ถึงเวลาจัดระเบียบร้านอินเตอร์เน็ตหรือยัง


นำบทความที่เขียนลงมติชน มาให้เพื่อนสมาชิกลองอ่านดูนะคะ

วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11036


ถึงเวลาจัดระเบียบร้านอินเตอร์เน็ตหรือยัง


โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ



ผู้ใหญ่มัวแต่ทะเลาะกัน ปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนจึงไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซาก ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เช่นปัญหาการใช้ความรุนแรงของเด็ก การเข้าถึงสื่อลามกอนาจาร การหมกมุ่นเล่นเกมและอินเตอร์เน็ต จนกระทั่งเกิดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศของเด็กวัยรุ่นชายอายุ 17 ปี ที่กระทำต่อเด็กผู้ชายที่อายุเพียง 7-8 ปี ในร้านอินเตอร์เน็ต

จากการสำรวจข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนทั่วไปพบว่า ทั่วประเทศมีร้านอินเตอร์เน็ตกว่า 30,000 ร้าน ที่อาจมีใบอนุญาต ถ้ารวมร้านที่ไม่มีใบอนุญาตอาจมีจำนวนมากกว่านี้

และจากการสำรวจยังพบว่ามีเด็กเล่นอินเตอร์เน็ตประจำถึง 67.8% เวลาที่ใช้มีตั้งแต่ 2 ชั่วโมง โดยเด็กจะใช้เวลาเพื่อการศึกษาค้นคว้า 47% อีก 53% เด็กจะใช้เวลาเพื่อเล่นเกมและแซ็ต และหาข้อมูลอื่นๆ ที่อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก

ถ้าเด็กใช้เวลาเล่นอินเตอร์เน็ต 3 ชั่วโมง พบว่า 51% ใช้เพื่อเล่นเกมและแซ็ต ส่วน 49% ใช้เพื่อการศึกษาค้นคว้า

หากเด็กเล่นมากกว่า 5 ชั่วโมง พบว่า 70% เด็กใช้เวลาเพื่อเล่นเกม,แซ็ต หรือการค้นหาเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็ก

เกมที่นิยมเข้าไปเล่นมักเป็นเกมการต่อสู้ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทการใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ยังพบว่ามีการโหลดข้อมูลไม่เหมาะสม

จากการสำรวจนี้ทำให้พบว่าปริมาณชั่วโมงที่เด็กเล่นอินเตอร์เน็ตยิ่งมากชั่วโมงเท่าไร สัดส่วนที่เด็กจะใช้ค้นคว้าหาความรู้ยิ่งจะน้อยลงไปทุกที

นอกจากนี้การสำรวจเด็กที่มีอายุระหว่าง 7-19 ปี ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กถูกรีดไถในร้านอินเตอร์เน็ตถึง 6 หมื่นกว่าราย ถูกทำร้าย 5 หมื่นกว่าราย รวมทั้งเคยเห็นภาพการโวยวายด่าทอตบตี ทำร้ายร่างกายกันในร้านอินเตอร์เน็ต

และพบเห็นการใช้คำหยาบคายทั้งในร้าน และในอินเตอร์เน็ตถึง 78.6%

จากการสำรวจข้อมูลจากสภาพจริงและข่าวคราวจากหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้เห็นว่าร้านอินเตอร์เน็ตไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัย ที่พ่อแม่หรือรัฐจะสนับสนุนหรือปล่อยปละละเลยให้เด็กเข้าไปใช้บริการได้โดยไม่มีการจัดระเบียบ

รวมทั้งร้านอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางที่จะทำให้เด็กถูกกระทำทั้งความรุนแรง การล่อลวง การล่วงละเมิดทางเพศ

และในขณะเดียวกันการใช้อินเตอร์เน็ตของเด็กที่ขาดการจัดระเบียบ ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดทำให้เด็กที่ควรจะอยู่ในวัยเรียนหรือเด็กที่ควรจะเป็นคนดีของสังคมต่อไป ต้องกลายเป็นยุวอาชญากร กระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์บ้าง หรือขาดภูมิคุ้มกัน ทำให้ทนแรงยั่วยุต่างๆไม่ได้จนต้องก่ออาชญากรรม ทั้งที่ไม่ได้มีกระมลสันดานที่จะประพฤติชั่วมาแต่เกิด

การปล่อยปละละเลยของผู้ใหญ่ในสังคม ไม่ว่าจะในฐานะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงรัฐบาลที่ยังคงมองเห็นว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร เราจึงยังพบร้านอินเตอร์เน็ตมีอยู่ดาษดื่นในทุกหัวระแหงของประเทศ

ตั้งแต่สภาพของร้านที่ทำผิดระเบียบ ทั้งติดผ้าม่านปิดทึบหรือกระจกติดฟิล์ม ทำให้มองจากภายนอกไม่เห็นว่าเด็กที่อยู่ในร้านทำอะไรบ้าง หรือบางร้านปิดประตูด้านหน้าและขังเด็กไว้ในร้าน นอกจากนี้สภาพร้านที่มีมุดมืด มุมอับ เจ้าของร้านดูแลไม่ทั่วถึง และไม่เอาใจใส่สวัสดิภาพของเด็กเท่าที่ควร

นอกจากสภาพร้านไม่เหมาะสมแล้ว การปล่อยให้เด็กเล่นเกมโดยไม่จำกัดเวลา ทั้งในเวลาที่ควรจะไปโรงเรียนหรือเกินเวลาที่ร้านควรจะปิด ยังไม่นับรวมกรณีที่ร้านปล่อยให้เด็กเล่นเกมหรือโหลดข้อมูลอะไรก็ได้ตามใจชอบ โดยไม่สนใจว่าข้อมูลหรือเกมเหล่านั้นจะเป็นอันตรายต่อเด็กหรือไม่อย่างไร

การปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องถิ่น ที่ควรจะเห็นตำตาว่าร้านอินเตอร์เน็ตร้านใดไม่ทำตามกฎระเบียบของการขออนุญาตเปิดร้าน หรือปล่อยให้เด็กใช้บริการโดยไม่ถูกต้อง ปัญหาที่เกิดจากการใช้อินเตอร์เน็ต จึงเป็นปัญหาที่เกิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นับวันจะส่งผลต่อคุณภาพของเด็กและเยาวชนมากขึ้นทุกที

ปัญหาเด็กและเยาวชนไทยสะท้อนภาพความไม่เอาใจใส่ของผู้ใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญในบ้านเมือง และนักการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้าไปเพื่อช่วยดูแลแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ควรเอาอย่าง เช่น การใช้วาจาหยาบคาย การใส่ร้ายป้ายสีสาดโคลนใส่กัน คุณลักษณะเอาความดีใส่ตัวเอาความชั่วใส่คนอื่น มุ่งเอาชนะคละคลานกันไปวันๆ เก่งแต่พูด แต่ไม่เห็นจะได้ใช้เวลามานั่งคิดแก้ปัญหาของเด็กและเยาวชนกันสักเท่าไร

หากผู้ใหญ่มีพฤติกรรม "ไม่เห็นจะโต" ทั้งความคิด สติปัญญา และวุฒิภาวะแล้ว เราจะไปแก้ปัญหาของเด็กและเยาวชนกันได้อย่างไร

เพราะปัญหาของผู้ใหญ่เองยังแก้กันไม่ได้เลย

หน้า 6

หมายเลขบันทึก: 184868เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2008 01:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท