ศึกษาดูงานกระจายอำนาจที่มาเลย์เชีย-สิงคโปร์


ศึกษาดูงาน

  

วันจันทร์ที่ ๑๐  กันยายน  ๒๕๕๐  อาบน้ำที่โรงแรมสากลโฮเตล แม้จะเล็กๆแต่สะอาดดี  ลงมาทานมื้อเช้าที่ห้องอาหารของโรงแรม ผมประชุมทีมงานที่ไปศึกษาดูงานครั้งนี้เพื่อซักซ้อมความเข้าใจและมอบหมายภารกิจเพราะเราไปในโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ จึงนำรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หัวหน้ากลุ่ม และผู้อำนวยการโรงเรียน ๔ ท่าน คือ โรงเรียนอนุบาลชุมพร โรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา โรงเรียนปากน้ำชุมพรวิทยา และโรงเรียนชุมชนมาบอำมฤต รวมทั้งคณะ ๒๖ คน เราเปลี่ยนรถเป็นของมาเลเซียเดินทางเข้าประเทศ เป็นรถปรับอากาศแบบธรรมดาแต่นั่งสบายกว่ารถสองชั้นบ้านเราเพราะเก้าอี้ตัวใหญ่ นั่งสบาย ไม่ปวดหลัง  รถเข้าประเทศมาเลเซียที่ด่านจังโหลน ผ่านด่านไทยให้เขาตรวจเอกสาร พาสปอร์ตประทับตราหนังสือเดินทางออกนอกประเทศ เมื่อผ่านด่านของมาเลเซียพวกเราต้องลากกระเป๋าสัมภาระให้เขาตรวจ ประทับตราหนังสือเดินทางเข้าประเทศมาเลเซีย เลยด่านมาหน่อยรถจอดที่ร้านอาหารเพื่อให้พวกเราแลกเงินบาทเป็นเงินริงกิต อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ริงกิตเท่ากับเงินไทย ๙ บาทกว่าๆ หรือหากคิดแบบหยาบๆก็ประมาณ ๑๐ บาท ขณะที่เงินสิงคโปร์ ๑ เหรียญตก ๒๓ บาท  ผมเดินสำรวจอาหารการกินมีทั้งโรตีที่สาวชาวปัตตานีมาทอดขายแผ่นละ ๑๐ บาท ร้านข้าวแกงประเภทมัสมั่น แกงส้ม ปลาเค็มทอด เห็นแล้วก็อยากลองทานดู แต่เพิ่งทานมาจากโรงแรมจึงยั้งไว้ก่อน  สภาพสองข้างทางก็คล้ายของไทยเรา มีทุ่งนา มีสวนยางสลับกันไป บ้านเรือนมีทั้งบ้านเดี่ยวและเป็นหมู่บ้านจัดสรรที่หลังคาสีเดียวกัน  คุณสิริไกด์ชาวมาเลเซียเล่าให้ฟังว่า ประชาชนในเส้นทางจังโหลนจนไปถึงบัตเตอร์เวอร์ธเป็นชาวสยาม ซึ่งเป็นประชาชนชั้น ๑ ของมาเลเซีย เพราะเดิมดินแดนเหล่านี้เป็นของไทย จึงมีคนไทยสยามมาตั้งรกรากเป็นการถาวรและเมื่อเสียดินแดนให้กับมหาอำนาจอังกฤษ ก็คงตกค้างอยู่ในดินแดนเหล่านี้ จวบจนมาเลเซียได้รับเอกราชจึงได้รับฐานะเป็นพลเมืองชั้น ๑ มีสิทธิ์ซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายในประเทศมาเลเซีย  นายกรัฐมนตรีคนแรกคือ ตนกูอับดุลรามานห์ ก็มีมารดาเป็นชาวสยาม ชื่อแม่เนื่อง และท่านก็มาเรียนหนังสือที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน  ฟังไกด์เล่าให้ฟังได้ความรู้ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าทางด่วนของมาเลเซียนั้นมีรั้วกั้นทั้งสองด้าน เพื่อกันสัตว์เลี้ยงเข้ามากีดขวางการจราจร และมีการปลูกไม้สักที่กำลังโต  ไกด์เล่าว่าเป็นโครงการที่นายกรัฐมนตรี ดร.มหาเธห์ ดำริให้ปลูกตลอดทางด่วนตั้งแต่รัฐเหนือจรดรัฐใต้  ถึงบัตเตอร์เวอร์ธเที่ยงจึงแวะไปทานอาหารจีนในตัวเมืองเป็นอาหารที่ดีที่สุดเท่าที่เขาจะจัดได้แต่รสชาติสู้อาหารจีนบ้านเราไม่ได้  ขึ้นสะพานข้ามทะเลไปเกาะปีนัง ทำนองเดียวกับสะพานสารสินที่ภูเก็ต  แต่มีความยาวหลายกิโลเมตร เกาะปีนังหรือเกาะหมากมีเนื้อที่ประมาณ ๒๘๕ ตารางกิโลเมตร อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแหลมมาลายู ได้ชื่อว่าเป็น"ไข่มุกตะวันออก" (Pearl  of the Orient) เป็นเมืองอาณานิคมเก่าแก่ที่สุดของอังกฤษในมาเลเซีย  วัดไทยชัยมังคลาราม เป็นจุดแรกที่พวกเราได้ไปนมัสการพระพุทธไสยาสน์ความยาว ๓๒ เมตรเพื่อความเป็นสิริมงคล  และตรงข้ามก็เป็นวัดพม่ามีสถาปัตยกรรมแบบพม่าที่สวยงาม  เห็นมีจตุคามรามเทพวางให้เช่าที่หน้าวัดด้วย เลยเอาของตัวเองรุ่นทองพูนเพิ่มทรัพย์มาแขวนอวดเป็นที่ฮือฮากันใหญ่ในหมู่นักเลงพระปีนัง    จุดดูงานการศึกษาจุดแรกคือ KDU  College  Penang Campus  พิกกี้ ผู้อำนวยการวิทยาเขตลงมากล่าวต้อนรับและแนะนำวิทยาลัย ผมขอบคุณและมอบของที่ระลึก เราพูดคุยถูกอัธยาศัย เพราะภาษาอังกฤษสำเนียงมาเลเซีย ฟังง่าย ผมก็พูดอังกฤษสำเนียงไทยที่เขาฟังเข้าใจ เธอจึงพาชมห้องปฏิบัติการต่างๆจากชั้นล่างไปจนถึงชั้นบนสุด เข้าห้องสมุดจนไปถึงห้องครัว วิทยาลัยแห่งนี้มีเครือข่ายหลายประเทศ ผู้เรียนสามารถไปรับประกาศนียบัตรในต่างประเทศได้ด้วย  นักศึกษามาจากหลายประเทศ รวมทั้งไทย  แต่วันนี้ไม่เจอนักศึกษาไทย  ศึกษาดูงานจนเย็นจึงไปชมวิวกันบนยอดเขา Penang Hill  ยอดเขาสูง ๘๓๐ เมตร การเดินทางใช้รถรางทั้งขึ้นทั้งลง แต่ต้องเปลี่ยนรถกลางทาง  บนยอดเขามีร้านขายของที่ระลึกและร้านอาหาร  ผมทานไอศกรีม ๑ ถ้วยก่อนลง   อาหารเย็นเป็นร้าน Sea  Food  อิ่มหนำสำราญแล้วเดินทางไปพักที่โรงแรม Cititel  Malaysia กลางคืนนั่งแท็กซี่ไปห้างสรรพสินค้าใช้เวลาเดินในห้าง ๑ ชั่วโมงก็กลับที่พักเพราะห้างปิด  เวลาในมาเลเซีย - สิงคโปร์ เร็วกว่าไทย ๑ ชั่วโมง 

                           
                                        วันอังคารที่ ๑๑  กันยายน  ๒๕๕๐ ทานอาหารเช้าที่โรงแรม  ขนกระเป๋าเสื้อผ้าใส่รถตามเวลาที่นัดหมาย  เวลา ๐๘.๐๐ น.รถออกจากหน้าโรงแรมวนตามถนนด้านหน้าเกาะปีนัง เพื่อดูภูมิประเทศ  ข้ามสะพานไปเข้าทางด่วนลงใต้ไปเรื่อยๆ สองข้างทางเป็นป่าสมบูรณ์ตลอด นานๆจึงจะมีหมู่บ้าน เป็นบ้านจัดสรรออกแบบเป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียวและอาคารทาวน์เฮ้าเป็นส่วนใหญ่  จุดจอดรถและปั้มน้ำมันมีเป็นระยะๆ น้ำมันราคาถูกกว่าบ้านเรามาก  การเติมต้องบริการตัวเอง ขั้นตอนต้องเข้าไปในออฟฟิศจ่ายเงินตามจำนวนที่ต้องการเติม รับบัตรแล้วไปยังหัวจ่ายน้ำมันที่กำหนด คอมพิวเตอร์จะควบคุมการจ่ายน้ำมันให้พอดีกับเงินที่จ่ายไว้  ถึงกัวลาลัมเปอร์เลยเที่ยงไป ๒ ชั่วโมงแวะทานข้าวนอกเมืองเป็นร้านอาหารจีน เมนูคล้ายกับที่เคยทานที่ปีนัง   ดิ่งลงใต้ประมาณ ๒๕ กม.แวะปุตราจายา เมืองหลวงใหม่ของมาเลเซียที่ได้ย้ายกระทรวง ทบวง กรมมาไว้ที่นี่แบบครบวงจร ทำเนียบรัฐบาลรูปโดมสีเขียวดูเด่นเป็นสง่า รถพาพวกเราขับตรง เข้าไปผ่านตึกที่ทำการกระทรวงต่างๆจนสุดถนนที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ  เลี้ยวรถกลับไปอีกฟากหนึ่งของถนน ผ่านอาคารที่ทำการต่าง ๆ จนไปถึงลานกว้างหน้าทำเนียบ ลงไปชั้นใต้ดิน ลองดื่มกาแฟสดของมาเลย์ การมาศูนย์ราชการปุตราจายา ทำให้เห็นว่าบ้านเมืองเขาสร้างโดยคำนึงถึงคนรุ่นหน้าและหน้าตาของประเทศ ไกด์บอกว่าอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.มหาเธห์ เจ็บใจที่ชาวตะวันตกดูถูกดูหมิ่นคนเอเชียว่าเป็นชาวป่าชาวดง อาศัยในป่าในถ้ำ ท่านมีปณิธานว่าจะสร้างอะไรก็ให้ติดอับดับโลก มาเลเซียคือตัวแทนแห่งชาวเอเชีย การพัฒนาประเทศจึงมุ่งสู่สากลในอันดับต้นของประชาคมโลก   เดินทางลงใต้ไปยะโฮบาห์รูซึ่งเป็นชายแดนมาเลเซีย-สิงคโปร์  คืนนี้นอนชายแดนเมืองยะโฮห์ชื่อโรงแรมนิวยอร์ก  เป็นโรงแรมใหญ่ ห้องพักกว้างขวางเหมือนโรงแรมขนาดใหญ่ในเมืองไทย  กลางคืนไม่ได้ออกไปไหนเพราะเหนื่อยจากการเดินทางมาทั้งวัน
                                        วันพุธที่ ๑๒  กันยายน ๒๕๕๐ ทานข้าวเช้าที่โรงแรม เขาไม่ได้แจกคูปองเหมือนบ้านเรา เพียงแต่บอกหมายเลขห้องพักก็เข้าไปเลือกหารับประทานได้แล้ว อาหารก็มีหลากหลายทั้งพื้นเมือง จีนและฝรั่ง ออกกเดินทางเข้าสิงคโปร์ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองให้เขาตรวจเอกสารและสัมภาระทุกชิ้นประทับตราหนังสือเดินทางเป็นอันว่าสามารถเข้าเมืองได้ เกาะสิงคโปร์วันนี้เต็มไปด้วยป่าไม้ตลอดเส้นทาง ส่วนไหนที่เขาสามารถปลูกต้นไม้ได้ก็ไม่เคยละเว้น จุดดูงานวันนี้คือ Singapore  Science  Centre เป็นจุดแสดงนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขาทั้ง Physice , Chemistry และ Biology  ที่โดดเด่นน่าจะเป็นห้องทดลองที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนจองให้นักเรียนมาทดลอง ทำให้คิดถึงโรงเรียนขนาดเล็กของเราหากเรามีศูนย์ทำนองนี้ในจุดที่เหมาะสมก็สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับโรงเรียนหลายๆโรงก็คุ้มค่าการลงทุน  มีร้านกาแฟสดแจ็คกี้ หัวหน้าทัวร์ชวนไปดื่มกัน ผมชวนคุณไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์  ไปร่วมวงสนทนากันด้วย ออกจากศูนย์วิทยาศาสตร์ไปถ่ายภาพสัญลักษณ์เมืองสิงคโปร์ คือ The Merlion จับภาพกันพอสมควรก็ได้เวลาอาหารเที่ยงและเป็นมื้อแรกในสิงคโปร์ก็เป็นอาหารจีนรสเลี่ยนๆอีกตามเคย  แต่ความเหนื่อยทำให้เจริญอาหารมากขึ้น   อิ่มแล้วไปเยี่ยมชมแหล่งสินค้าคนไทยเพื่อแลกเงินสิงคโปร์เพิ่มเติม  ร้านค้าย่านนี้เป็นร้านของคนไทยทุกภูมิภาค สินค้าก็ส่งมาจากเมืองไทย ทั้งของกินของใช้ แม้แต่แผ่นซีดีเพลงไทยก็มีวางจำหน่ายมากมายตามร้านย่านนี้  การจราจรในสิงคโปร์จะเป็นการเดินรถทางเดียว ฉะนั้น หากเข้าผิดทางต้องวนไปไกลจึงจะย้อนมาใหม่ได้  บ่ายๆนั่งรถไฟฟ้าไปเกาะ Sentosa  สวนสนุกของสิงคโปร์  ไปชม Under Water หากเทียบกับบ้านเราก็คือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ของมหาวิทยาลัยบูรพา  ผิดกันตรงทางเดินของเขาแบบสายพานเลื่อนได้ แต่ใครอยากเดินเองก็มีทางให้เดินเหมือนกัน   เย็นไปนั่งดูการแสดง The Song of the Sea เหมือนรีวิวประกอบเพลง ผสมแสงสีแสง และม่านน้ำ เวลาประมาณ ๒ ทุ่มก็ขึ้นรถกลับเพื่อเข้าพักที่โรงแรม Frangrance Hotel  ห้องโรงแรมแห่งนี้มีขนาดเล็กพอจะพักอาศัยได้ แต่ราคาแพงกว่าในมาเลเซียสองเท่าตัว  คุณครูจากโรงเรียนสอาดเผดิมวิทยาโทรศัพท์มาบอกว่าเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซีย โทรทัศน์ออกข่าวเตือนให้ระวังคลื่นยักษ์สึนามิ  เปิดทีวีในห้องพักดูก็มีการเสนอข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง   จึงขอเปลี่ยนห้องพักจากชั้นที่ ๓ ของโรงแรมขึ้นไปชั้นที่ ๘ เพราะคิดว่าเผื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงอาจมีโอกาสรอด เพราะเกาะสิงคโปร์ขนาดเล็กและเป็นพื้นราบ หากเกิดสึนามิก็ไม่มีอะไรเหลือ  หลับจนเช้าก็ไม่มีเหตุการณ์ร้ายใดๆ ดูข่าวทีวีต่างก็ยืนยันว่าไม่มีสึนามิ 
วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กันยายน  ๒๕๕๐  ตื่นเช้าเก็บสัมภาระขึ้นรถ เนื่องจาก Frangrance  Hotel ไม่มีอาหารเลี้ยง  แขกที่มาพักต้องไปทานที่อื่น  รถพาพวกเราไปร้านข้าวต้มแห่งหนึ่ง จัดร้านได้ดีมากมีสวนป่าเล็กๆอยู่ลานจอดรถ อาหารเช้ามีข้าวต้ม ขนมปัง และกาแฟ และอาหารพวกติ่มซำอิ่มแล้วไปแวะห้างของชาวอินเดียชื่อมุสตาฟาในห้างมีสินค้าหลายประเภทคล้ายห้างแถวพาหุรัด ความจริงอยากดูบรรยากาศในห้างใหญ่กว่านี้แต่เปิดประมาณ ๑๐ โมงเช้า สายเกินไป  รถพาไปแวะร้านดิวตี้ฟีได้จับจ่ายใช้สอยกันบ้างดูสนุกขึ้น ผมเองซื้อได้แต่ที่ตัดเล็บที่ระลึก ๓ อัน เวลา ๑๑.๐๐ น.ออกเดินทางจากสิงคโปร์มุ่งหน้ากัวลาลัมเปอร์ กินข้าวกลางวันเกือบบ่ายสองโมงที่ร้านเดิมในยะโฮร์บารู รถวิ่งความเร็ว ๘๐ กม./ชั่วโมง กว่าจะถึงชานเมือง KL ก็เย็นมากแล้ว รถก็ติดมาก ถึงหน้าวังบรรยากาศโพล้เพล้เต็มที แต่พวกเราก็ลงถ่ายภาพเป็นที่ระลึก จุดต่อไปคือเสาธง Merdeka Square มีเสาธงสูง ๙๕ เมตร เป็นสัญลักษณ์ของจตุรัสเมอเดก้าแห่งนี้  เสาธงนี้ได้ชื่อว่าเป็นเสาธงที่สูงที่สุดในโลก ชาวมาเลเซียถือว่าเป็นเสาธงแห่งประวัติศาสตร์เพราะธงยูเนี่ยนแจ็กของอังกฤษถูกลดลงจากเสา และธงชาติมาเลเซียถูกเชิญขึ้นเสาเป็นครั้งแรก  ฝั่งตรงข้ามกับสนามเป็นอาคารสุลต่านอับดุลซามัตและหอนาฬิกาสูง ๔๐ เมตร เป็นสถาปัตยกรรมแบบมัวร์ (Moorish) หอนาฬิกาเรียกว่าบิ๊กเบน ด้านบนเป็นโดมสีทองขนาดใหญ่ อาคารนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศูนย์บริหารอาณานิคมของอังกฤษ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกระทรวงวัฒนธรรม  เนื่องจากมาเลเซียเพิ่งฉลองวันชาติไปเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ที่ผ่านมา อาคารต่างๆจึงประดับไฟและธงทิวสวยงาม   ไปทานอาหารที่ชั้น ๑๗ ของโรงแรมเป็นอาหารจีน  อิ่มแล้ว  เดินทางไปชมมหัศจรรย์ของโลกคือตึก  Petronus ทำด้วยสแตนเลสทั้งสองหลัง ความสูงเกือบ ๕๐๐ เมตร เมื่อเจอแสงไฟยามค่ำคืน ตัวอาคารจะมองเป็นสีขาวโพลน เหมือนนำแท่งเงินขนาดยักษ์มาวางไว้  ดูไปก็ไม่เบื่อ  สำหรับในตัวอาคารมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่  ผมเดินชมกิจการร่วม ๑ ชั่วโมงต้องยอมรับว่าเขายิ่งใหญ่จริงๆ  พาสปอร์ตสามารถไปแลกบัตรส่วนลดได้ร้อยละ ๑๐   ออกจากกัวลาลัมเปอร์ประมาณ ๔ ทุ่มเพื่อไปค้างคืนที่ยอดเขาสูงเก็นติ้ง ไฮแลนด์ ซึ่งอยู่เลยไปประมาณ ๕๐ กม. อยู่บนเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๒๐๐๐ เมตร รถพยายามไปทางลัดเพื่อให้ทันกระเช้าไฟฟ้าที่จะปิดประมาณ ๕ ทุ่ม เมื่อไปถึงเขาปิดแล้ว เหลือแต่กระเช้ารุ่นเก่าที่สามารถโดยสารได้ประมาณ ๓๐ คนพร้อมสัมภาระ ใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาทีก็ถึง เก็นติ้งตั้งอยู่สูงอากาศจึงหนาวมาก อากาศบางเบา ภายในมีแหล่งบันเทิงครบครันทั้งคาสิโนขนาดใหญ่ โรงภาพยนต์ เวทีคอนเสิร์ต  สนามกอล์ฟ ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร  ห้องพักก็ไม่ต้องติดเครื่องปรับอากาศ เปิดหน้าต่างนิดหน่อยก็หนาวแล้ว ก้อนเมฆลอยอยู่ต่ำกว่าเราด้วยซ้ำ  ผมเหนื่อยเต็มทีร่างกายต้องปรับตัวให้เข้ากับอากาศหนาวจึงนอนพักผ่อนไม่ได้ออกไปเปิดหูเปิดตาอย่างที่ตั้งใจ

                       
                                        วันศุกร์ที่ ๑๔  กันยายน  ๒๕๕๐  ตื่นเช้าขึ้นมาดูทิวทัศน์ทะเลเมฆ อาบน้ำแต่งตัวไปทานอาหารเช้าที่ห้องอาหารมีคูปองให้ทุกห้องพัก อาหารมีหลากหลายต้องยอมรับว่าวันนี้อาหารอร่อย เดินชมร้านขายของที่ระลึกที่จะแบ่งร้านเป็นประเทศต่างในเอเชียครบถ้วน ราคาไม่แพงเพราะปลอดภาษี ขากลับกำหนดการเดิมจะลงกระเช้ารุ่นใหม่กลับกันแต่พอจะซื้อตั๋วเขาบอกว่ากระเช้าไม่มีเพราะกำลังซ่อม จึงรอรถที่จะขึ้นมารับถึงยอดเขา ถือโอกาสเก็บภาพเป็นที่ระลึก รถรับพวกเราลงจากเก็นติ้ง เดินทา งกลับประเทศไทยมากินข้าวเที่ยงประมาณบ่ายสองโมงที่เมืองลิโปห์  และเดินทางกลับไทยถึงหาดใหญ่ประมาณ ๒ ทุ่ม รับประทานอาหารเย็นที่นี่  ได้พาทีมงานเปิดหูเปิดตาให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจุดประกายความคิดในการพัฒนาคน พัฒนางานและพัฒนาชาติต่อไป
                                        วันเสาร์ที่ ๑๕  กันยายน  ๒๕๕๐  ประมาณตี ๒ รถตู้สำนักงานมารอรับที่จุดนัดหมาย ไปถึงโรงแรมไดมอนด์พลาซ่า สุราษฎร์ธานี  ได้นอนประมาณ ๓ ชั่วโมง รีบตื่นอาบน้ำแต่งตัวลงไปที่ห้องอาหาร  ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร  ศรีสะอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคุณวิทยา  ศักดา  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต ๒ ทานอาหารรออยู่แล้ว  ผมเข้าสมทบนั่งคุยกับท่านรัฐมนตรี  ท่านเล่าเรื่องการทำงานให้ฟังหลายๆเรื่อง บางเรื่องก็ยุ่งยากแต่ก็ทำสำเร็จ เช่น เรื่องเงินวิทยฐานะ  วันนี้ท่านมาเปิดนิทรรศการและตลาดการเรียนรู้ในการจัดการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่ง สพท.สุราษฎร์ธานี เขต ๒ เป็นเจ้าภาพ  ผมร่วมพิธีเปิดและชมนิทรรศการ แล้วเดินทางกลับชุมพร

กำจัด  คงหนู
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชุมพร เขต ๑
                                       

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ศึกษาดูงาน
หมายเลขบันทึก: 176433เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2008 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีครับเพราะทำให้คนที่ไม่ได่เดินทางไปได้มีความรู้ซึ่งถือว่ามากในระดับหนึ่ง ผมคิดว่าท่านคงจะนำของประเทศอื่นมาเล่าสู่กันฟังอีกนะครับ

ตุ๊ก นครศรีธรรมราช

อยากทราบว่าที่ปีนังมีโรงเรียนหญิงล้วนมั๊ยคะ มีเพื่อนบอกว่าส่งลูกไปเรียนที่นั่น ดีมาก แต่เราต้องไปดูแลบ่อยๆ จะจริงมั๊ยคะ หรือไม่แตกต่างจากบ้านเราเมืองเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท