม โดยไม่มีผลให้คุณภาพบริการลดต่ำลงไปจากที่เป็นอยู่ โดยก่อนสอบผมได้ให้แนวโจทย์ไปล่วงหน้า ทราบว่ามีการตั้งกลุ่มชวนกันคิด ชวนกันตีโจทย์ก่อนหน้า และนั่นแหละที่ผมมองว่าเป็น Outcome ตัวสำคัญ คือได้เกิดการเรียนรู้โดยกลุ่ม และเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้ว
     ผมมีความสุขที่เห็นกระบวนการคิดเพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ผมเริ่มมองเห็นการคิดเชิง initiation, creation และ innovation ตรงนี้ผมอยากทราบต่อไปว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไม นศ.กลุ่มนี้กล้าคิดและตอบออกมาอย่างนี้ เช่นการเสนอให้ค้นหา และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอื่นที่มีเพื่อชดเชยบุคลากรที่ขาดแคลน ซึ่งหากในระบบปกติก็มักจะนึกแต่การขอเพิ่ม หรือการเสนอให้นำที่ดินของ รพ.ในส่วนที่ยังไม่ใช้ประโยชน์อะไร ไปทำประโยชน์ให้องค์กร โดยให้ประชาชนมาร่วมตัดสินใจเป็นหลัก โดยมีเงื่อนไขให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดผลกระทบด้านลบน้อยที่สุด เช่นการทำตลาดพืชผลปลอดสารพิษ เป็นต้น

     หากจะให้ความสุขอย่างยั่งยืน ผมอยากเห็น นศ.เหล่านี้จบแล้วกลับไปทำงาน ยังกล้าคิด กล้านำ กล้าทำ และกล้าที่จะแปลงทฤษฏีเหล่านี้สู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง หาก Impact เหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง เข้าใจว่าการทุ่มเทเพื่อการจัดบริการสาธารณสุขจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า อย่างแท้จริง นั่นคือประชาชนจะมีผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดี โดยใช้ทรัพยกรเท่าที่จำเป็นจริง ๆ เสียที

 

หมายเลขบันทึก: 167606เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2008 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
รินทร์ลภัส อรรถเธียรไชย

ขอบคุณอาจารย์มากเลยค่ะ

อ่านแล้วรู้สึกดีมากๆ ถ้ามีอะไรน่าสนใจ

รบกวนอาจารย์ช่วยส่งมาให้อ่านอีกเรื่อยๆ นะคะ

รินทร์ เรียนบริหารสาธารณสุขอยู่ ภาคพิเศษค่ะ ยังไม่ค่อย

ได้อ่านอะไรมาก เรียนบางครั้งก็มีเวลาน้อย

ก็ยังไม่ครบถ้วนเท่าที่ควร อาจารย์มีอะไรแนะนำ

เกี่ยวกับการเรียนช่วยด้วยนะคะ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

รินทร์ลภัส

  • สวัสดีครับ คุณรินทร์ลภัส
  • ขอบคุณที่เข้ามา ลปรร. 
  • ก็ได้ทราบความรู้สึกของการเรียนภาคพิเศษ (ทำงานไปด้วย) คงเหนื่อยน่าดู
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท