ต้อง "อยากฟังความจริง"


มีเรื่องมาเล่า

ต้อง "อยากฟังความจริง"

คอลัมน์ เรื่องเล่าเริงรื่นทั้งหมื่นแสน

โดย ครรลอง โลกาภิรมย์



คิดเหมือนกันไหมครับว่าโลกเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ

พายุไซโคลนนาร์กีสถล่มพม่า ยืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น

เมื่อก่อนเมื่อมีข่าวพายุถล่มเมืองคร่าชีวิตผู้คนนับพันนับหมื่น ไม่มีใครนึกถึงว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดแถวๆ บ้านเรา จะนึกไปถึงอเมริกาหรือประเทศแถบนั้น

หนังทุกเรื่องที่นำเสนอความโหดร้ายของพายุจะไม่เคยมีฉากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะพายุแถวนี้แม้จะรุนแรงแต่ไม่สร้างความเสียหายมากมายขนาดนั้น

แต่วันนี้ไม่ใช่เช่นนั้นอีกแล้ว

ไซโคลนนาร์กีสที่ถล่มพม่า ทำให้เมืองลาบัตตาล่มสลายในพริบตา ศพของคนปะปนกับศพสัตว์เลี้ยงเกลื่อนท้องทุ่ง ประเมินกันว่าดีไม่ดีจะตายกันเป็นแสนคน

เป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความสยดสยอง

"โลกร้อน" คือเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ทุกคนสรุปอย่างนั้น

เรื่องที่ควรจะคุยกันคงไม่ใช่การเป็นทุกข์เป็นร้อน หรือการหาวิธีที่ไม่ให้โลกเปลี่ยน เพราะคงเป็นไปไม่ได้ แต่ควรจะมาคิดกันเรื่องจะปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ต้องเร่งคุยเสียด้วย เพราะผู้เชี่ยวชาญทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า ประเทศไทยอยู่ในเส้นทางการเคลื่อนของพายุด้วย ครั้งนี้กระทบน้อยแต่ครั้งหน้าไม่แน่

คิดไหมครับว่าถ้านาร์กีสถล่มอเมริกา หรือประเทศที่ถูกถล่มอยู่เป็นประจำ ความเสียหายจะไม่รุนแรงเพียงนี้

ประสบการณ์ทำให้รับมือได้ดีกว่า นอกจากระบบเตือนภัยที่พัฒนากันมายาวนานจนมีประสิทธิภาพสูง ทุกเมืองจะมีหลุมหลบภัยพายุ บางบ้านมีหลุมหลบภัยของตัวเอง ชาวเมืองทุกคนจะได้รับการอบรมเรื่องการเผชิญและหลบภัยจากพายุ เมื่อได้รับคำเตือนทุกคนไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่จะรู้ว่าควรจะทำอย่างไร ควรจะหลบที่ไหน

ดังนั้น แม้จะเกิดความเสียหายกับสิ่งปลูกสร้าง แต่สำหรับชีวิตมนุษย์แล้วแม้จะมีบ้างก็ไม่รุนแรงเหมือนกับที่เกิดในพม่าที่ประชาชนไม่มีประสบการณ์

เราไม่มีทางนึกออกได้เลยว่าชีวิตคนนับแสนนับล้านจะต้องมาสังเวยให้กับพายุได้อย่างไร เพราะไม่เคยพบเคยเห็น ทั้งที่เรื่องราวเหล่านี้ควรมีการเตือนแล้ว

หากใครอ่าน "โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ "อัล กอร์" เขียน

"AN INCONVENIENT TRUTH" เล่มนี้ ถ้าได้อ่านจะรู้ว่าโศกนาฏกรรมที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติที่เกิดกับประชาชนพม่าครั้งนี้ ไม่ใช่ไม่มีเหตุมีผล

หนังสือเล่มนี้พยายามบอกล่วงหน้าว่า มันจะต้องเกิดขึ้น

แต่เพราะเราอ่านแล้วไม่เชื่อ และไม่คาดคิดว่าจะวันแห่งความสูญเสียจะมาถึงเร็วขนาดนี้ เราจึงไม่เตรียมรับมือ หรือเราไม่สนใจที่จะหาความรู้

เมื่อมันมาถึงเราก็รับมือไม่ทัน ไม่ทันที่จะคิดรับมือ ความไม่รู้ ความไม่เชื่อ ความละเลยประมาทเป็นตัวส่งเสริมให้ความสูญเสียรุนแรงขึ้น

ที่เพื่อนบ้านใกล้ที่สุดเกิดแล้ว ในการคาดคำนวณ ประเทศไทยอยู่ในโซนเสี่ยง เราจะรอให้เกิดเหตุก่อนจึงจะคิดหามาตรการป้องกันหรือไม่

ถ้าคิดว่า "วัวหายล้อมคอก" เป็นเรื่องของคนที่ไม่ฉลาด เราก็จะต้องเตรียมพร้อม

หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนเพื่อรับมือ ประชาชนต้องตื่นตัวที่จะปกป้องชีวิตตัวเอง ครอบครัว และเพื่อนบ้าน

การรณรงค์จะต้องหาความรู้ที่มีเหตุผล พูดแล้วคนฟังเชื่อ เกิดความพร้อมที่จะปฏิบัติตาม

ทุกบ้านควรสื่อให้คนในครอบครัวเข้าใจว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว เราทุกคนจะต้องเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างรู้เท่าทัน

อย่าให้เรื่อง "โลกร้อน" เป็น "ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง" เพราะไม่ว่าเราจะรับรู้หรือไม่ก็ตามผลกระทบจะเกิดขึ้นกับเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเรียนรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพราะนี่ไม่โศกนาฏกรรมของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นชะตากรรมร่วมของมนุษยชาติ


http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01ent04110551&day=2008-05-11&sectionid=0105

หมายเลขบันทึก: 181714เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2008 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากอ่านและตั้งใจอ่าน ถึงแม้ท่านไม่ต้องการให้คนแก่อย่างผมอ่าน(ตาไม่ดี)

 

ขอโทษด้วยครับ ไม่คิดว่าอักษรจะเล็ก แบบนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท