เข้าฤดูใบไม้ผลิแล้วจริงหรือเนี่ย... บันทึกของครูน้อยในเดือนที่เจ็ด มีนาคม 2551


เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจ สำหรับวิธีการหาหัวข้อทำวิจัยค่ะ

เข้าฤดูใบไม้ผลิแล้วจริงหรือเนี่ย...    บันทึกของครูน้อยในเดือนที่เจ็ด  มีนาคม 2551

 

 

สวัสดีค่ะ ครูใหญ่

 

ขออภัยที่เดือนนี้ส่งงานช้าอีกแล้วค่ะ   รอคุยเรื่องรายละเอียดงานวิจัย (Independent Study) กับท่านอาจารย์ผู้ดูแลอยู่    จะได้มีอะไรมาเขียนสรุปเพิ่มเติมเพื่อจะได้เป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจในเรื่องการหาหัวข้อทำวิจัยค่ะ    คิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าศึกษาวิธีการอยู่เหมือนกันทีเดียว

 

 

ขออนุญาตเริ่มกันเลยนะคะ

 

 

วิธีการหาหัวข้อทำวิจัย Independent Study

 

ü                  เท้าความกันก่อนนิดหนึ่งนะคะ    อย่างที่เคยเรียนให้ครูใหญ่ทราบไปครั้งหนึ่ง   ว่าทาง Professor Calantone ที่เป็นผู้สอนวิชา Marketing Strategy ในเทอมที่แล้ว  ได้ตอบรับเป็นผู้ดูแลโครงงานวิจัยในวิชา Independent Study ให้ครูน้อย    โดยที่ครูน้อยจะกลับไปทำ Field Study ที่เมืองไทยในช่วงปิดภาคฤดูร้อน     

 

ü                  ดังนั้น  สิ่งที่ต้องทำในเทอมนี้  ก็คือการนำเสนอหัวข้อและรายละเอียดโครงงานวิจัย   จากนั้นอาจารย์จะแนะนำรายชื่อหนังสือหรือบทความที่จะต้องไปอ่านเพิ่มเติม  และเริ่มเขียนบทความในลักษณะเพื่อส่งตีพิมพ์ (อีกแล้ว) ให้เสร็จในส่วนทฤษฎี   และออกแบบเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยให้เสร็จ   ก่อนกลับไปเก็บข้อมูลวิจัยในช่วงปิดภาคฤดูร้อนค่ะ   หลังจากนั้น  เมื่อเก็บข้อมูลวิจัยได้แล้ว  ก็จะเข้าสู่การประมวลผลและเขียนสรุป  ซึ่งสามารถนำกลับมาทำต่อในเทอมถัดไปได้ 

 

ü                  ในขั้นตอนแรกนี้   ครูน้อยก็ได้นัดหมายเข้าพูดคุยกับอาจารย์ค่ะ   และในการพูดคุยครั้งแรกนั้น   ก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ค่ะ

 

·              เริ่มแรกอาจารย์อธิบายให้ครูน้อยฟังก่อนว่า  การหาหัวข้อวิจัยทำได้หลายวิธี   ครูน้อยจะเสนอมาก็ได้   หรืออาจารย์จะเสนอให้ฟังก็ได้    แต่จริงๆ แล้ว   เพื่อจะให้ได้หัวข้อที่สามารถทำได้แบบสนุก  น่าสนใจ  และมีความสุขที่ได้ทำงานนี้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย   เราควรจะคุยปรึกษากันให้ดีๆ ก่อนเพื่อหาหัวข้อที่ถูกใจร่วมกัน   ซึ่งครูน้อยยอมรับว่า   อาจารย์ใช้คำพูดได้ดีมากค่ะ   และใช้เวลาอธิบายช่วงนี้นานมาก

·              จากนั้น   อาจารย์ก็เล่าให้ฟังถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ท่านเคยทำ  เป็นเรื่องของการทำ  Global Branding/Global Marketing Strategy  และท่านได้เปิดวารสารฉบับหนึ่งที่เพิ่งจะตีพิมพ์งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง  ซึ่งเขียนโดยเพื่อนของท่านเองในหัวข้อเรื่องเดียวกัน    แต่ใช้ทฤษฎีทางด้านเศรษฐศาสตร์เข้าวิเคราะห์   แทนที่จะเป็นทางด้านการตลาดหรือกลยุทธ์

·              ตัวอย่างที่ท่านยกมานี้   โดยการเขียนขึ้นกระดานอธิบายให้ครูน้อยเห็นถึง parameters ที่เป็นตัวแปรที่แตกต่างกันของสองทฤษฎี   แต่สามารถอธิบายในเรื่องเดียวกันได้   จากนั้น  ท่านก็ยกตัวอย่างงานวิจัยอีกสองชิ้น  ที่มีลักษณะเดียวกัน   คือที่มาจากสองทาง  แต่อธิบายหัวข้อเรื่องทำนองเดียวกันได้   

·              และสุดท้าย  ท่านก็สรุปให้ฟังว่า  ที่ยกมานี้ก็เพื่อต้องการให้ครูน้อยเห็นว่า   ในการทำวิจัยเรื่องหนึ่งๆ  เราอาจจะเลือกได้จากหลากหลายมุมมอง   อย่างเช่น ครูน้อยเรียนด้านกลยุทธ์  ก็อาจจะใช้ทฤษฎีด้านกลยุทธ์ในการทำวิจัยหัวข้อด้านการตลาด   หรือในทางกลับกัน  อาจจะใช้ความรู้ด้านการตลาดทำวิจัยห้วข้อด้านกลยุทธ์   หรือจะใช้ให้ตรงสาขาก็ได้อีกเช่นกัน   ทั้งหมดนี้  เป็นสิ่งที่น่าสนใจในการทำวิจัย  ซึ่งท่านอยากให้ครูน้อยทราบก่อนที่จะตัดสินในเรื่องหัวข้อและเนื้องานที่จะทำ

·              จากนั้น  ท่านก็เปลี่ยนหัวข้อสนทนาค่ะ    ท่านถามว่า  ครูน้อยคิดว่ารถยี่ห้อ Mercedez Benz เป็นอย่างไร  คิดว่าเป็นคนประเภทไหนจะขับรถยี่ห้อนี้   ซึ่งครูน้อยขอไม่เขียนลงในนี้นะคะ  เพราะเป็นความเห็นส่วนตัว   แต่บอกได้ว่าความเห็นของครูน้อยทำให้อาจารย์หัวเราะก๊ากเลยค่ะ    จากนั้น  อาจารย์ก็ถามไล่ไปเรื่อยๆ  ตั้งแต่ Toyota, Landrover, Ferrari, Chevrolet, และอื่นๆ   และก็พูดคุยเรื่อง brand perception ของคนที่ต่อรถยี่ห้อต่างๆ  ในอเมริกา  ยุโรป  และเอเชีย

·              จากนั้น  ท่านก็สรุปให้ฟังว่า   จากการตอบคำถามของครูน้อย   ที่มีต่อคำถามข้างต้น   การแสดงความคิดเห็นที่เร็วมาก  (คือถามปุ๊บ ตอบปั๊บ  ไม่ต้องหยุดคิด  และอธิบายได้ทันทีว่าเป็นเพราะเหตุผลใดจึงคิดเช่นนั้น  มีข้อมูลประกอบแน่นหนา)    ทำให้ท่านทราบว่า  ครูน้อยเป็นคนที่มี strong opinion ในเรื่องต่างๆ ค่อนข้างมาก  ซึ่งจะแตกต่างกับเด็กที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ   เพราะในบรรดานักศึกษาปริญญาเอกปีหนึ่ง   จะแบ่งเป็นสองกลุ่มค่อนข้างชัดเจน  คือผู้ที่เรียนจบตรีและเข้าเรียนเอกเลย  และผู้ที่ทำงานมาได้ระยะหนึ่ง  ซึ่งบางคนก็ยาวนานเป็นสิบกว่ายี่สิบปีกันเลยทีเดียว

·              ดังนั้น   ท่านจะคิดว่า  โครงงานวิจัยที่เหมาะกับครูน้อย  น่าจะเป็นด้านที่ค่อนข้างมีความเป็น qualitative มากกว่า quantitative     แต่ทั้งนี้  ท่านไม่ได้ปิดกั้นหากครูน้อยจะเลือกทำทางด้าน quantitative ล้วนๆ  โดยท่านได้ยกตัวอย่างงานวิจัยที่เป็น  quantitative เช่น  การหาปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดผลกระทบกับราคาหุ้นจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท   หรือจากการเปลี่ยนตัว CEO  หรือเปลี่ยนกลยุทธ์ด้าน Innovation   ซึ่งจะเป็นการวิเคราะห์จาก database ของตลาดหลักทรัพย์เป็นส่วนใหญ่   

·              ลักษณะการทำงานวิจัยแบบที่ต้องอยู่กับตัวเลขและหาความสัมพันธ์แบบนี้  ครูน้อยเคยผ่านตา  และเคยพูดคุยกับคนทำและเคยฟังจากงานวิจัยของเหล่า candidates ที่มาสมัครเป็นอาจารย์ที่นี่อยู่บ้างค่ะ   แต่ก็ไม่ใช่ลักษณะงานวิจัยที่ตนเองชอบเท่าไหร่นัก   เพราะรู้สึกว่มันดูห่างไกลจากข้อเท็จจริง   เหมือนเป็นการเล่นกับตัวเลขและสถิติมากกว่า  อะไรที่อธิบายไม่ได้  ก็ใส่เป็น Control Variable เข้าไว้   ทำให้คิดว่าการวิจัยที่เป็นลักษณะนี้  คงไม่เหมาะกับเราในเวลานี้เช่นกัน   ครูน้อยจึงได้ตอบอาจารย์ไปว่าเห็นด้วยกับท่านค่ะ

·              จากนั้น  อาจารย์จึงเริ่มถามครูน้อยว่า   สนใจอยากทำหัวข้อด้านใดเป็นพิเศษหรือไม่    โดยอาจารย์ให้เลือกมาสามหัวข้อค่ะ  

·              ครูน้อยจึงได้เสนอเรื่องเกี่ยวกับ  Knowledge Transfer ภายในองค์กร   ข้ามองค์กร (แบบใน Network  เช่นระหว่างบริษัทและบริษัทคู่ค้า)  และข้ามประเทศ  (หรือข้ามกลุ่มวัฒนธรรม  ในแง่ Cultural Dimensions)  ซึ่งอาจารย์ก็คิดว่าในหัวข้อเรื่องสุดท้าย    น่าจะมีความเป็นไปได้  ทั้งในแง่การได้ตีพิมพ์และการนำเสนอทฤษฎีใหม่ๆ ที่น่าสนใจด้วย

·              จากนั้น  ท่านได้ยกตัวอย่างถึงการเก็บข้อมูลจากบริษัท   ครูน้อยจึงได้ยกตัวอย่างงานของบริษัทที่ได้เคยทำงานมา  ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในไทย  และมีสำนักงานสาขาในต่างประเทศ   ซึ่งท่านก็เห็นว่าน่าจะใช้ในการเก็บข้อมูลวิจัยได้ค่ะ   เรื่องนี้ ครูน้อยคงต้องไปขอความกรุณาจากเจ้านายเก่าผู้มีพระคุณอีกแล้ว   ซึ่งจริงๆ ท่านก็ได้เคยเกริ่นๆ ไว้บ้างเหมือนกัน  ว่ายินดีให้มาเก็บข้อมูลได้   ตอนที่ครูน้อยไปเยี่ยมสวัสดีปีใหม่เมื่อตอนช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา

·              อย่างไรก็ดี   อาจารย์ต้องการให้ครูน้อยเก็บข้อมูลจากบริษัทที่ไม่ได้เป็น multinational ด้วยอีกสักสองสามบริษัทในไทย   แต่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน  คือธุรกิจบริการสื่อสารโทรคมนาคม    ซึ่งตรงจุดนี้  ครูน้อยก็มีคิดๆ ไว้บ้างแล้วค่ะ เพราะเคยอยู่ในแวดวง   แต่หากครูใหญ่มีความคิดเห็นหรือข้อแนะนำใดๆ ครูน้อยก็ต้องขอความกรุณาด้วยนะคะ

·              ช่วงสุดท้าย  ท่านก็มีให้งานอ่านมาเพิ่มเติมและให้ครูน้อยเลือกหาบทความวิจัยมาเสนอด้วย    โดยให้ครูน้อยส่งรายชื่อของบทความให้ด้วยก่อนการพูดคุยครั้งถัดไป   เพื่อที่ท่านจะได้ช่วยอ่านก่อนที่จะพูดคุยและมาปรึกษากันได้อย่างต่อเนื่อง   อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความประทับใจเหมือนกันค่ะ 

 

 

ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงใกล้สรุปหัวข้อแล้วค่ะ  คิดว่าสิ้นเดือนหน้า  คงมาพูดคุยเรื่องหัวข้อให้ฟังได้เลย   จากนั้น  ก็จะปิดเทอมฤดูร้อนแล้ว  ครูน้อยก็จะได้กลับบ้านเราอีกครั้งหนึ่ง  จริงๆ ก็อยากจะเล่าเพิ่มเติมเรื่องการทำรายงานในวิชา Seminar in Organizational Behavior   และเทคนิคการเรียนการสอนของวิชานี้   ซึ่งมีเพิ่มเติมจากที่เล่าไปคราวที่แล้วอีก   ก็ขอเก็บไว้เล่าตอนปิดเทอมบ้างละกันนะคะ

 

 

จบแล้วค่ะบันทึกในเดือนมีนาคม   ฤดูใบไม้ผลิมาเยือนแล้วค่ะที่เมืองนี้  แต่ยังหนาวมากอยู่เลย   เมืองไทยตอนนี้คงร้อนจนแทบทนไม่ได้เลยใช่ไหมคะ   แต่ถึงจะร้อนอย่างไร  ครูน้อยก็ยังอยากกลับบ้านเราที่สุดเลยค่ะ       

 

 

แล้วเจอกันเดือนหน้านะคะ   สวัสดีค่ะ.....

หมายเลขบันทึก: 175642เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2008 07:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครูน้อยมีความหลักแหลมในการพูดคุยและเปิดโอกาสรับฟังจากผู้ทรงคุณวุฒิ เติ้ลได้เรียนรู้เยอะเลยค่ะวันนี้เรื่องการ "หาหัวข้อทำวิจัย" ซึงตรงกับช่วงเวลานี้กำลังต้องการความรู้ด้านนี้พอดิบพอดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท