วิเคราะห์ประสบการณ์ TOT


อาชีพทำงานกับชนบทนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ชาวบ้านและกลุ่มเป้าหมาย องค์ความรู้ด้านนี้พัฒนามามากมาย  สมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้วนั้น เราต้องไปฝึกกันที่ สถาบัน เซียโซลินน์ ที่ฟิลิปปินส์ หรือในอิสราเอล หรือในฝรั่งเศส  บุคลากรที่มีโอกาสมักเป็นกลุ่มในเครือคริสตจักรซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่ก้าวหน้าที่สุดในช่วงเวลานั้น แต่ต่อมา องค์กรพัฒนาเอกชนระดับนานาชาติ ที่เราเรียกว่า International NGOs เช่น World Vision, Save the Children, Care, Foster Parent Plan, และอื่นๆ หลังเข้ามาช่วยผู้อพยพจากลาว เขมร เวียตนาม พม่า แล้วก็หันมาทำงานพัฒนาชนบทไทยต่อเนื่องไป

 

หน่วยงานระดับนานาชาติเหล่านี้มีงบประมาณมาก  นักวิชาการระดับโลกหลายคนก็ทำงานกับหน่วยงานเหล่านี้ จึงมีการนำความรู้ใหม่ๆด้านการพัฒนาชนบทมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งเขามีประสบการณ์มากจากการทำงานในประเทศโลกที่สามอื่นๆมาก่อนแล้ว ผมจำได้ว่ามูลนิธิฟริดดริช เนามัน แห่งประเทศเยอรมัน หลังจากจบงานที่สะเมิงที่ผมทำอยู่เมื่อปี 18 นั้น ก็มาตั้งสำนักงานในกรุงเทพฯ มีลักษณะเป็น funding agencies และตั้งฝ่ายฝึกอบรมขึ้นมาและจัดหลักสูตร TOT ให้แก่ NGOs ในเมืองไทยมากมาย เพราะเขาทราบดีว่า NGOs ในเมืองไทยนั้นมีความจำเป็นต้องเพิ่มพูนศักยภาพหลายด้าน  กระบวนการฝึกอบรมเป็นด้านหนึ่ง

 

นักพัฒนาจำนวนมากผ่านหลักสูตรนี้และใช้ความรู้นี้มาจนปัจจุบันก็มีหลายคน

 

หน่วยงานราชการที่เจ๋งๆก็จัด เช่น ฝ่ายฝึกอบรม กพ. ถือว่าชั้นเซียน และอีกแห่งคือ กองฝึกอบรมกรมการพัฒนาชุมชน นี่เป็นเซียนเหยียบเมฆเลยหละ เทคนิค A-I-C ก็มาเริ่มและพัฒนาที่กรมการพัฒนาชุมชนนี้ครับ ที่ทางเหนือก็มี YMCA มีบุคลากรที่ฝีมือเยี่ยมหลายท่าน  ผมเองผ่านการฝึกอบรมที่ YMCA เชียงใหม่  และมาเป็นวิทยากรบ้างให้กับ มูลนิธิฟริดริช เนามัน และมาเป็นผู้จัดให้กับข้าราชการกรมชลประทานสมัยทำงานกับโครงการที่ EU สนับสนุนทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเป็นผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญด้านฝึกอบรมจากประเทศออสเตรเลีย ได้เรียนรู้มากพอสมควรในแง่หลักการ ทฤษฎี

 

แต่ทางปฏิบัติครับมีแง่คิดมากมาย ที่ผมใคร่ขอหยิบมาวิเคราะห์เพื่อ เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับ การจัดงานนี้ที่สวนป่าในวันที่ 17-19 นี้ครับ ข้อคิดเห็นต่อไปนี้ผมมีเจตนาจะให้เป็นการสะท้อนภาคปฏิบัติจากประสบการณ์ของผมเองครับ อันเป็นการเปิดฉากกระบวนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกัน เพราะประสบการณ์นี้มันเก่ามากพอสมควร ความรู้ในปัจจุบันคงจะก้าวไปมากแล้ว

 

ผมสนับสนุนทีมงานพิษณุโลกที่จะจัดที่สวนป่าล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นสาระที่คนทำงานพัฒนาคนทุกท่านควรจะผ่านหลักสูตรนี้  แม้ว่าจะมิได้เอาไปใช้โดยตรง แต่สาระนั้นท่านสามารถดัดแปลง เอาไปใช้ในภาระรับผิดชอบของท่านได้ในหลายสถานะครับ  ต่อไปนี้คือสรุปวิเคราะห์ประสบการณ์

 

  • ประการแรกคือ องค์ความรู้ทั้งหมดที่ผมได้รับมาสมัยนั้นหากจะนำไปใช้ต้องให้องค์กรปรับปรุง ยืดหยุ่นหลายสิ่งหลายอย่างให้เอื้อต่อกระบวนการ  แต่หน่วยงานไม่สามารถเอื้อได้ทั้งหมด  การปฏิบัติจึงขาดๆเกินๆ เช่น ฝ่ายงบประมาณ เขาไม่รู้เรื่อง จะเอาแต่ระเบียบข้อบังคับอย่างเดียว อย่างอื่นไม่สน คุณจะไปสร้างกระบวนการวิเศษเลิศเลออย่างไรก็เรื่องของคุณ ของฉันต้องอย่างนี้เท่านั้น...เฮ่อ เซ็ง

  • จากข้อแรกนั้นพบว่า  เราผู้ผ่านการฝึกอบรม เห็นแนวทาง เห็นกระบวนการ เห็นขั้นตอนที่จะสร้างความมีประสิทธิภาพ ในการสร้างกระบวนการสร้างคนสร้างชาวบ้าน  แต่เจ้านายที่รักยิ่งไม่เข้าใจ  ที่ร้ายไม่สนใจ จะเอาแต่ความคิดเขาเท่านั้น  แล้วส่งตูไปฝึกทำพระแสงอะไร...

  • เพื่อนร่วมงานที่เป็นทีมงานของเรา ยังตามไม่ทัน ยิ่งภายใต้ระบบราชการ มีชั้น มีขั้น เองจะหลักการดีอย่างไรก็เรื่องเอง แต่พี่คิดอย่างนี้  เองอย่าเรื่องมากเลย เขาทำแบบนี้กันมากี่ร้อยปีแล้ว  เฮ่อเจ้านายคนที่สอง...

  • กระบวนการที่สมบูรณ์ที่สุดคือ ขั้นเตรียม  โอยเตรียมกันดีมาก  ขั้นดำเนินการ ก็ว่า โอเคนะ ทีมวิทยากรเราก็สุดยอด แหย่ให้ชาวบ้านหัวเราะขนาดฉี่ราดก็พบมาแล้ว ต้องวิ่งไปเปลี่ยนผ้าถุงใหม่ จริงๆด้วยครับ   แต่แม่เจ้าโวย  ขั้นตอนหลังการอบรม  ไม่มี  ระบบไม่เอื้อ  ไม่มีงบประมาณ ไม่มีนั่น  ไม่มีนี่  "....โอยไม่ต้องทำหรอก  ก็อบรมไปแล้ว  ผลการประเมินก็อยู่ในขั้น ดีมาก พึงพอใจมาก  ไม่ต้องทำหรอกหลังการอบรมน่ะ  เวลาเองออกไปทำงานอื่นก็แวบไปติดตามซะหน่อยก็แล้วกัน...."  มันคนละวัตถุประสงค์ คนละเรื่อง คนละบทบาทหน้าที่

  • ทีมฝึกอบรมสร้างยาก เมื่อสร้างได้แล้ว ประคับประคองยาก  เพราะแต่ละคนก็ไม่ได้ทำหน้าที่นี้อย่างเดียว งานล้นไม้ล้นมือกันทั้งน้าน มิใช่ใครๆก็เป็นได้ ต้องเป็นคนที่มีบุคลิภาพพิเศษ ผมเคยกล่าวว่า วิทยากรที่เจ๋งๆนั้นคล้ายนักแสดงดาราภาพยนต์เงินล้าน แบบตีบทแตกหมด วุ้ย..หายากจะตาย กว่าจะขอคนนั้นมา คนนี้มา set ทีมได้ก็เหนื่อยลากดินแล้ว  ทำไปสักพัก เจ๊นั่นไปซะแล้ว น้องนี่ไปเรียนต่อ พี่นั่นขยับตำแหน่งสูงขึ้น ไม่สามารถมารับผิดชอบได้อีก  สารพัดปัญหา  บางทีคนเดียวต้องว่าหลายเรื่องกันไปเลย  จะไปเอาวิทยากรมาจากที่อื่นก็ไม่เคยขากัน เดี๋ยวพัง... เหนื่อยแทบขาดใจ ดีหน่อยที่ Participants ร่วมมือด้วย หากมีพวกลองดีเข้ามาละก็ แทบจะวิ่งเอาหัวชนเสาให้รู้แล้วรู้แรดไปเลย ..

  • หากเอากระบวนการนี้ไปใช้กับชาวบ้าน บางทีมันฝืด หากชาวบ้านเป็นเขมรสุรินทร์ เขาฟังภาษาภาคกลางอย่างเราไม่ถนัด  หรือเขาพูดกลางไม่ถนัด และใส่ภาษาเขมรกับเรา โอย..เรียบร้อยโรงเรียนเขมรเลย ไม่รู้เรื่องกันน่ะซี แม้ว่าจะสืบมาก่อนว่า พื้นฐานเป็นอย่างไร แต่โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหันเปลี่ยนคนเข้ารับการฝึกอบรม มาแทน  ไปไม่เป็นเหมือนกัน

  • การนำกระบวนการไปใช้กับชาวบ้านนั้น  ผมพบว่าเพียงในห้องไม่พอ  แม้จะจัดแปลงสาธิต การทำร่วมกันก็ตามเหอะ  บางเรื่องต้องเป็นกระบวนการฝึกอบรมผสมผสาน On the job training ฝึกอบรมวิชาการแล้วเสร็จ ปล่อยให้เขาไปทำเองในหมู่บ้าน อีก สองสามวันไปเยี่ยมแปลง และกำหนดเวลามาเยี่ยมแปลงกันประจำจนกว่าเราจะมั่นใจว่า ชาวบ้านเขาทำเป็นแล้ว....  นี่  แบบนี่ ระบบการเงินสนับสนุนไหมล่ะในทางปฏิบัติ  หากเป็นราชการ ยากสสส  แต่หากเป็น NGOs หรือโครงการพิเศษ ทำได้ เพราะยืดหยุ่นกว่า...

 

เอ้านี่ว่าจะเอาแค่สองสามข้อ เลยเถิดไปหลายข้อเลย

สิ่งที่ผมหยิบมานี้เป็นเรื่องเก่าๆนะครับที่ผมมีประสบการณ์มาแล้ว นำมาอุ่นเครื่อง  เผาหัวกันก่อนครับ

 

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดครับตาหวาน อิอิ

หมายเลขบันทึก: 181504เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2008 23:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

มาคารวะท่านบางทรายครับสำหรับประสบการณ์ที่นำมาถ่ายทอด

การอบรมกระบวนกรที่สวนป่าต้องการปรับกระบวนทัศน์ของผู้ที่จะเป็นกระบวนกรหรือเป็นอยู่แล้วตามหน้าที่  ส่วนการนำไปปรับประยุกต์ใช้ก็เป็นอีกเรื่องนึง

ก่อนจะไปปรับระบบหรือเปลี่ยนผู้ร่วมงาน  ไม่ว่าจะเป็นลูกพี่  เจ้านาย  ผู้บังคับบัญชา  ผู้ร่วมงาน  ลูกน้อง  ฯ  ควรรู้จักตัวเองและพัฒนาตัวเองให้ได้ก่อน  นี่คือเหตุผลที่บึ่งรถไปชวนทีมงานวงน้ำชามาช่วย

การอบรมที่สวนป่าเป็นเหมือนเริ่มสร้างพื้นฐาน  กระบวนกรแต่ละท่านต้องนำไปปรับประยุกต์ใช้  หาประสบการณ์แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเครือข่าย  พัฒนากันไปไม่มีวันสิ้นสุด

ศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้มีมากมายเหลือเกิน  เรียนกันไม่จบหรอกครับ  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันสนุกมาก  ถ้าเปิดใจได้ ( หรือทะลุ  ทะลายกำแพงบางๆ  ง่ายๆ แบบที่สิงห์ป่าสักพูดที่ภูเก็ต )  กลุ่มเฮฮาศาสตร์นี่ก็น่าจะเปิดใจง่าย ( หลายๆท่านก็สบายอยู่แล้ว )  ท่านเปิดใจให้สมาชิกในกลุ่มได้แล้ว  ก็อีกนิดเดียว  แผ่นบางๆเพื่อทะลุไปสำหรับการเปิดใจให้คนอื่น  อิอิ

คนที่เป็นกระบวนกรเอง  ถ้าเปิดใจตัวเองไม่ได้  ก็ไม่สามารถเปิดใจคนในวงสนทนาหรือผู้เข้ารับการอบรมได้

คนที่เป็นกระบวนกร  หากไม่มีสมาธิหรือไม่สามารถเข้าสู่มณฑลแห่งพลัง ( ศัพท์วงน้ำชา )  ไม่ทราบวิธีที่จะนำตัวเองให้เข้าสู่สภาพที่พร้อมที่จะเรียนรู้  จะนำวงสนทนาหรือผู้เข้ารับการอบรมเข้าสู่จุดนี้ได้อย่างไร ? 

การที่จะรู้จักตัวเอง  และพัฒนาตัวเองได้  ถ้าคลิกแล้วก็ต้องไปฝึกอีกนานพอสมควร  แต่ถ้ายังไม่คลิกก็ลำบากอยู่เหมือนกัน

นอกจากนี้ยังอยากเปิดประตูสำหรับกระบวนกรให้กว้างขึ้น  บางท่านมีประสบการณ์จากคุณอำนวย  ที่ทำหน้าที่ในวงสุนทรียสนทนา  ( Dialogue )  เที่ยวนี้ก็จะขยับขยายไปถึงขั้นการจัดการฝึกอบรม  การออกแบบหลักสูตร  การเลือกกิจกรรมหรือกระบวนการที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ต่อไป  แต่เวลาน้อย  คงได้แค่ระดับรู้ไว่ใช่ว่า  แล้วไปหาความรู้เพิ่มเติมกันต่อไป

เหมือนกันครับท่านบางทราย  ว่าจะมาทักทายเฉยๆ  อดไม่ได้  เลยไปถึงไหนก็ไม่รู้  เดี๋ยวกลายเป็นว่าขึ้นบันทึกใหม่ๆได้เลย  สงสัยติดเรื่องชวนคุย  คุยเพลินมาจากหมอเบิร์ด  5555555

คงได้คุยแลกเปลี่ยนกันต่อที่สวนป่านะครับ  อิอิ

  

สวัสดีเจ้าค่ะ ลุงจ๋าๆๆๆๆๆ

คึดฮอตหล๊ายหลายยยยยยยยยยยยยย....ซำบายดีบ่...อิอิ แวะมาทักทายลุงค่ะ รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ ลุงหมอเขียนซะยาวเลย 555++

เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ ----> น้องจิ ^_^

สวัสดีครับท่านพี่ทั้งหลายครับ

การจัด TOT ในส่วนตัวผมเห็นด้วยอย่างมากที่จัดขึ้น เพราะเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่ต้องบ่มเพาะและพัฒนาขึ้นในตัวคน เพราะหากเราต้องขยายผลย่อมจะต้องมองผู้อื่นในความหลากหลาย

ล่าสุดได้พัฒนานำไปใช้กับพนักงานใหม่กันเลย ก่อนที่จะเข้าสมรภูมิ นำพามาฉีดวัคซีนเข็มแรกกันก่อน ปัจจุบันนี้กำลังอยู่ในรุ่นแรกที่ปฏิวัติการพัฒนาพนักงานใหม่ครับ ยังไม่ต้องทำงาน เอามาอยู่กัน 20 วัน แบบเข้าบ้านAF กันเลยครับ แต่อย่างที่ท่านพี่บอก คนเป็นกระบวนกรต้องถูกปรับกันก่อนครับ พวกเราเหล่ากระบวนกรผ่านการหล่อหลอมกันมาอย่างยาวนานพอสมควร และล่าสุดก่อนเปิด Camp รับพนักงานใหม่ล่าสุด ก็เขามาเรียนรู้ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง เลยอยากนำประสบการณ์ที่ผ่านมา มาแชร์ให้กันฟังครับ

SCG Inno Facilitator Development

  • ฟังหนุ่มหล่อคุยกันแล้วสนุก  เอาไปลงบล็อกด้วยละ อิ อิ ขออีกๆๆ
  • ได้ฝึกอบรมทั้งของ YMCA ที่กรุงเทพฯต่อมาแตกมาเป็น YDPC
  • เทคนิค AIC ได้ลองนำไปใช้ในการศึกษาด้วย
  • แต่ต้องมีการปรับในบริบทต่างๆของผู้ที่เราจะอบรม อย่างที่ว่า ผู้จัดอบรมต้องมีข้อมูลของผู้ที่จะเข้าอบรมทั้งหมด รู้รายละเอียดค่อนข้างลึก
  • เท่าที่สังเกตบ้านเราไม่ค่อยได้ติดตามผล หลังการอบรมแบบที่พี่บางทรายบอก ซึ่งเป็นว่า อบรมแล้วก็ผ่านไปๆๆๆ เสียดายเหมือนกัน
  • ข้าน้อยยังมีวรยุทธ์ไม่มากนัก ขอฟังก่อนนะ...
  • ตามมาดูหนุ่มๆๆคุยกันครับ...

คุณหมอครับ P 1. คนชอบวิ่ง

  • เมื่อเช้าไปตรวจร่างกายประจำปีมาครับ  ปกติครับ  ความดันทุรังสูงไปนิด อิอิ
  • ผมคิดอย่างนี้ครับคุณหมอครับ วิชาการ ความรู้ ควรเรียนรู้ ผู้เรียนต้องเอาไปประยุกต์ ดัดแปลง ปรับเอาตามสภาพอย่างคุณหมอกล่าว
  • ดังนั้น การนำไปใช้ได้ไม่ได้ ได้มากได้น้อย ก็อยู่ที่ผู้มาเรียนรู้ว่าจะมีความสามารถในการนำไปประยุกต์ได้มากน้อยแค่ไหน  ปกติน่าจะมีสัดส่วนสักครึ่งหนึ่งครับ ขึ้นกับเงื่อนไขแวดล้อมว่าเอื้อหรือไม่เอื้อมากน้อยแค่ไหน
  • ความรู้ชุดเดียวกัน  แต่เงื่อนไขของแต่ละคน แต่ละหน่วยงาน สถานที่ เจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน ระบบ มีมากมาย ต้องดัดแปลงเอาเอง  อยากจะเนรมิตรแต่สุดวิสัย อิอิ
  • แต่คิดว่าทีมวิทยากรก็ให้เต็มที่อยู่แล้วตามวิสัย
  • คุณหมออย่าได้เกรงใจนะครับ ประสบการณ์ผมมันเก่ามากแล้ว  ช่วงหลังมาทำงานบริหารมากกว่าครับ
  • อย่างดีที่สุดก็โทรกลับมาปรึกษาทีมงานคุณหมอ หรือผู้สันทัดกรณี เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ครับ

ถ้ามีคะแนนความขยัน หลานจิเก็บเอาไปล้นยุ้งล้นฉางแน่เลย

คิดถึงหลานจ่ะ

สวัสดีค่ะท่านบางทราย

·       ประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ท่านบางทราย เล่าให้ฟังมีประโยชน์มากค่ะ.

·       ปัญหาที่ท่านบางทรายวิเคราะห์มาตรงใจมากๆ เนื่องจากในส่วนภาคราชการมักเป็นอย่างนั้นจริงๆ

·       ทำให้บางครั้งเกิดความท้อในการที่จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ ซึ่งเราคิดจะช่วยพัฒนางาน แต่มีอุปสรรค์มากเหลือเกิน ทั้งที่ไม่ใช้งบหลวงเลย แต่ก็พบขั้นตอนมากมายเกินความจำเป็น

·       แวะมากราบขอบคุณที่เมตตาให้คำแนะนำการทำ Focus group มือใหม่ค่ะ.

              

สวัสดีครับน้องชายP  3. คนดอย

การจัด TOT ในส่วนตัวผมเห็นด้วยอย่างมากที่จัดขึ้น เพราะเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่ต้องบ่มเพาะและพัฒนาขึ้นในตัวคน เพราะหากเราต้องขยายผลย่อมจะต้องมองผู้อื่นในความหลากหลาย

ล่าสุดได้พัฒนานำไปใช้กับพนักงานใหม่กันเลย ก่อนที่จะเข้าสมรภูมิ นำพามาฉีดวัคซีนเข็มแรกกันก่อน ปัจจุบันนี้กำลังอยู่ในรุ่นแรกที่ปฏิวัติการพัฒนาพนักงานใหม่ครับ ยังไม่ต้องทำงาน เอามาอยู่กัน 20 วัน แบบเข้าบ้านAF กันเลยครับ แต่อย่างที่ท่านพี่บอก คนเป็นกระบวนกรต้องถูกปรับกันก่อนครับ พวกเราเหล่ากระบวนกรผ่านการหล่อหลอมกันมาอย่างยาวนานพอสมควร และล่าสุดก่อนเปิด Camp รับพนักงานใหม่ล่าสุด ก็เขามาเรียนรู้ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง เลยอยากนำประสบการณ์ที่ผ่านมา มาแชร์ให้กันฟังครับ

เป็นประสบการณ์ที่น่าแลกเปลี่ยนมากครับ

  1. องค์ความรู้จากค่ายนั้น สมาชิกนำไปปรับใช้อย่างไรบ้าง  ปัญหา อุปสรรค
  2. องค์ความรู้นั้นสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของเขาอย่างไร  โดยเฉพาะ น้องจัดอบรมเจ้าหน้าที่ภายในนั้น หลังจากเสริมความรู้ใหม่จากค่ายไปแล้ว เรา จัดทำ task analysis อย่างไรให้สอดคล้องกันระหว่างบทบาทหน้าที่หลักที่ต้องรับผิดชอบ กับแนวความรู้ใหม่ที่ได้รับมา
  3. มีการติดตาม หรือเฝ้าระวัง หรือ เฝ้าสังเกตุในระยะยาว หรือไม่ ผลออกมาเป็นอย่างไร
  4. องค์ความรู้ใหม่ๆนี้สอดคล้องกับนิสัยของคนไทย ระดับการศึกษา เพศ วัย อย่างไรบ้าง  มีการวิจัย ติดตามสรุปเรื่องนี้ไหม
  5. เอาละ มีคนผ่านการฝึกอบรมแล้วเดินเครื่องเต็มที่เลย เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับการฝึกอบรม แตกต่างกันมากน้อยอย่างไร  และหากในระบบธุรกิจจะมีการตอบแทน หรือให้รางวัล คนเหล่านี้ได้รับรางวัล การตอบแทนจากหน่วยงานมากน้อยอย่างไรเมื่อเทียบกับ คนที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรม
  6. มีหลักสูตรที่เน้นเฉพาะระดับของเจ้าหน้าที่ไหม  เช่นหลักสูตร a เหมาะกับ foreman หลักสูตร b เหมาะกับ เจ้าหน้าที่สนาม เป็นต้น
  7. ในหน่วยงานนอกจากมีฝ่ายฝึกอบรม หรือ HRD แล้ว มีฝ่าย consultation ไหม เพื่อทำหน้าที่ เมื่อเขานำความรู้ไปปฏิบัติแล้วติดปัญหา ก็มาหาหน่อยนี้เพื่อเปิดวงสัมมนาย่อยคุยทางออกกัน
  8. ระบบธุรกิจย่อมเน้นทีม เรื่อง Team work จุดอ่อนของคนไทยในการทำงาน Team work คืออะไร แล้วแก้อย่างไร

อ้าว...จะถามสั้นๆ เลยยาวเลย

พี่ Print out เรื่องที่น้องแนะนำออกมา เพื่อศึกษาและให้น้องๆที่จะมาด้วยศึกษาครับ

ขอบคุณหลายๆเด้อ 

ท่านครูบาครับ P 4. ครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

  • ฟังหนุ่มหล่อคุยกันแล้วสนุก  เอาไปลงบล็อกด้วยละ อิ อิ ขออีกๆๆ

มันเป็นความสนใจน่ะครับ เมื่อเราสนใจก็อยากรู้ เมื่อได้รู้ก็อิ่มใจและคิดต่อไปถึงการเอาไปลองใช้ พัฒนาต่อไปครับ

น้องขจิตผู้น่ารักของชาว G2K ทั้งสาวน้อยสาวเฒ่า P 5. ขจิต ฝอยทอง

  • ได้ฝึกอบรมทั้งของ YMCA ที่กรุงเทพฯต่อมาแตกมาเป็น YDPC
  • เทคนิค AIC ได้ลองนำไปใช้ในการศึกษาด้วย
  • แต่ต้องมีการปรับในบริบทต่างๆของผู้ที่เราจะอบรม อย่างที่ว่า ผู้จัดอบรมต้องมีข้อมูลของผู้ที่จะเข้าอบรมทั้งหมด รู้รายละเอียดค่อนข้างลึก
  • เท่าที่สังเกตบ้านเราไม่ค่อยได้ติดตามผล หลังการอบรมแบบที่พี่บางทรายบอก ซึ่งเป็นว่า อบรมแล้วก็ผ่านไปๆๆๆ เสียดายเหมือนกัน
  • ข้าน้อยยังมีวรยุทธ์ไม่มากนัก ขอฟังก่อนนะ...
  • ตามมาดูหนุ่มๆๆคุยกันครับ...

วรยุทธ์ไม่มากแต่ไฟแรงซะอย่าง  ลุยลุกเดียว อิอิ

กระบวนการฝึกอบรมเดี๋ยวนี้เปลี่ยนรูปแบบมาจากแบบ Traiditional มามากมายแล้ว  เหลือแต่ว่า จะเอาความรู้นั้นๆไปปฏิบัติอย่างไร  กระบวนการมีการรับลูกตรงนี้ต่อไหม  ต่ออย่างไร เมื่อไหร่ ใคร่เป็นคนต่อ คนต่อตรงนี้เชื่อมติดกับกระบวนการฝึกอบรมนี้หรือไม่ หรือว่า ผิดฝาผิดตัวกันไปเลย  พบบ่อยครับว่า ไม่มีซักแห่ง  ยกเว้นโครงการพัฒนาชนบท ที่ NGOs ทำ

 

หน่วยงานใหญ่ๆน่าจะมี consultation room หรือที่โรงเรียนมีระบบ counselling แต่ไม่ค่อยมีนักเรียนมาเพราะครู ดุฉิบ.... แต่การทำงานจะพบปัญหาบ่อย  อาจจะไม่ตั้งเป็น room ก็ได้ เป็นรูป mini counselling seminar ทุกๆเดือนก็ได้ เพื่อให้มีเวทีที่เจ้าหน้าที่จะนำปัญหามาปรึกษาหารือ นอกจากจะใช้รูปแบบที่ไม่เป็นทางการอื่นๆ

สวัสดีครับ P 8. ผึ้งงาน_SDU

·       ประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ท่านบางทราย เล่าให้ฟังมีประโยชน์มากค่ะ.

·       ปัญหาที่ท่านบางทรายวิเคราะห์มาตรงใจมากๆ เนื่องจากในส่วนภาคราชการมักเป็นอย่างนั้นจริงๆ

·       ทำให้บางครั้งเกิดความท้อในการที่จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ ซึ่งเราคิดจะช่วยพัฒนางาน แต่มีอุปสรรค์มากเหลือเกิน ทั้งที่ไม่ใช้งบหลวงเลย แต่ก็พบขั้นตอนมากมายเกินความจำเป็น

·       แวะมากราบขอบคุณที่เมตตาให้คำแนะนำการทำ Focus group มือใหม่ค่ะ.

ผมสนับสนุนเป้าหมายของ G2K ที่ให้สมาชิกแลกเปลี่ยนความรู้กัน  เพราะผมเองก็ต้องการเหมือนกันจากผู้รู้ทั้งหลาย และเช่นเดียวกัน ผมเองก็ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนความรู้เท่าที่ผมจะพอมีน่ะครับ 

คนเราจะได้พัฒนา ไปช่วยกันพัฒนาหน่วนงาน สังคม ประเทศชาติครับ

ด้วยความยินดีครับ

สวัสดีค่ะ

* มาดูประสบการณ์

* โอ...ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดตาหวาน...สำนวนนี้ล้ำลึก

* เป็นประสบการณ์ที่ทันสมัยอยู่เสมอ....การสนับสนุนของทางราชการ...และ แม่งจะส่งตูไปอบรมทำมายวะ.....ไม่ต้องติดตามผลหลังการอบรมหรอก.....ว่างๆ ก็แวบไปดู....ถนัดนัก.....และ ฯลฯ

* แต่ก็แปลกนะ...การทำงานนี่เหมือนความรัก...ลงได้รักละก็...สู้ยิบตา...หัวชนฝา...ก็จะทะลุฝา...ให้ได้

* สุดท้าย...นับถือค่ะ

สวัสดีครับ P 13. นาง พรรณา ผิวเผือก (ไม่มีชื่อกลาง)

 

อิอิ   นี่ขนาดยั้งๆมือนะครับ ถ้าไม่ยั้งนี่ ..บ้านแตก..แน่เลย

ก็แค่คนแก่บ่นเท่านั้นเอง ตามประสาคนวัยทอง อย่าไปถือสา

แต่หากใครมีอำนาจวาสนาจะเก็บเอาไปคิดต่อ ปรับปรุงให้ดีขึ้นก็จะเป็นพระเดชพระคุณแก่สังคมเป็นที่สุดเทียว

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท