ยุทธการขยับ CAR... 6) การรายงานค่าอ้างอิง ค่าวิกฤต


ค่าอ้างอิง คือค่าของผลการทดสอบที่ได้จากลุ่มประชากรที่มีสุขภาพดี ส่วนค่าวิกฤต คือค่าผลการทดสอบที่ผิดปกติของผู้ป่วย ที่ต้องรีบแจ้งแก่แพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อให้วางแผนการรักษาได้ทันท่วงที

ในวันนั้น...(วันที่มีการตรวจประเมินของ สมป.) พี่เม่ยเองนอกจากจะต้องคอยรับคำแนะนำในหน่วยงานของตนเองแล้ว  ก็ยังรับหน้าที่ติดตามอาจารย์นฤดี ผู้ตรวจประเมินของ สมป. ไปทุกหนทุกแห่ง (หน่วยงานอื่นๆ) เพื่อเก็บประเด็นคำถาม  คำแนะนำ และคำตอบ นำมาใช้ในการปรับปรุงพัฒนางานด้านคุณภาพของภาควิชาต่อไป....

หลังจากที่อาจารย์นฤดี ผู้ตรวจประเมินของ สมป. ขอดูนั่น ดูนี่ ในหน่วยฮีมาโต จนเวลาล่วงเลยไปเกือบ 3 ชั่วโมงได้....พี่เม่ยก็ถือโอกาสกระซิบกับท่านว่า "อาจารย์ขา  เที่ยงแล้วค่ะ  เชิญอาจารย์ไปทานข้าวก่อนดีไหมคะ  เดี๋ยวอาจารย์ต้องไปตรวจอีกตั้งสองหน่วยงานนะคะ..."  อาจารย์ท่านพยักหน้าเห็นด้วย  รวบรวมเอกสารเตรียมไปรับประทานอาหาร

ระหว่างนั้นเอง อาจารย์ท่านคงนึกได้ว่ายังไม่ได้ดูกระบวนการหลังการตรวจวิเคราะห์เลย  ท่านจึงเดินไปดูที่คอมพิวเตอร์รายงานผล  แล้วคำถามก็เกิดขึ้นทันทีว่า "เอ๊ะ! ที่นี่เค้ารายงานผลผู้ป่วย ไม่มีค่าอ้างอิงแนบไปด้วยหรือ?... อ้อ...แล้วมีการรายงานค่าวิกฤตของ CBC บ้างไหม?..."

แหม! เหมือนนิยายหักเหลี่ยมหักมุม ให้พระเอกตายตอนจบยังไงยั้งงั้นเชียว  เพราะประโยคที่พี่เม่ยตอบออกไปนั้น สั้นและได้ใจความที่สุดว่า "ไม่มีค่ะ ทั้งเรื่องค่าอ้างอิง และค่าวิกฤต"

แล้วเราก็ได้ CAR เพิ่มมาทันทีอีกสองข้อ ตามข้อกำหนด 5.8.3 ว่า "ไม่มีค่าอ้างอิงในใบรายงานผลของ CBC"  และตามข้อกำหนด 5.8.8 ว่า "ไม่ได้กำหนดค่าวิกฤตของการทดสอบ CBC"

ยัง...ยังไม่พอ  ระหว่างนั้นเอง ท่านก็เห็นว่าเราส่งแผ่นสไลด์ไปให้แพทย์ ในกรณีที่แพทย์ต้องการ review ด้วยตนเอง ด้วยการติดสก็อตเทปแนบไปกับใบรายงานผล ส่งไปซื่อๆอย่างนั้นแหละ  ท่านจึงแนะนำว่าไม่ควรทำเช่นนี้  เพราะหากสไลด์แตกระหว่างทางก็อาจจะเป็นอันตรายกับผู้ส่งผลได้  ควรหาถุงพลาสติกเล็กๆมาใส่  แล้วก็แถม CAR พิเศษก่อนอาหารเที่ยง ตามข้อกำหนด 5.3.12 ว่า "การนำส่งกระจกสเมียร์เลือด ใช้ scotttape ติดไปกับใบ request ซึ่งไม่ปลอดภัย"

มาให้พี่เม่ยทานเป็นมื้อกลางวันในวันนั้น....

(.....รู้สึกว่าวันนั้นทานมื้อเที่ยงไม่อร่อยเลยค่ะ  ฝึดๆคออย่างไรพิกล...T_T)

ไม่เป็นไรค่ะ ทำจากง่ายไปยาก  โชคดีที่ช่วงนี้ โปรแกรมเมอร์กำลังจะเปลี่ยนโปรแกรมรายงานผลให้ใหม่  จึงต้องมีการสื่อสารในรายละเอียดกันหลายเรื่อง พี่เม่ยจึงขอให้เพิ่มค่าอ้างอิงลงในโปรแกรมใหม่ที่จะใช้งานต้นเดือน มิ.ย. นี้ให้ด้วย  ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างทดลองใช้งานก็ดูท่าจะไปได้สวยค่ะ

นี่เป็นตัวอย่างหน้าจอรายงานผลระบบใหม่ ที่มีค่าอ้างอิงแนบท้ายผลการทดสอบของผู้ป่วยด้วย  (ในกรอบสี่เหลี่ยมสีแดง) คิดว่าราวต้นเดือนหน้าก็ได้ใช้งานจริงแล้วค่ะ

พี่เม่ยวางแผนไว้ว่า พอเริ่มใช้งานจริง เราก็จะสั่งพิมพ์รายงานผลนี้ลงบนกระดาษ แนบเป็นหลักฐานการแก้ไขไปด้วย พร้อมภาพถ่ายหน้าจอรายงานผล....

ส่วนเรื่องค่าวิกฤต เราก็กำลังดำเนินการอยู่  เริ่มจากปรึกษากับอาจารย์แพทย์หัวหน้าหน่วย กำหนดค่าวิกฤต พร้อมเงื่อนไขที่จะต้องรายงานผลทางโทรศัพท์  หลังจากนั้นก็ค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บต่างๆ ดูตัวอย่างห้องปฏิบัติการอื่นๆว่าเขากำหนดกันอย่างไร  ตอนนี้ส่งข้อมูลเบื้องต้นไปให้หัวหน้าภาควิชาแล้ว  เพื่อขอปรึกษากับแพทย์ผู้รับบริการในสาขาต่างๆว่าต้องการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมในรายการใดบ้าง  ในขณะเดียวกันเราก็ต้องพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะรายงานผลเหล่านี้ทุกรายการด้วย...เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็จัดทำตารางค่าวิกฤต และจะแจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานต้องรายงานค่าวิกฤตทุกราย  และที่ลืมไม่ได้คือต้องจัดทำสมุดบันทึกการรายงานค่าวิกฤตให้ผู้ปฏิบัติงานบันทึกเมื่อมีการรายงานทุกครั้งด้วย....

เสร็จไปสองรายการ  ยังค้างเรื่องการนำส่งแผ่นสไลด์ ที่ยังหาทางออกแบบสวยๆไม่ได้  ทั้งๆที่เรานำเข้าที่ประชุมติดต่อกันสองครั้งแล้ว เพื่อระดมสมองปรับปรุงวิธีการนำส่งใหม่ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น....ซู่..ซู่ ต่อไป..ให้ถึงเป้าหมายน่า พี่เม่ย นะ!
คำสำคัญ (Tags): #iso15189
หมายเลขบันทึก: 183122เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2008 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พี่เม่ยบันทึกได้ละเอียดมากๆๆ ชอบจริงๆๆครับ ดีใจที่ได้อ่านบันทึกพี่เม่ยบ่อยๆๆ ชอบๆๆครับ

การถูก audit ก็เป็นการปรับปรุงงานของเราให้เข้าสู่มาตรฐานที่ควรจะเป็นครับ..เป็นกำลังใจ แก้ CAR ให้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท