นายมานัส กิริยาภรณ์ ,นายวัฒนา สุภาวดี, น.ส.รตีย์ เมืองใจคำ, น.ส.พวงทอง ขันทะยศ , สิบตำรวจโทหญิงเต็มศิริ ยาสมุทร ,นายจักรภพ เลาหรอดพันธ์
นายมานัส กิริยาภรณ์ ,นายวัฒนา สุภาวดี, น.ส.รตีย์ เมืองใจคำ, น.ส.พวงทอง ขันทะยศ , สิบตำรวจโทหญิงเต็มศิริ ยาสมุทร ,นายจักรภพ เลาหรอดพันธ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท รัฐศาสตร์การปกครอง

อนาคตนโยบายต่างประเทศของไทย


อนาคตนโยบายต่างประเทศของไทย

ตอนนี้เราก็มีรัฐบาลใหม่แล้ว ผมจึงคิดว่าน่าจะเป็นจังหวะเหมาะที่จะมาวิเคราะห์ถึงอนาคตนโยบายต่างประเทศของไทยในยุครัฐบาลทักษิณ แต่ก่อนอื่นขอทบทวนความหลัง

 

1. นโยบายต่างประเทศของไทยในยุครัฐบาลชวน

 

รัฐบาลชวนเข้ามาในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจพอดี จึงไม่มีทางเลือก ที่จะต้องดำเนินทุกวิถีทางที่จะกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจในตอนนั้น นั่นก็คือ ต้องปรับความสัมพันธ์กับตะวันตก โดยเฉพาะกับสหรัฐฯใหม่ ช่วงนั้นการทูตเราหยุดหมด ยกเว้นการเข้าหาตะวันตกเพื่อให้มาช่วยกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ เรื่องอื่นเป็นเรื่องปลีกย่อยหมด

หลังจากนั้น เมื่อไทยเข้าสู่ยุคฟื้นฟูเศรษฐกิจ (ช่วงประมาณปลายปี 2542 เป็นต้นมา) ยุคนี้เป็นยุคสรุปบทเรียน ในแง่ที่ว่า ในยุควิกฤตเศรษฐกิจ เรากลับไปพึ่งพามหาอำนาจอย่างมาก โดยเฉพาะสหรัฐฯ การไปขอความช่วยเหลือ หรือการไปพึ่งพาอเมริกามาก ทำให้เราสูญเสียอำนาจการต่อรอง สูญเสียศักดิ์ศรีของประเทศ และภาพลักษณ์ก็เสียไปอย่างมาก นี่คือบทเรียนราคาแพง ทำให้เมื่อเราฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เราจึงต้องการหนีจากสภาวะที่พึ่งอเมริกาอย่างมาก การกลับไปง้อเมริกาอย่างมาก แต่ผลที่ออกมากลับไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ อเมริกาไม่ค่อยจะยินดียินร้ายกับเราเท่าไหร่ แม้เราจะกลับไปคืนดีด้วย เรามีความรู้สึกลึกๆว่า อเมริกาไม่จริงใจต่อเรา มีคนคิดไปไกลถึงขนาดว่าอเมริกาคือต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจไทย เพราะอเมริกากลัวว่าเอเชียจะกลายมาเป็น number one ศตวรรษที่ 21 จะกลายเป็นศตวรรษแห่งเอเชีย เพราะฉะนั้นต้องหาวิธีทำลายเอเชีย พอดีก็มาเจอจังหวะเหมาะโดยการใช้จอร์จ โซรอส ในช่วงที่ผ่านมา อเมริกาดูเหมือนกับจะเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ในภูมิภาคมากเกินไป วิกฤตเศรษฐกิจอเมริกาก็ไม่ช่วย พอ WTO อเมริกาก็ไม่สนับสนุน ดร. ศุภชัย และช่วงวิกฤตเศรษฐกิจอเมริกาก็เข้ามาเจ้ากี้เจ้าการสั่งโน่นสั่งนี่ วุ่นไปหมด ทำให้มีความรู้สึก ว่าเราต้องถอยห่างจากอเมริกา

บทเรียนอีกอันคือ การขาดกลไกความร่วมมือในภูมิภาค ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ อาเซียนไม่สามารถช่วยอะไรเราได้ กลไกในภูมิภาคไม่สามารถมาช่วยเราได้ เราไม่มีกองทุนแห่งเอเชีย ไม่มีกองทุนอาเซียน มีแต่ IMF เพราะฉะนั้นเราจึงต้องไปหา IMF เพราะฉะนั้น หลังวิกฤตเศรษฐกิจนโยบายของไทยและประเทศต่างๆในเอเชียคือ ความพยายามสร้างความร่วมมือในภูมิภาคขึ้นมาใหม่ ที่เป็นเอเชียเพื่อเอเชีย แนวโน้มนี้ ทำให้เกิดกระแสที่จะทำให้อาเซียนขึ้นมาแข็งแกร่งอีกครั้ง และยังพยายามขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วย นั่นคือเรารู้ว่าเอเชียจะทำอะไรไม่ได้ผลถ้าไม่มีญี่ปุ่นเข้ามาร่วม ไม่มีจีนและเกาหลีเข้ามาร่วม เพราะฉะนั้นกรอบความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจที่ไทยสนับสนุน คือการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก ที่เรียกว่า ASEAN+3 วิกฤตเศรษฐกิจทำให้ประเทศในเอเชียเห็นชัดเจนว่า เราอยู่ในเรือลำเดียวกัน

นโยบายต่างประเทศไทยในยุคฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นยุคที่เราต้องการหนีจากสถานะของเราที่เกิดขึ้นในยุควิกฤตเศรษฐกิจ เราต้องการกลับไปสู่ยุคทองของไทยคือยุคอนุภูมิภาคนิยม ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เราล้มลุกคลุกคลาน เมื่อเราฟื้นขึ้นมาได้เราก็อยากกลับไปวิ่งใหม่เหมือนสมัยยุคก่อนเกิดวิฤตเศรษฐกิจ แต่เราก็ได้แค่เดินและกำลังเดินไปอย่างช้าๆ ยังเดินโซเซอยู่ เพราะฉะนั้น เราก็อยากรื้อฟื้นวัตถุประสงค์ของไทยในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

กล่าวโดยสรุปยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ในยุคฟื้นฟูเศรษฐกิจ เราได้บทเรียนสำคัญจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญของรัฐบาลประชาธิปัตย์ และกลายเป็นสิ่งที่จะตามมาหลอกหลอนพรรคประชาธิปัตย์ และในช่วงระยะเวลาต่อมาก็แก้ตัวไม่ขึ้น ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกโจมตีอย่างหนักในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา กลายเป็นภาพที่รัฐบาลชวนยอมสหรัฐฯมากเกินไป แต่ผมอยากจะมองว่า รัฐบาลชวนเองก็คงจะตระหนักถึงบทเรียนเหล่านี้ คือ การที่เราพึ่งและยอมตะวันตกมากเกินไป ฉะนั้น นโยบายต่างประเทศของไทยในช่วงรัฐบาลชวน 1-2 ปีหลังนี้ ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นการลดการยอมสหรัฐฯลงไป เริ่มที่จะสร้างภาพพจน์ใหม่ เป็นภาพที่ไม่ใช่ ลูกไล่สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินนโยบายในช่วงที่ผ่านมา ผลที่ได้ก็คือ ไทยในสายตาตะวันตกหรือในประชาคมโลกก็ดูดีขึ้น ในแง่ที่เราชูธงประชาธิปไตย แต่ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นเลวลง เพราะการที่เราเน้นในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จึงทำให้ไทยกระทบกระทั่งกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่ากับลาวหรือพม่า

 

2. นโยบายต่างประเทศไทยในยุครัฐบาลทักษิณ

 

1.       ในการแถลงข่าวของ ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ก็ได้เน้น

ว่า นโยบายต่างประเทศจะต้องสะท้อนผลประโยชน์ของประเทศไทย มิใช่นโยบายต่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น โดยต้องครอบคลุมมิติต่างๆให้มากที่สุด หลายเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศต้องกระทำ ทั้งที่มิได้กำหนดอยู่ในนโยบายต่างประเทศแต่อาจอยู่ในนโยบายด้านอื่นๆ แทน อาทิ เศรษฐกิจระหว่างประเทศ การสร้างโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน การท่องเที่ยว การดำเนินนโยบายต่างประเทศจะเน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ (economic diplomacy) เพื่อให้การทูตมีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ผมมีความเห็นว่า กระทรวงการต่างประเทศกำลังจะเพิ่มบทบาททางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็น่าเป็นห่วงเพราะตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา มีหลายครั้งหลายครา ที่กระทรวงต่างประเทศจะชู สโลแกนเรื่องบทบาททางด้านเศรษฐกิจ แต่ก็มักจะประสบปัญหาว่า บทบาทด้านเศรษฐกิจของกระทรวงต่างประเทศอยู่ตรงไหน ในที่สุดก็มักจะกลายเป็นว่า กระทรวงต่างประเทศก็ไปแย่งงานกระทรวงพาณิชย์ BOI แย่งงานกระทรวงการคลัง ดังนั้นจึงเป็นการพูดง่ายว่า กระทรวงจะเพิ่มบทบาททางด้านเศรษฐกิจ แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ยากมาก

2.2 ประเด็นต่อมาคือ นโยบาย “forward engagement คือ นโยบายปฏิสัมพันธ์ในเชิงรุกในแบบก้าวไปข้างหน้า โดยเน้นเชื่อมความสัมพันธ์กับอาเซียน เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเราจะเห็นได้ว่า นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ไม่แตกต่างกับนโยบายของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในช่วงหลังๆ คือ พยายามกลับมาให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน และเน้นเรื่องการสร้างกลุ่มประเทศ G ใหม่ขึ้นมา เพื่อที่จะมาเพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับไทยในเวทีเศรษฐกิจโลก ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่าจะทำได้หรือไม่

2.3 อีกประเด็นหนึ่ง คือ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน พรรคไทยรักไทยเน้นว่า นโยบายต่างประเทศไทยในยุครัฐบาลชวนเป็นการดำเนินนโยบายตามแบบตะวันตกมากเกินไป คือ การที่จะเน้นเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กับประเทศเพื่อนบ้านควรจะเป็นการแก้ปัญหาแบบเอเชีย คือ การจับเข่าคุยกัน จะปรับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านให้ดี

2.4 ประเด็นสุดท้าย คือ ประเด็นที่รัฐบาลไม่ได้ประกาศ แต่ก็แฝงอยู่ คือ นโยบายที่ตามกระแสชาตินิยมที่กำลังมาแรงมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งเราต้องมาวิเคราะห์ว่าดีหรือไม่ดี ถ้ามากเกินไปอาจส่งผลกระทบในทางลบได้ แต่ถ้าน้อยเกินไปเราก็อาจเสียเปรียบต่างชาติได้

 

3. ข้อเสนอยุทธศาสตร์ชาติด้านการต่างประเทศ

 

ผมอยากจะขอเสนอแนวคิดของผมเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของไทยว่าควรจะเป็นอย่างไรต่อไป ดังนี้ :

3.1 ยุทธศาสตร์ชาติ : สิ่งสำคัญประการแรก คือ นโยบายต่างประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีหลังมานี้ รัฐบาลขาดทิศทาง ขาดยุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจน เพราะเราตกอยู่ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้เราขาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ก่อนยุควิกฤตเศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศไทยได้มุ่งเน้นว่า จะทำอย่างไรให้ไทยเป็นศูนย์กลางในอนุภูมิภาค ดังนั้น ในอนาคต เราต้องพยายามที่จะกลับมามียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนอีกครั้ง ไม่เช่นนั้น เราจะเดินอย่างเปะปะ และผมเชื่อว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลชุดใหม่นี้ก็ยังจะเดินเปะปะอยู่

3.2 วาระแห่งชาติ : เราจะเห็นได้ว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญต่อคำมั่นสัญญาต่างๆที่ให้ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องปัญหาหนี้เสีย การแก้ไขปัญหาของชาวชนบทและเกษตรกรเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องเศรษฐกิจภายใน รัฐบาลชุดนี้จึงอาจจะไม่ให้ความสำคัญต่อนโยบายต่างประเทศ มิติความสัมพันธ์ไทยกับต่างประเทศจะถูกลดความสำคัญลงไป ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรื้อฟื้น วาระแห่งชาติด้านการต่างประเทศขึ้นมา

3.       นโยบายทางสายกลาง : ผมคิดว่า เป้าหมายที่สำคัญ คือ ในแต่ละยุคสมัย นโยบาย

ต่างประเทศมักจะไปในทางใดทางหนึ่งมากเกินไป มักจะมีการทำอะไรที่สุดขั้วมากเกินไป สิ่งที่สำคัญ คือ นโยบายต่างประเทศจะต้องเป็นนโยบายสายกลาง ที่ไม่มีความเป็นเสรีนิยม ประนีประนอมมากเกินไป (อย่างนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์) และจะต้องไม่เป็นนโยบายที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากเกินไป (อย่างที่รัฐบาลชุดใหม่กำลังจะทำ)

4.       ชาตินิยมแต่พอควร : นโยบายสายกลางนั้น หมายความว่า เราจะต้องมีความเป็น

ชาตินิยมขึ้นมาบ้าง อย่างน้อยต้องมากกว่าในสมัยรัฐบาลชวน แต่ความเป็นชาตินิยมนั้นต้องมีแต่พอควร ไม่ใช่ชาตินิยมจัด คลั่งชาติ ต่อต้านตะวันตกจนเกินเหตุ ขณะนี้กำลังมีกระแสการปลุกระดม (เหมือนการปลุกระดมให้เกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ในสมัยหนึ่ง) มีการปลุกกระแสชาตินิยมจนเกินเหตุ ดังนั้นเราจึงจะต้องพยายามป้องปรามไม่ให้กระแสชาตินิยมลุกลามมากเกินไป

3.5 นโยบาย สนต้องลม : ในอดีต เราเคยเปรียบนโยบายต่างประเทศไทยว่า เป็นนโยบาย สนลู่ลมเช่นในสมัยที่อังกฤษ ฝรั่งเศสเข้ามา เราก็ลู่ลมตามอังกฤษ ฝรั่งเศส ทำให้เรารอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น สมัยญี่ปุ่นมาแรง เราก็ลู่ตามญี่ปุ่นจนเป็นพันธมิตรกันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยสงครามเย็นเราก็ลู่ตามสหรัฐฯ จนเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ แต่ในบางครั้ง นโยบาย สนลู่ลมของเราอาจจะ ลู่มากเกินไป ฉะนั้นในอนาคต นโยบายต่างประเทศของไทยน่าจะมีลักษณะเป็น สนต้องลมมากกว่า สนลู่ลม

3.6 พลเมืองโลก และเพื่อนบ้านที่ดี : ประเด็นต่อมา คือ เราต้องเป็นพลเมืองที่ดีของโลก ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเป็นเพื่อนบ้านที่ดีด้วย (ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยาก) เป็น “dilemma” ของนโยบายต่างประเทศของไทย ที่ผ่านมา รัฐบาลชวนต้องการที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของโลก คือ ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่การกระทำเช่นนั้นทำให้เราเป็นเพื่อนบ้านที่ไม่ดีของพม่าและลาว รัฐบาลทักษิณกำลังจะกลับไปเป็นเพื่อนบ้านที่ดี แต่ก็กำลังจะเป็นพลเมืองโลกที่ไม่ดี ฉะนั้น ความพอดี หรือจุดสมดุลอยู่ตรงไหน เป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันที่จะต้องหาจุดสมดุลดังกล่าวให้ได้

3.7 บทบาทคนกลาง : สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย คือ เราสามารถเข้ากับใครก็ได้ เราจึงสามารถที่จะมีบทบาทเด่นในเวทีโลกได้ ในฐานะที่เป็นตัวกลางประสานรอยร้าว ความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ เราอาจจะเป็นตัวกลางประสานความสัมพันธ์และแก้ไขปัญหาหมู่เกาะ Spratlys คือ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียน หรือกรณีปัญหาเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ เราก็สามารถเล่นบทเป็นตัวกลางประสานความสัมพันธ์ได้ เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้

3.8 ไทย ผู้นำประชาธิปไตย : เราต้องเป็น “number one” ด้านประชาธิปไตยในเอเชีย บางทีเราอาจจะไม่รู้ข้อดีของเรา แต่ประชาธิปไตยของไทยเรา มีพัฒนาการไปไกลกว่าประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกัน เราอาจจะสู้สิงคโปร์ไม่ได้ในเรื่องเศรษฐกิจ เราอาจสู้มาเลเซียไม่ได้ในเรื่องอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ แต่เราสู้สิงคโปร์และมาเลเซียได้ในเรื่องพัฒนาการทางการเมือง เรื่องนี้ถือเป็นจุดเด่นของไทยที่เราต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ผมเชื่อว่า รัฐบาลชวนได้รับรู้ถึงข้อดีตรงนี้ พยายามที่จะใช้ข้อดีนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ นั่นคือการชูธงประชาธิปไตย ให้ไทยเราเป็นประเทศที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ไม่ใช่แต่ในประเทศเท่านั้น เรายังส่งเสริมประชาธิปไตยไปทั่วโลกและยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน นี่คือจุดแข็งที่สำคัญที่จะทำให้ไทยเราเป็นผู้นำในแง่ความคิดอุดมการณ์ทางการเมือง และสามารถทำให้เราเข้ากับตะวันตกได้อย่างดีอีกด้วย

3.9 แกนหลักของกลุ่มประเทศพุทธ : จุดเด่นอีกจุดที่เราอาจมองข้ามไป คือ ไทยสามารถที่จะสร้างบทบาทในการที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธ และเป็นแกนของกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น เราจำเป็นต้องมีพวก มีกลุ่ม ไทยมักจะไม่มีแนวร่วมธรรมชาติในเวทีระหว่างประเทศ ฉะนั้น แนวร่วมหนึ่งที่เราต้องพัฒนาต่อไป คือ แนวร่วมของกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีไทยเป็นแกนหลัก

3.10 ไทย-สหรัฐฯ ความร่วมมือบนความขัดแย้ง : มีทั้งผลประโยชน์ร่วมกันและความขัดแย้ง ไทย-สหรัฐฯมีผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ เรายังต้องการเงินทุนและตลาดจากสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งกับสหรัฐฯก็มีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่สหรัฐฯกดดันไทยอย่างหนักในเรื่องการเปิดตลาดการค้า การค้าภาคบริการ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งความพยายามของสหรัฐฯในการดำรงความเป็นเจ้าครอบงำเศรษฐกิจโลกต่อไป สหรัฐฯจะดำเนินกลยุทธ์ต่างๆครอบงำ WTO และ IMF ต่อไป พยายามไม่ให้เอเชียตะวันออกรวมตัวกัน แล้วมาท้าทายอิทธิพลของสหรัฐฯ สิ่งเหล่านี้ ทำให้ไทยและสหรัฐฯอยู่คนละฝ่าย เพราะจุดยืนของไทยใน WTO ก็ต่างจากจุดยืนของสหรัฐฯใน WTO สหรัฐฯพยายามสร้างมาตรการการกีดกันการค้าแบบใหม่ นั่นคือ การเชื่อมโยงเรื่องมาตรฐานแรงงานกับการค้า การเชื่อมโยงในเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการค้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมากระทบต่อเรา เราต้องถูกเล่นงานแน่ถ้าถูกเชื่อมโยงกับประเด็นเหล่านี้

3.11 ไทย-ญี่ปุ่น เมืองขึ้นทางเศรษฐกิจ : เป็นความสัมพันธ์ที่เราพึ่งญี่ปุ่นอย่างมากมายมหาศาล ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอับดับหนึ่งของเรา เรานำเข้าจากญี่ปุ่นประมาณ 30% ของการนำเข้าจากทั่วโลก ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับหนึ่ง เป็นประเทศที่ให้เงินกู้แก่ไทยมากที่สุด ฉะนั้น เศรษฐกิจของไทยจึงไปพึ่งญี่ปุ่นมากเกินไป อาจกล่าวได้ว่าไทยเป็น เมืองขึ้นทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดยเราไม่รู้ตัว เราต้องพึ่งเงินทุนจากญี่ปุ่นมากมายมหาศาล ฉะนั้นนโยบายต่างประเทศของไทยในอนาคตคงหนีญี่ปุ่นไม่พ้น เราพึ่งพิงญี่ปุ่นจนถอนตัวไม่ขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องมีวิถีทางที่ลดการพึ่งพิงญี่ปุ่นลงไป เราไม่มีความเป็นชาตินิยม ทำให้นโยบายต่างประเทศของไทยในการส่งเสริมการลงทุน ไม่มียุทธศาสตร์ในการลดการพึ่งพิงจากต่างชาติ (เปรียบเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งพัฒนาประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพิงการลงทุนจากต่างชาติเลย)

3.12 ไทย-จีน เลือดย่อมเข้มกว่าน้ำ : ไทยตัดจีนไม่ขาดโดยทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ จีนเป็นมหาอำนาจที่ใกล้ไทยมากที่สุด จีนคือมหาอำนาจตัวจริงในประวัติศาสตร์ของเอเชีย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เราต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปจีนเป็นประจำ จีนกำลังเรียกร้องสถานะความเป็นมหาอำนาจในเอเชียกลับคืนมา ดังนั้นไทยต้องเข้ากับจีนให้ได้อย่างไม่มีทางเลือก

3.13 ไทย-อินเดีย ไพ่ใบใหม่ของไทย : กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ อินเดียกำลังจะเป็นมหาอำนาจประเทศหนึ่งที่เป็นดาวรุ่ง เป็น “sleeping giant” มานาน ซึ่งตอนนี้ตื่นแล้ว ฉะนั้น อินเดียกำลังจะเป็นไพ่ใบใหม่ของไทยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

3.14 บทบาทของไทยในอาเซียน : ต้องเป็นบทบาทที่ไทยเป็นผู้นำ เราต้องดำเนินนโยบายที่เป็นตัวกลางประสานรอยร้าว หรือเป็นตัวกลางที่ประสานระหว่างประเทศรวยกับประเทศจนในอาเซียน รวมถึงการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่เสื่อมโทรมไปในยุควิกฤตเศรษฐกิจ

3.15 สำหรับนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้น ควรจะมีประเด็นหลักๆ ดังนี้

- นโยบายการค้านโยบายปิดครึ่งเปิดครึ่ง: ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเขียนไว้ในนโยบายที่แถลงต่อสภาว่าจะสนับสนุนการค้าเสรีก็ตาม แต่ผมคิดว่า กระแสตอนนี้คือกระแสของการต่อต้านโลกาภิวัฒน์ และการชะลอกระบวนการเปิดเสรีทางการค้า ดังนั้นยุทธศาสตร์นโยบายการค้าของไทย จึงควรมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในด้านการเปิดเสรีทางการค้า โดยอาจจะเรียกว่าเป็นนโยบาย เปิดครึ่งปิดครึ่งก็ได้

- แกนนำการรวมกลุ่มเศรษฐกิจเอเชีย : อีกเรื่องที่สำคัญแต่ไม่ได้มีพูดถึงในนโยบายของรัฐบาล ก็คือ ไทยควรจะเล่นบทเป็นแกนนำของการรวมกลุ่มเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนการเงินแห่งเอเชีย (Asian Monetary Fund) และเงินสกุลเอเชีย (Asian Currency) นอกจากนั้นไทยยังน่าจะหาหนทางในการเป็นแกนหลักในการจัดตั้ง G ใหม่ขึ้นมา (ซึ่ง ดร. สุรเกียรติ์ ก็ได้มีแนวคิดในเรื่องการจัดตั้ง G ใหม่อยู่แล้ว)

- ไทยผู้ประสานประโยชน์เหนือ-ใต้ : ผมคิดว่าบทบาทของไทยในเวทีเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะใน WTO และIMF นั้น ควรจะเป็นบทบาทของประเทศผู้ประสานประโยชน์เหนือ-ใต้ ก็คือ ประเทศผู้ประสานงาน ประสานรอยร้าว ระหว่างประเทศรวย กับประเทศจนในเวทีเศรษฐกิจโลก

- เขตการค้าเสรีทวิภาคี : อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญแต่ไม่ปรากฎในนโยบายของรัฐบาล ก็คือเรื่องการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีในระดับทวิภาคี ซึ่งขณะนี้ประเทศอื่นๆ ก็กำลังวิ่งจับคู่กันอยู่แล้ว เช่น ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ สิงคโปร์กับญี่ปุ่น เป็นต้น ไทยจึงน่าจะต้องรีบศึกษาถึงลู่ทางการจับคู่เขตการค้าเสรีสองฝ่ายดังกล่าวด้วย

3.16 ยกเครื่องกลไกนโยบายต่างประเทศ : สำหรับเรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะเสนอก็คือ เรื่องการยกเครื่องปรับกลไกนโยบายต่างประเทศของไทย โดยยกระดับสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายความมั่นคงของไทย ยกระดับให้เป็นหน่วยงานในระดับทบวง คือ ยกระดับเป็น ทบวงความมั่นคงแห่งชาติและปรับตำแหน่งเลขาธิการสมช. ให้มีตำแหน่งทางการเมืองเทียบเท่ากับระดับรัฐมนตรี สำหรับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้นก็เช่นเดียวกัน น่าจะมีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่คล้ายกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นั้นก็คือ การจัดตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Economic Council) ขึ้นมา

หมายเลขบันทึก: 176043เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2008 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 00:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขณะนี้เนื้อหากำลังอยู่ในช่วงเพิ่มเติมและปรับปรุง คณะผู้ทำงานยังขาดรูปและสีสันอีกมาก หากท่านผู้ชมท่านไดมีข้อเสนอแนะ หรือแนะนำก็ขอช่วยอนุเคราะห์ให้คำแนะนำด้วยนะครับ จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

วัฒนา สุภาวดี

---เนื้อหาส่วนใหญ่ เรียบเรียงมาจาก การค้นคว้าของกลุ่มนะครับ

อาจมีบางส่วนที่ยังคงต้องเพิ่มเติม ยังไงก็ช่วยคอมเม้นท์ให้ด้วยนะครับ

รตีย์ เมืองใจคำ

เรื่องของนโยบายต่างประเทศเป็นเรื่องที่มีความลึกซึ้งผู้ที่สนใจจะศึกษาควรมีการทำความเข้าใจ และทำการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ ทางกลุ่มผู้จัดทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเนื้อหาทางด้านนโยบายต่างประเทศที่ทางกลุ่มทำการค้นคว้าจะมีประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจไม่มากก็น้อย หากมีความผิดพลาดประการใดทางกลุ่มขออภัยมา ณ โอกาสนี้ และหากมีข้อเสนอแนะประการใดขอความกรุณาให้ข้อคิดเห็นกับทางกลุ่มด้วยจะขอบคุณยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท