มาตรฐานการประกันคุณภาพภายใน V.S. การประกันคุณภาพภายนอก


มาตรฐานประกันคุณภาพภายใน กับ ภายนอก ควรต่างกันหรือไม่ อย่างไร

        ภายใต้ระบบประกันคุณภาพการศึกษาของประเทศ ที่มีการจัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)ขึ้น ในปี 2543 เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรประเมินภายนอกในการประเมินและรับรองมาตรฐานแก่สถานศึกษาทุกระดับ หลังจากที่ สมศ.ได้กำหนดมาตรฐานการประเมินภายนอกขึ้น เช่น ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดมาตรฐานเพื่อการประเมินภายนอกที่สำคัญ ๆ รวม 14 มาตรฐาน (แต่ละมาตรฐาน ประกอบด้วยตัวชี้วัดหลายตัว)  ผลปรากฏว่า ทำให้โรงเรียนจำนวนมากหันมาพัฒนางานตามมาตรฐานภายนอกที่กำหนด และใช้มาตรฐานเหล่านี้เพื่อการประกันคุณภาพภายใน(จำนวนมาตรฐานและตัวชี้วัดเพื่อการประกันคุณภาพภายนอก เท่ากับ จำนวนมาตรฐานและตัวชี้วัดเพื่อการประกันคุณภาพภายใน)  การกระทำเช่นนี้ มีผลดี คือ ทำให้โรงเรียนที่ด้อยคุณภาพ ได้มีการขยับหรือพัฒนาตนเองขึ้นสู่มาตรฐานกลางของประเทศ  แต่ มีข้อเสีย คือ จะทำให้โรงเรียนจำนวนหนึ่งที่เคยโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง หากหันมาพัฒนางานตามกรอบมาตรฐานกลาง(ซึ่งน่าจะเรียกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ) ในที่สุดก็จะมีคุณภาพในระดับมาตรฐานกลาง ความโดดเด่นใด ๆ อาจหายไปได้ (ทุกโรงเรียนจะผลิตเด็กที่มีลักษณะเหมือนกัน หรือจืดชืดเหมือนกันหมด)

 ......ในทัศนะของผู้เขียน เห็นว่า โรงเรียนควรหันมาให้ความสนใจกับมาตรฐานคุณภาพ โดยเฉพาะมาตรฐานด้านผู้เรียน ในลักษณะที่เพิ่มเติมจากมาตรฐานกลางของ สมศ. เพื่อโชว์ความเป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน เช่น เมื่อ สมศ.กำหนดมาตรฐานกลาง 7 มาตรฐาน  โรงเรียนควรกำหนดมาตรฐานเพิ่มบางมาตรฐาน เช่น   มาตรฐานที่ 8 : ความปลอดภัยในชีวิตของนักเรียน   มาตรฐานที่ 9 : ความเป็นกุลสตรี มาตรฐานที่ ... : ความเป็นสุภาพบุรุษ   โดยนัยนี้ จำนวนมาตรฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในโรงเรียน(ซึ่งดำเนินการโดยโรงเรียนเอง) จะมีจำนวนมากกว่า มาตรฐานการประกันคุณภาพภายนอก   อีกทั้งโรงเรียนจะผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานกลางของประเทศ แต่จะมีเอกลักษณ์แตกต่างกัน ตามความคาดหวังหรือความต้องการของชุมชน

......เพื่อการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้มีความเป็นเลิศตามศักยภาพ หรือความพร้อมของแต่ละสถานศึกษา เป็นไปได้หรือไม่ ต่อจากนี้ไป เราจะเรียกมาตรฐานการประกันคุณภาพภายนอกของ สมศ.ว่า "มาตรฐานขั้นต่ำเพื่อการประกันคุณภาพภายนอก" เพื่อให้ทุกโรงเรียนตระหนักว่า หากเป็นไปได้ ทุกโรงเรียนจะต้องพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพสูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ หรือมีคุณภาพในหลาย ๆ ด้าน หลาย ๆ มาตรฐาน มากกว่า มาตรฐานขั้นต่ำ   หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือ สมศ.กำหนดมาตรฐานคุณภาพขึ้นใหม่อีก 1 มาตรฐาน คือ มาตรฐานที่ 15 : การจัดการศึกษาที่เน้นความมีเอกลักษณ์เฉพาะตนของโรงเรียน(หรือเน้นความเป็นเลิศเฉพาะทาง)

 

 

หมายเลขบันทึก: 178896เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2008 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เป็นข้อเสนอแนะที่ดีมากครับ แต่ทั้งนี้ในระดับปฏิบัติคือโรงเรียนอาจจะทำได้ยากมาก เนื่องจากเท่าที่มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนครูในโรงเรียนอื่นๆ(ที่เป็นโรงเรียนธรรมดาทั่วไป) ส่วนมาก(ส่วนมากจริงๆครับ) ยังมีทัศนคติต่อการประเมินภายนอกจาก สมศ. ว่าเป็นภาระ ยุ่งยาก ประเมินเสร็จแล้วก็..เหมือนเดิม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้บริหารหรือผู้มีหน้าที่หลักในการทำงานด้านประกันคุณภาพของโรงเรียน ยังผูกติดกับความคิดที่ว่า การประเมิน = การตรวจเอกสาร หลักฐาน รูปถ่าย ซึ่งทำให้ครูต้องมาสร้างเอกสารหลักฐานเพื่อรอ สมศ. มาตรวจแทนที่จะเป็นการเอาสิ่งทีมีอยู่แล้วและทำเป็นปกติ มาเป็นหลักฐาน จะว่าครูก็ไม่ได้เพราะผู้บริหารโรงเรียนถ้าเห็นลูกน้องทำเอกสารเยอะๆวางกองเป็นตั้งๆไว้ ตัวเองก็คงจะรูสึกอ่นใจว่าถ้าเขามาตรวจ โรงเรียนของตัวเองก็คงผ่านสบาย

ผมเคยเสนอให้โรงเรียนมีคุณลักษณะหรือมาตรฐานที่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ ผลปรากฎว่าได้รับเสียงบ่นจากหลายท่านว่า แค่นี้ก็จะไม่ไหวแล้วยังจะมาเพิ่มภาระให้เขาอีกหรือ ผู้บริหารเองก็รู้สึกไม่เห็นด้วยเลยต้องม้วนสื่อกลับไปก่อน

อาจารย์ครับตอนนี้มีความคิดอย่างหนึ่งที่ว่า จะพัฒนาโรงเรียนให้ดีต้องดูที่ผู้บริหารก่อน เพราะระบบราชการเราและบ้านเมืองของเรา สะท้อนให้เห็นว่า ที่พยายามแก้ไขปรับปรุง ครู นักเรียน และวิธีการต่างๆมากมาย แต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จเลยถ้าคนข้างบนไม่เข้าใจ

ด้วยความเคารพครับ

จิรเมธ

  1. ดีใจมาก คุณจิรเมธ ที่ได้เจอที่นี่
  2. สักวันหนึ่งถ้ามีโรงเรียน/วิทยาลัยที่ทำได้ และทำดี จะมีคนดูเป็นแบบอย่างเองครับ
  3. ทางเลือกสำคัญประการหนึ่ง ถ้าแก้ที่ผู้บริหารไม่ได้(ซึ่งคงจะแก้ยาก) เราต้องแก้หรือพัฒนาที่งานของเราเป็นหลัก

......อ้อ  ขอบคุณมากที่ส่ง CD ไปให้ผม ขออภัยที่ไม่ได้ตอบ ผมยังระลึกถึงพวกเราเสมอ............

อาจารย์คะ เห็นด้วยกับคุณจิรเมธค่ะ ฉะนั้นผู้ที่ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ยังต้องเป็นงานหนักทั้งที่ไม่น่าจะเป็นงานหนัก เพราะถ้าทุกคนปฏิบัติตามปกติสม่ำเสมอ และมีการพัฒนางานส่วนของตน คือการสอนและการดูแลนักเรียนของตนจะไม่ทำให้การรับการประเมินเป็นเรื่องยากค่ะ

ที่โรงเรียนยังโชคดีที่มีคนส่วนใหญ่รับรู้เรื่องนี้แต่ก็อยากให้ทุกคนได้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาค่ะ

และต้องขอขอบพระคุณอาจารย์อย่างมากเลยค่ะที่จะมาบรรยายให้คุณครูทุกคนได้ฟังค่ะ

วิไลวรรณ จันทร์น้อย

มัธยมวัดหนองจอก

ท่านผู้รู้ครับผมอยากทราบว่าจริงๆแล้วการประกันคุณภาพทางการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันมันสามารถช่วยให้การศึกษาไทยดีขึ้นจริงๆรึป่าวครับ


มาตรฐานประกันคุณภาพภายใน กับ ภายนอก ต่างกันหรือไม่ อย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท