องค์กรชุมชนฐานความเข้มแข็งชุมชน>> ภายใต้ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข


ปมเล็ก ๆ ในกลุ่มป็นบ่อเกิดแห่งการเกิดความขัดแย้งความไม่เข้าใจกันในกลุ่มได้ไม่ยากนัก

              บันทึกเขียนนี้ไว้หลายวันแต่ไม่ได้นำขึ้นเสนอ  เป็นบันทึกจากที่ได้ติดตามโครงการภายใต้ยุทธศาตร์อยู่ดีมีสุข  ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับผู้นำชุมชน  และพบข้อสังเกตุที่เห็นว่าควรจะให้ข้อคิดแก่ผู้นำ  เนื่องจากผมได้รับมอบจากทีมที่ออกเดินทางไปด้วยกันว่ายกให้คุยกับผู้นำชุมชน
ก็นำประสบการณ์ที่มีให้ผู้นำเป็นข้อคิดและวิเคราะห์ย้อนหลังพิจารณาในกิจกรรมที่กำลังดำเนินการแก้ไขเสียก่อนที่ยังไม่สาย  โดยในบางส่วนของการบริหารจัดการขององค์กรชุมชนถ้าพลาดถึงกับทำให้ชุมชนเสียขวัญ  ผมอาจใช้คำที่หนักไปหน่อย  แต่ว่าเรื่องนี้เป็นจริงถ้าหากเขาขาดศรัทธาในตัวผู้นำว่าทำทุกครั้งพังทุกครั้ง  แล้วครั้งต่อไปความมั่นใจไม่มี  ความร่วมมือก็น้อยลง  

              วันที่ 14  พฤษภาคม  2551   เดินทางไปเยี่ยมติดตามโครงการ ณ อำเภอเชียรใหญ่  ตั้งแต่เช้าถึงอำเภอได้การต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ของอำเภอ  และท่านก็เล่าที่ไปที่มาพอคร่าว ๆ แล้วก็วางแผนเดินทางเยี่ยมกลุ่มต่าง ๆ กัน

 

๐ กลุ่มส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง 

เป็นกลุ่มที่ผมได้รับมอบหมายจากท่านพัฒนาการจังหวัดหัวหน้าชุดที่ไปด้วยกันว่า  เป็นกลุ่มอาชีพเกษตรขอให้ช่วยดูแลเป็นพิเศษ  เพราะตรงกับงานว่าอย่างนั้นครับ 


              กลุ่มนี้อยู่บ้านคลองแดน  หมู่ที่  10  ตำบลเชียรใหญ่    อำเภอก็เชียรใหญ่ครับ
 การบริหารของกลุ่มได้วางระเบียบกลุ่มได้   โดยมีกระบวนการคือ คณะกรรมการบริหารยกร่างข้อบังคับกลุ่มก่อน  แล้วนำเข้าผ่านการรับรองของที่ประชุมใหญ่ของกลุ่มหรือแสดงประชามติในกลุ่ม   ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีชุดคณะกรรมการเข้มแข็งและเสียสละทำงานเพื่อชุมชนอย่างดียิ่งกลุ่มหนึ่ง    มีรายงานการประชุมแสดงให้ตรวจสอบได้    มีการประชุมทำข้อตกลงไว้ในหลายกิจกรรมโดยเฉพาะทำข้อตกลงเรื่องการจัดหาพันธุ์ข้าวปลูก(พันธุ์ข้าวสังข์หยด)   ซึ่งได้มีการบันทึกรายงานการประชุม  

             ผมได้สอบถามข้อมูลเรื่องการบริหารในส่วนของความยั่งยืนของโครงการว่าทำอย่างไรให้งบประมาณที่ได้ไปส่วนหนึ่งที่ราชการสนับสนุนไปสามารถอยู่ยั่งยืนได้กับชุมชน  ทางประธานกลุ่มและผู้ใหญ่บ้านก็เล่าไปให้ฟังในหลาย ๆ ด้านผมก็วิเคราะห์จับประเด็นตามไปเรื่อย ๆ มีส่วนที่ผมจำเป็นต้องให้ประธานกลุ่มและผู้ใหญ่บ้านทบทวนและกลุ่มควรปรับปรุงข้อตกลงในการบริหารคือ
  - กลุ่มได้ตกลงกันว่า   เมื่อสมาชิกลุ่มยืมพันธุ์ข้าวปลูกไปปลูกและได้ผลผลิตเมื่อครบตามช่วงอายุฤดูกาลแล้ว  ให้สมาชิกนำผลผลิตมาคืนให้กับกลุ่ม  ในอัตรา  ยืม 5 ถัง  คืนให้  6  ถัง  หลังจากนั้นกลุ่มจะรวบรวมพันธุ์ข้าวเก็บไว้ให้ยืมต่อในฤดูกาลถัดไป

 
         ปัญหาที่ผมทำนายว่ากลุ่มนี้จะพบในโอกาสต่อไป  
  
 1. การเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวจำนวนมาก ๆ จากสมาชิกหลาย ๆ คน  กลุ่มคงไม่สามารถจัดการกับความชื้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้   พันธุ์ข้าวอาจจะไม่งอกในฤดูกาลถัดไป ผู้ที่ต้องรับหน้ากับสมาชิก คือกรรมการบริหาร
 2. สถานที่เก็บพันธุ์ข้าวเป็นจำนวนมาก ๆ คงทำได้ยากในชนบทหากจัดการได้ไม่ดีข้าวจะเสียหายจากศัตรูแมลง และน้ำฝน  กลุ่มมีอัตราสี่ยงสูงในเรื่องนี้   และเป็นเหตุให้เปอร์เซ็นความงอกต่ำ
 3. ความสูญเสียจากเมล็ดพันธุ์  เช่น สูญหายตกหล่น  สัตว์เลี้ยงกิน  ซึ่งเป็นภาระที่คณะกรรมการบริหารกลุ่มต้องดูแล  จะทำให้ภาระมีมากขึ้น  เกิดความขัดแย้งในกลุ่มได้ง่าย ๆ
 4. เมล็ดพันธุ์ที่เก็บมาทำพันธุ์หากจัดการไม่ดี  หรือไม่ได้ทำตามขั้นตอนทางวิชาการแล้วจะให้ผลผลิตต่ำ 

              จำเป็นที่ต้องแนะนำหน่อยเพื่อให้คิดทบทวนคือ......
 คือเมื่อกลุ่มรวบรวมผลผลิตข้าวที่กลุ่มมองว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่จะใช้ในฤดูกาลถัดไปนั้น   กลุ่มควรจะขายข้าวจำนวนนั้นไปเป็นข้าวสำหรับบริโภค   และเก็บเงินเป็นทุนของกลุ่ม  แล้วค่อยจัดหาพันธุ์ข้าวใหม่จากที่ทางราชการผลิตไว้บริการเกษตรกรเมื่อใกล้ถึงฤดูกาลถัดไป จะช่วยลดความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้าน  เช่น  เปอร์เซ็นต์ความงอก   ภาระของคณะกรรมการบริหารกลุ่มที่ถ้าดำเนินการตามที่วางไว้มีภาระที่ต้องรับผิดชอบมาก  ไหนจะต้องทำงานส่วนตัว  และงานส่วนรวมก็จะสร้างความหนักใจให้กับครอบครัวอีก  ค่าใช่จ่ายที่กลุ่มต้องจ่ายเป็นค่าเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าว   และลดความเสี่ยงในเรื่องสังคม   ปมเล็ก ๆ ในกลุ่มป็นบ่อเกิดแห่งการเกิดความขัดแย้งความไม่เข้าใจกันในกลุ่มได้ไม่ยากนัก  แต่เมื่อเราจัดการก่อนเมื่อเจอก่อนก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้   
 

คำสำคัญ (Tags): #ชุมชนเข้มแข็ง
หมายเลขบันทึก: 183058เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2008 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท