การมีส่นร่วมรณรงค์เรื่องแรงงานเด็กทำงานบ้าน


แรงงานเด็ก การศึกษา

การมีส่วนร่วมรณรงค์เรื่องแรงงานเด็กงานบ้าน

โครงการแรงงานเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)

……………………………………………………………………………………

 

ภาพรวมของอาชีพงานบ้าน

                                อาชีพคนทำงานบ้าน หรือ คนรับใช้ในบ้าน เป็นอาชีพที่ต้องทำงานทุกอย่างภายในบ้านตามที่นายจ้างสั่ง ค่าจ้างและช่วงเวลาการทำงานไม่ชัดเจนเหมือนอาชีพอื่น โดยเฉพาะแรงงานเด็กทำงานบ้านที่ต้องเข้ามาทำงานตั้งแต่อายุยังน้อยด้วยความจำเป็นของครอบครัว และด้วยเหตุที่แรงงานเด็กใช้ง่ายเชื่อฟังและอยู่ในโอวาทจึงเป็นที่นิยมในการจ้างเด็กทำงานบ้าน  ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นวัยที่ควรได้รับการพัฒนา และพักผ่อนอย่างเพียงพอ แต่เป็นไปได้ยากเนื่องจากไม่มีวันหยุดพักผ่อนที่เพียงพอและแน่นอน จึงขาดโอกาสที่จะได้เรียนหนังสือ หรือเรียนรู้ทักษะต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และความรู้ ทั้งนี้เนื่องจากงานส่วนใหญ่ เป็นลักษณะการจ้างงานที่เป็นแรงงานอาศัยอยู่ประจำกับนายจ้าง ทำให้เป็นการยากที่จะแยกแยะระหว่างความเป็นส่วนตัวกับงาน ประกอบกับสังคมไทยมีรากฐานของวัฒนธรรมการใช้แรงงานทาสในอดีต คนทำงานบ้านจึงถูกคาดหวังให้ทำงานได้ทุกอย่างและพร้อมทำงานตลอดเวลาตามความต้องการของนายจ้าง

 

                    จากข้อมูลการศึกษาเรื่องแรงงานเด็กทำงานบ้านของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กพบว่าแรงงานเด็กทำงานบ้านมักเป็นเด็กที่เข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นครั้งแรกเนื่องจากยังไม่มีช่องทางเข้าสู่งานประเภทอื่นๆ การเข้ามาทำอาชีพงานบ้านของแรงงานเด็กไทยส่วนใหญ่เข้ามาผ่านเครือข่ายของคนรู้จัก ในขณะที่แรงงานงานเด็กต่างชาติจะเข้ามาโดยผ่านการติดต่อจากนายหน้า ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่านายหน้าเป็นจำนวนเงิน ตั้งแต่ 5,000 10,000 บาท และนายจ้างมักจะหักคืนจากเงินเดือนของเด็กภายหลัง นอกจากนี้เด็กบางคนจะต้องจ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อเป็นค่าหางานให้เมื่อเริ่มทำงานเด็กจะได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ค่าจ้างแรงงานเด็กทำงานบ้านในกรุงเทพฯในรายที่เริ่มงานใหม่อยู่ระหว่าง 1,500 2,000 บาท กรณีของแรงงานเด็กทำงานบ้านในต่างจังหวัดและเด็กต่างชาติจะได้รับค่าจ้างน้อยกว่าคือ ระหว่าง 700 1,000 บาท

 

                    ปัจจุบันไม่มีตัวเลขสถิติที่ชัดเจนว่ามีจำนวนแรงงานเด็กทำงานบ้านอยู่จำนวนเท่าไหร่แต่จากการศึกษาและจากข้อมูลการให้ความช่วยเหลือของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กพบว่าจำนวนแรงงานเด็กไทยที่ทำอาชีพงานบ้านลดน้อยลง และถูกแทนทีด้วยแรงงานเด็กต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น

 

สภาพปัญหาที่แรงงานเด็กทำงานบ้านเผชิญ

                               เนื่องจากลักษณะการทำงานที่อาศัยอยู่ประจำในบ้านร่วมกับนายจ้างจึงไม่มีเวลาทำงานที่แน่นอน ขาดความเป็นส่วนตัว นายจ้างมีอำนาจควบคุมเต็มที่ การกระทำทารุณทำร้ายทุบตีร่างกายจึงปรากฏออกมาให้เห็นดังเป็นข่าวเสมอซึ่งนับว่าเป็นลักษณะงานที่ซ่อนเร้น ยากที่คนภายนอกจะเข้าไปสำรวจตรวจสอบโดยเฉพาะแรงงานเด็กต่างชาติที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายเมื่อตกอยู่ในสภาพดังกล่าวก็ไม่กล้าที่จะหนีและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ เข้าช่วยเหลือได้ นอกจากปัญหาความรุนแรงทางร่างกายที่ปรากฎออกมาให้เห็นแล้ว แรงงานเด็กทำงานบ้านยังต้องประสบกับปัญหาการถูกเอาเปรียบด้านต่างๆ  เช่นการถูกเอาเปรียบค่าแรง เวลาการทำงานยาวนาน บางกรณีที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กเข้าให้ความช่วยเหลือพบว่าต้องตื่นทำงานตั้งแต่เช้า เฉลี่ยระยะเวลาทำงานประมาณ 12-15ชั่วโมง และกรณีนายจ้างมีกิจการส่วนตัว เด็กต้องช่วยงานกิจการของนายจ้างและทำงานบ้านควบคู่ไปด้วย  อีกทั้งไม่มีไม่มีมาตรฐานสวัสดิการรองรับสำหรับคนทำงานอาชีพนี้  การคุ้มครองตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้การคุ้มครองเพียงบางเรื่อง จึงเป็นช่องทางให้กลุ่มคนอาชีพนี้ถูกเอาเปรียบอยู่เสมอ

 

การรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูลผ่านเวทีต่างๆ

                                อาชีพคนทำงานบ้าน คืออาชีพหนึ่งที่เหมือนกับหลายอาชีพในสังคม  แตกต่างกันที่การยอมรับ ความเท่าเทียม  สิทธิ และสวัสดิการต่ออาชีพนั้นมีน้อย  ยังไม่มีมาตรฐานที่คุ้มครองและรองรับกลุ่มอาชีพนี้อย่างจริงจัง  อีกทั้งสถานภาพคนทำงานบ้านนั้น ยังคงถูกกดให้ต่ำด้วยลักษณะงานและภาพลักษณ์ของคนอาชีพนี้ผ่านสื่อต่างๆ ที่ล้วนแสดงออกมาในลักษณะที่เป็นผู้ที่มีบทบาท ซุ่มซ่าม เชย  มาจากต่างจังหวัด เป็นเด็กต่างชาติพูดไม่ชัดโดยเฉพาะการกำหนดบทบาทที่นายจ้างแสดงต่อคนรับใช้ ส่วนใหญ่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ภาพเหล่านี้ที่เผยแพร่ออกมาล้วนเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมคนทำงานอาชีพนี้ให้หมดศักดิ์ศรี มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เห็นความสำคัญของการให้คุณค่า ศักดิ์ศรีของคนทำงานทุกสาขาอาชีพ  รวมทั้งการเรียกร้องการจัดให้มีสวัสดิการและสิทธิอันพึงได้ขั้นพื้นฐานของคนทำงานบ้าน จึงมีการศึกษาและจัดเวทีเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเพื่อรณรงค์ให้สังคมรับรู้และเพื่อเป็นแนวทางในการผลักดันระดับนโยบายดังนี้

-          ปี พ.ศ. 2543

       จัดการเสวนาเรื่อง สถานการณ์แรงงานเด็กทำงานบ้านเพื่อระดมความคิดเห็นของนายจ้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานเด็กทำงานบ้าน

-          ปี พ.ศ. 2544 

         จัดการเสวนาเรื่อง สิทธิเด็กรับใช้ตามบ้านและทำการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพเรื่อง ชีวิตแรงงานเด็กทำงานบ้าน

-          ปี พ.ศ. 2546

         จัดการเสวนา เพื่อแสวงหารูปแบบการดำเนินงานที่เหมาะสมในการคุ้มครองและพัฒนาแรงงานเด็กทำงานบ้าน

      จัดงานเสวนา แจ๋วประเด็นทำอย่างไรแจ๋วจึงจะแจ๋วจริงเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของแรงงานเด็กทำงานบ้าน การคำนึงถึงความต้องการขั้นพื้นฐาน รวมถึงประเด็นการผลักดันนโยบายและกฎหมายคุ้มครอง

         จัดการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง การผลักดันนโยบายและร่างกฎหมายเพื่อส่งเสริมพัฒนาและคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านร่วมกับสาขาพัฒนาแรงงานและสวัสดิการ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        จัดการแสดงละครเร่ในชุมชน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาและความต้องการแรงงานเด็กทำงานบ้านและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ต้นทาง จังหวัดศรีสะเกษและจัวหวัดบุรีรัมย์ 5 พื้นที่

        ผลิตและเผยแพร่สื่อ หนังสือการ์ตูนขำดีมีสาระฉบับภาษาไทยจำนวน 10,000 เล่ม ฉบับภาษาลาวและพม่าจำนวนอย่างละ 500 เล่มโปสเตอร์เกี่ยวกับแรงงานเด็กทำงานบ้านจำนวน 2,000 แผ่น หนังสือฉบับพกพา แจ๋วจำนวน 2,000 เล่ม

-          ปี พ.ศ. 2547

       จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ประเด็นแรงงานเด็กทำงานบ้าน ณ ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า

    จัดพิมพ์หนังสือการ์ตูนขำดีมีสาระเพิ่มจำนวน 5,000 เล่ม เพื่อใช้รณรงค์และเผยแพร่ปัญหาแรงงานเด็กทำงานบ้าน

-          ปี พ.ศ. 2548

       จัดการเสวนา แจ๋ว ตอนดูหนังดูละครย้อนดูตัวจริงและจัดทำโครงการรณรงค์เพื่อสร้งความเข้าใจแรงงานเด็กทำงานบ้านโดยการมีส่วนร่วมของสังคมผ่านรูปแบบการประกวดหนังสือทำมือ และประกวดหนังสั้น เพื่อยกระดับคนทำงานบ้านให้มีเกียรติศักดิ์ศรีและให้คนในสังคมเข้าใจ ให้โอกาสกับคนทำงานบ้าน

     ทำการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพเรื่อง รูปแบบและสภาพการให้บริการของหน่วยงานให้บริการลูกจ้างทำงานบ้าน ในเขตกรุงเทพมหานคร

-          ปี พ.ศ. 2549

        รวมรวมข้อมูลและติดตามสถานการณ์ แรงงานเด็กทำงานบ้านเพื่อจัดทำข้อเสนอต่อการร่างกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน

-          ปี พ.ศ. 2550

        จัดทำโครงการพัฒนากลไกการคุ้มครองแรงงานลูกจ้างทำงานบ้าน ตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำข้อเสนอต่อการจัดทำร่างกฎกระทรวงคณะทำงานเพื่อจัดทำร่างกฎกระทรวงสำหรับลูกกจ้างงานบ้าน ซึ่งประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนัก คุ้มครองแรงงานกระทรวงแรงงาน ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็กกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์    ผู้พิภากษาศาลแรงงานกลาง  นักวิชาการจาก สถาบันการศึกษาหมาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานับเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักกฎหมายองค์กรพัฒนาเอกชน รวม  12 หน่วยงาน

     ร่วมกับเครือข่ายแรงงานนอกระบบเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานผลักดันเรื่องการเรียกร้องให้เกิดการคุ้มครองแรงลูกจ้างทำงานบ้าน

       ร่วมเป็นกรรมการดำเนินงานในคณะกรรมการศึกษาแนวทางการคุ้มครองแรงงานในงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย โดยมีรองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นประธาน

     ผลิตสปอตวิทยุ 6 ชุด  และละครวิทยุ 12 ตอน ในการรณรงค์เพื่อให้เกิดการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน

      ลิตสื่อการ์ตูนขำดีมีสาระการ์ตูนเพื่อเผยแพร่ข้อมูลแรงงานเด็กทำงานบ้าน เล่ม 1 (ผลิตซ้ำ) จำนวน 5,000 เล่ม และการ์ตูนขำดีมีสาระ เล่ม 2 จำนวน 5,000 เล่ม

                              รณรงค์เผยแพร่ข้อมูลลูกจ้างทำงานบ้านต่อสาธารณชนผ่านกลุ่มละครใบ้ ไม้กวาดสีขาว

 

การมีส่วนร่วมเผยแพร่ข้อมูลของสื่อมวลชน

                 ที่ผ่านมาประเด็นของอาชีพทำงานบ้านที่ถูกนำเสนอต่อสังคม นอกจากผ่านบทละครในโทรทัศน์แล้วส่วนใหญ่มาจากเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแรงงานเด็กทำงานบ้าน ทำให้สื่อมวลชนให้ความสนใจที่จะนำประเด็นเกี่ยวข้องกับแรงงานกลุ่มนี้มานำเสนอต่อสาธารณะชนมากขึ้น จะเห็นได้จากบทความจากหนังสือพิมพ์ ประเด็นข่าวการถูกทำร้ายร่างการของเด็ก รายการโทรทัศน์ รายการข่าว รายการสารคดีความจริง ตลอดจนการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือแรงงานเด็กทำงานบ้าน

                                การแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นแรงงานเด็กทำงานบ้านมีการนำมาเป็นประเด็นและพูดถึงกันมากเมื่อมีกรณีต่างๆ เกิดขึ้นรวมถึงการแสดงความคิดเห็นในอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีข้อความ ความคิดเห็นที่หลากหลายทั้งด้านบวกและลบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีผู้ให้ความสนใจต่อกรณีแรงงานเด็กทำงานบ้านอยู่มาก หากแต่การนำเสนอข้อมูลของอาชีพคนทำงานบ้านที่ผ่านมาจากสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นการตอกย้ำซ้ำเติมคุณค่าศักดิ์ศรีของคนทำงานบ้านให้ลดน้อยลง จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะมีการรณรงค์ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ดังนั้นการมีส่วนร่วมเผยแพร่ข้อมูลของสื่อมวลชนจึงเป็นส่วนสำคัญในการรรณรงค์ให้คนในสังคมมีความเข้าใจกลุ่มแรงงานเด็กทำงานบ้านมากขึ้น เนื่องจากการรณรงค์ที่จะปรับทัศนคติของคนนั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเรื่องแรงงานเด็กทำงานบ้านเป็นเรื่องที่ยากต่อการเข้าถึงและเข้าใจของบุคคลทั่วไป ข้อสำคัญอีกประการคือสื่อมวลชนเป็นพลังสำคัญที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดการนำเสนอประเด็นและข้อมูลต่างๆเพื่อผลักดันนโยบายด้านการคุ้มครอง สวัสดิการต่างๆ ตลอดจนเป็นกระบอกเสียงเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ  ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากช่องทางการสื่อสารของสื่อมวลชนมีหลากหลายและสื่อมวลชนมีความใกล้ชิดกับประชาชน ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

                            นอกเหนือจากการนำเสนอประเด็นข่าวต่างๆ แล้วช่องทางการสื่อสารของสื่อมวลชนยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเสนอแนวคิดอย่างสร้างสรรค์ ผ่านสื่อ เช่น ในรูปแบบสกู๊ปข่าว  การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ชมรายการในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งการผลิตภาพยนต์ ซึ่งได้มีการศึกษาข้อมูลเรื่องแรงงานเด็กทำงานบ้าน และพยายามสอดแทรกเนื้อหาการนำเสนอเรื่องราวของแรงงานเด็กทำงานบ้านให้คนในสังคมได้เห็นที่มา บทบาทหน้าที่ของคนทำงานบ้าน ในรูปแบบภาพยนต์บันเทิงเป็นต้น

                            การร่วมกันรณรงค์เรียกร้องเพื่อสิทธิของกลุ่มคนอาชีพทำงานบ้านโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานเด็กทำงานบ้าน สามารถทำได้โดยการมีส่วนร่วมของสังคม ทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันยกระดับคนทำงานบ้านให้มีเกียรติศักดิ์ศรีและให้คนในสังคมเข้าใจ ให้โอกาสกับคนทำงานบ้าน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของ การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าให้ได้มาซึ่ง การยอมรับ ความเท่าเทียม  สิทธิ และ สวัสดิการต่ออาชีพงานบ้านเหมือนกับอาชีพอื่นๆ ในสังคม

                                                     

 โครงการแรงงานเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) www.iamchild.org

 

 

หมายเลขบันทึก: 186118เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2008 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท