Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

พระศากยมุนีพุทธเจ้า : บทที่ 3 นัยสำคัญเมื่อตอนที่ยังทรงพระเยาว์


ประวัติและคำสอนของพระศากยมุนีพุทธเจ้า หนังสือธรรมจากประเทศ สิงคโปร์ แปลโดย ญาณภัทร ยอดแก้ว ปธ.9

            นับตั้งแต่วันที่พระสิทธัตถะประสูติจนถึงวันตรัสรู้ มีเรื่องราวเพียงน้อยนิดที่ใช้สอนและขยายความพระสูตร อันที่จริงพุทธประวัติตอนนี้เป็นเพียงเกริ่น ๆ ไว้และให้พิจารณาเพียงเล็กน้อยในฐานะเป็นอารัมภบทสู่หลักคำสอนเท่านั้น

            ผู้เขียนได้ไตร่ตรองถึงเรื่องราวตอนนี้  โดยบรรยายถึงและนำสู่การตีความเนื้อหา  เพื่อใช้ในฐานะเป็นเครื่องมือให้เข้าถึงแก่นคำสอนของพระพุทธเจ้า

            เมื่อครั้งพระองค์ทรงพระเยาว์ เจ้าชายสิทธัตถะทรงสมบูรณ์ด้วยสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงประสงค์ ทรงมีนางสนมมากมายคอยรับใช้ดูแล ในด้านการศึกษาของพระองค์ ครูถูกสรรหามาถวายความรู้แด่พระองค์เป็นพิเศษในแต่ละศาสตร์ ทรงชำนาญเป็นอย่างดีในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์และภารกิจทั้งสิ้นของพระองค์ เรื่องราวเกี่ยวกับการฝึกในการสงครามของพระองค์ ถูกดำเนินการโดยเหล่าทหารในกองทัพของพระราชบิดา ไม่มีอะไรขาดตกบกพร่องเลย แม้ในเวลาที่ทรงเป็นพระกุมาร พระองค์ทรงมีพระสหายมากมายแวดล้อมพระองค์ เป็นธรรมดาอยู่เองในแต่ละวันพระองค์ทรงได้รับการคุ้มกันดูแลเป็นอย่างดีโดยเหล่าราชบุรุษ (ทหารหลวง) พระกระยาหารอย่างดี เครื่องทรงทำด้วยผ้าแพรไหมชั้นเลิศมีอยู่ตามปกติ ทรงมีม้าพระที่นั่งที่พิเศษในตอนที่ทรงเป็นหนุ่ม ดุจเดียวกันกับเด็กผู้มั่งคั่งทั้งหลาย สิ่งหรูหราที่ถูกต้องได้ถูกจัดเตรียมไว้เพื่อพระองค์ โดยพระราชบิดาของพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระราชา ไม่มีสิ่งใด ๆ บั่นทอนความอุดมสมบูรณ์เลย  ทุกสิ่งมีอยู่อย่างครบครัน พระชนม์ชีพของพระองค์เป็นสิ่งที่ได้รับการทะนุถนอมอย่างดี พระราชบิดาได้ทรงจัดการทุกสิ่งทุกอย่างเพียบพร้อมและให้ความสำราญพระองค์เต็มที่โดยไม่ละทิ้งพระองค์

            วิถีชีวิตเช่นนี้ซึ่งพระสิทธัตถะทรงดำเนินชีวิตไม่แตกต่างไปจากโลกียวิสัยทั่ว ๆ ไปของพวกเรามากนักและพระองค์ได้รับการคุ้มครองวิถีชีวิตที่ดีเช่นนี้ไว้อย่างดีทีเดียว แต่แตกต่างกันเพียงเรื่องที่พระสิทธัตถะทรงใช้ชีวิตอย่างนั้นเพียง 29 ปีเท่านั้น  ก่อนที่จะทรงแสวงหาและเข้าถึงความจริง เพราะเราใช้ชีวิตจากช่วงหนึ่งไปสู่ช่วงหนึ่งโดยปราศจากการบรรลุถึงความจริงในสรรพสิ่ง เราจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ โดยที่วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏนั้นจากภพชาติหนึ่งไปสู่อีกภพชาติหนึ่ง ไม่หยุดหย่อน  เมื่อผ่านพ้นประสบการณ์ชีวิตที่อยู่ในการคุ้มครองดูแลตลอด 29  ปี พระสิทธัตถะทรงตัดสินพระทัยที่จะค้นหาความหลุดพ้นเพื่อยุติการเกิดและการตาย ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ทุกคนต้องประสบ การตัดสินพระทัยเช่นนี้ของพระองค์  เนื่องจากพระสิทธัตถะได้ทรงพบเห็นเทวทูต 4 ในคราวที่เสด็จหลบหนีออกจากพระราชพร้อมด้วยบริวารของพระองค์ (นายฉันนะและม้ากัณฐกะ) ในเวลานั้น  พระกรุณาและพระเมตตาอันยิ่งใหญ่มีล้นอยู่ในพระทัยของพระองค์ โพธิจิตไหล่หลั่งออกจากพระทัยของพระองค์ พระองค์ทรงเปี่ยมล้นด้วยพระกรุณาสำหรับเหล่าสัตว์ทั้งปวงและทรงมั่นคงที่จะแสวงหาหนทางที่จะฉุดรั้งเหล่าสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์ของพวกเขาให้ได้

            โดยปกติแล้ว เหล่าสัตว์ใช้ชีวิตของพวกเขาดำรงอยู่โดยมุ่งแสวงหาทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ อาหาร เพศและการหลับนอนในกามคุณทั้ง 5  

พวกเขาปล่อยใจไปตามอำนาจแห่งความโลภในเรื่องทรัพย์สมบัติอย่างไม่หยุดหย่อน

พวกเขาดิ้นรนที่จะสร้างชื่อเสียงของพวกเขา  โดยการสร้างความเสียหายให้เพื่อนมนุษย์เหมือนอย่างศัตรู  

พวกเขาเพียบพร้อมไปด้วยหญิงที่น่าพึงปรารถนา 

พวกเขามัวเมาอยู่ในอาหารอันหรูหราและการหลับนอนอย่างไม่หยุดหย่อน 

            เมื่อไรก็ตามที่มีใครสักคนหนึ่งทักท้วงเกี่ยวกับความโลภของพวกเขา   พวกเขาก็จะโต้ตอบโดยทันทีว่า ใคร ๆ เขาก็เป็นอย่างนี้กันทั้งนั้นแหล่ะ  พวกเราเป็นเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งของคนจำนวนมาก              

            ท้ายที่สุด เมื่อความตายมาเยือนพวกเขา  ทันทีที่พวกเขาเกิดในภพใหม่ ในชีวิตใหม่นั้น วิถีชีวิตแบบใหม่ของพวกเขา เขาก็ยังตะเกียกตะกายและแข่งขันกันที่จะมีวิถีชีวิตเช่นนั้นอีก

            ในระหว่าง 6 ปี แห่งการแสวงหาของพระองค์ พระสิทธัตถะทรงสนใจคำสอนของเจ้าลัทธิมากมาย   แต่ในขณะเดียวกัน  เจ้าลัทธิเหล่านั้นโดยทั่วไปก็นิยมการทรมานตนให้ลำบาก ได้แก่  การบำเพ็ญตบะอย่างฤาษี วิธีการเหล่านี้รวมไปถึงการทรมานตนให้เจ็บปวด  เหมือนอย่างการนอนบนเตียงเหล็กแหลมและหนาม การพักอยู่ในท่ามกลางฝูงโคและที่โล่งแจ้งตลอดคืนวัน  การอดอาหาร  การขอทานและอาหาร  เป็นต้น  การปฏิบัติเช่นนี้ทั้งหมดเป็นสิ่งไร้แก่นสาร  ไม่สามารถนำให้พ้นจากทุกข์ได้  เป็นความพยายามที่ไร้ผลทั้งสิ้น

            นับถอยหลังไปจาก 6 ปีแห่งการแสวงหาบทสรุปทั้งหลาย ธรรมจริยา(หรือศีลธรรม)มีลักษณะที่เป็นเช่นนี้   ไม่มีเจ้าลัทธิคนใดเลยที่ค้นพบความจริงเลย   อันที่จริงไม่จำเป็นต้องมุ่งหมายถึงทุกข์ของบุคคลหรือทุกข์ทางกายเลย  เพื่อที่จะปฏิบัติตามแนวทางพระพุทธศาสนา   ไม่มีความจำเป็นที่จะมองหาไปภายนอกเพื่อขอความช่วยเหลือ  หากแต่ควรมองมาสู่ภายในของตนเอง  สรรพสิ่งซึ่งเป็นที่ต้องการตามหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาสามารถพบได้ภายในตน เพราะพุทธภาวะมีอยู่ภายในตัวของเราแต่ละบุคคลนั่นเอง  เป็นสิ่งที่ไม่เลือนไป  ไม่หายไป  เพียงแต่เราไม่สามารถเข้าถึงเท่านั้น  ทำไมหรือ ? ก็เพราะเราใช้เวลาทั้งหมดของพวกเราทำแต่สิ่งที่ความรู้สึกเราต้องการเท่านั้น พวกเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม  มักกลายเป็นทาสของความรู้สึกต่าง ๆ เสมอ พวกเรามักมีความยึดมั่นถือมั่น และพัฒนาความเข้มข้นของ อัตตา มากขึ้น จากสิ่งเหล่านี้  ทำให้เรามีความเห็นแก่ตัว  ความโลภและความหลงติดในกามคุณทั้ง 5 อยู่ทุกวี่วัน แต่ละเวลาเราซ่องเสพแต่กามคุณอันเป็นโลกีย์อยู่  พวกเราถอยห่างจากพุทธภาวะ ตลอดเวลา เรามักปลีกห่างไปโดยแท้จากพุทธภาวะนั้น โดยปราศจากความระแวดระวังความขาดสติ(โง่งมงาย)ของพวกเรา 

            พวกเราสามารถเป็นคนโง่ไปได้อย่างไรกัน? ความจริงก็คือว่า  เราเป็นเช่นนั้นจริง ๆ กล่าวคือ โง่งมงายมาตลอด โดยที่เราไม่เคยยอมรับความเป็นจริงนั้น มิใช่เท่านั้น  แม้ในขณะนี้เราก็ไม่ยอมรับกัน  เราไม่อาจยอมรับได้ว่าเป็นเช่นนั้นตั้งแต่ช่วงชีวิตหนึ่งถึงช่วงชีวิตต่อ ๆ ไป  ในความเป็นจริง  เราไม่อาจอ้างถึงข้อจำกัดอันนี้ของพวกเราอย่างไม่มีกำหนด และเพราะเหตุนี้จึงทำให้เกิดปัญหาแก่เราอย่างต่อเนื่อง  จากช่วงชีวิตหนึ่งสู่ช่วงชีวิตถัดไป

            เหตุผลของบทสรุปนี้ ไม่ได้มีข้อสนับสนุนไว้อย่างแจ่มแจ้ง  ในสัทธรรมปุณฑริกสูตร พระสิทธัตถะได้ทรงยืนยันไว้อย่างเด็ดขาดและทรงย้ำเน้นไว้  กล่าวคือ เมื่อทรงถูกท่านพระอานนท์ทูลถามว่า เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว  ใครควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสดาแทนพระองค์

            พระสิทธัตถะ  ตรัสตอบว่า  ท่านไม่จำเป็นต้องแสวงหาศาสดาหรอก   ไม่มีความจำเป็นที่จะแต่งตั้งใครเป็นศาสดาเลย   ควรยกย่องปาฏิโมกข์เป็นครูและศาสดาของเธอทั้งหลาย  ควรยกย่องพระธรรมวินัยเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย

            พระพุทธพจน์นี้ ได้รับการยืนยันอีกในสมัยต่อมาโดยพระสังฆนายกองค์ที่ 6 คือท่าน ฮุ้ยเน้ง  (คศ 638-713)  ดังที่ท่านกล่าวว่า นอกร่างกายของเรา สรรพสิ่งเป็นของว่างเปล่า  ไม่มีความจำเป็นที่จะค้นหาอะไรเลย เพียงแต่เรามองเข้าไปในภายในตัวของเราเองและรื้อค้นพุทธภาวะของเราเองให้กลับคืนมา  เพียงเราได้ถ่ายถอนความคิดซึ่งถูกปรุงแต่งในรูปแบบต่าง ๆ และถูกพอกพูนขึ้นออกไปเสีย เมื่อนั้น  พุทธภาวะก็จะส่องแสงสว่างโดยธรรมชาติเอง

            ความจริงสิ่งเดียว  ได้แก่  จิตอันเป็นกุศลนับเนื่องในโลกุตตรสัจจะ ย่อมเป็นทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นที่ต้องการ  ไม่มีอย่างอื่นเลย  เมื่อใดก็ตาม จิตอันนับเนื่องในโลกุตตรสัจจะอุบัติขึ้น  ย่อมสามารถกำจัดบาปธรรมและอำนาจแห่งอกุศลกรรมซึ่งห้อมล้อมเราที่ปรากฏอยู่ทั้งหมด นี้คืออำนาจแห่งกุศล ความคิดที่บริสุทธิ์และซื่อตรง คือ สิ่งทั้งปวงซึ่งมีความจำเป็นที่เราจะต้องก่อให้เกิดขึ้นเพื่อความหมดจดและการถ่ายถอดความทุกข์อันแสนสาหัสเสีย ความกรุณาและการประพฤติสุจริตต่อกัน จะสามารถทำให้บุคคลผ่านพ้นจากทุกข์อันเกิดแต่กรรมชั่วได้หลายกัลป์  ในทางตรงข้ามกัน การเบียดเบียนและประพฤติทุจริตต่อกันก็จะนำให้ประสบทุกข์หลายกัลป์ทีเดียว จงสำเหนียกในเรื่องนี้และห้ามตนจากการทำความชั่วเสียเถิด

            โดยทั่วไปแล้ว  พระสูตรต่าง ๆ ซึ่งเป็นดำรัสของพระสิทธัตถะ หรือ พระศากยมุนีพุทธเจ้า  ตลอดระยะเวลา  49  ปีแห่งการประกาศพระศาสนา  จะถูกสืบทอดมาตามคำทูลขอของบุคคลหรือพระสาวกทั้งหลาย   ดังนั้นพระสูตรต่าง ๆ จึงถูกบันทึกไว้  ซึ่งเป็นพระสูตรที่ถูกกล่าวถึงเมื่อพระสาวกทูลขอให้ทรงแสดงเท่านั้น   แต่มีข้อยกเว้นอยู่ประการหนึ่งเกี่ยวกับคำกล่าวข้างต้นนี้  ได้แก่  อมิตาภสูตร  เป็นพระสูตรที่ถูกแสดงโดยปราศจากการทูลขอโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือเหล่าพระสาวกของพระองค์   เหตุใดพระศากยมุนีพุทธเจ้าจึงทรงประทานพระสูตรนี้ ?

            ตามความคิดเห็นของผู้เขียนมองว่า  อมิตาภสูตรถูกแสดงในฐานะเป็นพุทธทัศนะในภายหลังการตรัสรู้ของพระศากยมุนีพุทธเจ้า สืบต่อไปจนถึงที่สุดของการประกาศพระศาสนาจนกระทั่งถึงก่อนการปรินิพพานของพระองค์ ทันทีที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าทรงตระหนักว่า พระธรรมคำสอนของพระองค์ตลอด 49 ปี  อาจจะลึกซึ้งยากยิ่งสำหรับปุถุชนโดยทั่วไปที่จะเข้าใจและเข้าถึง  เนื่องจากพวกเขาโดยส่วนมากขาดปัญญาซึ่งจำเป็นที่จะเป็นเครื่องให้เข้าถึงความหมายขั้นปรมัตถ์ของพระสูตรต่างๆ

            เพื่อเป็นทางออกให้เข้าถึงพระสูตรเหล่านี้ทั้งหมด  พระศากยมุนีพุทธเจ้าทรงตัดสินพระทัยแสดงอมิตาภสูตร ในฐานะเป็นคำอธิบายที่ทำให้เหล่าสัตว์สามารถเข้าถึงหนทางแห่งความเป็นพุทธะได้  อมิตาภสูตรแสดงถึงแดนสุขาวดีทางโลกทิศตะวันตก เพื่อให้เหล่าเวไนยสัตว์ผู้ซึ่งได้บำเพ็ญบารมีธรรมตามข้อกำหนด 3  ประการ ดังนี้

1.      การพัฒนาศรัทธาให้มั่นคง

2.      การรักษาสัจจะที่รักษาศรัทธาให้คงอยู่

3.      การปฏิบัติศรัทธาโดยไม่เปลี่ยนแปลง

            ตลอดระยะเวลา 49  ปี   พระศากยมุนีพุทธเจ้า ได้ทรงสอนเหล่าพระสาวกของพระองค์เกี่ยวกับศูนยตา (ความว่างเปล่า)  ความทุกข์  ต้นตอแห่งทุกข์   ทางให้เกิดต้นตอแห่งทุกข์  หนทางไปสู่ความดับแห่งทุกข์  หลักการเกี่ยวกับอนัตตา และคำสอนเกี่ยวกับการออกบวช ต่อจากนั้นเมื่อถึงวาระสุดท้ายของการประกาศพระศาสนาของพระองค์  พระองค์ทรงถ่ายทอดโดยทันทีและแจ่มชัด ถึงพระทัยของพระองค์เองออกมาด้วยอมิตาภสูตร ซึ่งเป็นการสอนให้พระสาวกของพระองค์มุ่งสู่การพัฒนาการเข้าถึงแดนสุขาวดีโลกด้านทิศตะวันตก   

            ข้อนี้เป็นขัดแย้งกันโดยแท้กับหลักคำสอนเรื่องความว่าง(ศูนยตา) และการออกบวช   ทำไมถึงผันไปเป็นเช่นนี้  ? ทำไมถึงกลับกัน ? อมิตาภสูตรนี้ มีเพื่อประโยชน์ต่อเวไนยสัตว์ผู้ยังขาดปัญญาในการที่จะเข้าใจพระสูตรโดยทั่วไป  กล่าวคือ  ศูรางคมสูตร  วัชรสูตร เหล่านี้เป็นต้น  แม้ว่าพบว่าหมู่ชนจำนวน  1255 คน  ในจำนวนพุทธบริษัททั้ง 4  เป็นผู้ขาดปัญญา ดังเช่นในอมิตาภสูตร  อมิตาภสูตรก็ยังเป็นสิ่งที่ดีต่อข้อจำกัดหรืออุปสรรคทางความรู้สึกของมนุษย์เพื่อประโยชน์ต่อเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ข้อจำกัดหรืออุปสรรคอันยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งของความรู้สึกคือ ความยึดมั่น  พระศากยมุนีพุทธเจ้า  ทรงใช้อมิตาภสูตรเพื่อเป็นทุนลบล้างความอ่อนแออันนี้ของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย โดยการประทานพระสูตรนี้แก่เวไนยสัตว์เหล่านั้นเพื่อเป็นที่หยั่งรู้ พระสูตรจะได้เป็นที่เข้าใจ คำสอนนี้สามารถทำให้เวไนยสัตว์ทั้งปวงหยั่งรู้และเข้าใจ แดนสุขาวดี ได้ในฐานะเป็นเป้าหมายของการตัดสินใจว่าเราจะต้องเข้าถึงสิ่งที่มีค่ายิ่งทั้งมวล  แดนสุขาวดีโลกด้านตะวันตก  เป็นจุดหมายปลายทางที่มีความสำคัญ  เป็นจุดหมายที่พึงปรารถนา เป็นดินแดนที่มิใช่ว่างเปล่า  แต่มีอยู่ ปรากฏอยู่เป็นดังฐานะที่พึงปรารถนาของเวไนยสัตว์ทั้งปวงที่จะเข้าถึงให้ได้  คำสอนเหล่านี้ทวนกระแสคำสอนเรื่องศูนยตาและการออกบวชเป็นอย่างมาก แต่ก็เป็นทางออกให้เวไนยสัตว์ที่ยังขาดปัญญาในการเข้าใจพระสูตรดั้งเดิมทั้งหลายได้ เมื่อเวไนยสัตว์ทั้งหลายเข้าถึงแดนสุขาวดีแล้ว  พวกเขาก็จะไม่กลับมาเกิดในวัฏฏสงสารอีก  พวกเขาจะดำรงอยู่ ณ ที่นั้น  เพื่อปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนาจนกระทั่งได้บรรลุถึงการตรัสรู้ในที่สุด  เนื่องจาก แดนสุขาวดี เป็นดินแดนที่ถูกนำเสนอให้เป็นที่ชักจูงใจ ของประชาชนผู้เป็นเวไนยสัตว์ทั้งหลาย  แต่กระนั้น การจะเข้าที่สถานที่นั้นได้  บุคคลก็จะต้องรักษาศรัทธา  สัตยาธิษฐานและการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องไม่ย่อหย่อน

            สรุปว่า ตัณหาเป็นเครื่องกระตุ้น  ไม่ใช่เป็นสิ่งทำให้ท้อถอย 

            อุปาทานเป็นเครื่องกระตุ้น ไม่ใช่เป็นสิ่งทำให้ท้อถอย 

            การมองเห็นความมีอยู่ของรูปเป็นเครื่องกระตุ้น  ไม่ใช่เป็นสิ่งทำให้ท้อถอย 

            ผลที่สุดคือ เป็นการเกื้อกูลให้เวไนยสัตว์ทั้งหลายแนบชิดและเข้าใจแดนสุขาวดี  ดังนั้น จงใช้ข้อจำกัดภายในของเราอันเนื่องด้วยตัณหาและอุปทานในความรู้สึกนึกคิดจนกระทั่งถึงข้อจำกัดอันสูงสุดให้เป็นประโยชน์เพื่อให้เกิดผลดีต่อเวไนยสัตว์ทั้งปวง คำสอนนี้เป็นคำสอนที่ทรงมุ่งแนะนำสรรพสัตว์ทั้งหลาย  ให้ใช้ทั้งตัณหาและอุปาทาน  เหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้อ่อนแอและการควบคุมข้อจำกัดเหล่านี้  เพื่อสร้างความเข้มแข็งอันยิ่งใหญ่แก่สรรพสัตว์เหล่านั้น นี้เป็นความมุ่งหมายของคำสอนใน อมิตาภสูตร  ข้อความเกี่ยวกับอุปาทานและตัณหาถูกเน้นย้ำอย่างมีนัยสำคัญทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องพวกเขาจากความผิดพลาดซึ่งอาจเกิดได้จากเวไนยสัตว์ด้วยกันได้

หมายเลขบันทึก: 183132เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2008 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่เข้าใจค่ะ สรุปคือจากที่ให้ละตัณหาแต่ให้เปลี่ยนเป็นใช้ตัณหาในการกระตุ้นให้ตัวเองทำดีจะเหมาะกว่าสำหรับคนที่มีความยึดมั่นเหรอค่ะ เข้าใจถูกรึเปล่ีา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท