งานวิจัยสถาบัน(Institutional Research)


งานวิจัยสถาบันมีหลายลักษณะ มีระดับความเข้มข้นที่จะเกิดผลกระทบเชิงบวกหรือลบต่องานของสถาบันแตกต่างกัน นักวิจัยจะต้องระมัดระวังในการเผยแพร่ผลงานวิจัยแต่ละประเภท

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2551 ผมได้ทำหน้าที่วิทยากรบรรยาย เรื่อง

ความรู้พื้นฐานเพื่อการวิจัยสถาบัน ในหลักสูตรพัฒนานักวิจัยสถาบัน  ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 มิถุนายน 2551 ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นหลักสูตรบริการทางวิชาการสำหรับบุคคลทั่วไป

เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกของ G2K  และผู้สนใจทั่วไป ผมจึงได้นำสาระบางส่วนเสนอไว้ในที่นี้

 

หากนิยามว่า การวิจัย(Research) คือ การศึกษา ค้นคว้า อย่างเป็นระบบ ด้วยวิธีการที่เชื่อถือได้ หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์

การวิจัยสถาบัน(Institutional Research) ก็ เป็นการศึกษา ค้นคว้าอย่างเป็นระบบ ลักษณะหนึ่ง มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษา สภาพปัจจุบัน ปัญหา  หรือเพื่อพัฒนางานของหน่วยงานหรือองค์กร ในระยะแรก มีการกล่าวถึงงานวิจัยประเภทนี้ในสถาบันอุดมศึกษา ต่อมาได้ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น “เป็นการวิจัยที่เน้นการศึกษา ค้นคว้า รวบรวมและใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในกระบวนการบริหารงานของสถาบัน

ในการบริหารจัดการองค์กรอย่างเป็นระบบ Kaufman(1978) ได้เสนอวิธีการเชิงระบบในการปฏิบัติงาน(System Approach)  โดยจำแนกขั้นตอนการจัดการ  เป็น 5 ขั้นตอน คือ (1) ประเมินสภาพปัจจุบัน/ปัญหา หรือ ความต้องการจำเป็น(Needs Assessment)  (2)  พิจารณา ค้นหา หรือพัฒนา ทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพงาน  และเลือกทางเลือกที่เหมาะสม (3)วางแผน/จัดทำแผนงาน โครงการ  ตามทางเลือกที่คัดสรรแล้ว  (4) ดำเนินงานตามแผน   โดยมีการกำกับ ติดตาม ประเมินความก้าวหน้าของงาน และตัดสินใจปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง และ (5) ประเมินผลการดำเนินงาน  เพื่อการตัดสินใจขยายขอบข่ายงาน หรือยุติแผนงาน/โครงการ   ซึ่งในสภาพทางปฏิบัติ ขั้นตอนการปฏิบัติงานดังกล่าวข้างต้น จะดำเนินการเป็นวงจรต่อเนื่องกัน     

                ในกระบวนการดังกล่าวข้างต้นนักบริหารหรือผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในกระบวนการนี้  จะเกิดกิจกรรมการวิจัยหรือกิจกรรมการพัฒนาในลักษณะต่าง ๆ หลายลักษณะ  คือ

       1. การประเมินสภาพปัจจุบัน/ปัญหา หรือความต้องการจำเป็น : เน้นวิเคราะห์สภาพปัจจุบันและปัญหาเร่งด่วนขององค์กร เพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาของสถาบัน “ต้องการสารสนเทศเพื่อนำมาใช้ประกอบการวางแผนพัฒนางานของสถาบัน”....อาจเป็นการสำรวจปัญหา-ความต้องการจำเป็นในกลุ่มลูกค้า(Audience) หรือกลุ่มผู้รับบริการจากสถาบันหรือจากองค์กร ในลักษณะของการศึกษาความต้องการจำเป็นของฝ่ายผู้รับบริการ(Receiver Needs)  หรือ ความต้องการจำเป็นของฝ่ายผู้ให้บริการหรือฝ่ายองค์กรเอง(Provider Needs) งานวิจัยกลุ่มนี้ ต้องระวังในเรื่องการเผยแพร่ในวงกว้าง ไม่จำเป็นต้องเผยแพร่ในวงกว้าง การเผยแพร่อาจมีผลกระทบเชิงลบต่อสถาบัน หรือต่อกลุ่มลูกค้าของสถาบัน

2.  การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ : เป็นการค้นหา  หรือ

พัฒนาทางเลือกใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนางาน  อาทิ พัฒนาสื่อ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในงาน  คู่มือการปฏิบัติงาน เอกสารเสริมความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ชุดเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ  พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ ทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการใหม่ ๆ วิธีการ/เทคนิคการทำงานใหม่ ๆ  วิธีการสอนใหม่ ๆ พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับกลุ่มเป้าหมายใด ๆ  พัฒนาตัวยาชนิดใหม่ ฯลฯ

       งานวิจัยกลุ่มนี้ เป็นเสมือนการหาแนวปฏิบัติที่ดี ๆ(Best Practice)เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนางานในโอกาสต่อ ๆ ไป

       การเผยแพร่งานวิจัยกลุ่มนี้ สู่สาธารณะ จะไม่เกิดปัญหาใด ๆ แต่จะเกิดประโยชน์ต่อองค์กรอื่น ๆ ด้วย ทั้งเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันและการนำนวัตกรรมหรือข้อค้นพบไปใช้ในการพัฒนางาน จะอย่างไรก็ตาม ในกรณีของการพัฒนาระบบฐานข้อมูล หรือระบบสารสนเทศขององค์กร ก็มักจะเป็นงานวิจัยสถาบันที่ไม่จำเป็น หรือไม่ควรเผยแพร่ในวงกว้าง

       3. การประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้ของนโยบาย แผนงาน หรือ โครงการ : เป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นในขั้นของการวางแผน /จัดทำแผนงาน โครงการ  ใช้เพื่อการตัดสินใจเป็นการเฉพาะของสถาบัน ยกเว้นในกรณีของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการสาธารณะ ก็อาจจำเป็นต้องเผยแพร่ต่อสาธารณชน งานวิจัยประเภทนี้ เฉพาะในองค์กรทางการศึกษา มักจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดหลักสูตรหรือโปรแกรมวิชาใด ๆ  การทดลองนำร่องแนวคิดใหม่ ๆ

       4. การวิจัย/ประเมินความก้าวหน้าของนโยบาย แผนงาน หรือโครงการ : เป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นในขณะที่นโยบาย แผนงาน หรือโครงการใด ๆ หรือหลักสูตรใด ๆ ได้ถูกนำไปปฏิบัติ หรืออยู่ระหว่างดำเนินการ  มุ่งหาสารสนเทศประกอบการตัดสินใจปรับปรุงงานของสถาบันเป็นการเฉพาะ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเผยแพร่ในวงกว้าง 

       5. การวิจัย/ประเมินสรุปผลการดำเนินงาน การติดตามผล และประเมินผลกระทบต่าง ๆ : เป็นการวิจัยที่เกิดขึ้นเมื่อองค์กรใด ๆ ได้ดำเนินงานตามนโยบาย แผนงาน โครงการ หรือหลักสูตรเสร็จสิ้นระยะสำคัญ ๆ เช่น สิ้นปีงบประมาณ สิ้นปีการศึกษา  สิ้นแผนพัฒนาระยะ 5 ปี  หรือในกรณีของหลักสูตรการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อใช้หลักสูตรจนครบชั้น เป็นต้น  มุ่งตรวจสอบว่า การดำเนินงานใด ๆ ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังหรือไม่  เกิดผลกระทบในลักษณะใดบ้าง มากน้อยเพียงใด(ในกรณีของการศึกษาผลกระทบ อาจเป็นการศึกษาผลที่เกิดขึ้นในระยะยาวหลังจากที่ได้ดำเนินการโครงการ หรือหลักสูตรใด ๆ ไปเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว) เพื่อนำไปสู่การตัดสินว่าควรจะขยายขอบข่ายการดำเนินงานในวงกว้างมากขึ้นหรือไม่  หรือ ควรจะยุติการดำเนินงาน/โครงการ/หลักสูตร หรือไม่   

       ประเภทของการวิจัยทั้ง 5 ลักษณะ ดังกล่าวข้างต้น เป็นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนางานขององค์กรหรือสถาบัน ที่สามารถเรียกได้ว่า เป็นงานวิจัยสถาบัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากงานวิจัยแต่ละลักษณะจะมีระดับความหวั่นไหว(Sensitive) ต่อการเผยแพร่ต่อสาธารณชน จึงเกิดการจัดกลุ่มเป็นงานวิจัยสถาบันแบบเข้มข้น เช่น การวิเคราะห์ปัญหาของสถาบัน  การพัฒนาระบบฐานข้อมูลของสถาบัน  การประเมินความก้าวหน้าหรือประเมินความสำเร็จของงานใด ๆ ในความรับผิดชอบของสถาบัน จัดเป็นกลุ่มงานวิจัยสถาบันแบบเข้มข้น ที่ต้องระมัดระวังในการเผยแพร่ผลงานในวงกว้าง  ส่วนงานวิจัยที่เน้นการทดลองรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ ๆ การพัฒนาสื่อเพื่อสนับสนุนงานใหม่ ๆ หรืองานวิจัยเชิงประดิษฐ์ที่สามารถนำผลผลิตมาใช้ในการพัฒนางานของสถาบัน กลุ่มนี้ เป็นงานวิจัยที่สามารถเผยแพร่ในวงกว้างได้ จะเป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสถาบันหรือองค์กรอื่น ๆ

        มีคำหลายคำที่เกี่ยวข้องกับ วิจัยสถาบัน เช่น  Policy Research   Policy Studies   Policy Formulation   Policy Evaluation ฯลฯ ที่นักวิจัยสถาบันทุกคน ควรศึกษา/ทำความเข้าใจ แล้วนำหลักคิดมาใช้ในการพัฒนางานในองค์กร

หมายเลขบันทึก: 186818เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2008 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ตามมาดู
  • อาจารย์หายไปนานเลย
  • เอามาฝากครับ
  • http://gotoknow.org/blog/katti/199894

    ย่อรูปแต่งรูปพี่ดาวคนสวยใจดี

  • ขอบคุณมากครับ อ.ขจิต
  • ช่วงนี้ ผมยุ่งมาก ๆ แต่ก็พยายามเข้ามาดูอยู่เป็นระยะ ๆ นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท