หลักชาดี...ดงหลวง


ในกระแสการพัฒนาสังคมโดยรัฐ หรือเอกชน นั้นมีหลายมิติที่เข้าไปสู่ชุมชนทั่วประเทศ ต่างก็หวังดีกันทั้งนั้น แต่กรอบการคิด นโยบาย และเป้าหมาย ฯ ต่างมีชุดของเงื่อนไขเข้าไปด้วย มันจึงมีคำถามตามมาเสมอว่า แล้วการพัฒนาด้วยเงื่อนไขดังกล่าวนั้นมันมิใช่เอาชาวบ้านท้องถิ่นเป็นตัวตั้งนี่นา แท้จริงก็เอาหน่วยงาน นโยบาย ฯ เป็นตัวตั้ง  ด้วยสิ่งดังกล่าวนี้ ผลงานพัฒนาจึงเป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราว วนเวียนไม่รู้จบ

 

ในส่วนตัวผู้บันทึกเอง มิได้สุดโต่งว่าจะต้อง เอาชาวบ้านเป็นศูนย์กลางไปหมดทุกเรื่องทุกครั้ง เพราะวิทยาการที่ก้าวหน้า บทเรียนที่มีผลสรุปมาแล้วนั้นสามารถนำไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านก่อนการตัดสินใจได้  ดังนั้นกระบวนการฟังเสียงชาวบ้านจึงมิใช่เรื่องที่จะต้องสุดโต่ง ว่าอะไร อะไรก็ชาวบ้าน ชาวบ้าน มิใช่ครับ ต้องมีกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ประสบการณ์อย่างรอบด้านก่อนการตัดสินใจ หรือลงมติใดๆ  แม้กระนั้นก็ยังอาจจะมีความบกพร่อง ผิดพลาดเกิดขึ้นได้ แต่ก็เป็นที่รับได้ทั้งมวล เพราะได้ตัดสินใจร่วมกัน

 

เราสนับสนุนให้พี่น้องชาวโซ่ตั้งเครือข่ายองค์กรชุมชนขึ้นมาที่เรียกว่า เครือข่ายไทบรู ดงหลวงซึ่งเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินแปงแห่ง อ.กุดบาก จ.สกลนคร  ผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งของเครือข่ายไทบรูคือ พ่อชาดี วงษ์กะโซ่

 

 

พ่อชาดี วงษ์กะโซ่ (นั่งบนแคร่) 

ชายร่างเล็ก ค่อนข้างเตี้ยท่านนี้อายุ 60 เศษ ถูกลงมติให้เป็นผู้นำเครือข่ายโดยเอกฉันท์ ท่านคืออดีตสหายคนสำคัญในพื้นที่ดงหลวง เป็นฝ่ายสื่อสาร ข่าวกรอง อันสำคัญยิ่งยามสงคราม ความไม่สมบูรณ์และผิดพลาดของการข่าวย่อมก่อเกิดความเสียหาย ดังนั้นด้วยสติปัญญาเพียงแค่ประถมปีที่สี่ แต่ความเป็นนักคิดนักวิเคราะห์ และความสามารถในการจับกฎเกณฑ์สาระต่างๆอย่างฉกาจ การทำหน้าที่ของท่านจึงสมบูรณ์ สิ่งที่หลุดออกมาจากปากของท่าน พี่น้องไทบรูต้องฟัง แม้ว่า การนำไปปฏิบัติขึ้นกับเงื่อนไขของครอบครัวและอื่นๆก็ตาม

 

และพ่อชาดีท่านผู้นี้คือผู้ที่ส่งข้าวส่งน้ำให้ท่านโพยม จุฬานนท์ บิดาของท่านอดีตนายกฯของไทยที่เข้าป่าครั้งแรกที่ดงหลวงแห่งนี้นี่เอง ส่วนหนึ่งพ่อชาดีได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมาจากท่านโพยม และการเข้าร่วมเครือข่ายอินแปงที่ยืนหยัดในหลักการพึ่งตนเอง และกำหนดให้ผู้นำเครือข่ายไทยบรูต้องนำหลักการไปกระทำจริงๆ...

 

พ่อชาดีเหมือนเสาหลักของการพึ่งตนเอง ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์นั้น หลายคนก็ไหวหวั่นกับการพัฒนากระแสหลัก  แต่พ่อชาดีนี่แหละที่คอย คัดท้ายให้เรือไทบรูลำนี้แล่นไปในทิศทางที่ถูกต้องอย่างเข้มแข็ง หนักแน่น  ใครก็ตามที่ไปฟังพ่อชาดีพูด ก็จะอดกล่าวมิได้ว่า จริงจัง เข้มแข็ง เน้นยำแต่หลักการที่ต้องปฏิบัติเพื่อการพึ่งตนเองและเป็นไท

 

ด้วยบุคลิกภาพดังกล่าวและผลงานของพ่อชาดีจึงถูก สปก. เชิญไปเป็นเครือข่ายปราชญ์ของหน่วยงานและออกไปร่วมสัมมนา ประชุมแลกเปลี่ยนกันบ่อยๆ จนร่างกายทรุดโทรมและเจ็บไข้กลับมาเกือบทุกครั้ง

 

 

 

ขณะที่พ่อบ้านทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ปลูกพืชบริโภคเอง ทำป่าครอบครัว ป่าหัวไร่ปลายนา ทำสมุนไพรพื้นบ้าน ทำศูนย์สุขภาพชุมชน สนับสนุนเยาวชนสืบสานความคิดของไทบรู ทำการเกษตรผสมผสาน ปลูกป่า อนุรักษ์ป่าไม้ สำรวจป่าไม้ ฯลฯ

 

กลุ่มแม่บ้านก็ลุกขึ้นมาทำ ผงนัวจากใบไม้มากกว่า 10 ชนิด เพื่อทดแทนผงชูรสที่ คนลาว ติดกันงอมแงม ทำน้ำยาล้างจาน สบู่ เพื่อใช้เองและขายเมื่อใครต้องการ  ทางราชการก็หวังดี เข้ามาสนับสนุนให้พัฒนาขึ้นเป็นสินค้าโอท็อป  แต่ต้องเปลี่ยนภาชนะบรรจุ ต้องทำสลากสวยๆติดข้างขวด ต้องหีบห่อดีๆ ฯลฯ แล้วส่งเข้าพิจารณาให้ดาวจากคณะกรรมการพิจารณาสินค้าโอท็อปตามระเบียบกำหนด  แต่พ่อชาดีปฏิเสธความช่วยเหลือนั้นอย่างสิ้นเชิง เพราะต้องการให้สมาชิกใช้เอง แต่หากใครจะซื้อก็ขาย แต่ไม่ต้องการดาวของโอท็อป ทำแล้วใช้เองเป็นหลักเพื่อลดรายจ่าย....  มิใช่ทำเพื่อแข่งกันจะเอาดาว แล้วไปขายเพื่อรายได้นั้น ไม่เอา...

 

หน่วยงานราชการและเอกชนก้าวเข้ามาเห็นกิจกรรมที่เครือข่ายไทบรูทำแล้วเข้าตาจึงขอสนับสนุนแบบมีเงื่อนไข  ขอให้อย่างนั้นอย่างนี้  พ่อชาดีปฏิเสธรับความช่วยเหลืออย่างสิ้นเชิง

 

 

 

โดยกล่าวว่า ...พวกเราชาวบ้านผ่านการต่อสู้มามาก ผ่านการช่วยเหลือจากใครต่อใครมามาก แต่ก็พังพินาจหมดภายในไม่เท่าไหร่ เพราะเงื่อนไขต่างๆนั่นแหละ  โดยไม่ดู ไม่พิจารณา เงื่อนไขของชาวบ้านเป็นหลัก เอาแต่ผลงานไปรายงาน เอาแต่ถ่ายรูป เขียนรายงาน มาสัมภาษณ์กันไม่เว้นแต่ละวัน  แล้วชาวบ้านก็หลงใหลไปกับความหวังดีผิดๆเพี้ยนๆนั้น

...ผมประกาศว่า ใครเห็นเราทำงานแล้วอยากมาสนับสนุนเรายินดี แต่ต้องไม่มีเงื่อนไข  หากจะมีเงื่อนไขเราต้องกำหนดของเราเองเท่านั้น เพราะเรากำหนดจากความเป็นจริงของสถานภาพของเรา  มิใช่คนภายนอกมากำหนด ..หากกำหนดมาจากข้างนอกเราไม่รับการสนับสนุน..

 

นี่คือหลักของพ่อชาดี แห่งดงหลวง

 

 

หมายเลขบันทึก: 175564เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2008 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)
  • นิทานเรื่องนี้สอนให้ว่า  ไม่รักเขา  ไม่รู้จัก  ไม่เข้าใจเขา  ยังไม่ต้องคิดไปพัฒนาหรือช่วยเหลือเขา  ไม่ต้องคิดแทนเขา 
  • ต้องรัก  หวังดีก่อน  ไปทำความรู้จัก  ทำความเข้าใจเขาก่อน  
  • เห็นด้วยกับท่านบางทราย   " ในส่วนตัวผู้บันทึกเอง มิได้สุดโต่งว่าจะต้อง เอาชาวบ้านเป็นศูนย์กลางไปหมดทุกเรื่องทุกครั้ง "   คงต้องเรียนรู้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย  เปิดใจ  ยอมรับกันและและกัน  จับมือ  กอดคอ  ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ  ผิดๆถูกๆก็ทำด้วยกัน
  • ที่ผ่านมา  มักคิดแทนเขา  กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เข้าท่าให้ปฏิบัติ
  • รับทราบมาว่า  เดี๋ยวนี้  เอาโครงการพร้อมงบประมาณไปให้  ชุมชนหลายๆแห่งเริ่มเอะใจ  ไม่ยอมรับแล้ว  เข็ดแล้ว  รับทีไร  เจ็บตัวทุกที อิอิ 
  • การพัฒนาที่อยู่บนฐานเงื่อนไขที่บีบรัดกันทั้งสองฝ่าย อาจจะทำให้งานพัฒนาไม่พัฒนาได้
  • ประการสำคัญประการหนึ่งที่ออตเห็นว่าสำคัญคือ พัฒนานักพัฒนา ให้เข้าใจงานพัฒนาก่อน
  • แล้วเงื่อนไขที่ถือเข้าไปจะสมดุลกับชุมชน

 

ท่านครูบาครับ

  • พ่อแสนก็เป็นสมาชิกเครือข่ายไทบรู ทุกครั้งที่มีการประชุมเครือข่าย พ่อแสนก็ขี่จักยานแก๊ก แก๊ก..มาร่วมด้วย
  • มีบางครั้งพ่อชาดีไม่สบายมอบหมายให้พ่อแสนไปแทน..พ่อแสนแทบจะไม่เป็นอันกินอันนอน เพราะ พ่อแสนไม่ถนัดที่จะไปประชุม  ไม่ชอบคุย มีแต่ทำ  ในที่สุดต้องมอบหมายคนอื่นไปแทน
  • แต่สุขภาพพ่อชาดีทรุดลงมาก เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อบ่อย ไปหาหมอที่โรงพยาบาลก็หลายครั้ง สมุนไพรก็เอา
  • การประชุมต่างๆ สมาชิกจึงย้ายมาประชุมกันที่บ้านพ่อชาดี เพื่อมิให้พ่อชาดีต้องออกกำลังเดินทางไปที่อื่น

สวัสดีครับคุณหมอ P 2. คนชอบวิ่ง

  • นิทานเรื่องนี้สอนให้ว่า  ไม่รักเขา  ไม่รู้จัก  ไม่เข้าใจเขา  ยังไม่ต้องคิดไปพัฒนาหรือช่วยเหลือเขา  ไม่ต้องคิดแทนเขา 

ครับ ดังนั้นสูตรสำเร็จในงานพัฒนาจึงไม่มี และหลักการดี เสนอได้ แต่ต้องให้เขาดัดแปลงตามสภาพจริง ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมดทุกแห่งทุกที  ตรงนี้ไงครับที่ผมกล่าวเสมอว่า ระเบียบ ข้อบังคับของราชการไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับงานพัฒนาชนบทในหลักการปัจจุบันเสียแล้ว ต้องปรับครั้งใหญ่เลยหละ

  • ต้องรัก  หวังดีก่อน  ไปทำความรู้จัก  ทำความเข้าใจเขาก่อน  

ใช่แล้วครับ  ค่อยๆไป ค่อยๆทำ ต้องมีกระบวนการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ตามที่องค์ในหลวงท่านมีกระแสพระราชดำรัส

  • เห็นด้วยกับท่านบางทราย   " ในส่วนตัวผู้บันทึกเอง มิได้สุดโต่งว่าจะต้อง เอาชาวบ้านเป็นศูนย์กลางไปหมดทุกเรื่องทุกครั้ง "   คงต้องเรียนรู้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย  เปิดใจ  ยอมรับกันและและกัน  จับมือ  กอดคอ  ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ  ผิดๆถูกๆก็ทำด้วยกัน
  • ที่ผ่านมา  มักคิดแทนเขา  กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เข้าท่าให้ปฏิบัติ
  • รับทราบมาว่า  เดี๋ยวนี้  เอาโครงการพร้อมงบประมาณไปให้  ชุมชนหลายๆแห่งเริ่มเอะใจ  ไม่ยอมรับแล้ว  เข็ดแล้ว  รับทีไร  เจ็บตัวทุกที อิอิ 

เอกชนเขาปรับตัวไปมากแล้ว แต่ระบบราชการของเราไม่ปรับเท่าไหร่เลย มีแต่ปัจเจกราชการที่แสนดีก็มีหลงเหลืออยู่ครับ

สวัสดีน้องออตคนขยัน P 3. ออต

  • การพัฒนาที่อยู่บนฐานเงื่อนไขที่บีบรัดกันทั้งสองฝ่าย อาจจะทำให้งานพัฒนาไม่พัฒนาได้
  • ประการสำคัญประการหนึ่งที่ออตเห็นว่าสำคัญคือ พัฒนานักพัฒนา ให้เข้าใจงานพัฒนาก่อน
  • แล้วเงื่อนไขที่ถือเข้าไปจะสมดุลกับชุมชน

น้องออตมีประสบการณ์มากขึ้นเรื่อยๆนะครับ นักพัฒนาต้องพัฒนาตัวเองก่อน นั้นเห็นด้วยยิ่งนัก ปกติองคืกรที่จะรับนักพัฒนาต้องสืบประวัติกันอย่างกับอะไรดี  ว่าผลงาน แนวคิด พฤติกรรมเป็นเช่นไร คนเราไม่ดีไปร้อยแปดอย่างแน่นอน แต่หลักๆต้องใช้ได้ โดยเฉพาะเรื่อง หลักการทำงานกับชาวบ้านในชนบท  เราจึงต้องทำ OJT กันเป็นระยะยาวนานสักหน่อย เพื่อให้แน่ใจว่า เขา เธอคนนั้นมีหลักการและวิธีการที่ไม่ทำลายงานพัฒนา  ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นเรื่องการปรับตัว หากใครตั้งใจทำงานก็สามารถจะปรับตัวได้ แม้จะฝืนต่อวิถีชีวิต ที่เคยผ่านมาครับ

น้องออตจะไปบ้านครูบาเมื่อใดอีกขอฝาก "หล่วง" ไปให้ท่านครูบาด้วยนะ  มันอยู่ที่บ้านพี่ครับ

 

 

สวัสดีครับ ท่านบางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

เรื่องดีมากๆ ครับ น่าสนใจและคงต้องขอนำไปปรับใช้เพื่อการส่งเสริมการเกษตร ต่อไป

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ P  7. chudchainat 
 

เรื่องดีมากๆ ครับ น่าสนใจและคงต้องขอนำไปปรับใช้เพื่อการส่งเสริมการเกษตร ต่อไป

เป็นประสบการณ์ตรงของผมน่ะครับ ก็เลยเอามาสู่สาธารณะครับ

กลุ่มไทโซ่เป็นกลุ่มที่พึ่งพาป่ามากที่สุด ไม่มีใครที่ไม่ขึ้นป่า แม้ผู้หญิง เด็ก ผู้เฒ่า ป่าคือชีวิตเขาครับ  และเมื่อเขามีประสบการณ์เข้าร่วม พคท.มากกว่า 10 ปี หลักการของ พคท.หลายอย่างยังคงเป็นหลักปฏิบัติของเขาอยู่ครับ  จึงเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษกว่าที่อื่นๆครับ

 

สวัสดีค่ะพี่ชายคนเข็นครกขึ้นภูเขา

  • วันนี้มีหลายคำถามอยากถามพี่บางทรายค่ะ  OJT คืออะไรคะ จากที่อ่านน่าจะเป็นการประเมินคุณสมบัติผู้จะมาทหน้าที่เป็นพัฒนากรใช่ไหมคะ
  • ไทบรู หมายถึง กลุ่มชนที่แต่เดิม เรียกว่า ลาวโซ่ง หรือเปล่าคะ
  • ระลึกถึงพี่ชายด้วยความเป็นห่วงค่ะ

สวัสดีครับน้องสาว P  9. คนไม่มีราก

  • วันนี้มีหลายคำถามอยากถามพี่บางทรายค่ะ  OJT คืออะไรคะ จากที่อ่านน่าจะเป็นการประเมินคุณสมบัติผู้จะมาทหน้าที่เป็นพัฒนากรใช่ไหมคะ

เป็นความบกพร่องของผมเองที่ไม่ได้ใส่ตัวเต็ม ไปใช้ตัวย่อ ความจริงตั้งใจอยู่แต่ลืมครับ OJT คือ On the Job Training ครับ ก็คือการจัดหลักสูตรฝึกอบรมนะหว่างปฏิบัติการให้แก่เจ้าหน้าที่ใหม่ที่จะมาทำงานกับชาวบ้านน่ะครับ  ฝึกหลักการสักสองสามวันแล้วให้ลงไปประจำในหมู่บ้าน ใช้ความรู้ต่างๆลงไปทำหน้าที่ สัก 1 สัปดาห์ แล้วกลับมาสัมมนากัน วิทยากรก็เพิ่มเติมความรู้ หรือให้สาระใหม่ๆไป แล้วเจ้าหน้าที่ใหม่ก็ลงไปประจำในหมู่บ้านอีก ทำงานไป แล้วก็กลับมาสัมมนากันอีก  สนุกมากครับ  เราใช้เวลานานถึงสามเดือนจึงครบกระบวนการนี้ เราเรียกการฝึกอบรมระหว่างปฏิบัติการ หรือฝึกอบรมไป ทำงานจริงๆไปด้วย มีพี่เลี้ยง มีทีมวิทยากรหลักที่เป็นวิชาการ  ลักษณะแบบนร้ กรมการพัฒนาชุมชนก็ใช้ โครงการบัณฑิตอาสาสมัครก็ใช้ โครงการพัฒนาชนบทใหญ่ๆก็ใช้กันครับ ขออภัยที่ไม่ได้ใส่คำเต็มครับ

  • ไทบรู หมายถึง กลุ่มชนที่แต่เดิม เรียกว่า ลาวโซ่ง หรือเปล่าคะ

ไทบรูเป็นชื่อเครือข่ายที่กลุ่มพี่น้องชาวโซ่ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหารตั้งชื่อขึ้นมา เนื่องจากพื้นที่นี้มิใช่มีชาว "โซ่" ล้วนๆ มีชนเผ่า "ผู้ไท" อยู่ด้วย จึงเอาคำ ไท มาจาก "ผู้ไท" ส่วนคำว่า "บรู" นั้นเป็นคำสุภาพของคำว่า "โซ่"

ที่ว่า "บรู" นั้น เป็นคำสุภาพของคำว่า "โซ่" เหมือนเราเรียก "ม้ง"  แทนคำว่า "แม้ว" เรียก "ชาวเวียต" แทนคำว่า "แกว" เพราะสุภาพกว่า อะไรทำนองนั้น

คำว่าบรู เป็นคำรวมกลุ่มเผ่าพันธ์ที่ทางนักมานุษยวิทยาเขาจัดกลุ่มขึ้น และอยู่กลุ่มเดียวกับเขมรครับ เป็นกลุ่มที่มีรากภาษาอันเดียวกัน

ทางราชการจะเรียกเต็มคำว่า "ราษฎรไทยเชื้อสายโซ่" ครับ เหมือนกับเรียกชาวจีนในประเทศไทยว่า "ราษฎรไทยเชื้อสายจีน" ครับ

"ชาวโซ่" กับ "ชาวโซ่ง" ต่างกันครับ ชาวโซ่งหรือลาวโซ่ง เป็นกลุ่มคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่เราไปตีเมืองเวียงจันทร์ และเมืองอื่นๆแล้วกวาดต้อนชนพื้นเมืองมาไว้บ้านเรา ลาวโซ่งจะเป็น "ลาวลุ่ม" หรือชนชาวลาวที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ราบ ส่วนชาวโซ่ หรือบรู ก็อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง หรือจากประเทศลาวสมัยก่อนเช่นกัน  เป็นชนเผ่าที่เรียก "ลาวเทิง" คือกลุ่มชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนภูเขา (มิใช่ยอดเขา หากอาศัยยอดเขาเรียก ลาวสูง ซึ่งมักเป็นกลุ่มชนชาวม้ง) หรือในพื้นที่ที่เป็นภูเขา มิใช่ที่ราบ ในประเทศไทยมีชนชาวโซ่ หรือบรูกลุ่มใหญ่อยู่ที่ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนครครับ ส่วนที่มุกดาหารก็อยู่ที่ อ.ดงหลวง ซึ่งเป็นเขตภูเขา  แต่ปัจจุบันก็ขยายลงมาอยู่พื้นที่ราบมากขึ้นแล้วครับ

 

  • ขอบคุณครับน้องสาว

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

  • ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ
  • OJT ใช้กันมากในโรงเรียนที่พัฒนาการเรียนการสอน น้องคนไม่มีราก เป็นข้าราชการ แต่ไม่เคยได้ผ่านกระบวนการนี้เลยค่ะ ... น่าเสียดาย เพราะกระบวนการ OJT นี้ ผู้เข้ากระบวนการจะได้เกิดความตระหนักรู้ในตัวเองด้วยว่าขาดความรู้อะไร และเราเหมาะกับงานนี้ไหม

สวัสดีครับ P 11. คนไม่มีราก

 

พี่เข้าสู่กระบวนการ OJT ในด้านการพัฒนาชนบทครั้งแรกที่โครงการ NET สุรินทร์ ที่สนับสนุนโดย CUSO (Canadian University Service Overseas)โดยมีท่าน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ดร.มรว.รอ.รศ อคิน. รพีพัฒน์ และทีมงานอาจารย์โครงการบัณฑิตอาสาสมัคร ธรรมศาสตร์เป็นวิทยากรหลัก ทำกันนานถึง 3 เดือนดังกล่าวเมื่อประมาณปี  2523 สนุกมาก ตอนนั้นโครงการ NET มีเจ้าหน้าที่สนามมากถึง 70 คน อยู่ตามหมู่บ้านชายแดนไทยกัมพูชา จ.สุรินทร์

อ.เจิมศักดิ์ ใช้การอบรมสาระหลัก แล้วปล่อยเข้าหมู่บ้าน แล้วพวกเราก็เก็บข้อมูลมาได้ก็มาสรุป บรรยาย และวิเคราะห์ร่วมกัน ทีมวิทยากรก็เพิ่มเติมหลักการทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา เกษตร ฯลฯ แล้วเราก็ออกชุมชนอีก แล้วกลับเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน จนพวกเราชินกับระบบนี้และมีความชำนาญในการเก็บข้อมูลหมู่บ้านและวิเคราะห์ข้อมูล  ตลอดจนการทำแผนงานโดยเน้นการมีส่วนร่วม ...

วงการพัฒนาเอกชนเอาวิธีการนี้ไปใช้มากมายครับจนถึงปัจจุบัน ที่ดัดแปลง ยกระดับ พัฒนาไปมากแล้วทีเดียว เพราะมีประสบการณ์เดิมๆมาช่วยพัฒนากระบวนการ ครับ

ด้วยความยินดีแลกเปลี่ยนครับน้องสาว

  • ขอบคุณมากค่ะ
  • ได้ความรู้เพิ่มทุกครั้งที่เข้าเยี่ยมพี่ชายเลยล่ะค่ะ
  • ปี 2523 พี่บางทรายทำงานแล้วหรือคะ โอย...น้องคนไม่มีรากยังอยู่มัธยมต้นเลยค่ะ
  • นับถือ นับถือค่ะ

น้องสาว P 13. คนไม่มีราก

 

  • อิอิ..ปี 23 นั้นเป็นที่ทำงานแห่งที่สองแล้ว อุอุ..
  • พี่ก็เรียนรู้จากน้องสาว ครับ และจากท่านอื่นๆ ไม่จบสิ้นจริงๆ
  • สิ่งที่สำคัญ นะน้องสาว เราจะสร้างความรู้ใหม่ๆขึ้นมาได้อย่างไรจากการทำงานของเรา 
  • นี่แหละบ้านเมืองของเราจึงจะเจริญก้าวหน้า  ความรู้ใหม่ๆจะได้ยกระดับการทำงานของเราให้ก้าวหน้ามากขึ้น เพื่อสังคม ประเทศชาติของเรา ครับ

สวัสดีค่ะพี่ชายที่เคารพ

  • รู้สึกได้เลยค่ะว่า ต้วเองเล็ก ๆ มาก ๆ และยังตื้นเขิน (ทางปัญญา) ที่คิดว่าตัวเองรู้...บางสิ่งบางอย่างมากแล้วกับการทำงานด้านภูมิปัญญามา 10 ปี จิ๊บ จิ๊บ มากเลยค่ะ...
  • เราจะสร้างความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมาได้อย่างไรจากการทำงานของเรา...
  • น้อมรับคำสั่งสอนของพี่ชายไว้ค่ะ.

สวัสดีครับน้องสาว  คนไม่มีราก

มันเป็นประเด็นที่เราตั้งคำถามด้วยกันเองเสมอ ว่าสิ่งที่ซ้ำซาก ทำกันมาทุกปีทุกปีนี้น่ะ เราจะยกระดับให้ดีขึ้นได้อย่างไร ให้มีประสิทธิภาพ ฯลฯ ได้อย่างไร เอาองค์ความารูทั้งหมดที่เรียนรู้มามาแลกเปลี่ยนและสรุปกันและสร้างสิ่งใหม๋ๆออกมา มีไหม ทำได้ไหม มันดีขึ้นจริงหรือเปล่า อยู่ในเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ฯลฯ

แน่นอนครับมันอาจจะไม่ได้ทุกเรื่อง แต่ก็ขอให้เราได้พยายามทำก่อน  เมื่อพยายามแล้วไม่ได้อะไรขึ้นมาก็ให้รู้ไปว่าไม่ได้

แต่บางเรื่องทำให้เรายกระดับความรู้ ชัดเจนมากขึ้น ลึกซึ้งมากขึ้น และบางเรื่องมันเป็นภาพจำลองสังคมใหญ่ได้ด้วย  เอ...วันหลังต้องเขียนเรื่องนี้บ้างแล้วครับ  ขอบคุณครับน้องสาว

สวัสดีค่ะพี่ชายที่เคารพ

  • จะรออ่านด้วยใจอันจดจ่อค่ะ

น้องสาวครับ P 17. คนไม่มีราก

  • จะรออ่านด้วยใจอันจดจ่อค่ะ

ขอเวลาตั้งตัวก่อนนะครับ เค้าน่ะมีแล้ว แต่การเขียนเพื่อนำเสนอนั้นต้องไล่เรียงในรูปแบบที่เหมาะสมกับ G2K ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท