กิจกรรมในครอบครัวเพื่อเพิ่มต้นทุนชีวิตสำหรับลูก


"การทานข้าวพร้อมกับลูก" "การดูทีวีร่วมกับลูก" "การไปเดินออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับลูก" โดย มีการพูดคุย แลกเปลี่ยน สอน หรือสอดแทรกแง่คิดต่าง ๆ เข้าสู่ลูกขณะทำกิจกรรม ฯลฯ การกระทำเหล่านี้ช่วยเพิ่มต้นทุนชีวิตและเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ลูก ป้องกันการเกิดภาวะเสี่ยงในชีวิตลูก ได้เป็นอย่างดี

 

       เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2551 ผมได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์คุณหมอสุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(โรงพยาบาลเด็ก)  เพื่อการประเมินแผนการเรียนรู้สู่สุขภาวะ ของ สสส. คุณหมอให้ข้อคิดหลายอย่างในเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชน  สิ่งหนึ่งที่คุณหมอพูดถึง คือ เด็กแต่ละคนมีต้นทุนในชีวิตแตกต่างกัน  ถ้าเรามีเครื่องมือดี ๆ เราจะสามารถวัดได้ว่าลูกของเรา หรือคนในครอบครัวเรา มีต้นทุนในชีวิตมากน้อยเพียงใด เพียงพอที่จะคุ้มกันไม่ให้เกิดภาวะเสี่ยงในชีวิตได้หรือไม่

 

       ต่อมา เช้าวันที่ 17 พ.ค.51  9.30 น. ได้อ่านบันทึกของ นายทอง ใน G2K เรื่อง สอนลูก...จากฉากหนึ่งในทีวี(http://gotoknow.org/blog/naitong/182918  )  

 

จากการฟังและการอ่าน 2 เรื่อง ดังกล่าวข้างต้น แนวคิดของคุณหมอสุริยเดว และนายทอง เป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน เป็นเรื่องของการสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กไทย ในการนี้ ทำให้ผมนึกถึงงานวิจัยเรื่องหนึ่งที่ตนเองเคยทำ ในปี 2539-40 เรื่อง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการติดยาเสพติดของเยาวชนในสถานศึกษา ในงานวิจัยเรื่องนั้น  มุ่งหาตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการติดยาเสพติดของเยาวชนในสถานศึกษา  ซึ่ง ข้อค้นพบที่สำคัญ ประการหนึ่ง คือ บรรยากาศในครอบครัว และที่โรงเรียน เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการติดยาเสพติดของเยาวชน  เฉพาะบรรยากาศในครอบครัว พบว่า "การทานข้าวพร้อมกับลูก"  "การดูทีวีร่วมกับลูก" "การไปเดินออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับลูก" โดย มีการพูดคุย แลกเปลี่ยน สอน หรือสอดแทรกแง่คิดต่าง ๆ เข้าสู่สมองของลูกขณะทำกิจกรรม  หรือใช้สถานการณ์ในทีวี เป็นสื่อในการร่วมอภิปราย และเสนอแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน   ฯลฯ  การกระทำเหล่านี้ช่วยเพิ่มต้นทุนชีวิตและเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ลูก ป้องกันการเกิดภาวะเสี่ยงในชีวิตลูก ได้เป็นอย่างดี  บรรยากาศเหล่านี้ จะไม่ปรากฏในครอบครัวของเด็กที่ติดยาเสพติด แต่ปรากฏให้เห็นอย่างมากในครอบครัวเด็กดี ๆ ทั่วไป

อ่านบันทึกของ นายทอง แล้ว ก็ย้อนคิดว่า เมื่อไหร่จะมี

คู่มือครอบครัวไทย เสียที จะช่วยให้สามารถเพิ่มคุณพ่อ-คุณแม่ที่มีคุณภาพอย่าง นายทองให้มากขึ้นได้แน่ๆ ครับ..จะช่วยเพิ่มต้นทุนชีวิต และวัคซีนในการป้องกันเด็กและเยาวชน จะช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

      

หมายเลขบันทึก: 182925เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2008 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • เข้ามาอ่านเพราะสนใจว่าใกล้ตัว แต่ผมยังนึกภาพไม่ออกครับเรื่องคู่มือครอบครัวไทย จะออกสไตล์ไหน ซึ่งเข้าใจว่ามีประโยชน์แน่ ๆ
  • คู่มือที่ว่าจะนำไปสู่การใช้จริงอย่างไร คือประเด็นที่ผมใคร่ครวญคิดครับ

สวัสดีครับ นายทอง

  • ดีใจมากครับที่ได้เจอ
  • น่าจะจัดทำในรูปคู่มือพ่อแม่ เพื่อการพัฒนาศักยภาพของลูก หรือเป็นชุดกิจกรรมที่พ่อแม่ควรทำ
  • ถ้าโรงเรียน หรือเขตพื้นที่การศึกษาเป็นคนทำ ก็น่าจะแจกไปยังพ่อแม่ได้  และประเมินผลการใช้ ได้ด้วย
  • ขณะนี้ สพท.นนทบุรี เขต 2 กำลังเตรียมจัดทำ คู่มือการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์  และคู่มือ การเลี้ยงดูบุตรที่ถูกวิธี(ทำนองนี้) โดยขอรับการสนับสนุนจาก อบต.ครับ  ดูที่

         http://gotoknow.org/blog/sup001/178244

  • ขออนุญาตทิ้งความเห็นไว้ที่บันทึกนี้ หลังจากได้ติดตามไปอ่านตามที่ลิงค์ไว้ให้
  • สิ่งหนึ่งที่เห็นคือภารกิจงานของฝ่ายการศึกษาที่วกเข้ามาคาบเกี่ยวกับภารกิจของฝ่ายสาธารณสุข
  • เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้เลยหากคนทำงานไม่ทิ้งกรอบเดิม กระบวนทัศน์เก่าต่อประชาชน และพลเมืองที่รับผิดชอบ
  • ดีใจมากครับที่เกิดเรื่องราวนี้ขึ้นที่พื้นที่เขตการศึกษาที่นี่
  • ประเด็นที่ผมสนใจคือท่านได้ก้าวผ่านการตอบคำถามว่าได้กระทำเหนือหน้าที่อย่างไร จึงเกิดโครงการดี ๆ ที่เป็นต้นแบบของการบูรณาการเพื่อชีววิตได้เช่นนี้
  • ขอแสดงความนับถือ และผมจะจดจำตัวอย่างนี้ไปบอกเล่าที่อื่นตามแต่โอกาสจะอำนายนะครับ

เรียน นายทอง

  • ขอบคุณมาก ๆ อีกครั้งครับ ที่สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง
  • ผมทำหน้าที่เป็นประธานบอร์ดเขตพื้นที่การศึกษาของนนทบุรี เขต 2 เราเจอปัญหาประการหนึ่ง คือ "ตัวป้อน หรือนักเรียนที่เข้าเรียนชั้น ป.1 ไม่ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ ไม่มีความพร้อม" ทำให้ยากแก่การจัดการศึกษา ให้มีคุณภาพ จึงเกิดแนวคิดว่า "จะต้องดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และ ในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต" เพื่อเตรียมความพร้อมของเด็ก(แม้จะจัดทำคู่มือการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ได้พุ่งเป้าที่ดูแลมารดานะครับ)
  • เราเชื่อว่า การสอนสุขศึกษา สอนให้คนดูแลสุขภาพตนเอง คงไม่มีใครเหนือกว่ากระทรวงศึกษาธิการ เพราะ กระทรวงศึกษาธิการมีเด็กอยู่ในความดูแล 18-19 ล้านคน ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ไม่มีเด็กอยู่ในความดูแลที่ชัดเจน  อีกทั้ง "สุขนิสัย สุขภาพกาย และสุขภาพจิต" เป็น 1 มาตรฐานในการจัดการศึกษาของประเทศ  ซึ่งเราเชื่อว่า การดูแลเด็กที่ดีที่สุด คือ "การดูแลและการจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กทั้งหมด ทั้งที่โรงเรียน  ที่บ้าน และ ในชุมชน" (จึงเกิดแนวคิดเรื่อง สื่อสำหรับพ่อแม่  สโมสรเยาวชนระดับตำบล ไงครับ)
  • ในปี 2551 นี้ ถ้าเราทำสำเร็จที่ สพท.นนทบุรี เขต 2 เราเชื่อว่าจะเกิดผลกระทบต่อการผลักดันให้เกิดผลในวงกว้างทั่วประเทศต่อไป

ปัญหาครอบครอบแตกแยก หย่าร้างมีมาก เพราะมีครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย(เสียสาวเมื่ออยู่ ม.ศ.)นักเรียนต้องอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ไม่มีเวลาได้เลี้ยงดูอย่างเต็มที่ เด็กก้าวร้าว ไม่สนใจการเรียน ขาดเรียน ตอนอยู่ประถมยังไม่ค่อยเท่าไร แต่พออยู่ระดับมัธยมสิ มีปัญหามากขึ้นเป็นปัญหาสังคม ทำลายของส่วนรวม เช่น ม้านั่งหินในสวนสาธารณะ ที่โรงเรียน งัดแงะโรงเรียน ขีดเขียนฝาผนังโรงเรียน ลักเล็กขโมยน้อย และที่ตามมาอีกคือปัญหาเรื่องเพศ ยาเสพติด แก้ปัญหายาก ทั้งๆที่เมื่อระดับประถมโรงเรียนได้ดูแลเป็นอย่างดี กินอาหารกลางวันฟรีทุกคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท