Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

พระศากยมุนีพุทธเจ้า : บทที่ 5 ความหมดจดแห่งทัศนะ


ประวัติและคำสอนของพระศากยมุนีพุทธเจ้า หนังสือธรรมจากประเทศ สิงคโปร์ แปลโดย ญาณภัทร ยอดแก้ว ปธ.9

            ตามหลักการดำเนินตามมรรคและปฏิบัติตามวิถีทางนั้น บุคคลจะต้องเตรียมตนเองให้พร้อมเพื่อการเดินทางอันลำบากยากนักนี้ บุคคลจะต้องเตรียมความพร้อมอะไรหรือ ? เหล่าสัตว์ผู้ปรารถนาที่จะดำเนินตามมรรคจะต้องทำให้แน่ใจได้ว่าจะสามารถบรรลุความหมดจดแห่งทัศนะ(ทัศนวิสุทธิ) ได้ แล้วเราจะสามารถบรรลุถึงความหมดจดแห่งทัศนะได้อย่างไรกัน?

            ลำดับขั้นของความหมดจดแห่งทัศนะสามารถบรรลุได้โดยการปฏิบัติตามหลักวิสุทธิ 7 ได้แก่

1.      ความหมดจดแห่งศีล (ศีลวิสุทธิ)

2.      ความหมดจดแห่งจิต (จิตวิสุทธิ)

3.      ความหมดจดแห่งความเห็น (ทิฏฐิวิสุทธิ)

4.      ความหมดจดแห่งการตกเป็นทาสของความสงสัย (กังขาวีตรณวิสุทธิ)

5.      ความหมดจดแห่งความรู้ภายในเกี่ยวกับหนทางที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง (มัคคามัคคญาณทัศนวิสุทธิ)

6.      ความหมดจดแห่งความรู้ภายในเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติ(ปฏิปทาญาณทัศนวิสุทธิ)

7.      ความหมดจดแห่งความรู้ภายในเกี่ยวกับอริยมรรค (ญาณทัศนวิสุทธิ)

 

ความหมดจดแห่งศีล (ศีลวิสุทธิ) : บุคคลผู้มีลักษณะการดำเนินชีวิตที่ไม่บริสุทธิ์ก่อทุกข์ก่อโทษสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น เขาขาดจิตสำนึกที่ดีงามภายในตัวของเขาเองในหลาย ๆ วิถีทางของการดำเนินชีวิต จิตใจของเขาเต็มไปด้วยมลทินแม้กระทั่งก่อนความประพฤติที่ไม่ประกอบด้วยคุณธรรมจะถูกสั่งการออกไป จิตใจลักษณะนี้มักจะทำให้ยากต่อการปฏิบัติสมาธิได้ จึงมักจะไม่พบความสงบงอกงามภายในจิตใจ เหมือนเพาะเมล็ดพันธุ์บนพื้นดินอันแห้งแล้ง จิตใจของเขาจะไม่สามารถก่อให้เกิดปัญญาโดยสมาธิได้ ดังนั้น เขาจะต้องเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจของเขาเสียก่อนเหมือนชาวนตระเตรียมนาของเขาโดยการไถพื้นดินสำหรับปลูกข้างฉะนั้น  เขาจะต้องสมาทานศีล 5  และปฏิบัติศีล 5  ให้ได้อย่างจริงจังในทุกวัน  เมื่อเป็นเช่นนั้นคุณธรรมของเขาก็จะก่อเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

 

ความหมดจดแห่งจิต (จิตวิสุทธิ) : จิตใจของแต่ละบุคคลถูกท่วมทับด้วยอวิชชา ดังนั้น จึงเป็นการยากที่บุคคลจะสามารถเข้าถึงหรือกำหนดรู้ธรรมชาติของจิตใจและวัตถุได้(นามและรูป) คนเราส่วนมากสามารถที่จะเข้าถึงความรู้จากหนังสือแต่ความรู้จากหนังสือไม่สามารถนำไปสู่สถานภาพแห่งประสบการณ์ที่แท้จริงได้เพราะผู้ผลิตยังเป็นผู้ที่ปราศจากการหยั่งเห็นตนเอง ดังนั้น บุคคลจะต้องฝึกฝนให้เกิดความสงบกายและสงบใจตามลำพัง เพื่อกำหนดธรรมชาติของจิตใจและร่างกาย ขั้นตอนของการทำสมาธิจึงเหมือนกับการที่ชาวนาเตรียมดินเพื่อปลูกพืชนั่นแหล่ะ เมื่อฝึกฝนปฏิบัติสมาธิได้สมบูรณ์ ความหมดจดแห่งจิตก็ย่อมเกิดขึ้น

 

ความหมดจดแห่งความเห็น (ทิฏฐิวิสุทธิ) :  นี่คือความหมดจดแห่งปัญญา ด้วยปัจจัยแวดล้อมทั้งหลายเหล่านี้  สรรพสิ่งจึงถูกพิจารณาเห็นเป็นต้นว่า ไม่มีสิ่งใดเป็นไปตามใจที่เราปรารถนาได้เลย  มันเป็นเช่นนั้นเอง ในการปฏิบัติสมาธิของบุคคลก็เช่นกัน จิตใจของบุคคลจะต้องเป็นสิ่งที่สามารถบรรลุถึงระดับของปัญญาที่เต็มเปี่ยมหรือปัญญาที่บริสุทธิ์เช่นนี้

 

ความหมดจดแห่งการตกเป็นทาสของความสงสัย (กังขาวีตรณวิสุทธิ) : ข้อนี้หมายความว่าบุคคลจะต้องถ่ายถอนความสงสัยทั้งปวงออกเสีย เพราะความสงสัยเป็นอุปสรรคอันสำคัญอย่างหนึ่งของการปฏิบัติของบุคคล  บุคคลจะต้องค้นหาเหตุทั้งหลายของความสงสัยและพยายามถ่ายถอนความสงสัยนั้นออกเสียโดยทันที

 

ความหมดจดแห่งความรู้ภายในเกี่ยวกับหนทางที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง (มัคคามัคคญาณทัศนวิสุทธิ)  :  การหยั่งรู้และความเห็นแจ้งเกี่ยวกับหนทางที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องเท่านั้นยังไม่เพียงพอ  บุคคลควรจะสำรวจถึงต้นตอของหนทางนั้นด้วย  ในแง่มุมตามที่กล่าวนี้เป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงได้  เนื่องจากคนเรามีสภาพจิตใจที่ขุ่นมัวนั่นเอง

 

ความหมดจดแห่งความรู้ภายในเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติ(ปฏิปทาญาณทัศนวิสุทธิ) :  ตลอดระยะเวลาเมื่อบุคคลมีความพยายามอย่างต่อเนื่องตามลำดับในการฝึกฝนปฏิบัติตามหนทางนั้น บุคคลจะมีสถานภาพที่แข็งแกร่งขึ้น ข้อที่พึงสำรวมระวังในขั้นตอนนี้คือ ตัวความแข็งแกร่งนั่นเอง  ในวิถีทางนี้บุคคลสามารถที่จะค่อย ๆ ดำเนินไปได้ แต่มั่นใจได้ว่าจะเข้าถึงปากประตูของหนทาง(มรรค)ได้แน่

 

ความหมดจดแห่งความรู้ภายในเกี่ยวกับอริยมรรค (ญาณทัศนวิสุทธิ) : เมื่อบุคคลเข้าถึงปากประตูแห่งมรรคแล้ว ต่อจากนั้น เขาก็จะสามารถพัฒนาการปฏิบัติทางกาย  วาจาและจิตใจได้อย่างต่อเนื่องและดำเนินตามอริยมรรคได้ด้วยความมั่นใจ

 

            ในขณะที่อยู่ในขั้นตอนทำจิตใจให้บริสุทธิ์นั้น  บุคคลจะต้องทำให้มั่นใจได้ว่าพิษร้าย (อกุศลมูล) ทั้ง 3 ประการจะต้องถูกถ่ายถอนออกไป ได้แก่

 

            พิษร้าย(อกุศลมูล)                                  ยาแก้พิษร้าย(กุศลมูล)

            โลภะ : ความอยากได้                              อโลภะ :  ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่        

            โทสะ : ความขัดเคืองหรือความโกรธ          อโทสะ :  ความเมตตากรุณา

            โมหะ : ความหลง                                   อโมหะ :  ปัญญา

 

หมายเลขบันทึก: 183373เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2008 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุโมธนา ในการบุญครั้งนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท