สุขในที่ทำงาน ทำได้อย่างไร? ตอนที่ 1 (แนะนำแผนงาน)


เกิดสุขได้ ถ้าทำด้วยใจ

         ขอเกริ่นเรื่องของความสุขเป็นอันดับแรก อันเนื่องมาจากสภาวะต่างๆ ที่รุมเร้าเราจริงจัง ทั้งเหตุบ้านการเมือง เศรษฐกิจ  สังคม อะไรมันจะมะรุ่มมะตุ้มกันนักหนา...ข้าวยากหมากแพงก้อเสียกระไร ทำให้จิตใจมันหดหู่เสียนี่  มาพูดเรื่องดีๆๆ จรรโลงใจบ้างก็ดีไม่ใช่น้อย

        และช่วงนี้ทุกคนเริ่มคินหาความสุขกันมากขึ้น สถานที่ทำงานก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราใช้ชีวิตเกือบ 10 ชั่วโมงในที่ทำงาน เสมือนบ้านหลังที่สองเลยทีเดียว นอกจากการให้ชีวิต ให้โอกาส ความก้าวหน้าแล้ว ยังให้ความมั่นคงอีกด้วย ดังนั้นบ้านแห่งนี้นับว่าสำคัญอย่างยิ่ง

       และยิ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ในวัยทำงานมากกว่า 36 ล้านคน (อายุระหว่าง 15-60 ปี)  และ 14.4 ล้านคนอยู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ  จากการสำรวจคุณภาพชีวิตแรงงานไทยโดยสำนักวิจัยเอแบคโพลร่วมกัน สสส. เมื่อต้นปี 2549  พบว่า คุณภาพชีวิตโดยรวมของแรงงานไทยยังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง  โดยเฉพาะสภาพการดำเนินชีวิตและการทำงาน  เหตุผลหนึ่งคือการที่แรงงานไทยขาดความรู้ในการใช้ชีวิตรูปแบบสังคมเมืองอุตสาหกรรมและบริการ     อีกทั้งสถานประกอบการเองก็ไม่มีการดำเนินการด้านการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงานอย่างจริงจัง และขาดการผลักดันของภาครัฐ  ทั้งที่มีตัวอย่างดีๆ ในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตจากสถานประกอบการด้วยกันเอง

            จากอดีตที่ผ่านมา สสส. ได้ดำเนินการสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานหลายโครงการโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนทำงานสถานประกอบการให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ (Healthy organization)  แต่ยังขาดความชัดเจนของทิศทางการดำเนินงานร่วมกัน  ขาดการประสานงาน  การพัฒนาในทิศทางเดียวกันและไม่ก่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนให้เกิดเป็นนโยบายได้อย่างชัดเจน   ทั้งที่แต่ละโครงการมีพลังในตัวเองที่ขับเคลื่อนนโยบายได้แต่แค่เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น   ดังนั้นเพื่อให้เกิดการดำเนินงานบูรณาการเครือข่าย / องค์ความรู้ / นโยบายจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างชัดเจน จึงเกิด แผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน ขึ้น

           แผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน ในระยะที่หนึ่ง (2550-2551) ภายใต้มูลนิธิกองทุนไทยและ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีเป้าหมายคือ       จุดประกายในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงาน เป็นประเด็นหลักของสังคมเมืองอุตสาหกรรมและบริการเพื่อเกิดการปฏิบัติเป็นนโยบายในระบบปกติของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน   โดยมีวัตถุประสงค์ไว้ดังนี้

1.     คนทำงานในระบบประกันสังคมประมาณ 9 ล้านคนมีความเข้าใจเรื่องการสร้างเสริมคุณภาพชีวิต

2.  แผนงานฯ ร่วมกับกระทรวงแรงงานผลักดันนโยบายการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงานเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อนำสู่การปฏิบัติ ในระบบปกติของทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

3.  มีการปรับปรุงนโยบายการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงานในทุกระดับเพื่อให้มีการปฏิบัติสอดคล้องกันในแนวทางของนโยบายระดับชาติ

4.  มีการรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ ในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงานให้มีระบบชัดเจนและมีการพัฒนาความรู้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

5.  เกิดการทำงานแบบประสานเครือข่ายหลากหลายระดับและบูรณาการการทำงานและแนวคิดตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงระหว่างกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง

6.  แผนงานฯ มีบทบาทส่งเสริมในด้านการประสานงานเครือข่าย, การจัดการความรู้ และร่วมผลักดันนโยบายในการขับเคลื่อนการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง

และมีกลยุทธ์ในการดำเนินงาน 3 ด้านดังนี้

1)    กลยุทธ์ด้านพัฒนานโยบาย   

เกิดกลไกของรัฐในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของคนทำงานในระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพหลักในระดับปฏิบัติการระดับนโยบายของประเทศและระดับการออกกฎหมาย เช่น รัฐธรรมนูญ / พระราชบัญญัติ / กฎกระทรวง / ระเบียบ  เป็นต้น

 

2)    ด้านพัฒนาองค์ความรู้

รวบรวมองค์ความรู้จากที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยการค้นหาต้นแบบที่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันขึ้นมาใหม่ โดยเน้นความหลากหลายแต่มีผลลัพธ์เหมือนกัน คือ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนทำงานในองค์กรหรือพื้นที่นั้นๆ และการสนับสนุนในองค์กรและพื้นที่ ที่พัฒนารูปแบบการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่สามารถนำมาพัฒนาเพื่อเป็นต้นแบบแก่องค์กร / พื้นที่  ที่มีสภาพเศรษฐกิจและสังคม ใกล้เคียงกัน

การวิจัยและค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งต่างๆ โดยทีมนักวิชาการในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงานเพื่อนำมาเป็นแนวทางการสร้างกรอบนโยบายและการปฏิบัติที่เหมาะสมกับสถานการณ์โดยการพัฒนาวิธีการวัดคุณภาพชีวิตที่ง่าย,ชัดเจน และครอบคลุม

การพัฒนาสื่อการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงาน มี 2 ระดับ คือ วงกว้างและ  เฉพาะกลุ่มเป้าหมาย โดยมีจุดมุ่งหมาย ในการประชาสัมพันธ์เพื่อให้มวลชนเข้าใจและเห็นความสำคัญของการรณรงค์สร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน  เพื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้สถานประกอบการ / นายจ้าง เกิดกระบวนการในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน

รวมทั้งเป็นสื่อกลางในการจัดการความรู้ในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ และวิถีสังคมไทยในรูปแบบที่ยั่งยืนและปฏิบัติได้จริง                               

3)    ด้านการจัดการเครือข่าย

เกิดระบบการบริหารและจัดการเครือข่ายหลากหลายระดับทั้งของรัฐ และเอกชน  รวมทั้งเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตทำงานในชุมชนทุกระดับและประสานพลังเครือข่ายในการขับเคลื่อนประเด็นด้านการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงานใน ระดับประเทศ และระดับพื้นที่       

ก้าวต่อไป

          แผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชนก่อตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งความสุข ( Happy Workplace) ในภาคเอกชน มีวิสัยทัศน์ คนทำงานมีความสุข ที่ทำงานน่าอยู่ ชุมชนสมานฉันท์  ในการดำเนินงานใช้หลักยุทธศาสตร์ 3 พลังคือ ด้านนโยบาย ด้านองค์ความรู้และด้านเครือข่าย ให้ความสำคัญการทำงานแบบเครือข่ายบูรณาการผ่านเครือข่ายที่มีศักยภาพในด้านการพัฒนาบุคคลและองค์กร  รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งแผนงานฯ จะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนและประสานงานร่วมกับภาคี เพื่อขับเคลื่อนให้การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงาน นำไปสู่องค์กรสุขภาวะ   (Healthy organization) อย่างยั่งยืน

              การจะสร้างสุขภาวะขึ้นมาในองค์กรนั้น ต้องทำให้คนในองค์กรตระหนักและให้ความสำคัญกับ คน  เพื่อให้เกิดขบวนการ การทำงานภายในองค์กร แบบบูรณาการ โดย

ผู้บริหาร                        รับรู้ เข้าใจ และสนับสนุนการสร้างองค์กรสุขภาวะ

พนักงานระดับหัวหน้างาน  รับรู้ เข้าใจ และสามารถปฏิบัติให้เกิดองค์กรสุขภาวะ

พนักงานทั่วไป                รับรู้ เข้าใจ และมีส่วนร่วมในการปฏิบัติให้เกิดองค์กรสุขภาวะ

          ซึ่งขบวนการนี้อาศัยแนวคิดการจัดการ ความสุข 8 ประการ  ( คุณภาพชีวิตแปดด้าน ) นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรสุขภาวะ (Healthy organization) ในรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง และสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน

          จากการดำเนินงานของแผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน ระยะแรก (1 เมษายน 2550 - 30 เมษายน 2551)  ทางแผนงานสามารถเผยแพร่และรณรงค์ให้องค์กร เข้าใจและตระหนักในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงาน เพื่อให้เกิดองค์กรสุขภาวะ (Healthy organization) โดยการทำงานร่วมกับภาคีต่างๆ ทั้งในด้าน นโยบาย องค์ความรู้ และเครือข่ายบูรณาการ            โดยกระทรวงแรงงาน ได้ประกาศให้การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงาน (Happy Workplace) เป็นนโยบายของกระทรวง และสนับสนุนให้มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

           จากการประเมินผลผลิตในระยะแรก พบว่า สิ่งที่ทางแผนงานฯ  ควรจะเน้นย้ำดำเนินการระยะต่อไปเพื่อให้นโยบายของกระทรวงแรงงานดำเนินงานได้อย่างแท้จริง นั่นคือ ต้องเข้าถึงองค์กร และ องค์กรต้องให้ความสำคัญในเรื่ององค์กรสุขภาวะ (Healthy organization) มากขึ้น   โดยเน้นกลุ่มผู้บริหารระดับสูงขององค์กรให้เห็นความสำคัญและสนับสนุนมากขึ้น กลุ่มนักทรัพยากรมนุษย์ (HR-Human resource) ในองค์กรให้มีความสามารถในการดำเนินงาน Healthy organization และกลุ่มพนักงานทั่วไป ให้เกิดการมีส่วนร่วมการดำเนินงานมากขึ้น เน้นการรวบรวมองค์กรที่มีสุขภาวะที่ดี (Healthy organization) และน่าสนใจให้มีความหลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อใช้เป็นองค์กรตัวอย่าง พัฒนาตัวอย่างการจัดการระดับพื้นที่ เพื่อเป็นการดำเนินงานเชิงรุกแบบบูรณาการ    

          แผนงานฯต้องประสานการทำงานผ่านหน่วยงานราชการ อันได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) และภาคเอกชน ให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันเกิดการดำเนินงาน องค์กรสุขภาวะ (Healthy organization) อย่างจริงจัง

 

หมายเลขบันทึก: 188331เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2008 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

* เข้ามาชมวิทยากร KM คนเก่ง

* เป็นกำลังใจให้

* สุขกายสุขใจนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท