วิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ


การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ เป็นทางเลือกสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา หรือการผลิตบัณฑิตในอนาคต และเป็นเงื่อนไขที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งที่ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการเพื่อการประกันคุณภาพมหาวิทยาลัย

        วันที่ 23 พฤษภาคม 2551 ผมได้ไปบรรยายเรื่อง การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถนนกล้วยน้ำไท กทม. มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 40 คน  มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีบรรยากาศทางวิชาการที่ดีมาก มีหลักสูตรที่น่าสนใจหลายหลักสูตร มีเอกลักษณ์และความโดดเด่นที่เป็นตัวของตัวเองที่น่าสนใจมากหลายเรื่อง หลายหลักสูตร เช่น  หลักสูตรที่เน้นหรือเปิดโอกาสให้กับลูกหลานของผู้ประกอบการได้เข้าเรียนเป็นการเฉพาะ(คล้ายคลึงกับหลักสูตร เถ้าแก่ศึกษา) เป็นต้น  ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2551 ก่อนการเปิดเทอม มหาวิทยาลัยได้จัดให้มีการสัมมนาเพื่อการพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์และบุคลากร หลายหลักสูตร   

ประเด็นที่ได้พูดคุยกับคณาจารย์ในวันนี้ คือ 1) เรื่องภารกิจของอาจารย์ระดับอุดมศึกษา  2) การวิจัยในบทบาทของคณาจารย์อุดมศึกษา วิจัยได้กี่ประเภท อะไรบ้าง 3) การวิจัยและพัฒนาในบทบาทของคณาจารย์   4) กรณีตัวอย่างงานวิจัยของคณาจารย์ระดับอุดมศึกษา ที่เน้น การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้   

หลังจากได้นำเสนอแนวคิด และตัวอย่างแล้ว ก็เปิดโอกาสให้คณาจารย์ผู้เข้าร่วมสัมมนา เสนอประเด็นปัญหาที่สนใจจะวิจัย 

 

       ตัวอย่างประเด็นวิจัยที่คณาจารย์สนใจจะดำเนินการวิจัย  เช่น 

1) ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยและบทบาทของนักศึกษาในการร่วมพัฒนากิจกรรมของมหาวิทยาลัย ตามการรับรู้ของนักศึกษาคณะบัญชี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 

(นักศึกษาคิดอย่างไร ในเรื่องภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย   นักศึกษาควรมีบทบาทอย่างไรในการพัฒนากิจกรรมของมหาวิทยาลัยและ ของคณะ เพื่อการสร้างให้คณะ และมหาวิทยาลัย ก้าวสู่ความเป็นเลิศในอนาคต)

 

2) การใช้กิจกรรม "โครงงาน วิเคราะห์หลักทรัพย์และจัดการกลุ่มหลักทรัพย์” ในการจัดการเรียนการสอนวิชาวิชาการวิเคราะห์หลักทรัพย์และการจัดการกลุ่มหลักทรัพย์  คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

 

    (เน้นให้นักศึกษาทำงานเป็นกลุ่ม ๆ ละ 4 คน ร่วมกันวิเคราะห์หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เลือกซื้อหุ้นแบบจำลองสถานการณ์ ไม่ได้ซื้อจริง  กำหนดงบประมาณกลุ่มละ 1ล้านบาท แล้วบริหารจัดการซื้อขายหุ้นในจังหวะที่เหมาะสมตามภาวะตลาดหุ้น สักประมาณ 5 ตัว เก็บเข้าพอรต์ของกลุ่ม โดยต้องใช้ทฤษฎีที่เรียนมา ช่วยในการวิเคราะห์และดำเนินการ โครงการใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน แล้วให้นักศึกษา สรุป ประเมินผล ส่งแฟ้มสะสมงานหรือผลการดำเนินงาน)

 

 

3) การศึกษาความต้องการพัฒนาสมรรถนะในการใช้โปรแกรม MS Excel เพื่อการจัดทำบัญชีของสถานประกอบการในเขตกรุงเทพมหานคร

(ศึกษาว่า สถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ได้ใช้โปรแกรม MS Excel เพื่อการจัดทำบัญชีหรือไม่ อย่างไร  และมีความต้องการพัฒนาศักยภาพในเรื่องนี้ หรือไม่   รวมทั้งศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของนักศึกษา ตามความเห็นของสถานประกอบการ)

4) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาทางวิศวกรรมศาสตร์ ที่เน้นการเรียนรู้จากโครงงานชุมชน

(เน้นให้นักศึกษาที่เรียนวิชาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทำงานเป็นกลุ่ม ๆ ในการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ในชุมชน หรือโครงการของมหาวิทยาลัย  เป็นลักษณะของการให้นักศึกษาเข้าร่วมในการจัดทำโครงการและเรียนรู้ไปในขณะจัดทำโครงการ)

5) การพัฒนาระบบกำกับติดตามและควบคุมด้านการเงิน สำหรับสถานประกอบการประเภทอพาร์ตเม้นต์

 

ทั้ง 5 เรื่อง ดังกล่าวข้างต้น หากมีการดำเนินจนแล้วเสร็จ ก็น่าจะ

เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี

       ขอความอนุเคราะห์จากคณาจารย์ที่เสนอหัวข้อข้างต้น ในวันสัมมนานะครับ  ถ้าผมสรุปหัวข้อ หรือ Concept ผิดพลาด ขอความกรุณาได้เสนอแนะและท้วงติงให้ด้วยนะครับ  หรือ ถ้าอาจารย์ได้ดำเนินการก้าวหน้าอย่างไรแล้ว และเห็นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขอได้กรุณาส่งข่าวด้วยนะครับ  ขอบคุณยิ่งครับ

 

       

หมายเลขบันทึก: 184194เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2008 08:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ครูอ้อย ได้รับหนังสือ การอบรมการพัฒนาบุคลากรเพื่อเลื่อนวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ  วันที่ 4 มิถุนายน ที่โรงเรียนสารวิทยา  ครูอ้อยอ่านรายนามวิทยากร  มีชื่อ อาจารย์ด้วยค่ะ
  • ดีใจมากค่ะ ที่จะได้พบกับอาจารย์อีกครั้ง  ครูอ้อยจะนำวิจัย ไปปรึกษาอาจารย์ด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ ครูอ้อย

  • ดีใจเช่นกันครับ ถ้าได้เจอ ตอนนี้ ได้นับเป็นญาติใกล้ชิดผ่านทาง G2K แล้วครับ

เรียนผู้สนใจ(เพิ่มเติม)

  • ในการสัมมนาวันนั้น มีคณาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า ถ้าให้เด็กทำงานเป็นกลุ่ม เท่าที่สังเกต นักเรียนจะทำงานเพียงไม่กี่คน นอกจากนั้นเป็นเพียงการอาศัยใช้ชื่อเข้ากลุ่มเท่านั้น ควรแก้ปัญหาอย่างไร
  • ต่อคำถามดังกล่าวข้างต้น ผมได้เสนอแนะให้ใช้เทคนิค "สังคมมิติ(Sociogram)" ช่วย โดยให้นักเรียน/นักศึกษารายงาน "คนที่ร่วมทำงานจริงจังที่สุด 3 คนแรก" แล้วสังเกตจากผลการ Ranking นะครับ
  • ผมคิดว่าคณาจารย์ทุกท่าน เคลียร์แล้วใช่ไหมครับว่า Sociogram คืออย่างไร ถ้าท่านสงสัย ผมค่อยอธิบายวันหลังนะครับ

มาชื่นชมครับอาจารย์ ประเด็น ที่ 2และ 4 เป็นประเด็นที่ถนัดเลยครับ รอแลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์ที่จะนำเสนอครับ..

เรียน อาจารย์ขจิต

  • ขอบคุณครับที่เข้ามาติดตาม
  • เชื่อว่า คำบอกกล่าวของอาจารย์ จะเป็นประโยชน์ครับ หาก อาจารย์ ม.กรุงเทพฯ เข้ามาติดตาม 
  • อาจารย์ท่านเพิ่งเริ่ม กำหนดปัญหาวิจัย วัตถุประสงค์และขอบเขตของการวิจัย ครับ
  • คงจะต้องรอให้กำหนดกรอบแนวทางการวิจัยที่ชัดเจนก่อน แล้วน่าจะมีการนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ
  • ตามมาเยี่ยมค่ะอาจารย์  ขอนำบล็อกอาจารย์เข้าแพลนเน็ตด้วยนะคะ
  • ปกติช่วงหลังไม่ค่อยได้มาเขียนที่ gotoknow เพราะไปเขียนอยู่ที่ learners.in.th
  • ได้ทราบว่าลูกสาวอาจารย์สนใจเรียนเศรษฐศาสตร์ก็ยินดีมากเลยค่ะ   ถ้ามีอะไรที่พอจะแนะนำได้บ้างก็ยินดีนะคะ
  • ขอบคุณมากครับ อาจารย์ ลูกหว้า ที่เข้ามาเยี่ยม และสนใจเรื่อง การวิจัย
  • ลูกสาวผม เดิม อยากเรียนวิศวะ ครับ  แต่ พอผมให้ค้นคว้าประวัตินักเศรษฐศาสตร์ดัง ๆ ให้พ่อ  10 คน หลังจากเขาเห็นชีวิตนักเศรษฐศาสตร์แล้ว ก็เปลี่ยนใจ ชักอยากเรียนเศรษฐศาสตร์ ซึ่งผมสนับสนุนอยู่แล้ว ผมอยากให้เขาเรียนสาขานี้ครับ และใจจริงก็อยากให้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

สวัสดีค่ะอาจารย์ ขอแก้ไขนิดหน่ยและเพิ่มเติม เผื่อจะเป็นประโยชน์แนการ ลปรร การใช้กิจกรรม "โครงงาน วิเคราะห์หลักทรัพย์และการจัดการกลุ่มหลักทรัพย์” ในการจัดการเรียนการสอนวิชาการวิเคราะห์หลักทรัพย์และการจัดการกลุ่มหลักทรัพย์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เน้นให้นักศึกษาทำงานเป็นกลุ่ม ๆละ4คน ร่วมกันวิเคราะห์หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เลือกซื้อหุ้นแบบจำลองสถานการณ์ ไม่ได้ซื้อจริง (ให้งบประมาณกลุ่มละ 1ล้านบาท) แล้วบริหารจัดการซื้อขายหุ้นในจังหวะที่เหมาะสมตามภาวะตลาดหุ้น สักประมาณ 5 ตัว เก็บเข้าพอรต์ของกลุ่ม (ต้องใช้ทฤษกีที่เรียนมาวิเคราะห์ดำเนินการ) โครงการใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน แล้วให้นักศึกษา สรุป ประเมินผล ส่งแฟ้มสะสมงานหรือผลการดำเนินงาน

เรียน อาจารย์อารมณ์

  • ขอบคุณท่านอาจารย์ที่เข้ามาเติมข้อมูลนะครับ
  • ผมเติมเข้าไปแล้ว
  • โครงการของอาจารย์น่าสนใจ หลังจากมีความก้าวหน้าอย่างไร ช่วยแจ้งข่าวคราวด้วยนะครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • วันนี้ครูอ้อยไปอบรมการพัฒนาบุคลากรเป็นวันแรก
  • มีเพื่อนๆ ชมว่า  อาจารย์เขียนบันทึกเรื่อง จบ ป.4 สอนลูก.....ดีมากๆเลยค่ะ
  • แต่ไม่ได้อ่านจาก G2K อาจารย์ เก่ง  น่าชื่นชมมากจริงๆค่ะ
  • สงสัยถึงวันอบรม  ครูอ้อยคงเข้าไม่ถึงอาจารย์แน่เลยค่ะ

 

  • ขอบคุณมากครับ ที่ชมว่าผมเขียนดี (จากมาตรประมาณค่า 4 ระดับใช่ไหมครับ  ดี   ดีมาก  ดีที่สุด  ดีเลิศเป็นแบบอย่างได้)
  • ในช่วงที่ผมบรรยายวันที่ 4 มิ.ย.51 ที่โรงเรียนสารวิทยา หลักสูตรพัฒนาบุคลากร ครูอ้อยช่วยออกไปเล่าเรื่อง "การสื่อสารผ่าน G2k เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับครู" สัก 10 นาที นะครับ  เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในระยะหลังจากการอบรมครับ(ผมจะเชิญผ่านไมค์ นะครับ)

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ .....  ดร.สุพักตร์

  • ดีใจ ยินดี มากค่ะ  ที่จะได้มีโอกาส ทำงานร่วมกับอาจารย์  เขิน เขิน
  • ครูอ้อย  เกรงว่า  10 นาทีจะไม่พอค่ะ  อิอิ  พูดเล่น
  • ครูอ้อย ขอเรียนเสนอว่า  วิธีการที่ขึ้นพูดนั้น  น่าจะเป็นการ  ถาม และตอบ 
  • อาจารย์ ถาม แล้ว ครูอ้อย ก็ตอบ แบบใน ทีวีไง  น่าสนุก  บรรยากาศก็ไม่ครียด ดีเนอะ  มีบรรยากาศเป็นกันเอง  และ  ตรงจุดประสงค์ของอาจารย์ที่ต้องการด้วย

แค่คิด ก็สนุกแล้วค่ะ  เอิ๊กเอิ๊ก 

สวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์

คิดถึงอาจารย์มาหลายเดือนแล้วเพราะต้องทำวิจัยการเรียนการสอนมาก และได้เข้ามาค้นใน web นี้ ได้อ่านข้อความที่เคยเขียนเลยขออนุญาตรายงานความคืบหน้า "โครงงาน วิเคราะห์หลักทรัพย์และการจัดการกลุ่มหลักทรัพย์” ในการจัดการเรียนการสอนวิชาการวิเคราะห์หลักทรัพย์และการจัดการกลุ่มหลักทรัพย์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยให้นักศึกษาทำงานเป็นกลุ่ม ๆละ6คน ดังนี้

ขั้นที่ 1 ให้นักศึกษาไปเลือกซื้อหุ้น(ไม่ได้ซื้อจริง ให้งบประมาณกลุ่มละ 1ล้านบาท) พร้อมทั้งบอกเหตุผล ว่าทำไมเลือกหุ้นตัว นี้ ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

ผลที่ได้ นักศึกษาจะเลือกหุ้นเด่น ดัง หรือเลือกตามที่ Broker แนะนำ (คิดว่าฉลาดมาก????)โดยไม่มีความรู้(เพราะยังไม่ได้เรียน)

สิ่งที่คาดหวัง 1. ให้นักศึกษารู้จักการค้นคว้า หาข้อมูลตามแหล่งข้อมูล จะได้รู้จักแหล่งข้อมูล เข้าห้องสมุดต่างๆมากขึ้น เช่นไปห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์

2. ให้นักศึกษารู้จักการใช้เหตุผล

3. รู้จักการทำงานร่วมกัน(ต้อโหวตว่าจะเลือกอย่างไร เพราะอาจมีมากกว่า 6 หุ้นที่เรากำหนด)

ขั้นที่2 ให้ขายไป1หุ้นและเลือกซื้อใหม่ 1 หุ้น (มี 6 หุ้นในport.เหมือนเดิม)ประมาณ 5 สัปดาห์

ผลที่ได้ 1. การเรียนรู้จากประสบการณ์ว่าหุ้นที่ซื้อไว้ มีกำไร หรือขาดทุน

2. ได้นำความรู้มาใช้ เช่น การคำนวณผลตอบแทน การวัดความเสี่ยง(เมื่ออาจารย์สอนถึง นักศึกษาจะต้องทำรายงานแนบมาในเรื่องนั้นๆ)

สิ่งที่คาดหวัง 1. ฝึกการตัดสินใจใช้เหตุผล เพราะนักศึกษาต้องขายและซื้อใหม่ทุกสัปดาห์ 5 สัปดาห์

2. รู้จักประชาธิปไตย สมาชิกในกลุ่มอาจมีความเห็นแตกต่างกัน ต้องตกลงกันให้ได้ ใครมีเหตุผลที่ดี น่าเชื่อถือ ทำการบ้านมาดี เพื่อนๆจะยอมรับ

ขั้นที่3 เปิดโอกาสให้ล้าง port. โดยขายได้มากกว่า 1 หุ้นแต่จะต้องซื้อเข้ามาเท่าจำนวนที่ขายไป

ผลที่ได้ 1.ได้นำความรู้มาใช้ในส่วนของการบริหารจัดการกลุ่มหลักทรัพย์ เมื่อเรียนมาถึงเรื่องนี้ พร้อมทั้งให้อธิบายว่ามีการนำทฤษฎีมาใช้อย่างไร ถูกต้องหรือไม่)

2.นักศึกษาได้ฝึกฝนภาคปฏิบัติในเรื่องการตัดสินใจลงทุนและการจัดการ

สิ่งที่คาดหวัง นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติ เรียนรู้จากข้อมูลจริง สถานการณ์จริง ภายใต้คำแนะนำจากอาจารยื

ข้อสังเกตุ ในกลุ่มจะต้อช่วยเหลือเพื่อนที่ยังไม่เข้าใจทฤษฏี น่าจะทำให้ผลการเรียนดีขึ้น

ขั้นที่4 เชิญวิทยากรมาบรรยายให้ความรู้ภาคปฏิบัติ ว่ามืออาชีพทำอย่างไร

ผลที่ได้ นักศึกษานำโจทย์ที่เราให้ ไปถามวิทยากรที่มา ทำให้ได้รับคำอธิบายจากมืออาชีพ

สิ่งที่คาดหวัง นักศึกษาได้ประสบการณ์จริง

ขอเรียนอาจารย์คร่าวๆตามนี้และขอความกรุณาท่านอาจารย์กรุณาชี้แนะด้วยนะคะ(เพราะคาดว่าจะทำวิจัยเรื่องนี้) ขอขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

เรียน  อ. arrom rewin

  • ดีใจมากที่อาจารย์ดำเนินการต่อเนื่อง
  • การจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ เป็นการเรียนจากสถานการณ์จริง(Authentic Learning) แม้จะไม่จริง 100 % เพราะไม่ได้ให้เด็กซื้อขายหุ้นโดยจ่ายตังค์จริง ๆ ผมคิดว่าน่าสนใจอยู่แล้ว
  • ในการเขียนรายงานการวิจัย อาจารย์อธิบายกระบวนการ "X" (ตัวนวัตกรรมหรือวิธีการ ให้ชัดเจนนะครับ   ทำอย่างไร ยึดหลักการอะไรบ้าง)  พร้อมทั้งอธิบายตัวแปรตามให้ชัดเจนว่า ตัวแปรตามหรือสิ่งที่คาดว่าจะเกิดในตัวผู้เรียนคืออะไรบ้าง เช่น (1) ในด้านความรู้ จะมีความรู้ในเรื่องอะไรบ้าง-ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ (2) ด้านคุณลักษณะ การเป็นนักจัดการที่ดี ที่มีการวิเคราะห์ความเสี่ยง มีการทำงานเป็นทีม ใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ  (3) ด้านทักษะปฏิบัติ มีทักษะในลักษณะต่อไปนี้ คือ.......รวมทั้ง (4) ความพึงพอใจของนักศึกษา
  • หลังจากลองใช้นวัตกรรมและปรับปรุงกระบวนกาจนชัดเจนและเกิดผลดีตามตัวแปรตามแล้ว...ผมคิดว่า เขียนรายงานได้เลยครับ...เชื่อว่าจะเป็นที่สนใจของอาจารย์ทางด้านธุรกิจ/การจัดการ ฯลฯ อย่างแน่นอน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท