รมว.ศึกษาธิการแนะ ร.ร.ในเมืองต้นแบบสถานศึกษาชนบท


ข่าวการศึกษา

ที่หอประชุมกองทัพเรือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการมอบนโยบายแก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษากรุงเทพมหานคร (ผอ.สพท.กทม.) เขต 1-3 และผู้บริหารสถานศึกษาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพท.กทม.เขต 3 ว่า รัฐบาลชุดนี้ เน้นความสำคัญของการศึกษาเป็นลำดับแรกๆ จะเห็นได้ว่างบประมาณของ ศธ.ได้รับจำนวนมาก แม้ส่วนใหญ่จะเป็นงบฯประจำ แต่ตนก็จะสนับสนุนงบฯลงทุนเพื่อผลักดันนโยบายด้านการศึกษาต่างๆให้มากกว่าเดิม และอยากให้โรงเรียนในกรุงเทพฯที่มีมาตรฐาน มีความพร้อม มีคุณภาพ เข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนในต่างจังหวัด โดยอาจเป็นต้นแบบการพัฒนา เพื่อเพิ่มมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา ตลอดจนลดความแออัดของนักเรียนในต่างจังหวัดที่จะเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯด้วย 

“ในอดีตผมเคยเป็นเด็กด้อยโอกาสคนหนึ่งเรียนหนังสือโรงเรียนวัดที่ห่างไกลความเจริญมาก เรียนหนังสือก็ต้องเดินเท้าไปเรียน และเมื่อเรียนจบต้องมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ดังนั้น ผมคิดว่าการพัฒนาโรงเรียนในชนบทให้มีมาตรฐานและคุณภาพมากขึ้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเชื่อว่าจะลดการเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯและลดปัญหาการฝากเด็กเข้าเรียนโรงเรียนมีชื่อเสียงได้” รมว.ศธ.กล่าวและว่า สำหรับอาชีพข้าราชการครูมีความสำคัญ อย่างมากต่อการพัฒนาประเทศชาติ และคิดว่าจะต้องยกระดับอาชีพครูมาอยู่ระดับแถวหน้าให้ได้ ส่วนความคืบหน้าการดำเนินโครงการแล็ปท็อป 1 ล้านเครื่อง ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการหาเสียงหรือต้องการค่าหัวคิวนั้น ยืนยันว่า ไม่ได้ทำเพื่อหาเสียง และจะทำให้โปร่งใส จะไม่มีการทุจริต เพราะต้องการทำเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ส่วนการฟื้นกองทุนให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) นั้น คณะทำงานที่ศึกษาข้อดีข้อเสียจะนำผลสรุปมาเสนอวันที่ 7 มี.ค.นี้ ซึ่งจะพิจารณาและดำเนินการให้ทันปีการศึกษา 2551

ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.ได้เสนอนโยบายจัดซื้อคอมพิวเตอร์ 2 หมื่นเครื่อง จากที่ขาดทั้งหมด 2 แสนเครื่อง เพื่อให้ได้สัดส่วนคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อเด็ก 20 คน ภายใน 1-2 ปี น่าจะจัดซื้อได้ครบหมด. 

 

ที่มา จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2551

คำสำคัญ (Tags): #ข่าวการศึกษา
หมายเลขบันทึก: 169103เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2008 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท