เดือนที่สองของเทอมที่สอง บันทึกของครูน้อยในเดือนที่หก กุมภาพันธ์ 2551


วิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ ในเทอมนี้

เดือนที่สองของเทอมที่สอง    บันทึกของครูน้อยในเดือนที่หก  กุมภาพันธ์ 2551

 

 

สวัสดีค่ะ ครูใหญ่

 

ขออภัยที่เดือนนี้ส่งงานช้าค่ะ   ใช้เวลาในการตัดสินใจอยู่นานว่าควรจะนำเรื่องอะไรมาเล่าในเดือนนี้ดี   อยากจะขอเน้นไปที่วิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ  ที่ครูน้อยได้ประสบพบเจอมาจากอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนในเทอมนี้   และเรื่องการเรียนเสริมในหลักสูตร Seminar in the Use of Knowledge in Organization ตามที่เคยเกริ่นถึงในคราวที่แล้วละกันนะคะ   เป็นการสลับสับเปลี่ยนบรรยากาศ  เพื่อมาดูอีกมุมมองหนึ่งของการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอกด้าน KM กันบ้าง

 

 

เริ่มกันเลยค่ะ

 

 

1. วิธีการเรียนการสอนแบบที่แตกต่างไปจากที่เคยเรียนมา

 

หนึ่งในวิชาในเทอมนี้ที่ครูน้อยลงเรียนคือ Seminar in Organizational Behavior   อาจารย์ที่สอนคือ Professor Lynn Van Dyne  มีเทคนิควิธีการสอนที่น่าสนใจดีค่ะ

 

ตามที่เคยเล่าไปในครั้งก่อน   วิชานี้จะเรียนเกี่ยวกับ Organizational Behavior ทั้งทางด้านทฤษฎีพื้นฐานและการประยุกต์ใช้งานในองค์กร    โดยอาจารย์จะเน้นการทำวิจัยต่อยอดจากเนื้อหาที่ได้เรียนในชั้นเรียน   โดยนักศึกษาจะต้องคิดหัวข้อวิจัยใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่เรียนเพื่อมาสนทนาแลกเปลี่ยนกันในชั้นเรียน  ส่วนทฤษฎีที่เรียนจะเน้นทางด้านพฤติกรรมมนุษย์และจิตวิทยาค่อนข้างมาก  แต่การประยุกต์ใช้งานทฤษฎีจะเน้นที่การนำไปปรับใช้ในองค์กร 

 

อาจารย์จะจัดให้นักศึกษาทำดังต่อไปนี้ค่ะ

 

1. Lead class discussion  แต่ละคนจะได้ทำหนึ่งครั้ง    โดยคนที่ได้ทำหน้าที่นี้   จะทำหน้าที่เหมือนเป็นอาจารย์ในห้องเลยค่ะ    โดยเกริ่นนำก่อน   แบ่งหัวข้อว่าจะคุย article ไหนก่อนหลังอย่างไร   มีทฤษฏีอะไรชี้นำหรือเปล่า   ควบคุมเวลาในการพูดของผู้ร่วมชั้นเรียน   และคอยตบๆ ให้เข้าประเด็น   ถ้าเห็นว่าการสนทนาท่าทางจะออกนอกลู่นอกทางกันไปแล้ว   รวมถึงการตั้งคำถามแก่เพื่อนร่วมชั้นเรียน   และกล่าวสรุปตอนท้าย  

 

ซึ่งก่อนการ lead discussion นี้   คนที่ได้รับมอบหมายจะต้องไปคุยกับอาจารย์ก่อน    ต้องอ่าน assigned articles ทุกชิ้นไปล่วงหน้า   และออกแบบโครงร่างการดำเนินการ lead discussion เช่น  ผังเวลาและรายละเอียด theme และ tone ของการสนทนา  ตลอดจนเนื้อหาหลักภาพรวมที่ต้องการนำเสนอ   เพื่อปรึกษากับอาจารย์ว่าไปถูกทางหรือเปล่า  เป็นต้น

 

ด้วยวิธีนี้   นักศึกษาปริญญาเอกก็จะเหมือนกับได้ฝึกการเป็นอาจารยจริงๆ ด้วย   ซึ่งจะใช้ได้กับการสอนนักศึกษาปริญญาเอกและปริญญาโท   ซึ่งจะเน้น class discussion เป็นหลัก

 

2.  การให้นักศึกษาแยกทำ Paper Proposal และ Paper Outlines ของโครงงานวิจัยที่จะทำของตนเอง   ตลอดจนทำ Feedback ให้กับโครงงานวิจัยของเพื่อนร่วมชั้นเรียน    โดยทั้งหมดนี้  จะต้องจัดทำเป็นลำดับขั้นก่อนหลังตามวันเวลาที่อาจารย์กำหนด   

 

ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักศึกษาได้เตรียมการทำ Term Paper ล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ   โดยจะต้องไปปรึกษาอาจารย์ก่อนในส่วนของหัวข้อ  และเนื้อหาหลักๆ    นอกจากจะได้ความเห็นของอาจารย์แล้ว  ก็ยังได้ความเห็นจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน    ซึ่งอาจารย์จะสอนวิธีการให้ความคิดเห็น  หรือ Feedback นี้อย่างค่อนข้างละเอียด   เพื่อหัดให้นักศึกษาปริญญาเอกรู้จักวิธีการให้ Academic Feedback ที่ถูกต้อง   ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้ที่เป็นอาจารย์อีกเช่นกัน  

 

3.  การนำเสนอห้วข้อวิจัยต่อยอดแบบละเอียด   เกือบทุกครั้งของการเรียนในวิชานี้  นักศึกษาจะต้องนำส่งห้วข้อวิจัยต่อยอดแบบละเอียดที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่เรียนในแต่ละครั้ง   โดยอาจารย์จะกำหนดสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง   เช่น  อาจจะต้องการหัวข้อวิจัยที่ใช้กับองค์กร    หรือที่ใช้กับหน่วยงานที่เป็น non-traditional group  เป็นต้น  

 

คำว่าอย่างละเอียดนี้หมายถึง  จะต้องละเอียดถึงขั้นนำเสนอรูปแบบของความสัมพันธ์ของตัวแปรใน proposition ด้วย  อาจจะเป็นในรูปแบบ graphic image หรือ dyadic table ก็ได้     ซึ่งทำให้นักศึกษานอกจากจะต้องอ่านบทความต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายในแต่ละอาทิตย์แล้ว   ยังจะต้องหัดใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการคิดหาหัวข้อใหม่ๆ ที่จะวิจัยต่อยอดจากหัวข้อที่เรียนได้

 

4.  ส่วนที่เหลือจากที่กล่าวมาข้างต้น   จะคล้ายกับที่เรียนไปในเทอมที่ผ่านมา   คือ การทำสรุปเนื้อหา ข้อดี ข้อด้อย  และแนะนำหัวข้อวิจัยต่อยอดของบทความที่อ่านไป    การทำและนำเสนอ  Term Paper หน้าชั้นเรียน

 

ทั้งหมดนี้ ก็มีคะแนนเก็บในแต่ละส่วนทุกชิ้นย่อยและใหญ่   ทำให้นักศึกษาต้องทำทุกขั้นตอนอย่างจริงจัง    และเห็นได้ชัดว่าอาจารย์ก็ทุ่มเทกับการตรวจทุกขั้นตอนของงานอย่างจริงจังด้วย   ครูน้อยจึงรู้สึกว่า  การเรียนการสอนในวิชานี้   ได้ให้ความรู้ในอีกแง่มุมหนึ่งของการศึกษาปริญญาเอก  ตลอดจนเป็นการเตรียมตัวให้นักศึกษาเป็นอาจารย์ที่ดีต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย

 

 

2. การเรียนเสริมในหลักสูตร Seminar in the Use of Knowledge in Organization

 

            ตามที่เคยเกริ่นไปในคราวที่แล้ว    การเรียนเสริมในหลักสูตรนี้  เป็นแบบไม่มีหน่วยกิตและไม่มีเกรดค่ะ   เรื่องของเรื่องก็เริ่มต้นจากมีเพื่อนนักศึกษาคนหนึ่ง  ได้ไปคุยหัวข้อวิจัยกับอาจารย์ท่านหนึ่งในภาควิชา Strategy  เรื่องความสนใจทางด้าน Use of Knowledge in Organization  

 

จากนั้น  อาจารย์ก็เลยลองสอบถามนักศึกษาคนอื่นๆ ว่ามีใครสนใจเรื่องนี้อีกหรือไม่   พอได้จำนวนผู้สนใจเรียบร้อยแล้ว   อาจารย์ก็เปิดเป็น seminar ให้ค่ะ    มีทั้งหมดสี่ถึงห้าครั้ง  เรียนครั้งละหนึ่งชั่วโมงครึ่ง    

 

โดยขณะนี้  ก็ได้เริ่มในส่วนพื้นฐานทฤษฎีทางด้าน Knowledge Management ไปในครั้งแรกแล้ว    ที่เหลือก็จะเน้นที่ Tacit Knowledge Creation ในระดับทีมและองค์กร   (ไม่เน้นระดับบุคคล   เนื่องจากอาจารย์เห็นว่าเป็นเรื่องของทาง Psychology มากกว่า Strategy   และไม่เน้นรายละเอียดด้าน  Knowledge Transfer มากเท่าไหร่   เพราะค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่มีผู้ทำวิจัยค่อนข้างมากแล้ว) 

 

          ตรงจุดนี้   ครูน้อยมองว่าน่าจะมาเสริมกับการเรียนรู้ในเรื่อง KM ที่ต่อเนื่องมาจากเทอมที่แล้วได้ดี   เนื่องจากในเทอมที่แล้วครูน้อยได้เรียนและทำ Term Paper เรื่อง Tacit Knowledge Transfer มาแล้ว   อีกทั้งกำลังจะทำ Independent Study ในช่วงภาคฤดูร้อนด้วย    

 

ดังนั้น  หากได้เพิ่มเติมความรู้ในแง่มุมอื่นของ KM  อย่างเช่น Knowledge Creation ก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ   และสามารถนำมาสนับสนุนเพื่อต่อยอดสู่การทำวิทยานิพนธ์ในอนาคตได้อย่างดีทีเดียว

 

 

จบแล้วค่ะบันทึกเดือนที่สองของเทอมที่สอง   อีกสองเรื่องที่ยังค้างไว้คือการทำ Workshop in Case Study Teaching  ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนมีนาคมนี้  และการเตรียมตัวทำ Independent Study  ด้าน KM   ซึ่งรายละเอียดต่างๆ จะขอนำมาเล่าเพิ่มเติมในบันทึกของเดือนหน้านะคะ 

 

 

แล้วเจอกันเดือนหน้านะคะ   สวัสดีค่ะ.....

หมายเลขบันทึก: 169290เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2008 05:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท