นับหนึ่ง...กับวิจัย # 2 กำหนดปัญหา ตั้งชื่อโครงการ และ วัตถุประสงค์การวิจัย


     วิทยายุทธ์ที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ได้รับการประสิทธิประสาทความรู้จากท่าน รศ.ดร.กุหลาบ รัตนสัจธรรม แห่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.บูรพา .... เริ่มต้นคิดกันก่อนนะว่า...จะทำวิจัยเรื่องอะไรดี...โจทย์นี้สิย๊ากยาก เชื่อมั้ยว่าคิดตั้ง 2 วัน ก็ยังคิดไม่ออก เริ่มจากมองงานที่ทำนะ... ทำอะไรอยู่...มาเรียนวิจัย...จะวิจัยอะไรในงานดีนะ...

     ท่านอาจารย์ท่านก็ให้ความรู้ว่า เรื่องที่จะทำวิจัย น่าจะเป็นเรื่องที่เราสนใจจริง ๆ เพราะถ้าเราเริ่มจากสิ่งที่เราสนใจ ก็จะทำให้มีความสุขในการทำงาน มาถึงตรงนี้ สนใจอะไรล่ะ...เป็นคนไม่ค่อยสนใจอะไรซะด้วย... คิดต่ออีก...งั้นเรื่องอะไรที่มันเป็นปัญหา มันเป็นสิ่งที่เราสนใจใคร่รู้ อยากหาคำตอบ ...นี่แหละจะเป็นปัญหาของการวิจัย ซึ่งมันจะนำไปสู่การกำหนดโครงการวิจัยได้...ก็ยังยากอยู่อีกนั่นแหละ...แต่ท่านก็เสนอแนวทางกำหนดปัญหาการวิจัย โดยให้มองหาจาก 1  ประสบการณ์ของเราเอง (ทำอะไรอยู่ เจออะไรบ้าง)  2 ข้อเสนอแนะจากการทำวิจัยของคนอื่น (นั่นก็แปลว่าต้องอ่านเยอะๆ) 3 ปัญหาที่หน่วยงาน ผู้นำทางวิชาการ แหล่งทุน หรือผู้อื่นเสนอแนะ (ต้องขยันอ่าน มั่นฟัง) 4 อ่านหนังสือเยอะ ๆ (มันจะเจอประเด็นปัญหา หรือเกิดข้อสงสัย) และ 5 จากบทคัดย่อหรืองานวิจัย (ต้องเข้าห้องสมุดมหาวิทยาลัย หรือเข้าไปสืบค้นจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย)

    เมื่อได้ประเด็นปัญหาในการวิจัยแล้ว ควรแยกแยะประเด็นปัญหาเป็นปัญหาย่อย ๆ หลาย ๆ ประเด็น โดยที่ลักษณะของประเด็นปัญหาย่อย ควรสอดคล้องหรือสัมพันธ์กับปัญหาหลัก แต่ละปัญหาย่อยไม่ควรซ้ำซ้อนกันและมีความชัดเจน  ปัญหาในการวิจัยทีได้จะใช้ในการตั้งชื่อโครงการวิจัย ส่วนปัญหาย่อย ๆ จะใช้ในการตั้งวัตถุประสงค์ของการวิจัย

    ข้อสังเกตจาก "ชื่อโครงการวิจัย" ควรจะต้องประกอบด้วย  อะไร (=ตัวแปร)  ใคร (ประชากร กลุ่มตัวอย่าง)  อย่างไร (วิธีการวิจัย เช่น พัฒนารูปแบบ การสำรวจ ความสัมพันธ์ การเปรียบเทียบ) และ ที่ไหน (ขอบเขตของการวิจัย)

     การเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัย ... ก็คือ การนำปัญหาย่อย(ซึ่งก็คือ ตัวแปร) ที่เราได้แยกแยะมามาขยายรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้น โดย

     1 ต้องเขียนประเด็นของปัญหาให้ชัดเจน ว่าต้องการศึกษาอะไร ในแง่มุมใด และเรื่องที่ศึกษา ต้องอยู่ในกรอบของหัวเรื่องที่ทำการวิจัย ไม่ใช่ออกนอกเรื่อง

     2 วัตถุประสงค์ที่เขียนทุกข้อ ต้องสามรถศึกษาได้ กระทำได้ หรือเก็บข้อมูลได้ทั้งหมด พยายามถามตัวเองทีละข้อทุกข้อว่า ข้อนี้ทำได้ไหม

     3 ต้องเขียนวัตถุประสงค์ในลักษณะที่สั้น กระทัดรัด ใช้ภาษาที่ง่าย

     4 วัตถุประสงค์ควรเขียนในรูปของประโยคบอกเล่า

     5 วัตถุประสงค์สามารถเขียนในรูปของการเปรียบเทียบ เพื่อเน้นความแตกต่าง หรือเขียนในรูปของความสัมพันธ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการศึกษาวิจัยในปัญหานั้น ๆ

     ทีนี้ลองมาดูตัวอย่าง....

     ปัญหาหลัก ก็คือ มีปัจจัยอะไรบ้างที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเอดส์

     ปัญหาย่อย * พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเป็นอย่างไร

                     * แรงสนับสนุนทางสังคมจะมีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยหรือไม่ อย่างไร

                     * ความรุนแรงของโรคเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยหรือไม่ อย่างไร

     ชื่อเรื่องวิจัย  "ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเอดส์ในภาคกลาง"

    วัตถุประสงค์การวิจัย

    1 ศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเอดส์

    2 ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแรงสนับสนุนทางสังคมกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเอดส์

    3 ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงของโรคกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเอดส์

....ก็คงต้องให้ดูตัวอย่างที่อาจารย์กุหลาบท่านยกมาให้เรียนรู้ก่อนนะคะ เพราะตัวอย่างที่ kudoaw ต้องคิด ยังคิดได้ไม่ดีเท่าไหร่...รอให้ท่านอาจารย์ท่านช่วยเสนอแนะก่อนนะคะ แล้วจะนำมาเล่าสู่กันฟัง...บอกให้นิดนึงก่อนก็แล้วกัน ว่าเอางานที่รับผิดชอบเป็นตัวตั้ง ก็อยากทำวิจัยเรื่อง "การจัดการความรู้" กับ "สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา"  จ้ะ... ใครคิดได้ช่วยด้วยยยยยยยย.....

หมายเลขบันทึก: 180565เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2008 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พอหมดชั่วโมงสอนทุกครั้ง

ให้ครูดาวจัด AAR

จะทำให้ดีขึ้น

ทุกคนจะมีความสุข

อย่าลืมนะ AAR

ขอส่งแรงใจกับงานวิจัยที่ตั้งใจไว้ "การจัดการความรู้" กับ "สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา" ขอให้ประสบผลสำเร็จนะจ้ะ สู้ สู้ เอาใจช่วยเต็มที่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท