เขียนตอบ/สอบแบบเขียนตอบ...วิธีการของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา


การเน้นให้เด็กเขียนตอบในทุกวิชา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ส่งผลให้เด็กเกิดพัฒนาการสูงยิ่ง ความสามารถทางภาษาและทักษะเกือบทุกวิชาเปลี่ยนไป

       วันที่ 1 มิถุนายน ไปส่งลูกสาวคนโตเข้าพอพัก หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเตรียมเปิดเรียนในวันที่ 2 มิ.ย.51   ผมเห็นสมุดบันทึกของลูกสาวทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ที่สะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางด้านภาษาเป็นอย่างดียิ่งของลูกคนนี้ ทำให้นึกย้อนหลังและอยากเขียนถึงประสบการณ์ที่ได้พบในช่วงที่ลูกสาวได้เริ่มเข้าเรียน ม.4 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (หลังจากจบชั้น ม.3 จากโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ จังหวัดนนทบุรี )

การเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในภาคเรียนแรก เขารู้สึกว่าเรียนหนักมากและเครียดมากกับลีลาของอาจารย์ที่นั่น ที่เน้นการสอนแบบเขียนตอบ เขียนบรรยาย  มอบหมายให้อ่าน แปล วิชาภาษาอังกฤษ(วิชาภาษาอังกฤษ ให้เขียนบรรยายประวัติชีวิตตนเอง ครอบครัว  อาชีพของพ่อ แม่ บันทึกเหตุการณ์วันสำคัญต่างๆ ฯลฯ) อีกทั้ง การสอบย่อย สอบระหว่างภาคของทุกวิชา เน้นข้อสอบแบบเขียนตอบ ไม่มีการออกข้อสอบแบบปรนัยเลือกตอบ ในระหว่างภาคเรียน นักเรียนจะได้เจอข้อสอบแบบเลือกตอบก็ตอนสอบปลายภาคเท่านั้น

        ผมเกิดการเรียนรู้ว่า การเน้นให้เด็กเขียนตอบในทุกวิชา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ได้ส่งผลให้เกิดพัฒนาการในตัวลูกสูงยิ่ง ความสามารถทางภาษาเปลี่ยนไป ทักษะเกือบทุกวิชาเปลี่ยนไป จนมีผลต่อการสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ตามที่เคยเล่าในบันทึกก่อนๆ แล้วว่า ทำให้ได้คะแนนในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แปดพันกว่าคะแนน เฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ได้คะแนนO-NET และ A-NET ร่วม 85 %  ทำให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษ 1-2 รวม 6 หน่วยกิต ในการเข้าเรียนปีที่ 1 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปีนี้

       ผมคิดว่า ในระหว่างภาคเรียน การสอบระหว่างภาค การทำแบบฝึกหัดต่าง ๆ ครูผู้สอนควรหันมาเน้น ให้ความสำคัญกับการเขียนตอบ การบันทึก การบรรยายมากขึ้น  การใช้ข้อสอบปรนัยแบบเลือกตอบ ควรใช้เฉพาะการสอบปลายภาคเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 185649เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2008 07:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เรียน ดร.สุพักตร์ที่เคารพ

เห็นด้วยกับคำแนะนำของอาจารย์ค่ะ และบังเอิญวิชาที่หนูสอนเป็นวิชากฎหมาย การวัดผลและแบบฝึกหัดจึงใช้เป็นการเขียนตอบอยู่เสมอค่ะ ได้ผลดีมากเลยค่ะ บางทีก็ได้รู้ว่านักศึกษาไม่รู้อะไรเลย...(อาจารย์ต้องปรับปรุงวิธีการสอนกันยกใหญ่แล้ว)

สวัสดีครับ อ.ฟ้าใส

  • ไม่ได้เจอกันหลายวันแล้วนะครับ(ทางอวกาศ)
  • ขอบคุณครับที่เข้ามาเยี่ยม
  • วิชากฏหมายของอาจารย์ การเขียนตอบ หรือเขียนอธิบาย น่าจะมีผลต่อชีวิตและพัฒนาการของนักศึกษาอย่างมากแน่นอนครับ   ทักษะการใช้ภาษาในเชิงเหตุผล ก็จะสูงมากด้วย

เห็นด้วยครับ ตอนเรียนควรให้เขาเขียนสะท้อนว่า ตรงไหนที่เขาไม่เข้าใจ ตรงไหนเขาเข้าใจ เขาจะได้พัฒนาทั้งการคิดและภาษาไปในตัวด้วย ขอบคุณมากครับ...

  • ขอบคุณ อ.ขจิต ครับ
  • ผมโชคดีที่สมัยเรียน อาจารย์ไม่เน้นให้เขียน ทำให้ผมไม่เก่งภาษาอังฤษ เลยมีข้ออ้างได้ว่า "ทำไมจึงไม่เก่งภาษาอังกฤษ"

ควรเน้นเขียนตอบตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เดี๋ยวนี้นักเรียนเขียนตอบไม่เป็น ไม่มีความคิดสร้างสรรค์

กุลพัฒน์ ยิ่งดำนุ่น

สวัสดีครับท่าน รศ.ดร.สุพักตร์

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ที่การสอบเก็บคะแนนระหว่างภาคเป็นการสอบแบบเขียนตอบ ซึ่งจะช่วยพัฒนาความสามารถด้านการคิด และความสามารถด้านการใช้ภาษาของเด็กไทย ซึ่งทั้ง 2ด้านนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันพัฒนาให้มีในตัวเด็กไทย ส่วนการสอบปลายภาค ผมคิดว่า ควรมีทั้งแบบ เขียนตอบและแบบเลือกตอบครับ เพราะแบบเขียนตอบจะสะท้อนความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ และคิดสร้างสรรค์ แต่ข้อสอบอาจไม่ครอบคลุมเนื้อหาทั้งภาคเรียน จึงควรเพิ่มแบบเลือกตอบ ที่สามารถออกแบบสอบให้มีเนื้อหาครอบคลุมได้ง่ายกว่า (คิดถึงความสามารถในการสร้างข้อสอบของครูส่วนใหญ่ของประเทศครับ)

ยินดีมากครับที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น รบกวนอาจารย์เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการนะครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

กุลพัฒน์ ยิ่งดำนุ่น

เรียนอาจารย์สุพักตร์

ผมเห็นด้วยอย่างมากกับข้อเสนอของอาจารย์ ในฐานะนักวัดผลการวัดให้ได้สิ่งที่มุ่งวัดและสามารถนำผลการวัดไปส่งเสริมหรือพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรู้ความสามารถในกรณีลูกสาวอาจารย์นับเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับปรัชญาของการประเมินที่เห็นภาพชัดเจนมาก แต่ในมิติของการวิจัย ตัวแปรตามคือความสามารถทางภาษาอังกฤษหรือตัวแปรอื่น ๆ ผมว่าคงไม่ได้มาจากการสอบด้วยการเขียนบรรยายเพียงตัวเดียว มันมีตัวแปรอื่นที่ร่วมส่งผลกันค่อนข้างหลากหลาย ทั้งเรื่องคุณภาพการสอนของครู คุณภาพของทรัพยากรทางการศึกษาทั้งที่บ้านและโรงเรียน เศรษฐานะของบ้านและโรงเรียน และตัวแปรอื่น ๆ อีกมาก การนำเสนอผลของการสอบแบบเขียนตอบหรือการบรรยายที่เกิดขึ้นนี้ นับเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ครูประเมินผู้เรียนด้วยวิธีการที่หลากหลายและเป็นไปตามสภาพความเป็นจริง แต่ถ้าอาจารย์จะให้สาระเพิ่มเติมในมิติของการวิจัยเพียงเล็กน้อยก็จะสามารถช่วยให้ครูมองเห็นความเชื่อมโยงของลักษณะต่าง ๆ ที่จะทำให้ครูสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่ดำเนินการในห้องเรียนไปสู่การพัฒนาความก้าวหน้าในการทำงานด้วยกระบวนการประเมินและการวิจัยควบคู่กันไปนะครับ

ด้วยความเคารพครับ

รุ่นน้องวัดผล จุฬาครับ

ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลดีจากครูที่ตั้งใจสอน เมื่อสามสิบปีมาแล้วเรียนที่โรงเรียนประถมของรัฐบาลในอำเภอต่างจังหวัด แต่ครูภาษาอังกฤษพูดอังกฤษในชั้นเรียน พอระดับมัธยมเรียนที่สตรีประจำจังหวัด ห้อง king ครูภาษาอังกฤษบอกว่าห้องนี้รับได้เร็ว ครูจะสอนให้มากกว่าห้องอื่น คือ เขียนเรียงความเกือบทุกวัน เรื่องง่ายๆ เช่น ครอบครัวของฉัน อาหารที่ฉันชอบ สอนเขียนกลอน สอนร้องเพลงฝรั่ง พอเรียนมัธยมปลายย้ายไปอีกโรงเรียน ครูพูดอังกฤษในการสอน ให้อ่าน Student Weekly และ Bangkok Post ชั่วโมงที่เรียน Reading จะแบ่งกลุ่มกันอ่านและใช้ภาษาอังกฤษพูดคุยในกลุ่ม พอเรียนปริญญาตรีดิฉันก็ได้เกรดเอภาษาอังกฤษทุกวิชา (เรียนสาขาวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ) เมื่อไปสอบเข้าปริญญาโท และเอก ก็สามารถสอบวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษผ่านในครั้งเดียว ไม่ต้องลงทะเบียนเรียน โดยที่ไม่เคยไปติวที่ไหน และไม่ได้อ่านหนังสือก่อนสอบ รู้ได้ว่าเป็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวเองและสั่งสมมาแต่เด็ก อาจารย์ประธานหลักสูตรปริญญาเอกถามว่าจบมัธยมปลายที่ไหนจึงสอบภาษาอังกฤษผ่าน พอบอกชื่อโรงเรียน ท่านบอกว่าถ้าจบจากโรงเรียนนี้ผ่านอยู่แล้ว ดิฉันรู้ได้ด้วยตัวเองว่า พื้นฐานการเรียนภาษาอังกฤษนั้นสำคัญมาก โดยเฉพาะในระดับมัธยม และระลึกถึงอาจารย์ภาษาอังกฤษอยู่เสมอ ถ้าหากเป็นครูสอนภาษาอังกฤษคงจะเดินตามรอยท่าน ปัญหาของครูที่ไม่ค่อยออกข้อสอบอัตนัย ให้เหตุผลว่าต้องใช้เวลามากในการตรวจงาน ถ้าครูสอนวิชาหนึ่ง 5 ห้อง ห้องละ 45 คน ใช้เวลามากในการตรวจข้อสอบอัตนัย ซึ่งเรื่องนี้ครูที่ทำได้จะต้องมีจิตวิญญาณที่อยากเห็นเด็กพัฒนาจริงๆ เห็นเด็กเป็นศูนย์กลางจริงๆ ไม่ใช่เน้นประโยชน์ของครู หรือความสบายของครูเป็นหลัก กระทรวงศึกษาเคยมีแนวปฏิบัติให้ครูออกข้อสอบ อัตนัย:ปรนัย = 70:30 แต่แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะว่า พ.ร.บ. การศึกษาเป็นกฏหมายที่ไม่มีบทลงโทษ ต่อผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องอาศัยจิตสำนึกที่ดีของผู้สอนเท่านั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท