โรงเรียนเรียกเก็บเงินพิเศษแพงหูฉี่..จะแก้อย่างไร


ผมนำเรื่องนี้มาพูด ด้วยความเข้าใจหัวอกของพ่อ แม่ ที่วอล์กเอาต์ และเข้าใจความรู้สึกหรือปัญหาของโรงเรียน เห็นว่า ทุกฝ่ายต้องหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่ประกาศความเป็นศัตรูกัน

       หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 25 พ.ค.51 ลงข่าวผู้ปกครอง ร.ร.นวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัยปทุมธานี วอล์กเอาต์ ออกจากห้องประชุม อันเนื่องมาจากความไม่พอใจทางโรงเรียนที่เรียกเก็บเงินค่ากิจกรรมจิปาถะแบบแพงหูฉี่  โดยแจ้งว่า บางรายการรับได้ บางรายการรับไม่ได้ เช่น  11) ค่าสาธารณูปโภค 540 บาท  12) เงินเดือนครู 352 บาท 13) ค่าจ้างพนักงานขับรถ 72 บาท  14) ค่าพัฒนาสำนักงาน 150 บาท 15) ค่าตอบแทนวิทยากร 414 บาท(คัดมาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)

       ปัญหาเรื่องนี้ ผมขอแยกแยะวิเคราะห์นะครับ สภาพข้อเท็จจริง คือ โรงเรียนได้รับการจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวจากรัฐ เป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐาน และจะจัดสรรค่าใช้จ่ายอีกจำนวนหนึ่งเพื่อการบริหารจัดการ ไม่นับรวมเงินเดือนครู ซึ่งรัฐต้องจ่ายให้เต็มที่อยู่แล้ว  ปัญหาคือ ในสภาพที่เป็นจริง งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ จะไม่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาและระบบบริการต่าง ๆ แบบสูงกว่ามาตรฐานปกติ(หรือจัดแบบหรูหรา) ซึ่งโรงเรียนที่มีชื่อเสียงหรือโรงเรียนที่ได้รับค่านิยมสูงมักจะจัดการศึกษาและระบบบริการสูงกว่าโรงเรียนในชนบททั่วไป(จึงเป็นมูลเหตุทำให้ได้รับค่านิยมจากผู้ปกครองสูงมากไงล่ะ)  ระบบบริการที่ว่านี้ เช่น ห้องสมุดปรับอากาศ  หอประชุมปรับอากาศ  สวนหย่อม สวนผักผ่อน และศาลาพักผ่อนที่หรูหรา ฯลฯ  หากถามว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองพอใจใช่หรือไม่ ต้องตอบว่า “ใช่”  ทุกคน อยากให้ลูกตนเองอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สะดวกสบาย   โรงเรียนที่จัดระบบบริการเช่นนี้ ถือเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาแบบ “เพดานบินสูงมาก” เมื่อเทียบกับโรงเรียนในชนบท หรือโรงเรียนอื่น ๆ   ถ้าเราถามต่อไปว่า  หากให้โรงเรียนเหล่านี้ ลดเพดานบินลง ปรับความหรูหราลง เช่น ไม่ใช้แอร์ในห้องประชุม  ไม่ใช้ลิฟต์ในอาคารสูง  ไม่ใช้แอร์ในห้องสมุด  สอนภาษาอังกฤษ ก็สอนโดยอาจารย์ไทยก็พอ ไม่ต้องจ้างอาจารย์ต่างชาติ นี่คือการลดเพดานบิน ...ถามว่าผู้ปกครองในโรงเรียนเหล่านี้ ต้องการเช่นนี้ หรือ คำตอบคือ “ไม่ใช่อย่างแน่นอน”  เมื่อไม่ต้องการลดเพดานบินลง ยังอยากให้บินสูงเหมือนเดิม เพราะลูกเราจะได้สะดวกและมีความสุข  คำถามต่อไปคือ แล้วโรงเรียนจะเอาค่าใช้จ่ายจากไหนมาบริหารจัดการ ในเมื่อรัฐให้มาแบบจำกัด สำหรับการบริหารจัดการแบบธรรมดา(เพดานบินต่ำ) คำตอบสุดท้ายคือ การระดมทรัพยากรหรือการมีส่วนร่วมของชุมชนหรือเครือข่ายผู้ปกครอง.....แล้วรากของปัญหามันอยู่ที่ไหน ทำไมผู้ปกครองถึงไม่ยอม    ผมคิดว่า มีมูลเหตุจากสิ่งต่อไปนี้คือ 1) การคิดเก็บเงินใด ๆ มักจะคิดโดยโรงเรียน ล้วนแต่เป็นสิ่งที่โรงเรียนเห็นว่าควรทำ/อยากทำ(โดยเห็นว่าจะเกิดผลดี) ไม่ได้เกิดจาก การที่โรงเรียนเสนอโครงการดี ๆ คมๆ จำนวนหนึ่ง เช่น 15 โครงการ แล้วให้ผู้ปกครองร่วมกันประชุม พิจารณาแล้วตัดสินว่า ต้องการโครงการใดบ้าง ทั้งนี้ โรงเรียนประเมินค่าใช้จ่ายไว้แล้วเสร็จ ว่า โครงการใด จะใช้เงินเท่าไร(ที่นอกเหนือจากเงินขั้นต่ำที่พอจะมีอยู่แล้ว จากการสนับสนุนรายหัวจากรัฐ)   หรือ โรงเรียน เชิญแกนนำเครือข่ายผู้ปกครอง แล้วรายงานผลงานปีที่ผ่านมา  กำหนดเป้าหมายผลงานหรือคุณภาพการจัดการศึกษาที่ต้องการสู่ความเป็นเลิศในปีถัดไป พร้อมเสนอแพคเกจ ชุดกิจกรรมหรือโครงการที่ควรทำเพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศ แล้วให้ผู้ปกครองเลือกและร่วมสนับสนุนด้านการเงิน ท่านคิดว่าเป็นไปได้ไหม ที่ผู้ปกครองจะบอกว่า “ไม่ต้องหรอก ไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ ถ้าโรงเรียนขาดครู ก็ให้สอนเท่าที่มี ทำเท่าที่จะทำได้ พวกข้าพเจ้ารับได้”....ท่านเชื่อหรือไม่ว่า  คำพูดเหล่านี้จะไม่มีหรอก ทุกคน คงจะอยากให้ลูกตนเอง หรือโรงเรียนของลูก ก้าวสู่ความเป็นเลิศ และเชื่อว่าเขาจะลงขันอย่างแน่นอน   ไม่มีปัญหาความขัดแย้งหรอก   และ 2) การเก็บเงินพิเศษเกือบทุกครั้ง เรามักจะเก็บแบบเฉลี่ย ทำให้ผู้ปกครองที่ยากจน ต้องเดือดร้อนหนัก  เราไม่มีการสร้างค่านิยมในหมู่ผู้ปกครอง ที่บางคนฐานะดี  บางคนฐานะยากจน เราควรร้องขอให้คนที่ฐานะดี หรือปานกลาง โปรดหันมามองเพื่อนลูกเรา ที่ยากจนบ้าง ทุกคน ต้องช่วยกันดูแล ลูกห้องเรียนและลูกระดับ เราอย่าคิดแต่เรื่องลูกเราเพียงคนเดียว ลูกเราคงจะไม่มีความสุขหรอก ถ้าเพื่อนในห้องยากจนและเดือดร้อน  ค่านิยม หรือการคิดเช่นนี้ จะต้องสร้างอย่างจริงจังในวันปฐมนิเทศ หรือประชุมผู้ปกครอง....ท่านเชื่อไหม โรงเรียนที่มีเด็ก 3000 คน ถ้าให้เด็ก 3000 คน คอยเป็นตัวแทนโรงเรียน ไปอวยพรวันเกิด พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของตนเอง(ในนามตัวแทนโรงเรียน) อย่างสม่ำเสมอ แล้ในวันนั้น บอก พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ให้ร่วมทำบุญวันเกิดตามฐานะ ท่านคงจะได้เงินเข้าโรงเรียน เพื่อหนุนกิจกรรมนักเรียนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท (3000 ครอบครัว x 5 คนต่อครอบครัว  x 100 บาทต่อวันเกิด=1.5 ล้านบาท หรืออาจมากกว่านี้ก็ได้)(กิจกรรมแบบนี้ นอกจากจะได้งบประมาณสนับสนุนโรงเรียนแล้ว ยังเป็นการสร้างความรัก ความผูกพันในครอบครัว ได้อีกทางหนึ่งด้วย)

       ผมเสนอนะครับ ไม่ใช่เสนอโรงเรียนที่ถูกเอ่ยนามข้างต้นนะครับ ผมหมายถึงโรงเรียนทั่วไป ดังนี้ ครับ

1) อย่าใช้เพียงหลักนิติธรรม หรือทำตามระเบียบ คือ “โรงเรียนได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาแล้ว  ดังนั้น จึงมีสิทธิ์ในการเก็บเงิน”   ถ้าคิดแบบนี้ จะเริ่มพังตั้งแต่คิดแล้วครับ(เพราะคณะกรรมการสถานศึกษา ไม่ใช่คนจ่ายเงิน  นอกจากนั้นลูกหลานของคณะกรรมการหลายคน ได้ส่งไปเรียนที่อื่นแล้ว ไม่ได้เรียนที่นี่)  ขอให้คิดเรื่องนี้แต่เนิ่น ๆ และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

2)  ผมอยากเห็น โรงเรียนเสนอปัญหาให้ผู้ปกครองทราบ อย่างจริงใจ ระบุปัญหาวิกฤติ ๆ ของโรงเรียน เพื่อผู้ปกครองจะได้ตระหนักถึงปัญหาของโรงเรียนที่ลูกเขาเรียนอยู่

3)  โรงเรียนควรตั้งเป้าหมายคุณภาพ เช่น ปีหน้า เราตั้งเป้าว่า คะแนนสอบ NT จะต้องเพิ่มขึ้น 15 % และสถิติสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะต้องเพิ่มจาก 64 % เป็น 78 % ให้ได้   หรือ เราจะต้องก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 3 โรงเรียนชั้นนำของจังหวัด และลูกหลานเราจะต้องมีความเป็นเลิศด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์(เป็นคนดี)

4)  หลังจากผู้ปกครองเห็นเป้าหมายโรงเรียนแล้ว  โรงเรียนค่อยเสนอชุดกิจกรรมพัฒนา(แพคเกจ)หรือชุดโครงการที่ต้องทำ พร้อมบัญชีค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากงบประมาณปกติที่ได้รับจัดสรรจากรัฐ

5)  ให้ผู้ปกครองร่วมตัดสินใจว่า โครงการใด ควรทำ ไม่ควรทำ หรือควรทำเพิ่มเติม(ผู้ปกครองเสนอเอง)....เราต้องเชื่อว่า “ผู้ปกครองคือเจ้าของลูกโดยแท้  เขาย่อมอยากให้โรงเรียนก้าวหน้าหรือเป็นเลิศ เพื่อประโยชน์ของลูกเขาอย่างแน่นอน” .....ในกระบวนการคิด ณ วันนี้ จะต้องให้เกียรติผู้ปกครอง ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งหรือจำนวนมากในโรงเรียนดัง ๆ หรือโรงเรียนค่านิยมสูง ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์และความสามารถสูงยิ่ง...ถ้าท่านคิดเช่นนี้ และเชื่อเช่นนี้ ผมว่า ยากน่ะที่จะเกิดปัญหาถึงขนาดวอล์กเอาต์ ออกจากห้องประชุม

ผมไม่แน่ใจว่ารากของปัญหาเรื่องนี้ อาจมีในแง่มุมอื่น ๆ ที่ผมคิด

ไม่ถึงก็อาจเป็นได้ แต่ ผมในฐานะที่เป็นนักการศึกษา นักวิชาการ เป็นผู้ปกครอง  คณะกรรมการสถานศึกษา และคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา เป็นเกือบทุกตำแหน่ง  โดย ตำแหน่งที่สำคัญที่สุด คือ “เป็นพ่อของลูก” ที่อยากเห็นโรงเรียนที่ลูกตนเองเรียนอยู่ มีความก้าวหน้า   ถ้าไม่เหลืออดหรือคับช้องใจจริง ๆ ผมคงจะไม่วอล์กเอาต์  อันจะทำให้ลูกผมไม่สบายใจอย่างแน่นอน(ก็ลูกผมเป็นตัวประกันอยู่ในโรงเรียนนี่นา).......ผมจึงนำเรื่องนี้มาพูด ด้วยความเข้าใจหัวอกของพ่อ แม่ ที่วอล์กเอาต์ และเข้าใจความรู้สึก เข้าใจปัญหาและความต้องการจำเป็นของโรงเรียน  โดยเห็นว่า ทุกฝ่ายต้องหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่ประกาศความเป็นศัตรูกัน

 

หมายเลขบันทึก: 184524เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2008 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีคะ อาจารย์สุพักตร์

บันทึกนี้ อาจารย์วิเคราะห์แลกเขียนออกมาได้หลากหลายมุมที่น่ามอง นอกเหนือจากมุมของผู้ปกครองอย่างเดียว ก็ต้องมองมุมของโรงเรียน และหน่วยงานของรัฐอีกด้วย

ดิฉันเองก็ไม่ได้อยู่ในวงการนี้ ครั้งแรกที่เห็นข่าวก็ยังคิดอยู่ว่าตกลงประเด็นเรื่องนี้เป็นเพราะอะไรกันแน่

มาอ่านบันทึกนี้ของอาจารย์ทำให้ได้เห็นอีกหลายๆ มุมที่ดิฉันเองไม่คาดคิด

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันคะ

เรื่องนี้คงจะมีการตรวจสอบและหาสาเหตุที่แท้จริงนะค่ะ เพราะเป็นประเด็นสำคัญมากๆ เพราะโรงเรียนเป็นสถานที่ ที่จะมีผลต่อคุณภาพของเยาวชนไทยคะ

โรงเรียนอุตรดิตถ์ขอเข้ามาให้ความเห็นด้วยครับ

ต้องขอขอบคุณท่านดร.สุพักตร์ที่วิเคราะห์ได้ตรงประเด็นมากๆ (เกาถูกที่คัน) ผู้บริหารที่โรงเรียนหลายท่านเคยฟังท่านบรรยายด้วยครับ

 ที่โรงเรียนต้องมีการประชุมชี้แจงผู้ปกครองก่อนเก็บเงิน (นอกหลักสูตร)และที่สำคัญคือการสร้างเครือข่ายผู้ปกครองให้เข้มแข็ง พร้อมทั้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทราบเหมือนกันว่าโรงเรียนนั้นทุกๆคนเป็นเจ้าของ

สำหรับโรงเรียนอุตรดิตถ์มีเพิ่มเติมคือผู้ปกครองเขียนคำยินยอมในการที่โรงเรียนจัดการเรียนการสอนนอกหลักสูตรเพิ่มเติมด้วยครับ

สำหรับผลผลิตของนักเรียนม.6 ที่จบไปรุ่นแล้วมี 400 คน ติดมหาวิทยาลัยแล้ว 380 คน (ไม่รวมราชภัฎ ราชมงคล) ผู้ปกครองและนักเรียนส่วนใหญ่พอใจกับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน

ตอนนี้ก็ต้องรอกฤษฎีกาตีความอยู่ครับ

ขอบคุณมากครับ คุณมะปรางเปรี้ยว

  • ขอบคุณที่มองเห็นว่าเป็นกลาง
  • อันที่จริง ใจผม "ผมเป็นพ่อของลูก" ผมจะเข้าข้างผู้ปกครองนะครับ
  • โดยทั่วไป ผู้ปกครอง ไม่อยากจะโวยวายหรอกครับ แต่เป็นเพราะไม่เข้าใจเจตนาของโรงเรียน และโรงเรียนเองก็ขาดการ Convince..จูงใจให้เห็นความสำคัญว่าทำไม่ผู้ปกครองจึงจะต้องช่วยโรงเรียน(โรงเรียนเราบินเพดานสูงมานานแล้ว ท่านจะให้ลดหรือ...ผู้ปกครองทุกคนละครับ ไม่ยากให้โรงเรียนลดมาตรฐานการบริการ มีแต่อยากได้เพิ่ม)
  • ผมเคยเป็นตัวแทนผู้ปกครองในโรงเรียนที่ลูกผมเรียนนะครับพูดชี้แจงให้เข้าใจ...คุณเชื่อไหม ผู้ปกครองควักเงินลงขันกันทันที โดยไม่ต้องบอกหรือกำหนดครับว่า ต้องคนละเท่าไร
  • ที่สำคัญที่สุด คือ การทำงานในยุคนี้ ต้องเน้นการมีส่วนร่วม "ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมรับผิดชอบ และร่วมสรุปประเมินความสำเร็จของงาน"
  • ดร.รุ่ง แก้วแดง เคยกล่าวว่า ในบางครั้ง โรงเรียนมองผู้ปกครองเหมือน "วัวพันธุ์นม" วันไหนที่อยากได้นมก็เรียกหรือจูงมา "แล้วรีดเอานม" รีดเสร็จก็ปล่อยไว้ในทุ่งหญ้า "แม่วัว ไม่มีส่วนร่วมหรือมีส่วนได้เสียกับกิจการของเจ้าของฟาร์มเลย"

สวัสดีครับ อ.โต

  • ขอบคุณมากครับที่ยืนยัน เสริมความคิด
  • โรงเรียนของอาจารย์ยอดเยี่ยมมาก ที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายผู้ปกครอง เขาคือ "เจ้าของลูกตัวจริง และมีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง"
  • ในทันทีที่ ผู้ปกครองเห็นความสำเร็จในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียน ดังที่อาจารย์ระบุ ผมคิดว่า ให้เขาวางแผนต่อเนื่องเองก็ได้ว่า น่าจะต้องพัฒนาหรือลงขันเพิ่มเติมในเรื่องใดบ้าง
  • ยิ่งถ้าเรามาจัดอภิปรายร่วมกันว่า "ทำอย่างไร เราจึงจะก้าวขึ้นสู่การเป็นโรงเรียนชั้นนำ 3 อันดับแรกของภาคเหนือ" แค่นี้ละครับ ผู้ปกครองจะร่วมคิดกันจนหัวหมุน แล้วทุกอย่างจะตามมา ทั้งเงินทองและแรงกาย

โรงเรียนที่เรียกตัวเองว่าโรงเรียนดี โรงเรียนประจำจังหวัดก็เรียกเก็บเงินทุกโรงเรียนนั่นแหละ แต่มีวิธีเรียกเก็บแบบต่างๆ ระดมทรัพยากรบ้างละ อะไรต่อมิอะไร มากมายหลายชื่อ แต่ผู้ปกครองก็ยินดีจ่าย เพราะต้องการให้ลูกเข้าโรงเรียนดี ยิ่งดีมาก ก็ต้องจ่ายมากเป็นเรื่องธรรมดา

เรียน อาจารย์ Nongyao

  • ขอบคุณอาจารย์มากครับที่ เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น
  • ตอนนี้ เรากำลังแสวงหาวิธีอื่น ที่จะไม่เก็บเงินผู้ปกครอง โดย ผอ.สพท นนทบุรีเขต 2 กำลังให้ทีมงาน "วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายรายหัวที่พอเหมาะของโรงเรียนค่านิยมสูง" โดยคุยกันว่า อาจของบประมาณจากท้องถิ่น ในการอุดหนุนส่วนต่าง ที่เพิ่มขึ้นจากเงินรายหัวที่รัฐจัดสรรให้แล้ว เช่น ถ้า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี คำนวณแล้ว ตกที่หัวละ 12000 บาท แต่รัฐจัดสรรให้เพียงหัวละ 7000 บาท(สมมติ) ส่วนต่างอีกหัวละ 5000 จะขอให้ อบต.หรือ อปท.จัดเงินมาอุดหนุน(เฉพาะเด็กที่มีบ้านอยู่ในชุมชน  ส่วนเด็กที่มาจากต่างถิ่น ต้องจ่ายเอง)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท