หนทางไปสู่ "วัฒนะ"ของชาวไร่ชาวนา


พระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ในส่วนที่เห็นชัดเจนว่า พระองค์ได้ทรงพระราชทาน "หนทางแห่งความวัฒนะ "ให้แก่ชาวไรชาวนาก็คือ การพัฒนา 3 ขั้นตอนของการทำเกษตร

       

 

 

 

                                           หนทางไปสู่ "วัฒนะ"ของชาวไร่ชาวนา

        เมื่อตอนเย็นนี้  ได้ดูข่าวจากโทรทัศน์  เกษตรกรญี่ปุ่นขายแตงแคนตาลูพ  ได้ลูกละเป็นแสนบาท  นัยว่าเป็นการจัดให้มีการซื้อขายเพื่อส่งเสริมให้เกษตรมีกำลังเข้มแข็งที่จะปลูกแคนตาลูพอร่อย ๆให้คนญี่ปุ่นกินต่อไป  ก่อนหน้านี้ก็ได้ทราบมาก่อนว่า  รัฐบาลญี่ปุ่นจะอุดหนุนให้เกษตรกรญี่ปุ่นขายสินค้าในอัตราสูง  เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตทัดบ่าเทียมไหล่กับอาชีพอื่น ๆ
        ในบ้านเรา  คงไม่มีเศรษฐี  หรือรัฐบาลใดมีน้ำใจถึงเพียงนี้
        หนทางของความวัฒนาของการทำมาหากินของชาวไร่ชาวนา  จึงน่าจะเกิดจากหนึ่งสมองและสองมือของชาวไร่ชาวนาที่จะช่วยกันสรรค์สร้าง
         
        นับว่าเป็นบุญของชาวไร่ชาวนาไทย  ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงเห็นทุกข์ของพวกเขาและได้ทรงพระราชทาน "หนทางแห่งความวัฒนะ" ในการทำมาหากินให้  ในชื่อของเกษตรทฤษฎีใหม่  พระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ในส่วนที่เห็นชัดเจนว่า พระองค์ได้ทรงพระราชทาน  "หนทางแห่งความวัฒนะ" ให้แก่ชาวไร่ชาวนาก็คือ การพัฒนา  3  ขั้นตอนของการทำเกษตร ได้แก่

        ขั้นตอนที่ 1  เป็นแนวทางการจัดการพื้นที่เกษตรกรรมในระดับครอบรัว ที่สอดคล้องสมดุลกับระบบนิเวศวิทยา  เพื่อให้พออยู่พอกินสมควรแก่อัตตภาพในระดับที่ประหยัดและเลี้ยงตนเอง หรือครอบครัวได้
        ขั้นตอนที่  2  การวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ ร่วมมือกันในการผลิต  จัดการตลาด  และพัฒนาสวัสดิการของชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ เป็นการสร้างความสามัคคีภายในท้องถิ่นและเตรียมความพร้อม ก่อนก้าวสู่โลกภายนอก
       ขั้นตอนที่  3  ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อจัดหาทุน  วิชาการ 
ความรู้  เทคโนโลยี่  จากธุรกิจเอกชน  เช่น  ธนาคาร  บริษัท  ห้างร้าน เอกชน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ  มูลนิธิต่าง ๆ มาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต
        
         สามขั้นตอนนี้มีคนเอามาพูดให้สั้น ๆว่า
         "พึ่งตนเอง-รวมกลุ่ม-ลุยส่งออก"
        
ผมเห็นว่า  นี่คือหนทางแห่งความวัฒนะของชาวไร่ชาวนาไทย
                    เป็นหนทางที่สามารถสร้างขึ้นด้วยน้ำมือของชาวไร่ชาวนาเอง
                    เป็นหนทางที่ไม่ต้องรอสติปัญญาและเมตตาของรัฐ  ของพ่อค้า และใคร ๆ
                    เป็นหนทางที่มีศักดิ์ศรี  เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ทั้งในระดับบุคคล และชุมชน ตลอดทั้ง ชาติ  บ้านเมืองและ(มนุษย)โลก

         จะเห็นว่าในหลวง  พระองค์ท่านทรงจินตนาการไปไกล  ในจินตนาการของพระองค์ ชาวนาไทยไม่ได้จมปลักอยู่กับไร่กับนาเท่านั้น      พระองค์ทรงเห็นภาพชาวไร่ชาวนาไทย go  inter ด้วย  ซึ่งหมายถึง  การซื้อการขาย  ข้าว พืชผลทางการเกษตร และข้าวของอื่น ๆจะอยู่ในมือของชาวนา และนอกจากนั้นชาวนาไทยสามารถสร้างสัมพันธภาพในด้านอื่น ๆในฐานะมนุษย์กับ บุคคล  กลุ่ม  องค์กร และสถาบัน
ต่าง ๆในนานาอารยะประเทศด้วย  ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ชาวไร่ชาวนาจะเข้าไปเบียดกลุ่มพ่อค้า  นักธุรกิจ และนายทุนที่ประกอบการ หรือที่ทำมาหากินอยู่กับ การผลิต การซื้อขาย การแปรรูป ผลิตผลของชาวไร่ชาวนาออกไป  แต่น่าจะอยู่ในลักษณะของการร่วมมือกัน

          การผลิตทางการเกษตร  ตัวอย่างเช่นเรื่องข้าว  ควรเป็นกระบวนการที่ครบวงจร และวงจรนี้จะต้องอยู่ในมือของเกษตรกร  ซึ่งอาจมีกลุ่มอื่น ๆเข้ามามีส่วนร่วมอยู่ด้วยก็ได้  ซึ่งน่าจะอยู่ในรูปของภาคีเครือข่ายที่ต่างก็มีความทัดเทียมกัน
          
          หลายคนคงรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้
          หลายคนคงเห็นว่านี่มันเป็นฝันท่ามกลางแสงแดดจ้า  แท้ ๆ
          ขอเรียนว่า  ความเป็นไปได้อยู่ที่ความชาญฉลาดของคนทำ  สิ่งที่มันทวนกับกระแสหลักย่อมทำได้ยาก  ต้องใช้สติปัญญา  ต้องใช้ความพยายามสูง  แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้

         
ปัจจุบันมีความพยายามอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น ที่สุพรรณฯ ที่พิจิตร ที่บุรีรัมย์  เป็นต้น
          และในพื้นที่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ( สำนักงาน กปร.)ได้มีความพยายามที่จะพัฒนาตามแนวทางดังกล่าวนี้  เพื่อแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง   เป็นแนวทางสำหรับเกษตรกร   ดังที่นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี  กล่าวว่า "ทิศทางของโครงการพระราชดำริในอนาคตนั้น  คาดว่ามุ่งเน้นศึกษาการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ทฤษฎีใหม่แบบบันได 3 ขั้น คือ  ขั้นแรก สอนให้คนรู้จักการพึ่งพาตนเองเพื่อความอยู่รอด ขั้นที่สอง  เรียนรู้การรวมกลุ่มไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน  เพื่อจำหน่ายผลผลิต ขั้นที่สาม  ประสานความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์สำหรับช่วยกลุ่มเกษตรกรสำหรับภาคการส่งออก" (คม ชัด ลึก , 13  สิงหาคม  2007)
          
          เป็นที่มั่นใจได้ว่า  แนวพระราชดำริของในหลวงเป็นแนวทางแห่งความ "วัฒนะ"ของชาวไร่ชาวนา  เป็นแนวทางที่ท้าทาย  เป็นแนวทางที่องคมนตรี และพสกนิกรหลายกลุ่มพยายามจะพิสูจน์ให้เห็นจริง

          ปัญหาอยู่ที่ ใคร  ที่ไหน  ทำอย่างไร
          ผมเห็นว่าเครื่องมือขับเคลื่อน "ทฤษฎีใหม่แบบบันได 3 ขั้น " คือการศึกษา  แต่เป็นการศึกษาที่แตกต่างไปจากการศึกษาในปัจจุบัน  การศึกษาในระบบโรงเรียนต้องเปลี่ยน และไม่เฉพาะการศึกษาในระบบโรงเรียนเพียงอย่างเดียว  การศึกษานอกระบบ  การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาในบ้าน การศึกษาในชุมชน และการศึกษาที่ผ่านสื่อมวลชน จะต้องเปลี่ยนแปลง
          
          ที่สำคัญคือ ชาวไร่ชาวนาจะต้องรักที่จะเรียนรู้ และรู้วิธีที่จะเรียน 
          สองประการนี่แหละคือ จุดเริ่มต้น  หนทางและเป้าหมาย ของ "วัฒนะ" ที่แท้จริง

                                           

                                                                                                             Paaoobtong

       

หมายเลขบันทึก: 182167เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2008 02:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ผมกลับไปอ่านทบทวนบันทึกเก่า ๆที่ได้บันทึกไว้เมื่อปีที่แล้ว
  • บล็อกนี้ เน้นการเมืองภาคพลเมือง หรือการเมืองภาประชาชน
  • บันทึกนี้ ผมคิดว่า การศึกษาคือเครื่องมือที่สำคัญ  ในบ้านเราเน้นไปที่การศึกษาในโรงเรียน  เพราะฉะนั้น  ครู น่าจะเป็นผู้นำที่สำคัญในกากรที่จะช่วยให้เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา และผู้ขายแรงงานเข้มแข็งขึ้น
  • อยากเชิญชวนคุณครู มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นนี้ ใครมีความคิดเห็นอย่างไร เชิญนะครับ

                                                                       paaoobtong
                                                                          18/05/52
                                                                                 9:05

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท