คะแนนสอบโอเน็ตต่ำ โรงเรียนจึงมีคุณภาพต่ำด้วย ??


คะแนนสอบโอเน็ตต่ำ  โรงเรียนจึงมีคุณภาพต่ำด้วย ??

สายพิน  แก้วงามประเสริฐ

                ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (ผอ.สทศ.)   ตกใจผลคะแนนสอบโอเน็ตของ   นักเรียนต่ำลง   จึงเตรียมจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา   ที่มีผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  หรือ โอเน็ตต่ำ   โดยมีแผนนำร่องพัฒนา  ๑๐๐  โรงเรียนทั่วประเทศ   ซึ่งจะใช้งบประมาณราว ๆ ๑๐๐  ล้านบาท   แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์  และจัดอบรมครู  จำนวน  ๘๐  ล้านบาท  ส่วนอีก  ๒๐  ล้านบาท  เป็นค่าใช้จ่ายในการติดตามประเมินผลโรงเรียนในรูปแบบเชิงวิจัย

                หากมองผิวเผินแล้ว   ทำให้เห็นว่ามีหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา   เป็นเรื่องที่น่าดีใจ  แต่หากมองอีกทีจะพบว่า  สังคมยังให้ความสำคัญกับคะแนนการสอบค่อนข้างมาก   ถึงขั้นเห็นว่าโรงเรียนที่  นักเรียนสอบได้คะแนนโอเน็ตต่ำ   เป็นโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพ  จึงต้องมีโครงการพัฒนา  หรือสำนวนของ ผอ.สทศ. บอกว่า  สทศ. อยากกระโดดลงไปให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำ

                อาการอยากกระโดดลงมาช่วยเหลือ   เป็นอาการทนเห็นโรงเรียนเหล่านี้มีคุณภาพต่ำต่อไปไม่ได้   และเชื่อว่าการกระโดดลงไปช่วยเหลือครั้งนี้จะทำให้โรงเรียนมีคุณภาพสูงขึ้นจริง   โดย สทศ. มีความเชื่อว่า  การที่เด็กสอบได้คะแนนโอเน็ตต่ำ  น่าจะเป็นเพราะ  ประการแรกครูมีคุณภาพไม่ดี  จึงต้องฝึกอบรมครู  ประการที่สองโรงเรียนเหล่านี้น่าจะขาดซอฟต์แวร์   ประการที่สามต้องปรับปรุงแผนการสอนในรายวิชาที่นักเรียนสอบได้คะแนนน้อย

                โดยภาพรวม สทศ. มองเห็นว่าโรงเรียนใดได้คะแนนโอเน็ตน้อย   เป็นผลมาจากคุณภาพการสอนของครูไม่ดีเป็นประการหลัก   รองลงมาคือการขาดแคลนสื่ออุปกรณ์ที่ทันสมัย   และยังเห็นว่าการที่เด็กได้คะแนนน้อยสะท้อนความด้อยคุณภาพของโรงเรียน

                ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า  คะแนนสอบโอเน็ตคือตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน  คุณภาพของครูจริง ?   ถ้าปัจจัยอยู่ที่ครูเพียงประการเดียว   แสดงว่าถ้าให้ครูในโรงเรียนที่มีคะแนนโอเน็ตสูง ๆ มาสอนเด็กในโรงเรียนที่มีคะแนนโอเน็ตต่ำ  ย่อมทำให้เด็กมีคะแนนเพิ่มขึ้นจริง ?

                ประการต่อมา หากเชื่อว่าคะแนนโอเน็ตสามารถแสดงความมีคุณภาพ  หรือด้อยคุณภาพของ        โรงเรียนได้  จะมีผลทำให้โอกาสทางการศึกษาของเด็กยิ่งน้อยลงไป   เพราะโรงเรียนมีชื่อเสียง หรือโรงเรียนที่มีคะแนนโอเน็ตอยู่ในระดับสูงและระดับ กลาง ๆ  ยิ่งปฏิเสธนักเรียนที่มีผลการเรียนที่ไม่ดี  ทำให้ระบบการสอบแข่งขันเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาเข้มข้นขึ้น   แต่ละโรงเรียนจะใช้ระบบการสอบเข้า  เพื่อให้ได้เด็ก เก่ง ๆ เข้าเรียน  โดยอาจจะไม่พิจารณาเด็กบ้านใกล้  หรือพื้นที่บริการ   เพราะการแข่งขันโดยการสอบทำให้โรงเรียนที่มีชื่อเสียงได้เด็กเก่ง ๆ  เป็นหน้าเป็นตาของโรงเรียน  และของครู  ส่วนเด็กที่คะแนนไม่ดีก็ต้องเรียนในโรงเรียนที่ถูกตราหน้าว่าด้อยคุณภาพ

                นอกจากนี้การพิจารณาว่าคะแนนโอเน็ต   เป็นตัวชี้วัดความมีคุณภาพของโรงเรียน  ย่อมทำให้เด็กที่ทำให้โรงเรียนมีคะแนนต่ำ  รู้สึกด้อยค่ามากขึ้นไปอีก  หากเด็กไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง  จะมีผลดีอะไรต่อสังคม ?

                อีกทั้งการใช้คะแนนเป็นตัวชี้วัดความมีคุณภาพของโรงเรียนหรือของครู   ย่อมก่อให้เกิดความไม่     ยุติธรรมต่อครูผู้สอน   นอกจากถูกประนามกลาย ๆ ว่าสอนอย่างไรเด็กถึงได้คะแนนน้อย   แล้วยังมีความคิดจากผู้ที่ควรจะร่วมรับผิดชอบกับครู  หากแม้การศึกษาจะไม่มีคุณภาพ   แต่กลับเห็นว่าหากคะแนนสอบของเด็กต่ำ  ไม่ว่าจะเป็นคะแนนโอเน็ต  เอเน็ต  หรือ เอ็นที  ควรให้มีผลต่อการต่อใบประกอบวิชาชีพครูบ้าง   หรือการประเมินวิทยฐานะเกณฑ์ใหม่  ก็จะใช้คะแนนสอบเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินการผ่าน หรือไม่ผ่านการประเมินวิทยฐานะ   เสมือนว่าการที่เด็กได้คะแนนน้อย  ควรที่จะจัดการกับความด้อยคุณภาพของครูเป็นสำคัญหรืออย่างไร

ทั้งที่การมองว่าโรงเรียนที่มีคะแนนสอบโอเน็ตต่ำ   เพราะครูมีคุณภาพไม่ดี   น่าจะไม่ถูกต้อง  เพราะโรงเรียนเล็ก ๆ ไม่มีชื่อเสียง  อยู่ในชนบท ไม่มีโอกาสเลือกเด็ก  ซึ่งมักจะได้เด็กที่เรียนอ่อนเป็นส่วนใหญ่  อุปกรณ์การเรียนการสอนไม่เพียงพอ  แต่หากพิจารณาความยากง่ายในการสอนแล้ว  เป็นที่รับรู้กันอยู่ว่าเด็กที่มีคะแนนดี ๆ  ครูสอนได้ง่าย พัฒนาได้ง่าย และบางทีเรียนกวดวิชาจนล้ำหน้ากว่าที่ครูจะสอนด้วยซ้ำ จึงมีความพร้อมในการเรียนมากกว่าเด็กที่มีพื้นฐานการเรียนด้อย หรือสติปัญญาไม่ค่อยดี   และครอบครัวไม่มีความพร้อมที่จะสนับสนุนเท่าใดนัก  แต่เรากลับชื่นชมโรงเรียนดัง ๆ  เด็กเก่ง ๆ  ว่าครูมีคุณภาพดี   ทั้งที่ถ้าพิจารณาอย่างรอบครอบ  ครูโรงเรียนประเภทไหนที่ต้องใช้ความสามารถในการสอนมากกว่ากัน

เป็นเรื่องที่ไม่เห็นน่าจะตกใจอะไร   หากดูรายชื่อ  ๑๐๐  โรงเรียน  ที่เด็กมีผลคะแนนสอบโอเน็ตต่ำ  สันนิษฐานได้ว่า  ไม่น่าจะมีโรงเรียนดัง ๆ ที่มีชื่อเสียง  แต่น่าจะเป็นโรงเรียนที่ไม่มีโอกาสเลือกเด็กเข้าเรียน   และเป็นเด็กที่มีพื้นฐานครอบครัวหลากหลาย   หากเด็กเหล่านี้มีคะแนนโอเน็ตสูง   ก็ควรทำวิจัยเช่นกันว่าเพราะอะไร   หรือไม่ก็ต้องยกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบ   เพราะปัจจัยทางการศึกษาไม่พร้อม  ทั้งสื่อ อุปกรณ์  ระดับสติปัญญา  และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กที่ไม่ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว   หากสอบโอเน็ตได้คะแนนเฉลี่ยสูง   ก็เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอยู่ไม่น้อย

การมองว่าคะแนนสอบของเด็กต่ำ เพราะโรงเรียนด้อยคุณภาพ  มีส่วนทำให้บุคลากรในโรงเรียนเกิดความท้อถอยในการทำงานไม่น้อย   มีโรงเรียนใดที่อยากให้คะแนนสอบของเด็กต่ำ ?  เพราะคะแนนของเด็กพลอยทำให้ทั้งผู้บริหารโรงเรียน  และครู  รวมทั้งชื่อของโรงเรียนได้รับการกล่าวขวัญชื่นชม  จนน่ายินดีปรีดาอยู่ไม่น้อย   แต่บางครั้งการร่วมแรงร่วมพลังทั้งสอนเสริมให้กับนักเรียนหลังเลิกเรียนในทุกรายวิชาที่สอบ  โดยไม่คิดมูลค่า   แต่ผลการสอบก็ยังออกมาไม่ค่อยเป็นที่น่ายินดีเท่าใดนัก   ย่อมแสดงว่าปัจจัยคงไม่ใช่อยู่ที่กระบวนการเรียนการสอนแต่เพียงประการเดียว

หาก สทศ. จะใช้งบประมาณถึง  ๒๐  ล้านบาท  เพื่อติดตามประเมินผลโรงเรียนในรูปแบบเชิงวิจัยแล้ว   น่าจะใช้เงินส่วนหนึ่งในการทำวิจัยเปรียบเทียบว่าเพราะเหตุใด   คะแนนสอบโอเน็ตของโรงเรียนถึงต่ำ   โดยฝากให้เปรียบเทียบปัจจัยต่อไปนี้  ของโรงเรียนที่มีคะแนนสอบโอเน็ตสูง  กับโรงเรียนที่มีคะแนนสอบโอเน็ตต่ำ  คือ

ปัจจัยแรก  กลุ่มโรงเรียนที่มีคะแนนสูงกับกลุ่มที่มีคะแนนต่ำ  โรงเรียนมีชื่อเสียงต่างกันหรือไม่   แต่ละปีมีเด็กแข่งขันสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนเหล่านี้มากน้อยเพียงใด   ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนสองกลุ่มนี้แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างไร

ปัจจัยที่สอง  โรงเรียนสองกลุ่มนี้มีปริมาณครูตามสาขาวิชาเพียงพอมากน้อยเพียงใด   การสนับสนุนให้ครูได้พัฒนาตนเองมีความแตกต่างกันหรือไม่

ปัจจัยที่สาม   วิธีการสอนของครู  ครูโรงเรียนที่เด็กมีคะแนนโอเน็ตสูงสอนเก่งกว่าโรงเรียนที่มีเด็กได้คะแนนโอเน็ตต่ำกว่า  จริงหรือไม่   รวมทั้งแนวคิดจะปรับปรุงแผนการสอนในรายวิชาที่นักเรียนสอบได้คะแนนน้อยนั้น   ทำให้สงสัยว่าหลักการสอนที่ดี  ควรคำนึงถึงความแตกต่างของเด็กเป็นสำคัญมิใช่ ?   ถ้าอย่างนั้น สทศ. จะปรับแผนการสอนอย่างไร  แล้วรู้หรือว่าเด็กแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกันอย่างไร   

ปัจจัยที่สี่   สื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนที่จำเป็นในการจัดการศึกษา   ตลอดจนหนังสืออ่านเพิ่มเติม  ที่ให้นักเรียนใช้ศึกษาค้นคว้า  และงบประมาณสำหรับการจัดหาสื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ  ที่จะเอื้อต่อการเรียน        การสอนของโรงเรียนสองกลุ่มนี้   ไม่นับเฉพาะงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้เท่านั้น   มีความแตกต่างกันหรือไม่   งบประมาณในการจัดการศึกษามีผลต่อคะแนนการสอบของเด็กอย่างไร

ปัจจัยที่ห้า   ความแตกต่างของเด็กสองกลุ่มนี้  ต้องวิจัยด้วยว่า  เด็กมีสภาพพื้นฐาน  ปัจจัยสนับสนุนจากครอบครัวแตกต่างกันหรือไม่   เด็กได้เรียนกวดวิชามากน้อยเพียงใด   เพราะการกวดวิชากลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการสอบไม่ว่าระดับใด ๆ ไปโดยปริยายไปแล้ว   นอกจากนี้เด็กมีเป้าหมายในการเรียนต่างกันอย่างไร   และโอกาสทางการศึกษาของเด็ก   ระหว่างเด็กที่มีความพร้อมในทุกด้าน   กับเด็กที่ไม่มีความพร้อมไปเสียทุกด้าน  ทั้งผลการเรียน  และเงินทุนการศึกษา  ระดับสติปัญญาเด็กสองกลุ่มนี้จะมีผลคะแนนแตกต่างกันหรือไม่

ปัจจัยที่หก  แม้การสอบโอเน็ต  คือการสอบวัดความรู้ขั้นพื้นฐานของเด็ก   ดังนั้นข้อสอบต้องไม่ยากเกินไป  ตราบใดที่โรงเรียนในประเทศไทยยังมีความแตกต่าง  และมีความสามารถที่จะพัฒนาการศึกษาได้แตกต่างกัน   หากวัดที่ปัจจัยสนับสนุนการศึกษา  และความสามารถที่จะดึงเด็กเก่งได้ต่างกัน

การที่เด็กที่เรียนชั้น ม. ๖ ทุกคนต้องสอบโอเน็ต   ข้อสอบจึงต้องมีการหาค่าความยากง่าย  และความเหมาะสมของข้อสอบ   สทศ. คงได้ทำอยู่แล้ว  แต่จากแนวคิดประการหนึ่งของ สทศ. ที่จะพัฒนาโรงเรียน ๑๐๐  โรงเรียนด้อยคุณภาพ โดย สทศ. จะวิเคราะห์ข้อสอบโอเน็ต ให้โรงเรียนทราบว่า  นักเรียนแต่ละ          โรงเรียนทำข้อสอบถูกและผิดข้อใดเป็นส่วนใหญ่   และที่ตอบผิดเป็นเพราะสาเหตุใดจึงตอบผิด

จะหาเหตุผลอย่างไร  จะให้ตามไปถามเด็กว่าทำไมจึงตอบผิด ?   ถ้าข้อใดเด็กตอบผิดเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งใน ๑๐๐  โรงเรียนนี้  ต้องจัดอยู่ในกลุ่มเด็กอ่อน  ดังนั้นข้อสอบที่แม้แต่เด็กอ่อนยังตอบผิดเป็นส่วนใหญ่   แสดงว่าข้อสอบข้อนี้มีค่าความยากง่ายเหมาะสมแล้ว ?

บางทีถ้า สทศ. ลองนำข้อสอบปีที่ผ่านมา และปีก่อน ๆ มาวิเคราะห์ค่าความยากง่าย ความเหมาะสมกับพื้นฐานของเด็กก็ดีเหมือนกัน   เพราะการสอบโอเน็ตเป็นการสอบวัดความรู้พื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องสอบ   ไม่ว่านักเรียนที่มีความประสงค์จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่  หรือเด็กที่เรียนชั้นมัธยมเพื่อให้มีความรู้       พื้นฐานไปใช้ประกอบอาชีพก็ต้องสอบ   ดังนั้นถ้าข้อสอบยากเกินไป  ก็ไม่มีประโยชน์  เพราะถึงอย่างไร  โรงเรียนที่มีเด็กเก่ง   ก็ต้องได้คะแนนสูงเป็นธรรมดา   ส่วนโรงเรียนที่มีเด็กอ่อนก็ต้องได้คะแนนต่ำ   เป็นเรื่องธรรมดาไม่น่าตกใจ   เว้นแต่ สทศ. เปิดเผยผลการวิเคราะห์ข้อสอบ ๔   ชุด ที่ผ่านมา   แล้วพบว่าข้อสอบมีความง่ายมาก   จนไม่น่าเชื่อว่าเด็กจะทำคะแนนไม่ได้  แล้วค่อยตกใจ   แล้วจึงหาวิธีแก้ไขร่วมกับ      โรงเรียน

การนำคะแนนโอเน็ต  มาตีค่าความด้อยคุณภาพของโรงเรียน   โดยไม่พิจารณาปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ประกอบกัน  หรือที่ชอบเปรียบเทียบว่าใครด้อยกว่าใคร  เป็นวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดการชิงดีชิงเด่นกันใช่หรือไม่

หากผลการวิจัยออกมาอย่างไร  แล้วค่อยมาตอกย้ำว่าโรงเรียนที่มีคะแนนโอเน็ตต่ำ  คือโรงเรียนด้อยคุณภาพก็ยังไม่ช้าเกินไป

อย่างไรก็ตาม  เราไม่ควรมองเพียงผิวเผินที่คะแนนสอบเท่านั้น   แล้วเที่ยวแขวนป้ายว่าโรงเรียนใดด้อยคุณภาพ   เพราะคุณภาพของโรงเรียนน่าจะพิจารณาที่ความสามารถในการพัฒนาคนให้มีทั้งความรู้  และความดี  แม้ว่าคะแนนสอบจะเป็นตัวบ่งบอกความรู้ของเด็กก็ตาม   แต่ก็เป็นความรู้ส่วนหนึ่งในอีกหลากหลายความรู้ที่มีอยู่ในโลกนี้   อีกทั้งความรู้ที่โรงเรียนควรพัฒนาให้เด็ก   ควรเป็นความรู้ที่อิงอยู่กับความสามารถ  และศักยภาพของเด็กแต่ละคนเป็นสำคัญ   คงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้เด็กมีความรู้ด้วยการทำ           ข้อสอบได้คะแนนสูง ๆ เช่นเดียวกัน

อีกทั้งงานพัฒนาคุณภาพการศึกษา   มิใช่เพียงแค่ทำให้เด็กสอบได้คะแนนสูง ๆ   แล้วพากันดีใจได้ปลื้มว่าประสบความสำเร็จ   แต่ควรทำให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  ถึงจะได้ชื่อว่ามีส่วนทำให้การศึกษาพัฒนา  โรงเรียนมีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม

 

หมายเลขบันทึก: 182371เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2008 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 07:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตื่นมาเจอบันทึกนี้ ตาสว่างเลยค่ะ ถ้านักเรียนสอบได้คะแนนมากแสดงว่าครูมีคุณภาพสูง โรงเรียนมีคุณภาพสูงใช่ไหม แล้วคะแนนได้มายังไงรู้รึปล่าววว...การที่ครูสอนทั้งปีแล้วเอาข้อสอบ 40 ข้อ ที่เหมือนกันทั้งประเทศมาวัด แค่ครั้งเดียว แล้วก็บอกว่า อย่างงั้น..อย่างงี้ แปลความกันไปทั่ว..มันไม่ยุติธรรมสำหรับครูเลย

  • ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (ผอ.สทศ.)   ตกใจผลคะแนนสอบโอเน็ตของ   นักเรียนต่ำลง   จึง เตรียมจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา
  • ทันที่ที่อ่านบทความนี้จบลง ได้ไปพยายามไปค้นหาหนังสือพิมพ์เก่า ๆ เพื่อดูว่า ผอ.สทศ.ให้สัมภาษร์เช่นนั้นจริงหรือ แต่ก็หาไม่เจอครับ
  • ถ้า ผอ.สทศ.จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน แล้ว เลขาธิการ สพฐ.จะย้ายไปทำหน้าที่อะไร  อาจารย์สายพินพูดเล่นหรือเปล่าครับนี่
  • การทดสอบ O-NET ถือเป็นไม้บรรทัดกลาง ที่ใช้วัดคุณภาพ เพื่อทุกคนที่เกี่ยวข้องจะได้รู้ว่า "เรามีคุณภาพอยู่ ณ ระดับใด" จะได้ร่วมกันพัฒนาให้เต็มตามศักยภาพของเด็ก"  บางโรงเรียนต่ำเพราะพื้นฐานเด็กไม่ดี  บางโรงเรียนต่ำเพราะวิธีการสอนหรือกิจกรรมการเรียนรู้   บางโรงเรียต่ำเพราะไม่มีความพร้อมด้านผู้สอน เช่นครูสอนไม่ตรงวุฒิ ฯลฯ ก็ต้องแก้หรือพัฒนากันตามสาเหตุของปัญหา
  • ถ้ามีเงินร้อยล้านจริง   การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 100 โรง เฉลี่ยโรงละล้าน  ให้ไปโรงละล้าน ให้แต่ละโรงทบทวนปัญหาของตนเองและคิดแนวทางการแก้ปัญหา ทุกอย่างก็น่าจะดีขึ้นแล้ว
  • เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะตีค่าคะแนนที่ได้นั้นจะแสดงถึงคุณภาพการเรียนการสอนรวมถึงคุณภาพของนักเรียน
  • ข้อสอบเดียวกันก็จริงอยู่แต่การจัดสอบแต่ละสถานที่มีมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ ผู้คุมสอบเอาจริงเอาจังเหมือนกันหรือเปล่า
  • กระบวนการจัดสอบมีผลมาก นักเรียนทุกวันนี้มีความสามารถในการทำข้อสอบสูง(ความสามารถการเรียนอาจจะไม่สูงก็ได้)
  • กระบวนการประเมินคุณภาพต้องทำให้ครอบคลุมด้านต่างๆ ให้ครบ ต้องระดมกันอย่างกว้างขวาง

 

เรียน อาจารย์สุพักตร์ อาจารย์คะไม่ได้พูดเล่นนะคะ ในหนังสือพิมพ์มติชน ค่ะ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นวันที่ ๑๗ เมษา หรืออาจก่อนหน้านี้ไม่เกินวันสองวันค่ะ ผอ.สทศ.ให้สัมภาษณ์อย่างนั้นจริง ๆ (ตามหนังสือพิมพ์ค่ะ)

เห็นด้วยกับคุณnongyao_chamchoy นะคะ ถ้าจะเอาข้อสอบแค่ ๔๐ ข้อมาวัดว่าการศึกษาพัฒนาหรือไม่ ครูสอนดีหรือไม่ รู้สึกไม่แฟร์สำหรับครูผู้สอน และเห็นด้วยกับคุณประถม ว่ามีปัจจัยตั้งหลายอย่างที่ทำให้คะแนนแตกต่างกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท