08. มอบอำนาจด้านการเงินและให้พี่ดูแลน้อง


คนเป็นพี่จะต้องรับผิดชอบสูง ต้องดูแล และรับผิดชอบน้อง ๆ ด้านการเงิน พี่จะต้องมีเหตุผล เพื่อให้น้องเคารพ เชื่อฟัง และ คนเป็นน้องจะต้องเชื่อฟังพี่

       ในบ้านเรา มีแนวปฏิบัติประการหนึ่งที่ยึดถือปฏิบัติมายาวนาน คือ ถ้าลูกออกนอกบ้านไปด้วยกัน ไม่ว่าจะไปทำธุระ หรือไปเที่ยว คุณแม่จะมอบเงินค่าใช้จ่ายใด ๆ ไว้กับคนเป็นพี่(ในปัจจุบัน พ่อ แม่จำนวนมาก ใช้วิธีให้เงินไว้คนละส่วน) โดยมีเงื่อนไขว่า พี่จะต้องดูแลน้อง  และน้องต้องขอเงินจากพี่เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จ่าย ในกรณีเช่นนี้ มีข้อดี คือ คนเป็นพี่ ต้องรับผิดชอบ ดูแลน้องและน้องก็ต้องเชื่อฟังพี่(อำนาจทางการเงินอยู่ในมือพี่)  แน่นอน คำสอนที่คุณแม่ต้องฝากฝังก่อนออกจากบ้าน คือ “ดูแลน้องให้ดี ๆ นะลูก”  แล้วหันมาบอกคนเป็นน้องว่า “ต้องเชื่อฟังพี่น่ะลูก”   ในการสอนคนเป็นพี่ คำพูดที่แม่ใช้บ่อยมาก คือ เราเป็นพี่น่ะลูก จะต้องเป็นคนมีเหตุมีผล น้องจึงจะเคารพ ดังนั้นจะทำอะไรจะต้องมีเหตุผลและคิดให้รอบคอบ  ในขณะที่คำสอนคนเป็นน้อง คือ จะต้องเชื่อฟังพี่น่ะลูก เขาเป็นพี่เรา เขาหวังดีต่อเรา  ห้ามเถียงพี่

        เงื่อนไขประการหนึ่งที่ฝึกความรับผิดชอบของคนเป็นพี่ ก็คือ เมื่อพี่จบการศึกษาและมีงานทำหรือมีรายได้แล้ว จะต้องส่งเสียค่าใช่จ่ายให้น้องคนต่อๆไป เช่น เมื่อพี่ชายคนโตจบการศึกษาจาก วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จากการเป็นพี่คนโต เขาต้องรับผิดชอบที่หนักมาก คือต้องช่วยเป็นภาระดูแลน้อง ๆ ถึง 6 คน(ในตอนแรก ๆ ของการทำงาน พี่ชายคนโตยังไม่มีครอบครัว เงินเดือนต้องให้กับคุณแม่ทั้งหมด เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในบ้านเรา...น่าเห็นใจมาก)  เมื่อพี่สาวคนที่ 2-3 จบการศึกษาและทำงาน คนที่จะช่วยดูแลน้อง ๆ ก็จะมีมากขึ้น   เมื่อพี่ชายคนที่ติดกับผมจบการศึกษาและทำงาน(พี่คนที่ 4   ผม เป็นลูกคนที่ 5) พี่ชายคนนี้ก็เป็นผู้รับผิดชอบหลักคนหนึ่งเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเรียนของผม(ขณะที่ผมเรียนปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น)  และหลังจากที่ผมจบปริญญาตรีแล้ว ผมก็ช่วยคุณพ่อในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียนของน้องที่ติดจากผม(คนที่ 6)   โดยนัยนี้ น้องคนเล็กสุด(คนที่ 7)ก็ไม่ต้องส่งเสียใคร เพราะจบหลังสุด

        การให้พี่รับผิดชอบ ช่วยเหลือในการส่งเสียเงินให้น้องเรียนหนังสือแบบต่อเนื่องกันเรื่อยมา(อาจจะไม่ใช่การส่งเสียทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะคุณพ่อ-คุณแม่ รับผิดชอบเป็นหลักอยู่แล้ว) เป็นวิธีการสร้างความรับผิดชอบแก่คนเป็นพี่ และสร้างความรู้สึกในเรื่อง “บุญคุณ” เป็นอย่างดียิ่งให้กับคนเป็นน้อง   บ้านเราจึงมีบรรยากาศที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ  “น้องจะเชื่อฟังพี่”    “น้องจะไม่เถียงหรือขึ้นเสียงกับพี่ๆ”  (เพราะพี่เป็นเสมือน พ่อ –แม่  ที่ส่งเสียเรามา)  “ความห่วงใย เอื้ออาทร ระหว่างกัน จะมีสูงมาก แม้ต่างคนต่างมีครอบครัวของตนเองแล้ว”  จะอย่างไรก็ตาม บรรยายกาศที่ดูจะไม่สดชื่นมากนัก คือ “บุคลิกที่เงียบขรึมของคนเป็นพี่”  “พี่มักจะวางฟอร์มเงียบขรึมกับน้อง ๆ”(เพื่อให้น้องเกรงใจ)   บรรยากาศเลยดูไม่เป็นกันเอง ไม่มีการหยอกล้อกันในบ้านเรา   ขณะผมเอง จบปริญญาเอก ผมก็ยังต้องเกรงใจพี่ ๆ มาก ในการแสดงความคิดเห็นใด ๆ ในบ้าน(ผมยังรู้สึกว่า พี่ชายคนโต เป็นเสมือนพ่อ  รู้สึกเกรง ๆ กลัว ๆ)

 

หมายเลขบันทึก: 180581เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2008 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ครอบครัวปลูกฝังการดูแลในครอบครัวดีจังเลยครับ ทุกคนในครอบครัวจะรักกันและอบอุ่น

  • ขอบคุณ อ.ขจิต ที่ให้ความเห็น
  • ผมเองพยายามนำวิธีการของแม่ตามที่เล่าข้างต้นมาใช้กับลูกของตนเอง 2 คน  แต่ทำได้ยากมากครับ สังคมเราวันนี้เป็นสังคมเปิด ที่ยากแก่การควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนต่าง ๆ หรือจัดการยากมากกว่าในอดีต ก็ได้แค่พยายามประยุกต์ใช้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ

อาจารย์ตอบเหมือนแปรผลทางสถิติเลยครับ ฮ่าๆๆ "การควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน"

สวัสดีค่ะ

อ่านเรื่องนี้แล้วนึกถึงบ้านตัวเอง ที่บ้านมีแปดคนค่ะ

นึกถึงบุคลิกของพี่สุพักตร์และเข้าใจแล้วว่าทำไม...

พี่จึงค่อนข้างเงียบ (ที่จริงไม่จริง) เคยมีเพื่อนพี่สุพักตร์ไปบ้านที่ตราด

ไม่รู้ใครบอกไปว่าคุณพ่อดุ พี่เค้าไปคุยบอกว่าคุณพ่อไม่เห็นดุ

ที่บ้านตาจะสอนต้องเป็นระเบียบ น้องต้องเคารพพี่ และหากพูดไม่สุภาพ

หรือทำอะไรผิด เงินค่าขนมที่วางในตำแหน่งก็จะหายไป

ต้องคิดให้ออกว่าได้ทำความผิดอะไรไป..เงินจึงหาย..ผิดซ้ำไม่ได้

อ่านที่คนเข้ามาคุยและถามพี่สุพักตร์ ดูเค้าไม่กล้าแหย่หรือพูดเล่นกับพี่นะ

ทำเอาตาก็ต้องไม่กล้าแหย่เล่นไปด้วย เกรงจะว่าตานี่ไร้สาระ

จากที่พี่เขียนบ้านพี่น่ารักกันทั้งบ้านเนาะ

เคารพเสมอ น้องตา

  • ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนน่ะ น้องตา  แล้ว มีโอกาส ค่อยเจอกัน
อภิศักดิ์ จันทร์สนาม

เรียน ดร สุพักตร์

เรื่องนี้เหมือนชีวิตจริงของผมเลย ต่างกันตรงที่ผมเป็นพี่ชายคนโต เรียนจบเป็นครู ก็ส่งน้องๆ อีก 3 คน เรียนหนังสือต่อ ตอนนั้นลำบากมากเลยครับ (ตอนนี้ก็ยังลำบาก)

เรียน ดร. สุพักตร์

ก่อนอื่นขอขอบคุณคะที่เสนอช่องทางในการเพิ่มความรู้อย่างหลากหลาย ทั้งทางวิชาการและทางทักษะชีวิต โดยเฉพาะเรี่องนี้เป็นการปลูกฝังความรับผิดชอบและสร้างค่านิยมในการเครพผู้อาวุโสตั้งแต่ภายในครอบครัวดีคะ (ลูกศิษย์ในการอบรมครูอาชีวะ 12 13lสิงหาคม 53)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท