การเคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน


แรงงานเด็ก เด็กทำงานบ้าน การคุ้มครอง สิทธิเด็ก การศึกษา

การเคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน

 

ทำไมจึงต้องคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน

แรงงานทำงานบ้าน เป็นแรงงานประเภทหนึ่งที่ทำงานใช้กำลังกาย ความสามารถในการทำงาน ไม่ต่างจากแรงงานประเภทอื่นๆ  ส่วนที่ต่างกันคือ แรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการคุ้มครองน้อยที่สุด การคุ้มครองทางกฎหมาย ในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้ความคุ้มครองแรงงานประเภทต่างๆ แต่มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีข้อยกเว้นการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านหลายประการจึงทำให้แรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับการคุ้มครองในประเด็นสำคัญๆ หลายประการ  เช่น ไม่มีการกำหนดค่าแรงที่เป็นธรรม ไม่มีการกำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์เหมือนงานอื่นๆ  ไม่มีการกำหนดชั่วโมงการทำงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเวลาสำหรับการพักผ่อน ไม่มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ ของสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ  ค่ารักษาพยาบาล อาหาร ที่พัก และไม่มีการกำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงานเด็กที่ห้ามทำงานประเภทนี้

 

การที่ไม่มีการกำหนดมาตรการในการให้ความคุ้มครองแรงงานทำงานบ้าน ส่งผลให้กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน ไม่ทราบถึงสิทธิที่ควรได้รับหรือไม่ทราบว่าตนเองก็มีสิทธิที่ควรได้รับสวัสดิการต่างๆ เช่นเดียวกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ จึงทำให้กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านไม่มีพลังในการเรียกร้องสวัสดิการต่างๆ ประกอบกับภาพลักษณ์ของอาชีพ ที่ถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ไร้เกรียติศักดิ์ศรี  เป็นอาชีพที่มีฐานะต่ำกว่านายจ้าง  ยิ่งเป็นการเสริมแรงให้กลุ่มแรงงานทำงานบ้านไม่กล้าแสดงตนเพื่อเรียกร้องสวัสดิการใดๆ

 

ที่ไหนๆ ก็ให้ความคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน

จากการศึกษาข้อมูลการรณรงค์ เคลื่อนไหวเรื่องการเรียกร้องให้เกิดการคุ้มครองสิทธิลูกจ้างทำงานบ้าน  และมาตรการการให้ความคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศต่างๆ พบว่า สถานการณ์การทำงานของลูกจ้างทำงานบ้านแต่ละประเทศประสบปัญหาต่างๆ คล้ายคลึงกัน คือชั่วโมงการทำงานยาวนาน ปัญหาค่าแรงต่ำ ปัญหาการล่วงละเมิดต่างๆ ในหลายประเทศจึงได้มีความพยายามในการผลักดันให้เกิดการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านดังนี้

 

- ชั่วโมงการทำงาน ในบางประเทศการคุ้มครอง แรงงานทำงานบ้านในประเด็นชั่วโมงการทำงานได้ถูกแยกออกมาอย่างชัดเจนจากวิธีปฏิบัติทั่วๆ ไป  เช่นในประเทศฟิลิปปินส์และคานาดา (ออนตาริโอ)  หรือการบัญญัติกฎหมายแรงงานทั่วไปในประเทศโคลัมเบีย ในบางประเทศไม่ได้กำหนดชั่วโมงการทำงาน แต่พูดถึงชั่วโมงการพักผ่อนแทน ในประเทศเม็กซิโกให้เวลาในการพักผ่อนตั้งแต่ 10-12 ชั่วโมงต่อวัน ในประเทศเปรูให้แรงงานทำงานบ้านมีเวลาพักผ่อน 8 ชั่วโมงจากจำนวนทั้งหมด 24 ชั่วโมง ในประเทศเวเนซุเอลา กฎหมายชี้แจงว่าชั่วโมงการทำงานของแรงงานทำงานบ้านที่พักอาศัยกับนายจ้างให้ตัดสินโดยลักษณะของงานที่ทำ อย่างไรก็ตาม แรงงานทำงานบ้านต้องมีเวลาพักผ่อนอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ชั่วโมง

 

บางประเทศให้ความสำคัญกับจำนวนชั่วโมงต่อวันมากกว่าจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์เช่นในคอสตาริกา แต่มอลตา สวาซิแลนด์ แทนซาเนีย เวียดนาม หรือซิมบับเวจะให้ความสำคัญกับจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อวันและต่ออาทิตย์ ในประเทศอัฟริกาได้กำหนดเงื่อนไขโดยมีเวลาพักผ่อน 12 ชั่วโมงระหว่างการสิ้นสุดและเริ่มต้นชั่วโมงการทำงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง บางประเทศอาจนับชั่วโมงการทำงานเป็นสัปดาห์เช่น ประเทศฝรั่งเศส 40 ชั่วโมง โปรตุเกส 44 ชั่วโมง และสเปน 40 ชั่วโมง

 

- วันหยุดพักผ่อนประจำสัปดาห์    กฎหมายบางประเทศได้แยกวันหยุดพักผ่อนประจำสัปดาห์สำหรับแรงงานทำงานบ้านออกมาจากวันเสาร์และวันอาทิตย์ ซึ่งวันหยุดจะมีน้อยกว่า 24 ชั่วโมง ในประเทศเอกัวดอร์เมื่อทำงานไป 2 อาทิตย์ จะได้หยุด 1 วัน ประเทศโบลิเวียจะให้หยุดพักได้ 6 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งไม่ได้กำหนดวันหยุดที่แน่นอน ในประเทศคอสตาริกามีวันหยุดให้ครึ่งวันโดยนายจ้างเป็นผู้ตัดสินใจ และหยุด 2 ครั้ง/เดือนซึ่งต้องเป็นวันอาทิตย์ กัวเตมาลาและไฮติมีวันหยุดเพิ่ม 6 ชั่วโมง ในวันอาทิตย์นอกจากชั่วโมงหยุดตามปกติ หรือในประเทศออสเตรียมีวันหยุดแต่ละอาทิตย์โดยตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และให้เริ่มหยุดได้ตั้งแต่บ่ายสองโมงของวันทำงานปกติจนถึงวันรุ่งขึ้นที่จะเริ่มปฏิบัติงานใหม่ และสามารถหยุดวันอาทิตย์ได้ทุกสัปดาห์ หากต้องทำงานวันอาทิตย์ จะได้หยุดอาทิตย์ถัดไปแต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง

 

ในประเทศฟินแลนด์สามารถหยุดได้มากกว่า 24 ชั่วโมงแต่ไม่เกิน 30 ชั่วโมงติดต่อกัน โดยให้หยุดในวันอาทิตย์ หรืออาจเป็นวันอื่น ในประเทศสเปนให้หยุดได้ 36 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมงติดต่อกันโดยให้หยุดในวันอาทิตย์ และ 12 ชั่วโมง แล้วแต่จะตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ในประเทศโดมินิกันสามารถหยุดได้ 36 ชั่วโมงทั้งวันเสาร์-อาทิตย์ หรือแล้วแต่จะตกลงกัน ในประเทศคานาดา แรงงงานที่ทำงานเป็นผู้ดูแลสามารถหยุดได้ไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมงติดต่อกัน หรือ 12 ชั่วโมงติดต่อกันแล้วแต่ความยินยอมของลูกจ้าง ในประเทศฝรั่งเศส แรงงานทำงานบ้านรวมถึงแรงงานที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้หยุด 24 ชั่วโมงซึ่งเป็นวันอาทิตย์และได้เพิ่มอีกครึ่งวัน ในประเทศอัฟริกาได้หยุด 36 ชั่วโมงติดต่อกัน หรืออาจจะตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรให้หยุดได้ 60 ชั่วโมงติดต่อกัน ทุกๆ 2 สัปดาห์ หรืออาจลดลงเป็น 8 ชั่วโมง สัปดาห์ไหนก็ได้ถ้าชั่วโมงที่จะหยุดสามารถหยุดได้ในสัปดาห์ต่อไป ในบางประเทศ เช่นอาร์เจนตินา ออสเตรีย เปรู ฟิลิปปินส์ ซิมบับเว กฎหมายแรงงานทำงานบ้านมีข้อความเกี่ยวกับการเข้าร่วมพิธีทางศาสนาเพื่อให้มีเวลาทั้งในชั่วโมงการทำงานหรือวันหยุดประจำสัปดาห์ ได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีกรรม

 

- การให้โอกาส พัฒนาทักษะ บางประเทศ เช่นโดมินิกัน เอกัวดอร์ ฝรั่งเศส ไฮติ ฮอนดูรัส นิคารากัว และเปรู ออกกฎหมายให้แรงงานทำงานบ้านมีโอกาสได้เรียนหนังสืออย่างน้อยในระดับประถมศึกษาหรือฝึกอาชีพ หรือเมื่อเจ็บป่วยก็มีสิทธิขออนุญาตนายจ้างไปหาหมอซึ่งสามารถกระทำได้ในชั่วโมงทำงานโดยตกลงกับนายจ้าง ในประเทศเวียดนามแรงงานที่อายุมากจะได้ลดชั่วโมงการทำงานก่อนที่จะเกษียณหรืองานไม่ประจำตามที่รัฐบาลกำหนด

 

อนาคตอันสดใสของลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) ได้รณรงค์ให้เกิดการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีความพยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายคุ้มครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา กระทั่งปัจจุบันได้ผลักดันให้เกิดร่างกฎกระทรวงร่วมกับคณะทำงานจัดทำข้อเสนอต่อการร่างกฎกระทรวงซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมาย นักวิชาการ และภาครัฐกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมกับเครือข่ายแรงงานนอกระบบเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวไปยังกรกะทรวงแรงงาน และอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำร่างฯ ข้อเสนอที่ยื่นต่อกระทรวงแรงงานเพื่อให้เกิดการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านประกอบด้วย

 

1.ค่าตอบแทน ให้มีการกำหนดค่าตอบแทนขั้นต่ำที่เป็นธรรม

 

2.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย สภาพแวดล้อมและสวัสดิการ ให้มีการกำหนดวันหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน  ให้นายจ้างจัดหาความจำเป็นพื้นฐานให้แก่ลูกจ้างทำงานบ้านและให้เหมาะสมแก่ฐานานุรูปของผู้ว่าจ้าง ได้แก่ ที่พักเป็นสัดส่วน ถูกสุขลักษณะ อาหาร  ให้จัดสวัสดิการทำบัตรประกันสังคมให้แก่ลูกจ้างทำงานบ้านตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 

3.การคุ้มครองสิทธิและการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นเด็ก ให้มีการกำหนดอายุขั้นต่ำของการจ้างงาน โดยห้ามมิให้จ้างแรงงานเด็กทำงานบ้านที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ห้ามให้แรงงานเด็กทำงานบ้านทำงานเกินวันละ 8 ช.ม. และจัดเวลาพักที่เหมาะสม 

 

4.ให้มีการคุ้มครองทางทะเบียน  ให้ผู้ว่าจ้างแจ้งสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ว่ามีการจ้างลูกจ้างทำงานบ้านและจัดทำสัญญาจ้างงาน ทั้งนี้เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานสามารถติดตามตรวจสอบเพื่อให้การคุ้มครองแก่ลูกจ้างทำงานบ้าน

5.การส่งเสริมและพัฒนาทักษะ  ผู้ว่าจ้างต้องอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานบ้านมีโอกาสศึกษาต่อทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ และจัดให้ลูกจ้างทำงานบ้านได้พัฒนาทักษะความสามารถด้วยการให้เข้าฝึกอบรม เวลาที่ลูกจ้างทำงานบ้านใช้ในการอบรม รวมถึงเวลาในการเดินทางไปกลับจากการอบรมให้ถือเป็นเวลาในการทำงานของลูกจ้างทำงานบ้านนั้นด้วย

 

ความหวังที่ใกล้จะเป็นจริงอีกประการของลูกจ้างทำงานบ้านคือ   กระทรวงแรงงานได้ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนกำหนดยุทธสาสตร์  ส่งเสริมคุ้มครองและพัฒนาแรงงานนอกระบบ ปี 2550-2554 นับเป็นประวัติศาสตร์ของกระทรวงแรงงานที่ตระหนักต่อความจำเป็นในการมีแผนยุทธศาสตร์เพื่อคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาแรงงานนอกระบบ อันเป็นแรงงานที่มีความสำคัญทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่กระทรวงแรงงานพิจารณาคือแรงงานนอกระบบ 6 กลุ่ม 14 อาชีพและกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งอยู่ในกลุ่มแรงงานบริการส่วนบุคคล รวมอยู่ในกลุ่มผู้ที่จะได้รับการคุ้มครองด้วย

 

จากฝ่ายรณรงค์และเผยแพร่

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.)

 www.iamchild.org

 

หมายเลขบันทึก: 186114เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2008 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท