กอล์ฟบุคลากรส.ก.อ.


    7-8 พ.ค. 51 มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (ส.ก.อ.) ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะมีกีฬากอล์ฟเป็นกีฬาที่ได้รับความสนใจมาก  มีผู้เข้าแข่งขันถึง 370 ท่าน  ซึ่งเป็นที่หนักใจแก่เจ้าภาพในการจัดการแข่งขันให้ราบรื่นเป็นอย่างยิ่ง  แม้จะออกรอบแบบพร้อมกันหมด 2 รอบ เช้า - บ่าย  ก๊วนก็ยังติด แม้จะเป็นเรื่องธรรมดา แต่เจ้าภาพก็ต้องเหนื่อยกันพอควร  ก็ต้องชื่นชมกับสปิริตของเจ้าภาพและนักกอล์ฟที่ทำให้งานนี้ผ่านไปได้ ....... ขอปรบมือให้ครับ

 

      การแข่งขันคราวนี้ก็เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา  คือต้องต่อสู้กับการดองแต้มต่อ  แม้จะนำระบบการคำนวณแต้มต่อแบบ 36 System มาใช้  แต่ก็นำมาใช้แบบครึ่งๆกลางๆ ทำให้การคำนวณแต้มต่อแบบ  36 System ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดองแต้มต่อแบบเค็มปี๋เลยครับ

      แต้มต่อคืออะไร

      แต้มต่อคือตัวเลขที่ใช้กับนักกอล์ฟสมัครเล่นที่มีฝีมืออ่อน - แข็ง แตกต่างกัน  โดยเทียบกับมาตรฐานของสนามกอล์ฟ  เช่น สนามพาร์ 72  นักกอล์ฟ ก. มีแต้มต่อ 18  นักกอล์ฟ ข. มีแต้มต่อ 12 จากตัวเลขแต้มต่อที่แสดงหมายถึงนักกอล์ฟ ข. มีฝีมือกว่า  ถ้าไม่มีแต้มต่อ แข่งกันกี่ครั้งๆ  ก. มีโอกาสแพ้ ข. สูงถึง 99 %

      ตัวอย่างการแข่งขันแบบไม่ใช้แต้มต่อ นาย ก. ผลการเล่น  90  ย่อมแพ้ต่อ ข. ซึ่งมีผลการเล่น 85 (กอล์ฟถือว่าตัวเลขต่ำเป็นผู้ชนะ)

      ตัวอย่างการแข่งขันแบบใช้แต้มต่อ นาย ก. ผลการเล่น  90  สามารถชนะ ข. ซึ่งมีผลการเล่น 85  เพราะ นาย ก. ผลการเล่น  90 เมื่อลบแต้มต่อ 18 แล้วเหลือคะแนนสุทธิ(Net Score) 90-18 = 72  ส่วนนาย ข. ซึ่งมีผลการเล่น 85 เมื่อลบแต้มต่อ 12 แล้วเหลือคะแนนสุทธิ(Net Score) 85-12 = 73  คะแนนสุทธิของนาย ก. (72) ย่อมดีกว่าคะแนนสุทธิของนาย ข. (73)  นักกอล์ฟที่มีฝีมือแตกต่างกันจึงแข่งขันกันได้อย่างสนุกและมีลุ้นรางวัลกันทุกคน

 

      ดองแต้มต่อกันอย่างไร

       วิธีการดองแต้มต่อ ก็คือการแจ้งแต้มต่อที่อ่อนกว่าฝีมือที่แท้จริง  เช่นตัวเองควรจะมีแต้มต่อ 12  แต่แจ้งแต้มต่อ 20  ทำให้เล่นได้ง่ายขึ้น เพราะแม้จะตีผิดพลาดถึง 8 แต้ม ก็สามารถทำผลงานได้เสมอกับพาร์ของสนาม  ขณะเดียวกันถ้าเล่นได้ตามมาตรฐานของตนเองก็เท่ากับทำผลงานได้ 8 อันเดอร์พาร์ ซึ่งเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมมากๆ  นอกจากจะได้เปรียบแต้มต่อแล้วยังไปเอาเปรียบเพื่อนนักกอล์ฟต่างไฟลท์อีกต่างหาก  เพราะไฟลท์ B(แต้มต่อ 10 - 18) ไปแข่งกับกลุ่มที่มืออ่อนกว่า คือ ไฟลท์ C (แต้มต่อ 19 - 24)  การดองแต้มต่อทำให้นักกอล์ฟไฟลท์ A B ไปแข่งขันกับนักกอล์ฟไฟลท์ C  ซึ่งนักกอล์ฟไฟท์  C  ไม่มีโอกาสแข่งกับไฟลท์ A B ได้เลย

 

     ผลการแข่งขันกอล์ฟกีฬา ส.ก.อ. ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นเจ้าภาพปี2551 จึงเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา เพราะไฟลท์ C (ซึ่งมีแต้มต่อ 10 -18 ) ได้ผู้ชนะเลิศที่มีแต้มต่อ 12 (ดู HC ในช่อง DAY 1 และ DAY 2  ซึ่งก็คือ 12 ทั้ง 2 วัน) ตัวย่อ HC ย่อมาจาก Handicap ซึ่งมีความหมายตรงกับ แต้มต่อ ที่ผมพูดถึงอยู่นี่ไงครับ

 

     ทางออกสำหรับเรื่องนี้ ควรจะมีองค์กรดูแลแต้มต่อของนักกอล์ฟสังกัด ส.ก.อ. ได้แล้วกระมังครับ  ถ้ามีฐานข้อมูลแต้มต่อของนักกอล์ฟสมัครเล่นสังกัด ส.ก.อ. เชื่อว่าจะมีข้อมูลนักกอล์ฟไม่ต่ำกว่า 500 ท่านแน่นอน  และเป็นข้อเสนอแนะสำหรับเจ้าภาพครั้งต่อไป คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (โคราช) ควรจะได้หาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้แต่เนิ่นๆ ครับ  ลองปรึกษากับสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย(ส.ก.ท.) ว่าหลักเกณฑ์แต้มต่อ เขาเอามาใช้กันอย่างไร  เชื่อว่ามาตรฐานการแข่งกอล์ฟของ ส.ก.อ. จะดีขึ้นกว่านี้ครับ  อย่างน้อยแต้มต่อการแข่งขันในปีนี้ควรจะเป็นแต้มต่อในการแข่งขันปีหน้าได้  แม้จะผิดพลาดเล็กน้อย แต่ก็ไม่มีใครกล่าวหาว่าดองได้นะครับ

 

      

หมายเลขบันทึก: 182071เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2008 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท