Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

พระศากยมุนีพุทธเจ้า : บทที่ 6 มรรคา – อริยมรรคมีองค์ 8 (ตอนที่ 1)


ประวัติและคำสอนของพระศากยมุนีพุทธเจ้า หนังสือธรรมจากประเทศ สิงคโปร์ แปลโดย ญาณภัทร ยอดแก้ว ปธ.9

อริยมรรคมีองค์ 8 – มรรคา  ได้แก่

            1.     ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)

            2.     ความรู้สึกชอบ (สัมมาสังกัปปะ)

            3.     วาจาชอบ (สัมมาวาจา)

            4.      การกระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ)

            5.     การเลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ)

            6.     ความพยายามชอบ (สัมมาวายามะ)

            7.    ความระลึกชอบ (สัมมาสติ)

            8.    ความตั้งมั่นแห่งจิตชอบ (สัมมาสมาธิ)

 

1. ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)

            ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) หมายถึง การหยั่งเห็นภายในของคุณและความเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ  แม้การมองเห็นอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นด้วยตาของคุณก็สามารถรวมอยู่ในความหมายนี้ได้ด้วย  อย่างไรก็ตาม  บทสรุปเช่นนี้หมายเพียงแต่ขอบเขตของความเห็นที่ถูกต้องเท่านั้น  สิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้องและนอกลู่นอกทางควรได้รับการแยกแยะอย่างละเอียดถี่ถ้วน  บ่อยครั้งมากที่ทัศนะที่เราเห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงความมุ่งหมายภายนอก ถ้าเราเห็นผู้หญิงเปลือยกายล่อนจ้อนกำลังเดินมาข้างหน้าเรา เราควรละเว้นการมองไปที่เธอ  เนื่องจากการมองเช่นนั้นอาจเป็นที่รู้สึกกันว่าไม่เป็นการมองที่สมควร การหมกมุ่นในพฤติกรรมที่ไม่สมควรอย่างต่อเนื่องก็เป็นความเห็นที่ไม่เหมาะสมได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น  การหมกมุ่นอยู่กับเสียงเพลง การเต้นรำ  ซึ่งก่อให้เกิดความคิดเห็นที่ผิด ๆ

 

2. ความรู้สึกชอบ (สัมมาสังกัปปะ)

            ความรู้สึกชอบ (สัมมาสังกัปปะ)  โดยเบื้องต้น คือ การนำเสนอถึงการไม่มีความรู้สึกและความคิดทางอารมณ์ เมื่อได้สำรวมระวังความรู้สึกและความคิด  จากนั้นก็จะมีความมั่นคงทางจิตใจ ภาวะเช่นนี้จะนำให้ไม่มีความทะยานอยากซึ่งเกิดขึ้นจากร่างกาย  เมื่อบุคคลมีความมั่นคงทางจิตใจ  นั่นก็หมายความว่าบุคคลเป็นผู้อิสระจากความรู้ที่ผิด  ความเห็นที่ผิดและกามราคะทั้งหลาย จิตใจก็จะไม่ก่อให้เกิดความคิดที่เลวร้าย- นั่นคือ มโนกรรมที่บริสุทธิ์ 

 

3. วาจาชอบ (สัมมาวาจา)

            วาจาชอบ (สัมมาวาจา) หมายถึง การพูดที่สุจริต ไม่พูดวาจาที่ทุจริตไม่เหมาะสม แม้เมื่อมีใครบางคนพูดกับคุณอย่างหยาบคาย คุณก็ควรอดกลั้นจากการด่าตอบเขาเนื่องจากเขาพูดหยาบคาย นี่คือการฝึกปฏิบัติสัมมาวาจา  จิตใจของบุคคลจะต้องบริสุทธิ์ เมื่อบริสุทธิ์ได้ดังนั้น จิตใจก็จะไม่ก่อให้เกิด ความโกรธและการโต้แย้งที่ไม่เหมาะสม

            บุคคลควรงดเว้นเสียจากความเป็นมิตรกับคนที่มีวจีทุจริต  บุคคลไม่ควรพูดเท็จ  ไม่ควรส่อเสียดให้ผู้อื่นเสียหาย  บุคคลไม่ควรใช้ภาษาที่หยาบคายและประการสุดท้ายบุคคลไม่ควรให้เวลาพูดจาอย่างไร้สาระประโยชน์ สัมมาวาจาก็คือ วจีกรรมที่บริสุทธิ์  นั่นเอง

 

4. การกระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ)

            การกระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ)  คือ กายกรรมที่บริสุทธิ์  การดำเนินตามแนวทางแห่งการประพฤติเช่นนี้  บุคคลจะต้องใช้ปัญญาที่คงที่เพื่อจัดการกับกิจกรรมประจำวันทั้งหลายของตน  แต่โดยแก่นสารแล้วการกระทำกรรมถูกกำหนดโดยจิตใจเช่นเดียวกับวจีกรรมและกรรมทางความคิด(มโนกรรม)   ดังนั้น  จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะควบคุมจิตใจในทุกกาลเวลา  ไม่ควรยอมให้จิตใจหวั่นไหวไปอย่างอิสระเหมือนอย่างช้าง  ช้างไม่ควบคุมการเคลื่อนไหวของมันเอง มันเหยียบย่ำและบดขยี้ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งอยู่ในเส้นทางเดินของมัน ดังนั้น ความเสียหายและพังทลายจึงมีในทุกหนทุกแห่งที่มันเข้าไป หวนกลับมาที่คนเรานี่  โดยปกติแล้วกำลังเกี่ยวเนื่องกับกามราคะทั้งหลายโดยเฉพาะและกายกรรมอื่น ๆ โดยทั่วไปด้วย พวกเราจะต้องควบคุมการทำตามใจตนในสิ่งน่าใคร่ทั้งหลายโดยการฝึกฝนปฏิบัติสัมมากัมมันตะ

 

5. การเลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ)

            การเลี้ยงชีพชอบ(สัมมาอาชีวะ) คือ การเลี้ยงชีพซึ่งไม่เป็นไปตามลักษณะของการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะควร  5  ประการ  ดังต่อไปนี้

1.   การใช้เสื้อผ้าอย่างฟุ่มเฟือย :  การแต่งตัวอวดโชว์กัน ค่อนข้างไปในทางที่แตกต่างจากผู้อื่นดุจว่าจะดึงดูดความสนใจกันเกินควร (ตัวอย่างเช่น)  “ดูฉันซิ”  เป็นคำกล่าวของพระสงฆ์ซึ่งแต่งกายด้วยจีวรต่างจากพระสงฆ์ผู้เป็นสหายธรรมกัน “ฉันต่างจากท่านอื่น ๆ คุณควรถวายไทยทานแก่ฉัน”   ลูกศิษย์ผู้มืดบอดก็กล่าวว่า “ท่านเป็นผู้วิเศษ” (และกล่าวต่อไปว่า) “ท่านน่าจะเป็นพระพุทธเจ้าหรือเป็นพระโพธิสัตว์เรามาทำตามที่ท่านกล่าวเถิด”

2.    การพูดถึงบุญกุศลและคุณธรรมของตัวคุณเอง : คนบางคนมักคุยโม้อย่างเปิดเผยเกี่ยวกับพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของพวกเขา เช่นว่า  “ฉันได้สร้างวัดและโรงพยาบาลจำนวนมาก  บ้างก็สร้างบ้านเพื่อผู้สูงอายุ   ฉันได้สะสมบุญกุศลไว้มากมาย”  เหล่านี้คือคนที่วางตัวตามอัตตาของตนเอง  พวกเขาเที่ยวโอ้อวดความมั่งคั่งของตนอย่างไม่รู้จักอาย ในขณะที่อาจจะมีบุญกุศลซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากความพยายามของเขา บุญกุศลเหล่านี้จะเป็นเพียงสิ่งสุดท้ายในช่วงระยะเวลาปัจจุบันและในที่สุดก็จะหมดสิ้นไป  

3.   การทำนายโชคชะตาราศี : นี่คือรูปแบบหนึ่งของการหลอกลวง ดังนั้น บุคคลไม่ควรให้ความสนใจในแนวปฏิบัติแบบนี้  ครั้งหนึ่ง มีนักธุรกิจคนหนึ่งได้เข้าไปขอคำปรึกษาจากหมอดู(คนทรงเจ้า) ผู้ซึ่งได้บอกเขาว่าให้บริจาคเงินจำนวนหนึ่งล้านดอลล่าร์แก่วัดซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้หมอดูอาศัยอยู่ในขณะนั้น  ไม่เช่นนั้นเขาอาจจะตายในวันถัดมาได้  นักธุรกิจคิดพิจารณาด้วยตัวของเขาเองว่า “เงินหนึ่งล้านดอลล่าร์ไม่มากเกินไปที่จะจ่ายเพื่อชีวิตของเรา”  และเขาก็ได้ยอมบริจาคไปตามนั้น  วันถัดมาเขาก็ยังมีชีวิตอยู่  แน่นอนทีเดียว  เขาย่อมมีชีวิตอยู่ได้แม้ถ้าเขาไม่ได้บริจาคเงินจำนวนหนึ่งล้านดอลล่าร์ไปเขาก็อาจจะยังคงมีชีวิตอยู่เช่นกัน

4.   การพูดจาตะคอกและโอ้อวด : ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะพูดตะคอกหรือโอ้อวดเมื่อบุคคลปรารถนาที่จะพูดจาระหว่างกันเพราะการประพฤติเช่นนั้น  เป็นการดำเนินชีวิตที่ผิดและจะไม่ส่งเสริมจุดมุ่งหมายของการสื่อสารกัน อีกทั้งจะไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ควรได้รับ

5.   การพูดจาโอ้อวดเกี่ยวกับของที่คุณเองได้ถวาย : “เมื่อพระคุณเจ้าของฉันมาถึงบ้านของฉัน ฉันได้อังคาสท่านด้วยมื้อเพลที่หรูหราซึ่งประกอบด้วยเห็ด  หน่อไม้  เป็นต้น” นี่คือการชี้แจงที่ไม่จำเป็นเลยเกี่ยวกับความมั่งมี   เป็นความทะยานอยากที่จะโอ้อวดความมั่งคั่งของบุคคลเพื่อทำให้ผู้ที่ฟังยกย่อง แน่นอนทีเดียว บุญกุศลและคุณธรรมทั้งหลายจะก่อเกิดได้จากของที่ถวายเช่นนั้น  แต่บุญเช่นนั้นมีอยู่เพียงระยะเวลาอันจำกัดเท่านั้น  ในที่สุดมันก็จะหมดไป  บ่อยครั้งมากที่มีการพยายามสร้างบุญด้วยทรัพย์สมบัติเพื่อให้เป็นที่ชื่นชมยกย่องมากกว่าที่จะเป็นไปเพื่อการบ่มเพาะมรรคา(ฝึกฝนปฏิบัติตามมรรค) คนเหล่านี้ก็ทำเช่นนั้น  เพราะพวกเขามุ่งสนใจการอวดอ้างความร่ำรวยมากกว่า  ไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นผู้มีใจเสียสละเป็นเหตุ  แต่เหล่านี้เป็นเพราะความอ่อนแอของมนุษยชาติ  ปัจจุบันของเขาเหล่านั้น ช่วยสอนให้ผู้กำลังบ่มเพาะคุณธรรมอย่างจริงจังระงับยับยั้งตนจากการปฏิบัติตามอย่างแนวทางดำเนินของพวกเขา ในประเด็นนี้ พฤติกรรมของพวกเขา แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ผิดก็เป็นที่พึงปรารถนากัน  จากพฤติกรรมเหล่านี้สามารถพรรณนาได้เป็นตอนหนึ่งทีเดียว

 

6. ความพยายามชอบ (สัมมาวายามะ)

            ความพยายามชอบ (สัมมาวายามะ) หลักการสำหรับฝึกฝนปฏิบัติในชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคล  เช่น  การสวดมนต์  การหมอบกราบและแสดงความนอบน้อมต่อพระพุทธรูป และการรำลึก(สาธยาย)พระนามของพระพุทธองค์  ความเกียจคร้านและการนอนหลับตลอดเวลาจัดอยู่ในความพยายามที่ไม่ถูกต้อง(มิจฉาวายามะ)  เช่นเดียวกัน  การใช้เวลาไปกับการดูหนังและการท่องเที่ยวห้างสรรพสินค้า เป็นต้น  (ก็เป็นมิจฉาวายามะ)  ในขณะที่การฟังการบรรยายธรรมจัดเป็นสัมมาวายามะ

 

7. ความระลึกชอบ (สัมมาสติ)

            ความระลึกชอบ(สัมมาสติ)  คือ  ความระลึกรู้ด้วยปัญญาอันไม่หวั่นไหว  ไม่หลงใหลไปตามอำนาจกามราคะ  การไม่มีกามราคะจัดเป็นตัวสติ ดังนั้น บุคคลจะต้องพยายามบากบั่นที่จะไม่มีกามราคะในทุกกาลเวลา การมีความคิดนึกในทางกามจัดเป็นการมีสติที่ไม่ถูกต้อง (มิจฉาสติ)

 

8. ความตั้งมั่นแห่งจิตชอบ (สัมมาสมาธิ)

            ความตั้งมั่นแห่งจิตชอบ (สัมมาสมาธิ) คือ การรับรู้ที่ถูกต้องหรือการสำรวมจิตที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่สุดต่อบุคคล  เพื่อก่อปัญญาที่ไม่หวั่นไหวสำหรับบ่มเพาะสมาธิ เนื่องจากสมาธินี้จะป้องกันบุคคลจากการโอนอ่อนไปใกล้ฐานะที่ไม่ถูกต้อง  ในเวลาที่สมาธิตั้งมั่น บุคคลจะเป็นผู้สามารถอธิบายถึงความหมายของพระสูตรต่าง ๆ ซึ่งเขาทรงจำไว้ได้อย่างแจ่มแจ้งแน่นอน

            ในการดำเนินตามพุทธปรัชญา  บุคคลควรระลึกไว้ในจิตใจเสมอว่า  คำสอนเบื้องต้นของพระศากยมุนีพุทธเจ้านั้นเป็นของง่ายมาก  ได้แก่

       1.เว้นจากการประกอบทุจริต (ละเว้นความชั่ว)

2.ประกอบสุจริตสม่ำเสมอ (ทำความดี)

3.ชำระใจของคุณให้ผ่องใส (ทำจิตใจให้ผ่องแพ้ว)

            บุคคลควรบ่มเพาะศีล สมาธิและปัญญาอย่างต่อเนื่อง   การบ่มเพาะเช่นนี้จะทำให้ความโลภ  ความโกรธและความหลงสงบระงับลงได้ การบ่มเพาะเช่นนั้น เกี่ยวเนื่องกับจิตสำนึกอันเด็ดเดี่ยวที่เนื่องด้วยศรัทธาอันบริสุทธิ์  ซึ่งจะทำให้ความเพียรของบุคคลกล้าแข็งขึ้น  บุคคลควรสร้างสรรค์หัวใจอันไม่ย่อท้อในทุกสถานที่  เมื่อไรก็ตามที่บุคคลประพฤติสุจริต ไม่ควรครุ่นคิดกังวลถึงขนาดของบุญกุศลที่จะเป็นไป  ในขณะที่บุคคลกำลังปฏิบัติตามหลักความดีให้สมบูรณ์  ไม่ควรลังเลสงสัยใด ๆ ในความดีนั้น  บุคคลควรให้ความบริสุทธิ์ภายในใจคงอยู่เสมอ ๆ

            ดูแล้วเหมือนจะเป็นการง่าย  กระนั้น  การจะบรรลุได้ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก  

                    ทำไมหรือ? 

                                เรามีความบกพร่องตรงไหนกัน?

มีต่อในตอนที่ 2 ค่ะ  บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองนะคะ

  เพื่อนๆ สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในแง่มุมต่างๆ ได้จากที่นี่ค่ะ

 

บวชที่วัดป่าเจริญราช

http://gotoknow.org/blog/makingmeditation

 

ปฎิบัติธรรม ณ ยุวพุทธิกสมาคมฯ

http://gotoknow.org/blog/gotoybat

 

ตามรอยพระอารยะวังโส

http://gotoknow.org/blog/arayawangso

 

ค่ายพุทธบุตร

http://gotoknow.org/blog/bhuddabutr

 

เรื่องเล่าในหนังสือธรรมะ

http://gotoknow.org/blog/storydhamma

 

Good Project

http://gotoknow.org/blog/goodproject

ประโยชน์ของการปฏิบัติกรรมฐาน

http://gotoknow.org/blog/bhuddabutr/257968

 



ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท