ครูควรตีเด็กนักเรียนหรือไม่... ”ตี กับ ไม่ตี...ให้ผลต่างกันอย่างไร”


การตี เป็นวิธีการควบคุมพฤติกรรมของนักเรียน วิธีหนึ่ง และ การชมเชย/การเสริมแรง ก็เป็นกระบวนการควบคุมพฤติกรรม เช่นกัน แต่ทำได้ยากและท้าทายกว่า เพราะบางทีเราไม่คุ้นเคย

จากการไปบรรยายในที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มครู-อาจารย์   ปัญหาประการหนึ่งที่ถูกยกมาถกเถียงกันบ่อย คือ “ครูควรตีเด็กนักเรียนหรือไม่”   “เราควรคืนไม้เรียวให้ครู หรือไม่”   “การตีเด็ก เป็นการสร้าง หรือเพาะบ่มนิสัยการใช้ความรุนแรงที่ครูไม่ควรทำ” อีกคนหนึ่งเถียง  เลยเถียงกันไม่หยุดและหาข้อยุติไม่ได้

ผมเองเชื่อว่า การที่เด็กเกิดปัญหา   เช่น  “อ่านหนังสือไม่ออก”   “มีพฤติกรรมก้าวร้าว”   “ไม่ตั้งใจเรียน”  คงจะมีหลายสาเหตุ  แต่ผมเองไม่เชื่อว่า "การที่เราไม่ตีเด็ก" หรือ “การที่ครูไม่ใช้ไม้เรียว” เป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างปัญหาในเรื่องเหล่านี้  ผลการวิจัยทั่วโลก ยืนยันว่า คดีอาชญากรรมเกือบ 100 % ล้วนเกิดจาก การที่อาชญากรได้เคยถูกกระทำแบบรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องในชีวิต  การตีในโรงเรียน ถือเป็นวิธีการที่รุนแรงวิธีหนึ่ง  ยิ่งถ้าอยู่บ้านก็ถูกพ่อ-แม่ตี มาโรงเรียนก็ถูกครูตี ยิ่งไปกันใหญ่  ในที่สุดก็ก่อคดีอาชญากรรมได้ครับ ในสภาพที่ควรจะเป็น เด็กควรได้รับการพัฒนาบนพื้นฐานของความรัก  ความเมตตา ความมีเหตุมีผล ไม่น่าจะจะใช้วิธีการหล่อหลอมบนพื้นฐานของวิธีการที่รุนแรง นี่คือความเชื่อของผมนะครับ

ลูกสาวผมเรียนประถม 1-6 ในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ตลอด 6 ปี ไม่มีข่าวคราวเรื่องโดนตีเลย และครูที่นั่นก็ไม่มีการตีเด็ก แต่จะเน้นการชม การเสริมแรง(การตี เป็นวิธีการควบคุมพฤติกรรมวิธีหนึ่ง การชม/เสริมแรง ก็เป็นกระบวนการควบคุมพฤติกรรม เช่นกัน แต่ทำได้ยากกว่า  เพราะบางทีเราไม่คุ้นเคย) แต่ท่านเชื่อไหม นักเรียนที่นั่น ไม่เกเร ตั้งใจเรียน นักเรียนทุกคน อ่านหนังสือออกหมด  เขาสอนให้ลูกสาวผมอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน ตั้งแต่เรียนชั้น ป.2 จนในที่สุด ลูกผมก็เป็นนักอ่าน ทั้ง 2 คน (แล้ววันหลัง ผมจะเล่ากลยุทธ์การสอนให้เด็กอ่านคล่องของโรงเรียนแห่งนั้น น่ะครับ)

ปัญหา การตี-ไม่ตีเด็ก เป็นปัญหาโลกแตกที่นักวิชาการหรือครู มีความเห็นแตกต่างกันหลายกลุ่ม ผมเองก็เคยตีนักเรียน สมัยสอนมัธยม แต่ผมคิดว่า ผมทุ่มเทเวลาเกือบทั้งหมดในชีวิตช่วงนั้นอยู่กับนักเรียน(ทั้ง 7วัน )เพราะเป็นคนโสด วันหยุด ลูกศิษย์ผมจะมาทำอาหารกันที่บ้านพักผม เป็นประจำ ผมสนิทสนมกับเขามาก ๆ เขาดูออกว่า ผมรัก ห่วงใยพวกเขาอย่างจริงใจ อาจารย์เชื่อไหม เมื่อนักเรียนทำผิดหรือมีพฤติกรรมีที่ไม่เหมาะสม ผมจะตีเขา และพร่ำบ่นเสียใจที่เขาไม่เชื่อฟัง ลูกศิษย์ดูออกว่าผมเสียใจจริง ๆ หลายครั้งที่เข้ามากราบขอโทษผม(ทั้ง ๆที่ผมตีเขา) ผมเลยเกิดการเรียนรู้ว่า ครูตีเด็กได้ ถ้าเรามั่นใจว่า "ลูกศิษย์ดูออกว่าเรารักเขาอย่างจริงใจ ทุ่มเททุกอย่างเพื่อเขาตลอดเวลา" การตี จะไม่มีการเพาะบ่มความแค้นเลยในกรณีนี้ แต่ถ้าเราไม่มีเวลาดูแลพวกเขาอย่างใกล้ชิด และ นักเรียนดูไม่ออกว่า เรารัก-ห่วงใยเขาอย่างจริงใจ ในกรณีนี้ การตี จะเป็นการเพาะบ่มความคับข้องใจ ความแค้น เมื่อมีโอกาส เด็กจะแสดงพฤติกรรมความรุนแรงได้ ครับ

ท่านคิดอย่างไรกับปัญหานี้ครับ...แล้วท่าน(ในฐานะที่เป็นครู) จะตีเด็กไหมครับ...ถ้าจำเป็นต้องตี  เราจะต้องทำอย่างไรครับ ช่วยคิดกันหน่อยนะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 181541เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2008 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 05:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
  • *-*ควมเห็นส่วนตัว จากคนที่โตด้วยไม้เรียว โดนตีพร้อมกับคำสอนคำบ่น ที่เป็นเสียงแห่งความรัก ความห่วงใย ทั้งที่บ้าน โรงเรียน เวลาผิดก็มีการลงโทษ พ่อเคยพูด ที่พ่อตีเพราะพ่อรัก
  • วันนี้ กราบขอบพระคุณ คุณพ่อ คุณแม่ คุณตาแก่ ยายแก่ คุณครู  ที่ได้ สั่งสอน ด้วยไม้เรียว

การตีที่มาจากความรัก ตีเพื่อสั่งสอน ตักเตือน มันไม่เหมือนการตีให้เจ็บ แค่เพียงร่างกาย เจ็บซ้ำ

 

ตี หรือ ไม่ตี ไม่น่าเป็นปัญหา ดี-ไม่ดี มันอยู่ที่เจตนาของผู้กระทำ อย่าเอาโรงเรียนเอกชนมาเปรียบเทียบกับโรงเรียนรัฐบาลเลยค่ะ มันคนละเรื่อง แล้วคนที่มีพ่อเป็นด็อกเตอร์ กับ คนที่มีพ่อเป็นกรรมกร กลยุทธ์การสอนลูกคงไม่มีวันเหมือนกันหรอกค่ะ

การลงโทษนักเรียนโดยใช้วิธีการ"ตี"...จะเหมาะสมหรือไม่ขึ้นกับว่า ครูมีเหตุผลกับการลงโทษหรือไม่...ถ้าเกิดจาก "หลักเหตุผล" มิใช่อารมณ์ การตีก็สามารถใช้มาตรการหนึ่งของการลงโทษ...แต่อย่างที่อาจารย์กล่าวนะค่ะ...การลงโทษมีได้หลากหลายรูปแบบ....อยากให้ครูลงโทษเชิงสร้างสรรค์...เหมือนคำกล่าวโบราณว่า "ติเพื่อก่อ" ในประสบการณ์ของตนเองโชคดีที่ได้สอนนักเรียนที่มีความตั้งใจในการเรียนสูง (ช่วงชั้นที่ 4 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์) ทำให้การควบคุมพฤติกรรมไม่พึงประสงค์จะใช้รูปแบบการ ติ เสียมากกว่า หรือแม้แต่การชม...เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เขารู้ว่า เขาก็สามารถมีพฤติกรรมดีๆ ได้....เรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นศาสตร์และเป็นศิลป์ของการเป็นครูเหมือนกันค่ะ...แต่รากฐานของเรื่องนี้คือ เหตุผล ถ้าเรามีเหตุผล ดุอย่างมีเหตุผล และชมก็อย่างมีเหตุผล ก็จะเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ครู นักเรียน และผู้ปกครอง

  • ผมเองดูว่าไม่ใช้ปัญหาใหญ่
  • อยู่ที่ว่าพฤติกรรมใด ต้องยับยั้งอย่างไร
  • ไม่จำเป็นต้องตี
  • พฤติกรรมบางอย่างก็ใช้การเสริมแรงได้
  • แต่ผมคิดว่า คุณครูสมัยก่อนท่านมีเหตุผลในการตีมากกว่า
  • สมัยก่อนผมเป็นเด็กถ้าโดนครูตี ไปบ้านจะโดนสองเท่า อิอิๆๆ
  • ตอนเป็นครูมัธยมศึกษาใหม่ๆๆก็เคยตีเด็ก ไม่ทราบว่าอาจารย์เคยตีเด็กไหม
  • แต่อยู่ไปนานๆๆไม่ตีครับ พบว่าการเสริมแรง การให้แรงจูงใจได้ผลกว่า
  • ขอบคุณมากครับที่นำมาให้คิด
  • ขอบคุณทุกท่าน ที่ติดตามและร่วมให้ข้อคิดเห็นนะครับ
  • ผมเองมีเจตนาที่ต้องการให้ครูระวังในเรื่องการทำโทษเด็กแบบรุนแรง  เด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่พร้อม ขาดความอบอุ่นในครอบครัว หรือถูกกระทำที่รุนแรงในบ้านตนเอง เช่นโดนตีบ่อย  เมือมาโรงเรียนก็โดนครูตีอีก  พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อาจดูดีขึ้น แต่เป็นเพียงการเก็บกด ไม่ได้หายไป(เพราะกลัวเจ็บตัว) จะเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะสร้างให้เขาเป็นคนที่สมบูรณ์(โดยทฤษฎีทางจิตวิทยา ถ้าหล่อหลอมคนด้วยความรุนแรงก็น่าจะได้ผลผลิตแบบรุนแรง   ถ้าหล่อมหลอมด้วยเหตุผล ก็จะได้คนแบบมีเหตุผล)
  • การตีของครู อาจทำได้ แต่ต้องระวัง เราต้องมั่นใจว่า เขามีความเข้าใจและยอมรับว่าตนเองผิด หรือบกพร่อง หรือให้ลงโทษด้วยความรูสึกที่หวังดี และปราณีเด็กอย่างแท้จริง ซึ่งจะแตกต่างจากการตีโดยพ่อ-แม่ ที่ส่วนใหญ่เด็กจะดูออกอยู่แล้วว่าหวังดี(จะมีข้อยกเว้นก็น้อยมาก)
  • ในสมัยแรก ๆ ของการเป็นครู ผมเองก็เคยตีเด็ก ดังที่เล่าไว้ในบันทึก  แต่ต่อมาเมื่อมีเทคนิคในการจูงใจและจัดกิจกรรมที่หลากหลายขึ้น ก็เน้นเปลี่ยนเป็นการเสริมแรงเชิงบวกมากกว่า(ต้องใช้ความอดทนและพยายามมาก)
  • เฉพาะลูกของตัวเอง ในสมัยเด็ก ก็จะมีการตีบ้าง แต่กำหนดตัวเองที่ ไม่เกินชั้น ป.2  หลังจบชั้น ป. 2  จะไม่มีการตีอีกเลย

น่าอายแทนชาวจุฬาและอาจารย์ของคุณที่นั่น จบสถิติมาได้อย่างไร ไม่รู้จักขยายผลสิ่งดีๆ

ขอบคุณมากครับ คุณปลง

  • ที่พยายามเขียนบทความเสนอแนวคิดก็เพื่อขยายผลนะครับ
  • การขยายแนวคิด บางครั้งก็ถูกใจผู้อ่านบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ต้องขออภัย และคงจะไม่เกี่ยวกับสาขาวิชาสถิติ หรือการวิจัย ประเมินผล หรอกครับ

ปล. คุณน่าจะเรียนรู้สิ่งดีๆจากโรงเรียนของลูกสาวคุณ แล้วมาเล่าสู่กันฟังจะเป็นคุณูปการอย่างสูงในแวดวงการศึกษาไทยครับ

ขอบคุณอีกครั้ง ครับ คุณปลง

  • อันที่จริงผมเขียนหลายเรื่องมาก ใน Blog ของ G2K เจตนา คือ เพื่อการเผยแพร่ครับ(เว้นแต่คุณปลงคิดว่า ไม่ใช่การเผยแพร่)
  • ผมเองคลุกคลีกับครูมาก ในแต่ละเดือนถ้ามีการบรรยาย(เดือนละประมาณ 3-5 ครั้ง) ก็ได้พยายามยกตัวอย่างสิ่งดี ๆ จากโรงเรียนต่าง ๆ (รวมทั้งโรงเรียนที่ลูกสาวเคยเรียน) อยู่เสมอครับ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ดูเหมือนว่า คุณปลง คงจะคับแค้นใจกับจุฬา มาก ๆ นะครับ(เคยมีเพื่อนคนหนึ่ง Retire จากจุฬา เขามีอาการคล้าย ๆ กับคุณปลง)
  • Intelectual Capital  ใช่ว่าจะสั่งสมได้ด้วยหนังสือเพียงไม่กี่เล่ม..ไม่อยากเห็นคนไทย ยึดติดอยู่กับหนังสือเพียง 1-2 เล่ม หรือยึดติดกับหนังสือฝรั่งเพียงเล่มเดียว...ปลงจริง ๆ
  • สังคมศาสตร์  ไม่มี Law  คงยากที่จะฟันธง  ต้องอาศัยการทดลองในบริบทที่แตกต่างกัน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลาย ๆ ครั้ง (เพราะมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องมาก)

ปลง นศ.นิดหน่อยเท่านั้นเองครับ ที่อังกฤษเขามีการศึกษา ถกเถียง ทดลองกันจนเปลี่ยนเป็นกฎหมายแล้วครับ ส่วนสหรัฐนั้นเป็นมาก่อนแล้ว พอดีผมศึกษาเรื่องของอังกฤษครับ

เมื่อปี 74 อินโดจีนกำลังแตก ผมเกรงว่าประเทศไทยจะเป็นคอมมิวนิสต์ จึงไปปรึกษาครูประวัติศาสตร์ ท่านบอกไม่ต้องกลัว ประเทศไทยอยู่ได้ แต่สหภาพโซเวียตเสียอีก ไม่นานจะล่มสลาย คนธรรมดา ใครจะคิดได้ในตอนนั้น

ในเรื่องการศึกษาก็เช่นกัน แนวโน้มประเทศไทยเป็นเหมือนเขาเมื่อ 40 ปีที่แล้วมากเลย เราจึงเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเขาพร้อมกับคิดไปด้วยจะไม่ดีกว่าหรือ

คุณปลง และ คุณปลง Square

  • ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ผมอ่านความคิดคุณปลงแล้ว คิดว่าท่านคงจะเป็นห่วงหลักสูตร หรือการศึกษาไทย เป็นอย่างยิ่ง
  • ในเรื่องหลักสูตรของไทย มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ในความรู้สึกของผม ก็รู้สึกว่าเราไม่ประสบความสำเร็จ  หลักสูตรปี 2503 เรายกอเมริกามาทดลอง  หลักสูตร 2518 ยกแคนาดามาทดลอง(สายอังกฤษ) ต่อมา 2533 เราปรับปรุงอีก เน้นเป็นแบบไทย(ที่ได้มาจากการ Review Literature มากพอสมควร) จนถึงปี 2544 ก็ปรับปรุงหลักสูตรครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งและให้โอกาสโรงเรียน ชุมชน คิดหลักสูตรเอง(ภายใต้กรอบหลักสูตรแกนกลาง) จนมาถึงวันนี้ ในปี 2551 ได้ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่  จะทดลองในปีการศึกษา 2552 นี้ ประมาณ 500 โรงเรียนทั่วประเทศ และจะใช้ทั่วประเทศในปีการศึกษา 2553
  • คุณปลงลองศึกษาหลักสูตรนะครับ  ผมเองได้นำเสนอใน Blog "หลักสูตร 2551" ถ้ามีข้อเสนอแนะดี ๆ ลองเขียนบทความเสนอแนวคิด หรือส่งไปที่เลขา สพฐ.(เปิดดูเว็บไซด์ สพฐ. เลขา สพฐ.จะคุยกับเพื่อนครูทุกวันอังคาร)  ท่านเสนอแนวคิดไปได้โดยตรง   ประสบการณ์ดี ๆ จะเป็นประโยชน์กับประเทศครับ
  • ผมเองพยายามนะครับ(ภายใต้ศักยภาพเท่าที่ตนเองมี) ในปีการศึกษา 2552 จะร่วมมือกับ ร.ร.ในเขตพื้นที่การศึกษา กทม.2 และนนทบุรี 2 เพื่อทดลองใช้หลักสูตรอย่างจริงจังและเป็นระบบ...อยากรู้เหมือนกันว่า ถ้าเราดำเนินการอย่างจริงจัง จะเกิดผลดีต่อเด็กมากน้อยเพียงใด(ในความรู้สึกของผม หลักสูตรฉบับใหม่ก็ดีพอสมควร ถ้า Implement ดี ๆ   ผลออกมาน่าจะดี)
  • ผมเชื่อว่า หลายคน หรือคนจำนวนมาก เป็นห่วงการศึกษาของชาติ เช่นเดียวกับ คุณปลง...ภายใต้ความเป็นห่วง เราควรจะต้องเคลื่อนไหว พัฒนาและทดลองอย่างเป็นรูปธรรม  ไม่ควรเก็บความคิดและปรารภถึงความล้มเหลวอยู่เรื่อย ๆ โดยไม่ Action ให้เป็นรูปธรรม

 

ผมไม่ขอออกความคิดเห็นเรื่องหลักสูตรการศึกษา แต่อยากจะบอกว่าการตีเด็กมันมีประโยชน์เป็นศูนย์แท้ ทางสถิติ หากเราคิดให้ดี แผ่เมตตาและใช้ปัญญาแทนกำลัง

ความคิดอ่านของ ดร.สุพักตร์ เชยมากค่ะ เหมือนกับไปอยู่ในถ้ำของเพลโตมาครึ่งศตวรรษเลยค่ะ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท