นายมานัส กิริยาภรณ์ ,นายวัฒนา สุภาวดี, น.ส.รตีย์ เมืองใจคำ, น.ส.พวงทอง ขันทะยศ , สิบตำรวจโทหญิงเต็มศิริ ยาสมุทร ,นายจักรภพ เลาหรอดพันธ์
นายมานัส กิริยาภรณ์ ,นายวัฒนา สุภาวดี, น.ส.รตีย์ เมืองใจคำ, น.ส.พวงทอง ขันทะยศ , สิบตำรวจโทหญิงเต็มศิริ ยาสมุทร ,นายจักรภพ เลาหรอดพันธ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท รัฐศาสตร์การปกครอง

"นโยบายต่างประเทศไทยในศตวรรษที่ 21"


"นโยบายต่างประเทศไทยในศตวรรษที่ 21"

สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ

 

                ในอนาคต สภาวะแวดล้อมทางด้านความมั่นคงจะเป็นอย่างไร ผมมองว่า ในขณะนี้ ระบบความมั่นคงระหว่างประเทศมีลักษณะของความเป็นหนึ่งขั้วอำนาจ ได้แก่การที่สหรัฐอเมริกาครองความเป็นเจ้าในโลกนี้ เขตที่อเมริกามีอิทธิพลอย่างมาก เช่น ยุโรปตะวันตก ออสเตรเลีย และเขตที่อเมริกามีอิทธิพลไม่น้อยเหมือนกันได้แก่ ละตินอเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งนี้เป็นระบบโลกที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อเมริกากลายเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก ระเบียบโลกในปัจจุบัน มีอเมริกาเป็น "Dominant Nation" และอเมริกาพยายามจะรักษาระบบโลกนี้โดยดึงมหาอำนาจระดับรองลงมา ได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น ให้มาสนับสนุนอเมริกา และมีประเทศระดับกลางและระดับเล็กก็พอใจและสนับสนุนระเบียบโลกที่อเมริกาสร้างขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกประเทศในโลกนี้จะเห็นด้วยและสนับสนุนระบบโลกของอเมริกา ซึ่งถ้าประเทศที่ต่อต้านอเมริกามีมากขึ้นเรื่อยๆ ระเบียบโลกของอเมริกาก็จะอยู่ไม่ได้ จะสั่นคลอน ซึ่งขณะนี้มีหลายๆประเทศที่ไม่ชอบอเมริกา อเมริกายอมให้เกิดสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ คือมีประเทศที่ต่อต้านอเมริกามากกว่าประเทศที่สนับสนุนอเมริกา เพราะฉะนั้น อเมริกาต้องทำให้ภาพนี้เปลี่ยนไป คืออเมริกามีฐานอำนาจอยู่ข้างบน และประเทศที่สนับสนุนอเมริกามีมาก ถึงแม้จะมีประเทศที่ต่อต้านอเมริกาแต่ก็มีน้อย ถ้าเป็นอย่างนี้ ระบบโลกของอเมริกาจะยังอยู่ต่อไปได้ ประเด็นที่สำคัญคือว่า ระเบียบโลกนี้จะเป็นภัยหรือเป็นโอกาสต่อไทยอย่างไร

ในระเบียบโลกที่อเมริกาเป็นเจ้าอยู่ในขณะนี้ ผมมองว่า ผลประโยชน์ที่เราจะได้จากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอเมริกานั้นมีอยู่อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง ด้านการทหาร ด้านเศรษฐกิจ ด้านเทคโนโลยี ด้านองค์แห่งความรู้ ซึ่งเราต้องพึ่งพาอเมริกาอยู่ นั่นเป็นโอกาส แต่ภัยก็มี ถ้าเราใกล้ชิดกับอเมริกามากเกินไป ศัตรูของอเมริกาก็มีอยู่ ก็จะกลายเป็นว่าเรากลายเป็น "ลูกไล่" "หางเครื่อง" หรือ "ตามก้น" อเมริกา ซึ่งรัฐบาลบางสมัยก็โดนต่อว่ามาแล้ว เพราะฉะนั้นจุดสมดุลอยู่ตรงไหน เราจะวางตัวอย่างไร มีความใกล้ชิด มีนโยบายต่ออเมริกาอย่างไรเพื่อที่จะก่อให้เกิดความสมดุล เราจะได้โอกาสและป้องกันไม่ให้เกิดภัยที่จะเข้ามาใกล้เรา

สำหรับประเทศจะขึ้นมาท้าทายระเบียบโลกของอเมริกานั้น ขณะนี้ก็มีกลุ่มประเทศอิสลามกับจีนเป็นตัวแสดงที่สำคัญ

ดูที่จีนก่อน ปัจจัยสำคัญที่จะสร้างอำนาจให้กับชาติคือ ฐานประชากร ในปี 2025 ประชากรของจีนจะใหญ่มาก อินเดียจะมาก อเมริกาจะเล็กลง ยุโรปจะเล็กลง เพราะฉะนั้น ถ้าดูจากฐานประชากรเราจะตอบได้ง่ายๆเลยว่า ในอนาคตนั้นใครจะใหญ่ในโลกนี้ ใครจะขึ้นมาท้าทายระเบียบโลกของอเมริกา ซึ่งก็คือ จีนกับอินเดีย ที่ชัดเจนไปกว่านั้นคือเรื่องของขนาดเศรษฐกิจ ในปี 1950 ขนาดเศรษฐกิจของอเมริกาใหญ่ 50 % ของเศรษฐกิจโลก แต่ในปี 2025 หากเศรษฐกิจของจีนยังเจริญเติบโต 8% ไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจของจีนจะใหญ่เท่ากับของอเมริกา และในปี 2050 เศรษฐกิจของจีนจะใหญ่เท่ากับของอเมริกาและยุโรปรวมกัน เพราะฉะนั้น จะเป็นแนวโน้มที่สำคัญอย่างยิ่ง ในแง่ของผลที่จะมากระทบต่อนโยบายของไทยในระยะยาว คือการผงาดขึ้นมาของจีน และในระยะยาวก็จะมีอินเดียด้วย

แต่ว่าสิ่งที่สำคัญ ที่จะมีผลกระทบต่อเรามาก ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ในอนาคต จีนจะขยายอิทธิพลครอบงำภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม อเมริกาคงไม่ยอมให้จีนมีบทบาทมากขึ้น นโยบายปิดล้อมจีนซึ่งสหรัฐฯดำเนินการมาตลอดก็จะนำมาใช้ต่อไป ขณะนี้จีนกำลังถูกปิดล้อม ทางด้านตะวันออกคือ ญี่ปุ่นและประเทศอาเซียนบางประเทศ ทางใต้คืออินเดีย ทางตะวันตก หลังจากที่อเมริการบชนะและกำลังจะโจมตีอิรัก ทำให้อเมริกาเพิ่มบทบาทมากขึ้นในเอเชียตะวันตก และรัสเซียกำลังใกล้ชิดกับตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นวิวัฒนาการในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น

สิ่งที่ผมอยากจะเน้นก็คือ การที่จีนใหญ่ขึ้นมา ไทยเราได้อะไร ผมว่าขณะนี้เราก็รู้ว่า จีนกำลังใหญ่ขึ้นมา เราพยายามใกล้ชิดกับจีน พยายามทำเขตการค้าเสรีกับจีน อย่างไรก็ตาม นั้นคือโอกาสของไทยสำหรับการที่จะใกล้ชิดจีนในอนาคต เมื่อมีโอกาส ก็มีภัย สำหรับ "ภัย" ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่ได้ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ คือการที่เราจะถูกจีนครอบงำ การเป็น "ลูกไล่" จีน ซึ่งคงจะไม่เป็นประโยชน์ต่อไทยในระยะยาว จุดสมดุลจะอยู่ตรงไหน การที่จะถ่วงดุลอำนาจระหว่างสหรัฐฯกับจีนน่าจะเป็นนโยบายของเรา คือ การสร้างดุลอำนาจให้เกิดขึ้น ไม่ให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งมีมากจนครอบงำภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์11 กันยา ก็เกิดภาพขึ้นมาอีกภาพหนึ่ง คือภาพแห่งการปะทะกันระหว่างอารยธรรม โลกกำลังแบ่งเป็นอารยธรรมต่างๆ อารยธรรมตะวันตก อารยธรรมอิสลาม และความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมกำลังจะเป็นภูมิรัฐศาสตร์ในแง่ใหม่ ในอนาคตกำลังจะเกิดความขัดแย้งระหว่าง อารยธรรมตะวันตกและอารยธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตก ซึ่งอารยธรรมที่จะขัดแย้งอย่างรุนแรงกับอารยธรรมตะวันตก คือ อิสลาม และรองลงมาอาจเป็นจีน ขณะที่อินเดียกับรัสเซียจะอยู่ตรงกลาง และญี่ปุ่น แอฟริกา ละตินอเมริกา ค่อนข้างจะใกล้ชิดกับตะวันตก และตะวันตกเองก็พยายามที่จะดึงประเทศเหล่านี้ให้มาเป็นพวก มาเป็นแนวร่วม ในการที่จะต่อต้านอารยธรรมที่จะขัดแย้งกับตน

หากเกิดความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมขึ้นในอนาคต ประเทศไทยจะทำอย่างไร ผมคิดว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือ เราควรจะเป็นกลาง แต่เราจะเป็นกลางได้หรือไม่ อย่างที่ประธานาธิบดีบุชบอกว่า "You're with us or you're against us." เมื่อเราเป็นกลางไม่ได้ เราก็ต้องพยายามปรับนโยบายให้มีความสมดุล ทำอย่างไรให้ตะวันตกรู้สึกว่า เราไม่ใช่ศัตรู เราเป็นพันธมิตร แต่ในขณะเดียวกัน โลกมุสลิมก็ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อเรา

หมายเลขบันทึก: 176040เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2008 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขณะนี้เนื้อหากำลังอยู่ในช่วงเพิ่มเติมและปรับปรุง คณะผู้ทำงานยังขาดรูปและสีสันอีกมาก หากท่านผู้ชมท่านไดมีข้อเสนอแนะ หรือแนะนำก็ขอช่วยอนุเคราะห์ให้คำแนะนำด้วยนะครับ จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

วัฒนา สุภาวดี

----เนื้อหาส่วนใหญ่ เรียบเรียงมาจาก การค้นคว้าของกลุ่มนะครับ

อาจมีบางส่วนที่ยังคงต้องเพิ่มเติม ยังไงก็ช่วยคอมเม้นท์ให้ด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท