ดินทอง
นพวัชร เคี้ยง จิรวัฒน์วณิชย์

@อักษรสอนใจ


เมื่อปฏิบัติธรรมกันแล้ว เราจะเห็นสิ่งที่ไม่แน่นอนอยู่เป็นอย่างปกติ ทุกข็ก็อยู่ของทุกข์ เกิดแล้วก็ดับไป จิตก็อยู่ของจิต มันก็เป็นอย่างนี้ จิตก็เป็นอิสระ หลุดพ้นจากความทุกข์นั้นได้ เพระไม่ยึดมั่น เพราะมีปัญญาเห็นตามความเป็นจริง ว่า สิ่งทั้งหลายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เห็นการเกิด - ดับ ความทุกข์อะไรเกิดขึ้นมา แล้วก็ดับ เกิดขึ้นตรงไหนดับตรงนั้น หรือดับที่จิต ที่ฐานรองรับ เราเห็นอริยสัจ ๔ อย่างนี้ เรียกว่า เห็นถูกต้อง ชีวิตมีอริยมรรคมีองค์แปด ตลอดเวลา จากการที่เราทุกคนไม่ลดละ อดทน เพียรตลอด ในการรู้สึกตัวทั่วพร้อม เพื่อให้ชีวิตอยู่ในความปลอดภัย มีสติตามระลึกถึง พิจารณาด้วยปัญญาได้ทันเหตุการณ์

หลวงปู่สุวัจน์


         "การอบรมฝึกฝนจิตใจ จะหนาแน่นสักเท่าไรก็ตาม ไม่เหลือวิสัยที่ สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรพยายามของเรา ที่จะทำไม่ได้ เพราะมีผู้ทำได้แล้ว เราก็ต้องทำได้เช่นเดียวกัน กิเลส มันไม่ใช่ว่ามันฉลาดแค่ไหน ลึกลับมาจากไหน มันก็แสดงออกมาในจิต ก็มีขึ้นในจิต ไม่ได้มีบนฟ้า บนอากาศที่ไหน ที่เราจะไปไม่ถึง มันมีอยู่ในกาย ในจิตของเรานี้ เมื่อกายมีอยู่ เราก็สามารถที่จะรู้ได้ ถ้าเราศึกษา เมื่อจิตมีอยู่ เราก็สามารถจะรู้ได้" 

หลวงปู่ดูลย์ 


จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
(เห็นว่าจิตที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ทำให้หลงไปจมแช่กับอารมณ์ด้วยความยินดียินร้าย)
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
(เห็นว่าจิตที่ไปจมแช่กับอารมณ์ด้วยความยินดียินร้ายเป็นทุกข์)
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
(เห็นจิตที่เป็นทุกข์ เห็นสมุทัยอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จึงมีความเพียรที่จะ รู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง เพราะเห็นแล้วว่าเป็นสภาพที่พ้นจากทุกข์ได้)
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ
(เมื่อ รู้ด้วยจิตที่เป็นกลางได้ ก็ย่อมที่จะพ้นจากทุกข์ได้ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เราไปพยายามแยกผู้รู้ให้ออกจากอารมณ์ เราเพียงแต่เพียรที่จะ รู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง จนจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง)

อย่าส่งจิตออกนอก จิตคิด จิตถูกทำลาย
((เมื่อ)จิตคิด จิต(รู้ก็)ถูกทำลาย บรรดานักคิดทั้งหลาย ถ้าเข้าใจตนเองได้ว่า ตนกำลังฝันทั้งที่ลืมตาตื่น ตนกำลังหลงอยู่ในโลกของความคิด เพียงรู้ทันเท่านี้ ก็รู้แล้ว และเมื่อรู้แล้วก็อย่าหลงไปคิดต่อไปอีก ว่า "รู้เป็นอย่างไร ที่รู้นี้ถูกหรือไม่ถูก" เพราะจะหล่นไปสู่ความผิดพลาดในทันที คือหลงเข้าไปในโลกของความคิดอีกรอบหนึ่ง)


(ความคิดนั้น มันเกิดอยู่เสมอ เหมือนลมหายใจนั่นเอง ห้ามไม่ได้ การปฏิบัติก็ไม่ได้มุ่งให้ดับความคิด เอาแค่ว่า พอรู้อารมณ์แล้วจิตมันคิดนึกปรุงแต่ง ก็ให้รู้ทัน อย่าให้ฝันทั้งที่ตื่น คือหลงคิดไปโดยไม่รู้ตัว เท่านี้ก็พอครับ อย่าไปพยายามดับความคิดเข้าเชียวครับ จิตจะยิ่งฟุ้งซ่านหนักกว่าเก่าอีก และอันที่จริง เราก็ต้องอาศัยความคิดเหมือนกัน ในการอบรมสั่งสอนจิต เป็นบางครั้งบางคราว เวลามันดื้อมากๆ)

         "จิตหนึ่งนี้เท่านั้นเป็นพุทธะ ไม่มีความแตกต่างระหว่างพุทธะ กับสัตว์โลกทั้งหลาย เพียงแต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลายไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่างๆ เสีย และเพราะเหตุนั้น เขาจึงแสวงหาพุทธภาวะจากภายนอก การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้นนั่นเอง ทำให้เขาพลาดจากพุทธภาวะ การทำเช่นนั้นเท่ากับการใช้สิ่งที่เป็นพุทธะ ให้เที่ยวแสวงหาพุทธะ และการใช้จิตให้เที่ยวจับฉวยจิต แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะได้พยายามจนสุดความสามารถของเขา อยู่ตั้งกัปป์หนึ่งเต็มๆ เขาก็จะไม่สามารถลุถึงพุทธภาวะได้เลย เขาไม่รู้ว่า ถ้าเขาเองเพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง และหมดความกระวนกระวายเพราะการแสวงหาเสียเท่านั้น พุทธะก็จะปรากฏตรงหน้าเขา เพราะว่า จิตนี้คือ พุทธะ นั่นเอง"

           "จิตหนึ่งนั่นแหละคือพุทธะ ไม่มีพุทธะอื่นใดที่ไหนอีก ไม่มีจิตอื่นใดที่ไหนอีก มันแจ่มจ้าและไร้ตำหนิเช่นเดียวกับความว่าง คือมันไม่มีรูปร่างหรือปรากฏการณ์ใดๆ เลย ถ้าเราใช้จิตของเราให้ปรุงแต่งคิดฝันไปต่างๆ นั้น เท่ากับเราทิ้งเนื้อหาอันเป็นสาระเสีย แล้วไปผูกพันตัวเองอยู่กับรูปธรรม ซึ่งเป็นเหมือนกับเปลือกพุทธะ"

         "การบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ด้วยเจตนาที่จะเป็นพุทธะสักองค์หนึ่งนั้น เป็นการปฏิบัติชนิดคืบหน้าทีละขั้นๆ แต่พุทธะ ซึ่งมีตลอดกาลดังที่กล่าวแล้วนั้น หาใช่พุทธะที่ลุถึงได้ด้วยการปฏิบัติเป็นขั้นๆ เช่นนั้นไม่ เรื่องมันเป็นเพียงแต่ ตื่น และลืมตา ต่อจิตหนึ่งนั้นเท่านั้น และไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร นั่นแหละคือ พุทธะ ที่แท้จริง"

           "จิตเป็นเหมือนกับความว่าง ซึ่งภายในย่อมไม่มีความสับสนและความไม่ดีต่างๆ ดังจะเห็นได้ในเมื่องดวงอาทิตย์ผ่านไปในที่ว่างนั้น ย่อมส่องแสงไปได้ทั้งสี่มุมโลก ความว่างที่แท้จริงนั้น มันก็ไม่ได้สว่างขึ้น และเมื่อดวงอาทิตย์ตก ความว่างก็ไม่ได้มืดลง ปรากฏการณ์ของความสว่างและความมืดย่อมสับเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แต่ธรรมชาติของความว่างนั้น ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่นั่นเอง"

           "เมื่อพวกเราที่เป็นนักศึกษาเรื่อง ทาง ทางโน้น ถ้าไม่ลืมตาต่อสิ่งซึ่งเป็นสาระ กล่าวคือ จิต นี้ พวกเราจะปิดบังจิตนั้นเสียด้วยความคิดปรุงแต่งของพวกเราเอง พวกเราจะเที่ยวแสวงหา พุทธะ นอกตัวเราเอง" 


Be Happy...DinTong!

หมายเลขบันทึก: 181554เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2008 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท