กระบวนทัศน์ใหม่ : เครื่องมือในการทำงาน (1)


เทคนิควิธีและเครื่องมือในการทำงาน (1)

สวัสดีค่ะ  วันนี้ ต้องเตรียมความรู้ใหม่ ๆ เพื่อนำไปแชร์ให้กับพยาบาลน้องใหม่ของแผนก AE ให้รับทราบข้อมูลด้านคุณภาพว่าทำไมต้อง HA เครื่องมือคุณภาพ ในการจัดกิจกรรมปฐมนิเทศบุคลากรใหม่ของแผนกการพยาบาลอุบัติเหตุ - ฉุกเฉิน ระหว่าง วันที่ 16-18 มิถุนายน 2551  ค่ะ  

ข้อมูลสิ่งที่สืบค้นได้ เลยนำมาบันทึกเพื่อขยายผลบอกต่อ มีเนื้อหาประมาณนี้ค่ะ  เพื่อนสมาชิกท่านใดสนใจ ยินดีให้แวะมาศึกษาด้วยกันในบันทึกนี้ได้เลยนะคะ 

ขอให้สนุกเพลิดเพลินกับการเรียนรู้นะคะ

กัญญา

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@ 

 กระบวนทัศน์ใหม่ 

  •   ในการทำงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงาน/ชุมชน/ท้องถิ่น  บุคลากร / วิทยากร ต้องมีกระบวนทัศน์ใหม่ที่เป็นแบบองค์รวม   อันเป็นวิธีคิดและวิธีทำงาน    ที่ตระหนักถึงความเชื่อมโยงเหตุปัจจัยต่าง ๆ อย่างกว้างขวางและรอบด้าน แทนที่จะใช้ขบวนทัศน์เก่าซึ่งเป็นแบบแยกส่วน เพราะในความเป็นจริงแล้วความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นต้องเกิดจากการประชาสัมพันธ์ระหว่างเหตุปัจจัยต่าง ๆ มากมายทั้งภายในและภายนอกชุมชน ทั้งนี้

  • ต้องส่งเสริมให้คนในชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือก    ทิศทางและแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาด้วยตนเอง   เป็นสำคัญ

     หน้าที่หลักของบุคลากร/วิทยากร ก็คือ

  • "การช่วยให้คนในท้องถิ่นเข้าใจปัญหา และมองเห็นความสัมพันธ์ของสาเหตุอย่างรอบด้าน สามารถตัดสินใจร่วมกันได้อย่างถูกต้อง และสามารถผนึกกำลังกันในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามลำดับ"

  • "การมีระบบการติดตามตรวจสอบนิเทศงานตั้งอยู่ ณ ที่ใดต้องเปรียบเสมือนมีหลักชัยแห่งความสำเร็จในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงาน/ชุมชน/ท้องถิ่น ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ ณ ที่นั้น"

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@ 

ตอนที่  1  แนวคิดในการทำงาน 

    ยุทธศาสตร์การพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 8 เป็นต้นมา จะมุ่งเน้น คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และมีการผลักดันให้เกิดการดำเนินงานรูปแบบประชาคมซึ่งเป็นแนวคิดที่สนุบสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นและสังคม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล โปร่งใส และเป็นธรรมในสังคมด้วย แนวคิดหลักในการดำเนินงานดังกล่าวคือ การพัฒนาแบบองค์รวมที่ใช้คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา

 

     แนวคิดในการพัฒนาแบบองค์รวมที่ใช้คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนานี้ ประกอบด้วยคำสำคัญ 4 คำ คือ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People - Centered) สหวิชาการแบบองค์รวม (Holistic) การมีส่วนร่วมของประชาชน (Participation) และการร่วมกันทำงาน (Collaboration) ซึ่งการใช้แนวคิดดังกล่าวในการพัฒนา ต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) ในการทำงาน ดังนี้

 

             1) ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Centered) เปลี่ยนเป้าหมายของหน่วยงานให้เป็นการสนับสนุนเป้าหมาย วัตถุประสงค์ของประชาชน (Department goals to support goals)
             2) สหวิชาการแบบองค์รวม (Holistic) เปลี่ยนความเชื่อที่จะทำเป็นส่วน ๆ แล้วนำมาผสมผสานกัน ให้เป็นการนำความจริงทั้งมวลมาจัดการไปพร้อมกัน (Reality is whole and holistic)
              3) การมีส่วนร่วมของประชาชน (Participation) เปลี่ยนการนำประชาชนมาร่วมกับโครงการ / กิจกรรมของหน่วยงานไปให้ประชาชนมีแผนการพัฒนาของเขา และหน่วยงานเข้าไปร่วมทำงาน
             4) การร่วมกันทำงาน (Collaborationเปลี่ยนการนำกิจกรรมที่หลากหลายของหลายหน่วยงานมาผสมผสานกันไปเป็นการค้นหาความคิดร่วมกัน และทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้นให้บรรลุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์เดียวกัน (Common ground – Common goals)

       การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการทำงานดังกล่าวข้างตน เกิดจากแนวคิดในการพัฒนาแบบองค์รวมโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง (People Centered) ซึ่งมีพื้นฐานแนวคิดจากการพัฒนาแบบองค์รวม (Holistic Approach) และความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วม (New Participation) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่นำมาใช้ในการพัฒนา ดังนี้

แนวคิดในการพัฒนาแบบองค์รวม (Holistic Approach)

  1. พัฒนาคนทั้งคน ชุมชน สังคม ทั้งระบบ  เป็นหนึ่งเดียว ไม่คิดแยกส่วน
  2. วิสัยทัศน์รวมทุกด้าน คิดแบบรวบยอด (Critical Thinking)
  3. วางแผนยึดหลักพื้นที่จากส่วนท้องถิ่นถึงระดับชาติ
  4. ประชาชนในพื้นที่ มีการทำแผนและจัดการด้วยตนเอง
  5. กรอบงานของระดับบนต้องทำเพื่อเสริมสร้างของคนระดับล่าง และสร้างบรรยากาศให้สามารถเป็นไปได้
  6. แผนย่อยของการพัฒนาต้องอยู่ภายในกรอบของแผนรวม
  7. เทคนิคและงานที่ทำต้องเชื่อมโยงกับงานอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมกันไม่แยกเป็นส่วน ๆ วิธีง่ายที่สุดคือ การให้ประชาชนตระหนักในการพัฒนาตนเองแบบรวมทุกด้าน และทำงานร่วมกันให้บรรลุถึงผลรวมและกระบวนการร่วมกันทำงานทุกระดับ

 

ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วม (New Participation)

  1. ต้องมีความต่อเนื่อง ผสมผสานและทำไปพร้อมกันทั้งระบบ (Ongoing whole system)
  2. เป็นการเปลี่ยนแปลงไปช้า ๆ อย่างธรรมชาติ และเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา(Organic dynamic)
  3. เป็นกระบวนการสร้างสรรค์เกี่ยวกับการเรียนรู้ทางทักษะการปฏิบัติ (Learnable skill)
  4. ต้องการความยอมรับอย่างเปิดเผยจากทุกคนที่เกี่ยวข้อง
  5. ชุมชนประกอบด้วยบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และความต้องการที่เหมือนกัน รวมตัวกันทำงานจากแนวคิดพื้นฐานดังกล่าวข้างต้นมาเป็นแนวคิดในการพัฒนาแบบองค์รวมโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง (People Centered) ดังนี้

 

แนวคิดในการพัฒนาแบบคนเป็นศูนย์กลาง (People Centered)

1. ร่วมมือกันอย่างพันธมิตรที่เท่าเทียมกันด้วยวิสัยทัศน์ร่วมนับถือกัน พยายามทำด้วยกันและยอมรับกัน
2. กระตุ้นและทำแทนกันในการเสริมพลังความพยายาม การพัฒนาของประชาชนทุกแห่งหนมาตรการกำหนดมาจากเบื้องต้น ต้องเปลี่ยนกระบวนการเพิ่มประสบการณ์ของผู้ทำงานอย่างต่อเนื่องโดยการสร้างพื้นฐานความสามารถหลายด้าน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Horizontal and Cyclical Process )
3. รูปแบบ เทคนิค วิธีการ ที่ถ่ายทอดลงมาให้ประชาชน ต้องเปลี่ยนเป็นการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและแหล่งทรัพยากรตามสะดวก และผู้เชี่ยวชาญเป็นฝ่ายอำนวยความสะดวกที่ช่วยให้ประชาชนสร้างสมประสบการณ์ และความรู้ (Facilitate Acquisition of Experience)
4. การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนวางแผนโครงการพัฒนา ต้องการความอดทนและทักษะการปฏิบัติในการสนับสนุนการเรียนจากการปฏิบัติจริง ให้เสริมพลังความพยายามของประชาชนให้มีความสามารถนี้ให้ได้
5. การจัดการให้ปฏิบัติจนเป็นนิสัย ต้องเปลี่ยนจากการควบคุม สั่งการ ไปเป็นการให้มีส่วนร่วมสร้างความสามารถให้ (Participatory Enabling)

 

        ในการนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ มี 2 กลวิธี คือ การเสริมพลังอำนาจ (Empowerment) และการส่งเสริมให้ทำได้ (Enabling)
       1. ต้องเลือกว่าใครคือผู้ที่จะได้รับการส่งเสริมพลังอำนาจ ตามบริบทเหล่านี้ (Empowered Context)
      2. วิธีสร้างเสริมพลังที่ดีที่สุดทำอย่างไร
         * ต้องพัฒนาความสามารถอย่างไร
         *กระบวนการมีส่วนร่วมแบบไหน จึงเหมาะสมที่สุด ได้ผลที่สุด
         * สิ่งที่ดีที่สุดนั้นทำอย่างไรจึงจะให้ผลอย่างเท่าเทียมกันและสำเร็จผล
      3. ทำอย่างไรถึงจะสร้างบรรยากาศให้มีความสามารถริเริ่ม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
         * ประชาชนเข้าถึงแหล่งทรัพยากร โอกาสและบริหารหรือยัง
         * โครงสร้างพื้นฐานอย่างไรจึงจะอำนวยให้เข้าถึงได้จริง
         * มีกลไกเพียงพอหรือยังที่จะมีการร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ
         * กฎหมาย นโยบาย กลวิธี สิทธิและเสรีภาพเพียงพอที่จะให้สิ่งที่ดีและความเท่าเทียมกันหรือยัง
      4. ใครคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมิตร ที่คอยติดตามกิจกรรมให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ ต้องมีเทคนิคอย่างไร
      5. ต้องจัดวิธีดำเนินการและกำกับงานอย่างไร
      6. บทบาทของอำเภอ จังหวัด และส่วนกลางต้องเป็นอย่างไร       

 

องค์ประกอบของการพัฒนาโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง (People Centered Development) คือ การพัฒนาของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน  มีกลวิธีในการเสริมพลังอำนาจ และการส่งเสริมให้ทำได้ ในแต่ละองค์ประกอบ ดังนี้

 

องค์ประกอบ

กลวิธี

เสริมพลังอำนาจ (Empowerment)

ส่งเสริมทำให้ (Enabling)

การพัฒนา
ของประชาชน

พัฒนาขีดความสามารถ
ของประชาชน (Capacity building)

ให้ความมั่นใจในการมีโอกาสได้รับ
การมีทรัพย์สิน ได้ใช้ทรัพยากร
ได้รับความเชื่อถือ มีตลาดรองรับ

พัฒนาโดย
ประชาชน

ประชาชนทุกเพศ ได้มีส่วนร่วมใน
การตัดสินใจอย่างเท่าเทียมกัน

ให้ความมั่นใจต่อการปกครองกันเอง
ของประชาชนในเรื่องกฎระเบียบการ
ช่วยเหลือกันเองมีประชาธิปไตยและ
สังคมแบบชาวบ้าน

พัฒนาเพื่อ
ประชาชน

แสวงหาสิ่งที่ดีและความเป็น
อยู่ที่ดีตลอดกาล เป็นจุดมุ่งหมายของการพัฒนา

ก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันใน
สังคมเศรษฐกิจ
การเมือง และกระจายงาน ทั้งระบบให้มีความยั่งยืน

 

มีหลักการ 7 ประการ ในการพัฒนาแบบองค์รวมโดยมีศูนย์กลาง ดังนี้

   1. การทำให้ประชาชนมีความนับถือตนเอง และสร้างให้ประชาชนมีความมั่นใจตนเอง
   2. ทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจและวางแผนได้ด้วยตัวเอง
   3. ต้องแน่ใจว่าประชาชนมีข้อมูลและสารสนเทศได้รับโอกาส และมีทรัพยากรอย่างเพียงพอ
   4. ส่งเสริมระบบเปิด กระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในชุมชนนั้น
   5. ทำให้ประชาชนมีวิธีการของตนเองในการวางแผนและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน
   6. สนับสนุนให้ประชาชนเอาชนะอุปสรรค และก่อให้เกิดการเรียนรู้จากการกระทำด้วยตนเอง
   7. รางวัลความสำเร็จที่ได้รับคือการส่งเสริมให้ทำในสิ่งที่ดีที่สุด

 

 โปรดติดต่อใน  ตอนที่ 2 นะคะ 

 

หมายเลขบันทึก: 188447เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2008 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีคะ...ขอชื่นชมกับกิจกรรมที่น่ายินดีคะ...เป็นกำลังใจให้คะ

สวัสดีค่ะ คุณ 1. "เอื้อง...แสงเดือน v.2"

  • ขอบคุณสำหรับคำชื่นชมและกำลังใจที่มอบให้ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท