ศิลปะที่เป็นมงคล


ผู้ทีศิลปะแม้เพียงอย่างเดียว ก็หาเลี้ยงชีพได้โดยง่าย

     เราปลูกมะม่วง จะอิ่มจะรวยอยู่ที่ผลของมัน ช่วงแรกที่ปลูก มีลำต้นกิ่งใบเป็นเพียงระยะเตรียมตัว เพื่อทีจะได้ผล เช่นเดียวกัน  ความรู้ทุกอย่างหรือความเป็นพหูสูตที่เรามีอยู่  เป็นเพียงการเตรียมตัวเท่านั้น จะช่วยเราได้ต่อเมื่อเรามีศิลปะ  สามารถนำความรู้ที่มีออกมาใช้ได้อย่างดีเท่านั้น 

ศิลปะคืออะไร? 

ศิลปะ  แปลว่า การแสดงออกมาให้ปรากฏขึ้นได้อย่างงดงามน่าพึงชม หมายถึง " ฉลาดทำ " คือทำเป็นนั่นเอง

    พหูสูตนั้นเป็นผู้ฉลาด เรียนรู้ในหลักวิชา รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าอะไรทำอย่างไร ส่วนศิลปะ  เป็นความสามารถในทางปฏิบัติ คือสามารถนำความรู้นั้นมาใช้ให้บังเกิดผลได้

   คนที่มีความรู้นั้น ไม่ใช่ว่าจะมีศิลปะทุกคน เช่น รู้วิธีหุงข้าวว่าจะต้องเอาข้าวสารใส่หม้อ ซาวข้าว  แล้วใส่นำยกขึ้นตั้งไฟ นำเดือดสักพักก็รินน้ำซาวข้าวออก คงให้ระอุอีกคู่หนึ่ง ก็คอข้าวออกมากินได้ นี่คือหลักวิชา แต่คนที่รู้เพียงเท่านี้ ไม่แน่นักว่าจะหุงข้าวกินได้ทุกคน อาจจะได้ข้าวดิบบ้าง แฉะบ้าง ไหม้บ้าง เพราะไม่มีศิลปะในการหุงข้าว เรียกว่า ฉลาดรู้แต่ยังไม่ฉลาดทำ

    เรื่องอื่น ๆ ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะขับรถยนต์ เตะตะกร้อ ว่ายน้ำ ทำกับข้าวลองดูก็ได้ว่า ถ้ารู้แต่ทฤษฏีอย่างเดียวจะทำได้หรือไม่  

ประเภทของศิลปะ

    ทางกาย คือฉลาดทำการในช่างต่าง ๆ  เช่นช่างทอ  ช่างเครื่อง ช่างวาด ช่างออกแบบ ช่างปั้น ช่างภาพ ช่างพิมพ์ รวมทั้งฉลาดทำในอาชีพอื่น ๆ เช่น การทำสวน ทำไร่ ปลูกพืชผัก การเขียนหนังสือ การตรวจคนไข้ ตลอดจนถึงการยืนเดินนั่งนอนอย่างมีมารยาท  การแต่งตัวให้เหมาะสม  การต้อนรับแขก  การแสดงความเคารพ การสำรวมกาย ก็จัดเป็นศิลปะทั้งสิ้น

    ทางวาจา คือฉลาดในการพูด มีวาทศิลป์ รู้จักเลือกพูดแต่สิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ สามารถยกใจของผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้นได้

    ทางใจ คือฉลาดในการคิด มีสติสัมปชัญญะ สามารถควบคุมความคิดไปในทางที่ดี คิดในทางสร้างสรรค์  คิดในทางที่ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น โดยย่อ จึงหมายถึง คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น

องค์ประกอบของศิลปะ

  สิ่งที่ทำแล้วจัดว่าเป็นศิลปะ ต้องประกอบด้วยองค์ 6 ดังนี้

1. ทำด้วยความประณีต

2. ทำให้สิ่งของต่าง ๆ มีคุณค่าสูงขึ้น

3. ทำแล้วส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

4. ทำแล้วไม่ทำให้กามกำเริบ

5.  ทำแล้วไม่ทำให้ความคิดพยาบาทกำเริบ

6. ทำแล้วไม่ทำให้ความคิดเบียดเบียนกำเริบ          

คุณสมบัติของผู้สามารถมีศิลปะ

1. ต้องมีศรัธทา มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่จะทำ  ว่าเป็นสิ่งดีจริงมีประโยชน์จริง มีใจรักที่จะทำและตั้งใจมั่น

ว่าจะต้องทำให้สำเร็จ

2. ต้องไม่เป็นคนขี้โรค รู้จักระวังรักษาสุขภาพของตัวเอง

3. ต้องไม่เป็นคนขี้โม้ขี้คุย คนโอ้อวดไม่มีใครอยากสอน ไม่มีใครอยากแนะนำ คนพวกนี้มีแต่อวด มัว

แต่คุยจนไม่มีเวลาฝึกฝีมือ

วิธีฝึกตนให้มีศิลปะ

1. ฝึกตนให้เป็นคนช่างสังเกต รู้จักหาจุดเด่นของสิ่งรอบตัว

2. ตั้งใจทำงานทุกอย่างที่มาถึงตนให้ดีที่สุด อย่าดูถูกหรือเกี่ยงงาน

3. ตั้งใจทำงานทุกอย่างด้วยความประณีต ละเอียดละออ

4. ตั้งใจปรับปรุงงานให้ดีขึ้นเสมอ  ไม่ทำอะไรอย่างชุ่ย ๆ ขอไปที่

5. หมั่นใกล้ชิดกับผู้มีศิลปะอย่างแท้จริงในสายงานนั้น ๆ

6. ฝึกสมาธิอยู่เสมอเพื่อให้ใจสงบผ่องใสเกิดปัญญาที่จะฝึกและปรับปรุงตนเองให้มีคุณสมบัติของผู้มี

   ศิลปะได้ 

ข้อเตือนใจ

   อย่าเอาแต่จับผิดผู้อื่น ไม่เช่นนั้นตัวเราจะกลายเป็น " ศิลปินนักติ " คือดีแต่ติผลงานผู้อื่นเรื่อยไป

ติคนอื่นไว้มากเลยไม่กล้าแสดงฝีมือ เพราะกลัวคนอื่นจะติเอาบ้าง สุดท้ายเลยกลายเป็นคนไม่มีผลงาน

ทำอะไรไม่เป็น

อานิสงส์การมีศิลปะ

1. ทำให้มีความสามารถเด่นกว่าผู้อื่น

2. ทำให้สามารถเลี้ยงตัวได้

3. ทำให้เป็นคนฉลาดช่างสังเกต มีไหวพริบปฏิภานดี

4. ทำให้คนมั่งคั่งสมบูรณ์

5.ทำให้ได้รับความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า

6. ทำให้โลกเจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจ

                    ฯ ลฯ

" ศิลปะแม้เพียงอย่างเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ "

     ผมอ่านเรื่องนี้แล้วก่อให้เกิดศรัธทา จึงนำมาถ่ายทอดให้นักเรียนได้นำมาประยุกต์กับสาระศิลปะที่สอนอยู่ ที่ปัจจุบัน สังคมไทยขาดหายไป เยาวชนส่วนใหญ่หมกหมุนอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไป ดังนั้นจึงต้องสอดแทรกให้เขาเหล่านั้นหันมามองในเรื่องของคุณธรรมและจริยะธรรม และเพื่อให้สมาชิกทุกท่านได้นำไปเผยแพร่ คัดจากหนังสือมงคลชีวิต ฉบับทางก้าวหน้า : กรุงเทพ 2543

                                                                              

                                                                                         

 

คำสำคัญ (Tags): #rnm
หมายเลขบันทึก: 186357เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2008 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

  • ใช่เลยครับ การรู้แต่ทฤษฎีอย่างเดียว ทำไม่ได้
  • แต่ครูสุว่าการปฏิบัติมาก ๆ อาจนำพาไปสู่ทฤษฎีได้ครับ
  • ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ
  • มีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด
  • มีความรู้ แล้วก็ต้องหมั่นเรียนรู้ด้วย ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ดีเลยคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท