มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

สิ่งแวดล้อม: ต้นเหตุเด็กติดบุหรี่


มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION

 

                  Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันที่ 23 พฤษภาคม 2551

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

สิ่งแวดล้อม: ต้นเหตุเด็กติดบุหรี่

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมช่วยกันทำสิ่งแวดล้อมที่ปลอดบุหรี่ให้แก่เด็ก ๆ   เพื่อป้องกันการเสพติดบุหรี่ของเด็กไทย

คำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้ ขององค์การอนามัยโลก Tobacco Free Youth คือ เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมใจต้านภัยบุหรี่  การรณรงค์ปีนี้ต้องการปลุกให้สังคมโลกคิดใหม่ ทำใหม่ กับการแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ของเด็ก ๆ

ที่ผ่านมาเราจะบอกว่าเป็นความผิดของเด็กเองที่เข้าไปทดลองและเสพติดบุหรี่แนวคิดหรือทฤษฎีนี้เรียกว่า “Blame the victim” หรือ โทษเหยื่อหรือเป็นความผิดของเหยื่อ แต่องค์การอนามัยโลกสรุปว่าจริง ๆ แล้ว เด็ก ๆ เข้าไปติดบุหรี่เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นต้นเหตุ สิ่งแวดล้อมที่ว่านี้ คือ สิ่งแวดล้อมด้านสังคมรอบ ๆ ตัวเด็ก  ได้แก่  การสูบบุหรี่ของพ่อแม่หรือคนในบ้าน  ในโรงเรียน  และผู้คนทั่วไปในที่สาธารณะ   สิ่งแวดล้อมเช่นนี้ทำให้เด็ก ๆ เห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นที่ยอมรับ เป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน  นำไปสู่การทดลองสูบจนเกิดการเสพติดบุหรี่ขึ้น

สิ่งแวดล้อมด้านการตลาดที่สร้างขึ้นโดยบริษัทบุหรี่ ได้แก่ กลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ ของบริษัทบุหรี่ อันได้แก่ การโฆษณาแฝงโดยทำให้โลโกยี่ห้อบุหรี่ปรากฏในของใช้ต่าง ๆ  การจ้างให้มีฉากสูบบุหรี่ในหนัง การแจกบุหรี่ การโฆษณาสร้างภาพของบริษัทบุหรี่ การทำวิจัยการตลาดที่พุ่งเป้าที่วัยรุ่น   การส่งเสริมการขาย ณ จุดขายปลีก การโฆษณา ณ จุดขาย  การทำจุดขายปลีกให้มีให้มากที่สุด ฯลฯ

ผศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์  คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เปิดเผยผลการวิจัยของเด็กไทยในโรงเรียน ปี 2004  อายุระหว่าง 13 ถึง 15 ปี พบว่า

ร้อยละ 13.8  สูบบุหรี่

ร้อยละ 48.3  มีผู้ปกครองที่สูบบุหรี่

ร้อยละ 68.5  สัมผัสกับควันบุหรี่ในที่ต่าง ๆ นอกบ้าน

ร้อยละ 43.7  มีของใช้ที่เป็นโลโกบุหรี่

ร้อยละ 11.5  เคยได้รับแจกบุหรี่จากผู้แทนบริษัทบุหรี่

ร้อยละ 44.8  สามารถซื้อบุหรี่จากร้านขายได้ ทั้งที่เป็นการขายที่ผิดกฎหมาย

ข้อมูลนี้แสดงว่า เด็กไทยยังอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการที่จะทำให้เข้าไปทดลองสูบบุหรี่จนเกิดการเสพติดขึ้น


รศ.ดร.บุปผา  ศิริรัศมี  สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล  เปิดเผยว่า  จากผลการวิจัยเรื่องปัจจัยทางด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นไทย รอบที่ 2 ปี 2549 อายุระหว่าง 13 – 17 ปี พบว่า วัยรุ่นไทยทั้งชายและหญิง  มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในรอบที่ 1 (2548) โดยวัยรุ่นชายมีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 20.3 เป็นร้อยละ 27.8 และวัยรุ่นหญิง มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ 2.3  สาเหตุมาจาก อิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น มีเพื่อนสนิทสูบบุหรี่  มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่  ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และได้เห็นการโฆษณาบุหรี่ ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นและส่งเสริมให้วัยรุ่นสูบบุหรี่

                รวมทั้งวัยรุ่นก็ยังรายงานว่า การซื้อบุหรี่เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย แม้จะอายุยังไม่ถึง 18 ปี

                เพื่อนสนิทมีอิทธิพลต่อการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นอย่างมาก  การปฏิเสธเมื่อเพื่อนสนิทยื่นบุหรี่ให้  ทำได้น้อยมาก  ดังนั้น การรณรงค์ไม่ให้วัยรุ่นยื่นบุหรี่ให้แก่กันและการสร้างพลังอำนาจให้วัยรุ่นมีทักษะในการปฏิเสธจึงเป็นมาตรการที่สำคัญอย่างยิ่ง 

                ภาพคำเตือนด้านสุขภาพบนซองบุหรี่  ทำให้เยาวชนคิดถึงอันตรายจากการสูบบุหรี่มากขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายในเรื่องนี้มาถูกทิศทาง และควรขยายผลให้มากขึ้น 

                ผศ.ดร.ลักขณา  เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)               คณะสาธารณสุขศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล  เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรไทย พ.ศ.2550 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า  จำนวนผู้สูบบุหรี่เป็นประจำในปี พ.ศ.2550 เท่ากับ 9.48 ล้านคน  ลดลงจากปี พ.ศ.2549 ประมาณ 5 หมื่นคน แต่ที่สำคัญ คือ สถิติการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทยกลับเพิ่มสูงขึ้น  โดยเยาวชนอายุ 11 - 14  ปี  มีจำนวน 7,335 คน ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ คิดเป็นร้อยละ  0.18  ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2549 เท่ากับ ร้อยละ 38.46   สำหรับกลุ่มอายุ 15  - 18 ปี มีจำนวน 228,219 คน ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ  คิดเป็นร้อยละ 5.03  ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2549 เท่ากับร้อยละ 12.72  ส่วนเยาวชนอายุระหว่าง 19 - 24 ปี  มีจำนวน 1,042,502 คน  ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ คิดเป็นร้อยละ  17.37  ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2549 เท่ากับร้อยละ 10.52 

                นอกจากนั้นยังพบว่าเยาวชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.25 ซื้อบุหรี่เป็นมวน และร้อยละ 93.60 ของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถซื้อบุหรี่โดยผู้ขายไม่ได้ขอดูบัตรประชาชน โดยเยาวชนส่วนใหญ่ร้อยละ 91 ซื้อบุหรี่จากร้านค้าใกล้บ้าน  และใช้จ่ายวันละ 12.58 บาทต่อวันในการซื้อบุหรี่ ดังนั้นเยาวชนทั้งประเทศเผาผลาญเงินไปกับค่าบุหรี่ต่อวันถึง 20.3 ล้านบาท และพบว่าเยาวชนเหล่านี้  ร้อยละ 2.19 ที่สูบบุหรี่ที่ไม่มีภาพคำเตือน เป็นผลให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากภาษีบุหรี่ไปถึงวันละ 6.9 ล้านบาท  หรือปีละไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท

                ดังนั้น  การรณรงค์ป้องกันเยาวชนจากการสูบหรือการทดลองบุหรี่   รวมถึงการสร้างความตระหนักให้เยาวชนเลิกบุหรี่ ตลอดจนการปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบอย่างจริงจังทั้งเรื่องการขายแยกซอง ขายให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี  และการควบคุมบุหรี่ผิดกฎหมายจึงเป็นวิธีการที่สำคัญที่จะช่วยให้การควบคุมยาสูบในกลุ่มเยาวชนประสบความสำเร็จ

ข้อเรียกร้องจากเยาวชนในวันงดสูบบุหรี่โลก

นายทศพล ไศลทอง นักเรียนโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางขุนเทียน แกนนำเครือข่ายเยาวชนอาสาสร้างสถานศึกษาปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ผมเป็นเยาวชนคนหนึ่งของสังคมไทย ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมพบว่า ปัญหาการสูบบุหรี่เป็นปัญหาสำคัญของเยาวชน เพราะตอนนี้มีเพื่อนเยาวชนติดบุหรี่ถึงสองแสนคน ตัวเลขนี้ฟ้องว่าเด็กไทยในอนาคตต้องกลายเป็นภาระเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงมากมายแค่ไหน  และสาเหตุสำคัญก็คือ บริษัทบุหรี่ใช้การโฆษณาแฝงหลอกเยาวชนให้เห็นว่าบุหรี่น่าสนใจ โดยผ่านสื่อต่างๆ เช่น การให้ดาราภาพยนตร์สูบบุหรี่  เสื้อผ้า และของใช้อื่นๆ  ที่มียี่ห้อบุหรี่ และการขายบุหรี่เถื่อนตามจุดต่างๆ ที่มีวัยรุ่นอยู่กันมาก โดยบุหรี่พวกนี้จะเป็นบุหรี่ที่มีรสหวาน รสขนม และรสผลไม้ต่างๆ ซึ่งลวงวัยรุ่นให้รู้สึกว่าปลอดภัยและอยากลอง ผมจึงอยากเรียกร้องให้

-  ดารา นักแสดง หรือผู้กำกับ ไม่สร้างหนังที่มีฉากสูบบุหรี่ เป็นแบบอย่างไม่สูบบุหรี่ และร่วมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่กับเยาวชน พร้อมทั้งขอให้

-   รัฐบาลเร่งปราบปรามบุหรี่เถื่อนรสขนมต่างๆ 

-  หน่วยงานต่าง ๆ ในสังคมไทยไม่รับการสนับสนุนใดๆ จากบริษัทบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณหรือการสนับสนุนในรูปแบบกิจกรรม สิ่งของต่าง ๆ เพราะสิ่งที่บริษัทบุหรี่กระทำล้วนหวังผลให้เยาวชนเข้ามาเป็นลูกค้าของบริษัทบุหรี่ทั้งสิ้น

           

นายแสงฉาน จิรวงศ์สวัสดิ์ นักเรียนโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล แกนนำเครือข่ายเยาวชนอาสาสร้างสถานศึกษาปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ผมอยากเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังจากภาครัฐ และต้องการเห็นความร่วมมือที่เข้มแข็งของภาคเอกชน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

-          ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดให้สถานศึกษาปลอดบุหรี่ ทั้ง โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ  ผู้ที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ควรร่วมมือกันในการดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง เพราะสถานศึกษาเป็นแหล่งรวมของเยาวชน เยาวชนต้องใช้เวลายาวนานอยู่ในสถานศึกษาแต่ละวัน หากสถานศึกษาปลอดบุหรี่  ได้แก่ การห้ามสูบบุหรี่ การห้ามขายบุหรี่ และการไม่รับเงินสนับสนุนใดๆ จากบริษัทบุหรี่  จะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมปลอดบุหรี่ให้กับเยาวชน และส่งเสริมค่านิยมไม่สูบบุหรี่ให้กับเยาวชน  

-          ผมอยากเห็นผู้ปกครองเลิกสูบบุหรี่เพื่อลูก หรือถ้ายังเลิกไม่ได้ ไม่ควรสูบบุหรี่ในบ้านเพื่อเป็นแบบอย่างของเด็ก ๆ เพราะคงไม่มีพ่อแม่คนไหน อยากเห็นลูกหลานของท่านเติบโตขึ้นมาเป็นคนสูบบุหรี่

นายแสงฉาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับร้านค้าผมขอเรียกร้องให้ท่านไม่ขายบุหรี่ให้แก่เด็ก และปฏิบัติตามกฎหมายที่ห้ามตั้งซองบุหรี่ ณ จุดขาย

 

ส่วนกิจกรรมวันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้  มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่  กระทรวงสาธารณสุข  ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)  คณะสาธารณสุขศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล  เครือข่ายครูนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  แกนนำเยาวชน  เครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่  และอีกหลายหน่วยงาน  ร่วมจัดกิจกรรม Tobacco-Free Youth เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมใจ ต้านภัยบุหรี่   ในวันศุกร์ที่  30 เสาร์ที่ 31 พฤษภาคม  2551  ณ บริเวณลานกิจกรรม Out door ฝั่ง Zen เซ็นทรัล เวิลด์ ระหว่างเวลา  11.00 18.30  น.  โดยกิจกรรมประกอบด้วย  พาเหรดแฟนซีเดินรณรงค์ของเยาวชนจากสถานศึกษาต่าง ๆ,  กิจกรรมตลาดนัด เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมใจ ต้านภัยบุหรี่  การแสดงผลงานของเยาวชนที่ชนะการประกวดสื่อสร้างสรรค์วัยมันไร้ควันบุหรี่ ครั้งที่ 2,  นิทรรศการคนรุ่นใหม่ไม่สูบบุหรี่,  การแสดงจากศิลปินวง Nice 2 Meet You กวิน  อิ่มอโนทัย (ปั่นจั่น) ธนา  ลิมปยารนะ (เชน) จารุพงศ์  กล้วยไม้งาม(แจ๊ค) และพงศ์ธร  วนะเกียรติกุล (เต้)  บริษัท อาร์ เอส  จำกัด (มหาชน),  ดารา นักแสดงจากช่อง 3,บริษัททีวีซีน,  คณะมีสทีนไทยแลนด์    และ Highlight เปิดตัวสื่อเครื่องบินรณรงค์ประชาสัมพันธ์เครื่องบินรณรงค์ ทุก ๆ ที่ปลอดบุหรี่  รวมถึงการเผยแพร่สื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ต่าง ๆ อาทิเช่น  โปสเตอร์  สติกเกอร์เขตปลอดบุหรี่  แผ่นพับ  คู่มือต่าง ๆ  ซึ่งผู้สนใจสามารถขอรับได้ฟรี ณ ลานกิจกรรมดังกล่าว

 

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : ฝ่ายศูนย์ข้อมูล มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โทร. 02-278-1828

หมายเลขบันทึก: 184402เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2008 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท