วิชาประวัติศาสตร์น่าเบื่อจริง ?


วิชาประวัติศาสตร์ไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่คิด

เขียนให้อ่านเล่น ๆ ค่ะ  มีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง

วิชาประวัติศาสตร์น่าเบื่อจริง ?

 

                อ่านบทความเรื่อง ปัญหาของการเรียนประวัติศาสตร์  ของ อาจารย์ ดร.โกวิท  งศ์สุรวัฒน์  แล้ว  ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเขียนบทความเรื่องนี้   เพราะมีทั้งเรื่องที่เห็นด้วย  และไม่เห็นด้วย   นี่คือความสำคัญของอะไรที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์   ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เกิดมุมมองที่แตกต่างกันได้

                 ปัญหาการเรียนประวัติศาสตร์ของเด็กเวียดนามคือ  เด็กเวียดนามทำคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยวิชานี้ได้น้อย  คือ ได้เพียง 2.09 คะแนนจาก  10  คะแนน  ขณะที่เด็กไทยน่าจะทำคะแนนวิชาประวัติศาสตร์ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ไม่ต่ำกว่าประมาณร้อยละ  40 – 50   ถือว่าสูงกว่าเวียดนาม  คะแนนสอบวิชาประวัติศาสตร์ของเด็กไทยจึงไม่ด้อยเท่าใดนัก

                แม้ว่าคะแนนสอบวิชาประวัติศาสตร์ของ 2 ประเทศนี้จะมีความแตกต่างกัน   แต่ภาพลักษณ์ของวิชาประวัติศาสตร์ ในสายตาของทั้งคนไทยและคนเวียดนามไม่ค่อยแตกต่างกันนัก ต่างเห็นว่าวิชาประวัติศาสตร์  เป็นวิชาที่น่าเบื่อ   เรียนไปก็ไม่ได้นำไปใช้ในการประกอบอาชีพจริง ๆ   แล้วยังเป็นวิชาที่ต้องจดจำอะไรมากมาย ยิ่งทำให้เป็นวิชาที่น่าเบื่อเข้าไปใหญ่   ดีไม่ดีอาจมีทัศนคติว่าครูผู้สอนวิชานี้สอนได้น่าเบื่อ  ไม่มีหลัก      จิตวิทยาที่จะเข้าใจเด็กอีกต่างหาก

                เมื่อเด็กมีทัศนคติแบบนี้ต่อวิชาประวัติศาสตร์ตั้งแต่เริ่มแรกที่ยังไม่ได้เรียน ย่อมพยากรณ์ถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้เป็นแน่  เมื่อไม่รักไม่ชอบที่จะเรียน  คะแนนย่อมไม่ดีตามไปด้วย

                จริง ๆ แล้ววิชาประวัติศาสตร์ไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่คิด  เพราะเป็นวิชาที่สามารถผึกกระบวนการคิดวิเคราะห์   ให้คิดได้หลายรูปแบบหลายมุมมอง   ฝึกให้ไม่ด่วนสรุปอะไรง่าย ๆ  วิชาประวัติศาสตร์นอกจากต้องอาศัยหลักฐานข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์แล้ว ยังจะต้องฝึกการใช้จินตนาการควบคู่ไปด้วย  ซึ่งจินตนาการ

จะทำให้คนมองไปข้างหน้ามากกว่าการอยู่กับอดีต  และปัจจุบันเท่านั้น   ดังนั้นจินตนาการจึงมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคมด้วยเช่นกัน

                วิชาประวัติศาสตร์ฝึกให้คนรู้จักคิด   รู้จักวิธีการแสดงความคิดเห็น   และสอนให้คนใจกว้างเพียงพอที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นที่แตกต่างไปจากตน หากความคิดเห็นนั้นมีหลักฐานมีเหตุผลความน่าเชื่อถือเพียงพอ   เพราะวิชาประวัติศาสตร์ฝึกให้คิดหลาย ๆ แบบ   และพร้อมที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น   โดยเฉพาะคำอธิบายใหม่ ๆ  ที่อาจจะไม่หลงเหลือซากร่องรอยของคำอธิบายเดิมก็ได้   เนื่องจากการอธิบายเรื่องราวในประวัติศาสตร์   ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่ค้นพบ   ซึ่งย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ   เมื่อมีการค้นพบหลักฐานใหม่

                ดังนั้นนักเรียนที่ได้รับการฝึกฝนให้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของวิชาประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ควรใจกว้างยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยไม่ยึดติดกับคำอธิบายเดิม ๆ  หรือความเชื่อเดิม

                หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า   วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่นำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้จริง ๆ  ไม่เฉพาะอาชีพที่เห็นชัดเจน  เช่น  ครูอาจารย์ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์   หรือแม้แต่อาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเท่านั้น

                อาชีพข้าราชการทั่วไป  ชาวบ้านธรรมดา  นักเขียน  และโดยเฉพาะอาชีพนักการเมือง  ก็ต้องใช้ความรู้จากวิชาประวัติศาสตร์ที่ได้รับการฝึกฝนหรือเรียนมาในการประกอบอาชีพหากขาดความรู้ความเข้าใจ  ในประวัติศาสตร์แล้ว   ย่อมไม่รู้ว่าอะไรควรทำ  อะไรไม่ควรทำ   การเรียนประวัติศาสตร์เพื่อให้เข้าใจอดีตว่าเพราะอะไร  ทำไมเหตุการณ์แบบนี้จึงเกิดขึ้น   จะได้ระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในปัจจุบัน   หรือไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจเกิดซ้ำรอยกับอดีต

                ประวัติศาสตร์สอนให้รู้จักทบทวนอดีตอยู่เสมอ   เพื่อให้ปัจจุบันมีความมั่นคง  และเพื่ออนาคตที่ดีงามยั่งยืน   ซึ่งเราจะพบว่าการหยุดชะงักในสังคมไทย   โดยเฉพาะการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน  เป็นเพราะเรา          ไม่ค่อยได้นำความรู้วิชาประวัติศาสตร์มาใช้ในชีวิตกันสักเท่าไร   ทั้งที่ในความเป็นจริงเราสามารถนำความรู้ด้านประวัติศาสตร์มาใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยกว่าวิชาด้านวิทยาศาสตร์

                ในส่วนชาวบ้านควรมีความรู้ความเข้าใจในวิธีการทางประวัติศาสตร์   ให้รู้จักนำเหตุการณ์ที่ผ่านมาวิเคราะห์คน   วิเคราะห์นักการเมืองว่าใครเป็นอะไรอย่างไรมา   เพราะประวัติศาสตร์สามารถให้ภาพของคนได้ค่อนข้างชัดกว่าการมองคนแค่ในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว   หรือมองแค่ภาพลักษณ์ในปัจจุบันว่าพูดเก่ง  พูดดี  แต่ต้องดูทั้งอดีต  ปัจจุบัน  เพื่อให้เห็นอนาคตด้วย

                วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนไม่น้อย   แต่เราจะมีทัศนคติว่าเป็นวิชาที่น่าเบื่อ   สอนไม่สนุก  จนกระทั่งเกิดข้อเสนอแนะว่าควรหาครูที่สอนสนุก ๆ มาสอนวิชาประวัติศาสตร์

                ทำให้เกิดความจำเป็นจะต้องทบทวนว่า   เพราะเหตุใดครูที่สอนวิชาประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยจึงสอนไม่สนุก   พลอยทำให้เด็กและผู้คนในสังคมมีทัศนคติต่อวิชานี้ว่าน่าเบื่อ   ลำดับแรกต้องโทษหลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน   ที่ผนวกเอาวิชาประวัติศาสตร์ในระดับชั้นประถมศึกษา  มัธยมศึกษา   เป็นเพียงสาระหนึ่งในวิชาสังคมศึกษา   ซึ่งนอกจากสาระประวัติศาสตร์แล้ว  ยังมีสาระหน้าที่พลเมือง  ภูมิศาสตร์  เศรษฐศาสตร์  และพระพุทธศาสนา  รวมเป็นหนึ่งวิชา

                ดังนั้นไม่ว่าครูผู้สอนจะจบประวัติศาสตร์หรือไม่  ก็ต้องสอนประวัติศาสตร์   หรือครูประวัติศาสตร์เองก็ต้องสอนทั้ง  5  สาระ  ทั้งที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญและชอบทั้ง  5  สาระ  หลักสูตรที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปทำให้ครูต้องสอนในเรื่องที่ตนเองไม่เชี่ยวชาญ   เป็นใช้คนไม่เหมาะกับงาน

                ในส่วนของวิชาประวัติศาสตร์  หากครูผู้สอนไม่ได้ชอบวิชานี้เป็นทุนเดิม   ไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้โดยตรง   อีกทั้งมีทัศนคติว่าวิชานี้น่าเบื่อ   ครูเองยังเบื่อ  รวมทั้งไม่เข้าใจวิธีการทางประวัติศาสตร์ด้วยแล้ว   บรรยากาศการเรียนประวัติศาสตร์ยิ่งน่าเบื่อหนักเข้าไปใหญ่

                ประการต่อมา  วิชานี้ถูกมองว่าน่าเบื่อ   เพราะครูผู้สอนอาจจะไม่ได้รับการฝึกฝนให้มีเทคนิคการสอนประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ   เพราะรัฐไม่เคยให้ความสำคัญกับวิชานี้อยู่แล้ว   แต่อาจจะรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจเป็นพัก ๆ   เมื่อมีคนทักว่าเด็กไทยเริ่มไม่รู้จักประวัติศาสตร์ชาติของตนเองเท่าที่ควร  

 นอกจากนี้การที่จะทำให้วิชาประวัติศาสตร์ดูน่าสนใจ ต้องแสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่นำไปใช้ในชีวิตได้จริง ๆ   ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิชาคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  ภาษาอังกฤษ 

แต่แทบไม่พบการส่งเสริมการจัดอบรมสัมมนา ให้ครูผู้สอนประวัติศาสตร์เข้ารับการอบรมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้   จากสถาบัน  หรือวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ  อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา   และเป็นหลักสูตรเข้มข้น  สนุกสนาน  ให้ครูได้เข้าสู่แวดวงประวัติศาสตร์   รับความรู้ใหม่ ๆ  ว่าโลกในปัจจุบันอธิบายเรื่องราวในประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงกันไปถึงไหนแล้ว

ปัญหาของการเรียนประวัติศาสตร์   ไม่ใช่อยู่ที่ครูสอนไม่สนุก  น่าเบื่อ  แต่อยู่ที่ทำไมครูถึงสอนไม่สนุก  น่าเบื่อ   รวมทั้งทัศนคติว่าวิชานี้น่าเบื่อ   ไม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ๆ   ทัศนคติ       เหล่านี้ก็ย่อมทำให้วิชานี้   ถูกนำไปแอบอิงซุกซ่อนกับวิชาอื่น ๆ ในกลุ่มวิชาสังคมศึกษา  รวมทั้งวิชา       ประวัติศาสตร์ไม่เคยถูกให้ความสำคัญอย่างจริงจัง เว้นแต่ความต้องการจะใช้ประวัติศาสตร์ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองบ้างก็เท่านั้นเอง   ปรากฏการณ์เหล่านี้ยิ่งทำให้วิชาประวัติศาสตร์น่าเบื่อเข้าไปใหญ่   มิใช่  ?

 

หมายเลขบันทึก: 182022เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2008 01:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ ครูเล็ก

วิชาประวัติศาสตร์ ไม่ได้น่าเบื่อ เด็กที่ไม่ชอบเรียนอาจยังไม่เข้าถึงค่ะ ไม่ใช่ความผิดของครูค่ะ

น่าจะลองพาเด็กไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ศึกษานอกสถานที่ เด็กจะได้ไม่เบื่อค่ะ

หาหนังประวัติศาสตร์

สวัสดีค่ะ

แวะเข้ามาให้กำลังใจในการทำงานค่ะ สู้ ๆ นะค่ะ

วิชาประวัติศาสตร์ทำให้เรารู้ที่มาของประเทศเรา หากเทียบทางธุรกิจข้อมูลย้อนหลังสามารถทำนายแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เช่นกัน

ในความเห็นผมเป็นวิชาที่สนุก แต่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ บางทีคนเหล่านั้นต้องเปลี่ยนมุมมองให้เหมือนกับตัวเองนั่งอ่าน การ์ตูนหรือนิยาย นะ

ขอบคุณที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นนะคะ

ประวัติศาสตร์เป็นจุดกำเนิดทำให้มีปัจจุบันและอนาคต สามารถเรียนรู้นำประสบการณืในอดีตมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

ประวัติศาสตร์สอนให้เรารักชาติมากขึ้น สอนให้รุ้จักรากเง้าของตัวเอง

ต้องปลูกจิตสำนึกให้เด็กเยอะๆและพาไปสถาที่จริงๆเด็กๆจะได้รักชาติรักแผ่นดินเกิดมากขึ้น

บรรยากาศในชั้นเรียน ถ้าใช้กิจกรรมอื่นๆ ฯลฯ ... หรือใช้การอภิปรายร่วมฯ ในการสอน จะช่วยลดการบรรยายปกติลง น่าจะช่วยให้ผู้เรียนลดความเบื่อลงได้ ครับ

ไม่น่าเบื่อครับ เพราะเเนวประวัติศาสตร์เนี่ย มันมีถึงพันปีหมื่นๆปี เเล้ววิชาประวัติศาสตร์ให้รู้ความรู้ว่า บุคคลที่ทำไมอะไรยังไง บางคนกอบกู้เอกราชบ้าง นำวัฒนธรมอย่างอื่น การปกครองยาวนานอะไรอย่างงี้ ประวัติศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่ฟังเเล้วเข้าใจครับ เเล้วมันไม่เบื่อด้วยครับ ถึงเเม้ ไม่ได้สนุกอะไร เเต่มันก็ทำให้เราได้ความรู้บ้าง ความคิดของผมคือ วิชานี้ถือว่าผมชอบมากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท